Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 2194 จำนวนผู้เข้าชม |
หากคุณเข้ามาอ่านบทความนี้ นั่นก็แสดงว่า คุณอาจจะเป็นบุคคลหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาเรื่องทางเดินอาหาร หรืออาจเป็นคนไข้เก่าของผมที่เราเคยใช้เวลาด้วยกันอยู่พักใหญ่ ในการฟื้นฟูรักษาโรคทางเดินอาหารใช่ไหมละครับ? ก่อนอื่นเลยก็ต้องขอแสดงความคิดถึงถึงคนไข้ของผมทุกท่านทั้งที่ยังคงรักษากันอยู่ใน ณ ปัจจุบัน และที่เคยได้มีโอกาสพบกัน ไม่ว่าจะด้วยอาการดีขึ้นแล้ว หรือเปลี่ยนวิธีการรักษาไปแล้วก็ตามแต่ ผมอยากสื่อสารกับคนไข้ทุกท่านว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ผมขอชื่นชมคนไข้ทุกท่านที่มีความตั้งใจอยากจะดูแลสุขภาพของตนเอง มีความคาดหวังที่อยากรักษาโรคเรื้อรังที่ตนเองเป็นอยู่ และคอยหมั่นตรวจเช็คร่างกายกันอยู่อย่างสม่ำเสมอนะครับ
แน่นอนว่าการที่เราจะหายจากโรคเรื้อรังอย่างโรคทางเดินอาหารได้นั้น อาจจะต้องอาศัยความพยายามมากกว่าหลาย ๆ โรค มีหลายเคสที่มักกล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ผมขอเป็นโรคร้ายแรง แล้วผ่าตัดให้จบไปเลย ยังดีเสียกว่าต้องมาเป็นโรคเรื้อรังที่ทุกข์ทรมาณ แล้วหายารักษาไม่ได้แบบนี้” ซึ่งเหตุผลที่โรคทางเดินอาหารมีโอกาสที่จะเกิดความเรื้อรังสูงนั้น ทุกท่านอาจต้องเข้าใจก่อนว่า โรคทางเดินอาหารมีความสัมพันธ์กับปัจจัย 4 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อาหาร เพราะในเมื่อเรายังต้องรับประทานอาหารเข้าไป อย่างไรเสียก็ต้องผ่านจากช่องปากเข้าไปในกระเพาะลำไส้ เมื่อใดที่วิถีการกิน วัฒนธรรมการกินเปลี่ยน รูปแบบอาหารเปลี่ยน คนเราก็มักป่วยง่าย ส่วนอีกข้อหนึ่งเห็นจะเป็นเรื่องยา ที่เป็น 1 ในปัจจัย 4 ของมนุษย์ที่ขาดไม่ได้ และแน่นอนว่าการรับประทานยา ในหลายครั้งก็มักมีความเกี่ยวข้องกับกระเพาะ ตับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในระบบทางเดินอาหารของเราเช่นกัน และยังไม่รวมปัจจัยอื่น ที่สามารถก่อโรคทางเดินอาหารเรื้อรังได้ เช่น ความเครียด พันธุกรรม ลักษณะนิสัยส่วนบุคคล เป็นต้น
หากถามว่าบทบาทของแพทย์จีนนั้น จะเข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคทางเดินอาหาร ตรงไหนเวลาใด ก็คงต้องตอบทุกท่านอย่างตรงไปตรงมาว่า มาช่วยด้านการรักษาฟื้นฟู โดยมากหมอจะพบคนไข้ที่เป็นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1ปี จนถึง 10 ปี และผู้ป่วยทางเดินอาหารเองส่วนใหญ่ก็ได้สูญเสียความเชื่อมั่นต่อการรักษาไปนานแล้ว อีกทั้งแพทย์จีนเองก็มักถูกคาดหวังจากผู้ป่วยไว้ค่อนข้างสูงว่า การรักษาด้วยการแพทย์จีนก็คือจะได้รับยาวิเศษ ยาที่พลิกชีวิตจากอาการป่วยร่วม 10 ปีให้สามารถหายได้ใน 1 สัปดาห์ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของแพทย์จีนที่จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการรักษาฟื้นฟู โดยเฉพาะระบบกระเพาะ-ม้าม ที่ต้องปรับสมดุลเพื่อให้ประสิทธิภาพในการย่อยและดูดซึมนั้นทำได้ดีมากขึ้น จึงจะสามารถเสริมสร้างทางเดินอาหารที่เป็นโรคเรื้อรังในภาพรวมให้ดีขึ้นได้ และแนวคิดแพทย์จีนเองมักมองเป็นภาพรวมที่ต้องคอยสังเกตอาการที่ดูผิดปกติของร่างกาย ถึงแม้จะเป็นสัญญาณอาการเพียงเล็กน้อย แต่เชื่อเถอะครับว่า มันอาจเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์กับแพทย์จีนในการรักษาและฟื้นฟูโรคทางเดินอาหารของคุณได้ ถามว่าอาการผิดปกติอะไรบ้างตัวอย่างเช่น คอแห้งแต่ไม่อยากดื่มน้ำ ทำไมเหงื่อมักออกบริเวณศีรษะ มือเท้าเย็นเป็นประจำ เป็นต้น หากแพทย์จีนสามารถเชื่อมโยงอาการป่วยของคนไข้กับอาการเล็กๆน้อยๆที่แปลกออกไปของคนไข้ได้ ก็มีโอกาสที่จะรักษาและฟื้นฟูอาการต่าง ๆ ในภาพรวมได้เช่นกัน
ส่วนข้อความสุดท้ายจากจดหมายฉบับนี้ ผมไม่ได้หวังว่าคนไข้ทุกท่านจะต้องหายจากโรคนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเราไม่หลอกตัวเองจนเกินไป เราก็จะพบว่า การรักษาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม หากเราพูดแทงใจดำแล้วก็จะพบว่า มันไม่ได้มีคำว่าหายร้อยเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทุก ๆ โรคบนโลกใบนี้เมื่อเป็นแล้ว หายแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าในอนาคต จะไม่มีโอกาสกลับมาเจอกันอีกนะครับ เอาอย่างง่าย ๆ แค่โรคปวดเมื่อยธรรมดา เราก็ยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้มากกว่า 1 ครั้งในตลอดชีวิตและอายุขัยเลยครับ แต่สิ่งที่ผมคาดหวังจากคนไข้ทุกคน ที่อยากจะอธิบายให้ได้เข้าใจกันจริง ๆ คือ ผมอยากบอกทุกท่านว่า “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ในเมื่อเราเป็นโรคแล้ว เราพร้อมเรียนรู้ที่จะดูแลและรักษาฟื้นฟูกันแล้วหรือยัง ถ้าโรคมันเรื้อรังจริง ๆ ไปพบหมอที่ไหนก็ยังไม่ได้คำตอบของการรักษาเสียที ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเราได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตโดยมีเจ้าโรคนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พร้อมกับประคับประคอง ฟื้นฟูตามสภาพร่างกายของตนแล้วหรือยังครับ
สุดท้ายชีวิตของเราเองไม่ได้มีอะไรซับซ้อนนะครับ แต่บางทีอาจเป็นตัวของเราเองที่ทำให้มันซับซ้อนมากเกินไป และเชื่อเถอะครับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกของเรา มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เพียงแต่ว่าเมื่อไหร่ และเวลาไหนของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง เหมือนกับโรคทางเดินอาหารก็เช่นกัน หากวันนี้คุณป่วยและเป็นมานานแล้ว ก็อย่าพึ่งท้อถอยไปเสียก่อน เพราะกำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญต่ออาการป่วยเป็นอย่างมาก ถึงขั้นสามารถชี้วัดได้ว่าจะมีอาการดีขึ้นได้มากน้อยเพียงใด และหาก “คุณไม่ถอดใจในการรักษา หมอก็พร้อมอยู่รักษาเคียงข้างคนไข้เสมอไปนั่นแหละครับ”
เพราะต่อให้มันไม่ได้หาย100เปอร์เซ็นต์ แต่มันยังมี 99 เปอเซ็นต์อยู่บนโลกใบนี้ คุณว่าจริงไหมครับ........
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ต้นสกุล สังข์ทอง (หมอจีน ซ่ง เซียน เนี่ยน)
宋先念 中医师
TCM. Dr. Tonsakul Sungthong (Song Xian Nian)
แผนกอายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567