ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) โรคปวดเรื้อรังทั่วตัวรักษาได้ด้วยวิธีฝังเข็ม

Last updated: 27 ส.ค. 2567  |  15574 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) โรคปวดเรื้อรังทั่วตัวรักษาได้ด้วยวิธีฝังเข็ม

หากพูดถึงอาการปวดต่าง ๆ ทุกคนย่อมรับรู้ถึงลักษณะของอาการปวดได้เป็นอย่างดี เช่น ปวดหัว ปวดแขน ปวดขา เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตทั้งสิ้น แต่มีเพียงไม่กี่คนที่จะต้องอยู่กับความเจ็บปวดที่รุนแรงมากกว่านั้น ก็คือ การปวดทั่วทั้งตัว ตั้งแต่ศีรษะถึงนิ้วเท้า ซึ่งอาการปวดดังกล่าวสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย ในบางครั้งอาจเกิดอาการปวดพร้อมกันมากกว่า 10 จุด โดยอาจซ้ำหรือไม่ซ้ำจุดกันในแต่ละวัน ที่สำคัญมักจะหาสาเหตุของการปวดนั้นไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร อีกทั้งจะปวดมากขึ้นหากมีการใช้งานหรือใช้กล้ามเนื้อในส่วนนั้นมากขึ้น อาการดังกล่าวคืออาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) คืออะไร

ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) คือ กลุ่มอาการปวดเรื้องรัง โดยอาการปวดมักจะกระจายหลายจุดทั่วร่างกาย โดยเฉพาะตำแหน่งของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย โดยบริเวณที่เกิดอาการบ่อย ๆ คือ ศีรษะ คอ บ่าและหลัง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจปวดทั่วทั้งตัว นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย นอนหลับไม่สนิท สมาธิและความจำถดถอย รวมถึงอาจมีความเครียดและอารมณ์ซึมเศร้าร่วมด้วย

 อาการปวดทั่วตัวดังกล่าว อาจส่งผลให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยหลายอย่าง เนื่องจากลักษณะของอาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย นอกจากมีอาการปวดและยังมีอีกหลากหลายอาการร่วมด้วย

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย เกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายปัจจัยร่วมกัน ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมองและไขสันหลังอยู่ในสภาวะที่ไวต่อความรู้สึกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความเจ็บปวด ความคิดและอารมณ์

สาเหตุการเกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

สาเหตุที่เป็นปัจจัยให้เกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจียมีหลายด้าน ได้แก่ ปัจจัยทางด้านร่างกาย กล่าวคือ การมีประวัติเคยประสบอุบัติเหตุรุนแรงที่กระทบต่อระบบสมองและไขสันหลัง รวมทั้งการใช้ร่างกายในการทำงานหนักเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมการบาดเจ็บของกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง นอกจากปัจจัยทางด้านร่างกาย ก็คือปัจจัยทางด้านจิตใจ กล่าวคือ ผู้ที่มีภาวะเครียดสะสม มีโอกาสเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียมากกว่าคนทั่วไป และปัจจัยด้านสุดท้ายคือ ปัจจัยทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ สังคมและสภาพแวดล้อมย่อมส่งผลให้เกิดความเครียด ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้เช่นกัน

นอกจากนั้นโรคไฟโบรมัยอัลเจียมักเกิดร่วมกับโรคหรือภาวะอื่น ๆ ได้มากกว่าปกติ เช่น เกิดร่วมกับโรคไมเกรน โรคปวดกล้ามเนื้อมัยโอฟาสเชี่ยล โรคไขข้ออักเสบ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น หรืออาจกล่าวได้ว่า โรคเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้

การวินิจฉัยโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

การวินิจฉัยว่าลักษณะอาการใดเข้าข่ายโรคไฟโบรมัยอัลเจียหรือไม่ มี 2 หลักเกณฑ์ที่นิยมใช้ คือ ACR 1990 criteria และ Yunus’ Criteria

หลักเกณฑ์ Yunus’ Criteria มักถูกใช้ในทางคลินิกในกรณีที่มีจุดกดเจ็บน้อยกว่า 11 จุด และมีการนำอาการร่วมที่พบบ่อยมาร่วมในการวินิจฉัยด้วย เช่น ความเครียด วิตกกังวล ปวดหัวเรื้อรัง มีอาการชา เป็นต้น

ในขณะที่หลักเกณฑ์ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในการศึกษาวิจัย คือ ACR 1990 criteria (American College of Rheumatology 1990) เนื่องจากเป็นหลักเกณฑ์ที่มีความเรียบง่าย โดยประกอบด้วย 2 หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย ดังนี้

1. อาการปวดเรื้อรังที่กระจายทั่วไปตามร่างกาย ใช้เกณฑ์ในการวินิจฉัย คือ

          - มีอาการปวดเรื้อรัง โดยมีอาการปวดนานกว่า 3 เดือน

         - อาการปวดกระจายทั่วไปตามร่างกาย โดยตำแหน่งที่ปวดต้องมีทั้งซีกขวาและซ้าย ตำแหน่งที่ปวดต้องมีทั้งเหนือและใต้เอว และต้องมีตำแหน่งที่ปวดอยู่แนวกลางลำตัวด้านหลังหรือหน้า (ตามรูป)
 
2. การตรวจร่างกายจะต้องพบจุดกดเจ็บ (tender points) อย่างน้อย 11 ใน 18 จุดในตำแหน่งที่กำหนด ใช้เกณฑ์ในการวินิจฉัย คือ

          - พบจุดกดเจ็บ เมื่อกดด้วยนิ้วโป้ง
 
         - พบจุดกดเจ็บ (tender points) อย่างน้อย 11 ใน 18 จุดกดเจ็บที่กำหนดบนร่างกาย คือ

            1) ด้านหน้าร่างกายมี 8 จุด (4 คู่)
 
          - กล้ามเนื้อส่วนคอ (cervical paraspinal) ด้านล่าง
 
          - ด้านข้างของรอยต่อระหว่างกระดูกซี่โครงกับกระดูกอ่อน (costochondral) ข้อที่สอง

          - จุดต่ำกว่าปุ่มกระดูกทางด้านนอกของข้อศอก (lateral epicondyle) 2 ซม.

          - ด้านบนรอยต่อของข้อเข่า (medial joint line)

            2) ด้านหลังร่างกายมี 10 จุด (5 คู่)
 
          - จุดเกาะบนกล้ามเนื้อออกซิปิตาลิส (occipitalis) ที่ท้ายทอย (occiput)

          - กึ่งกลางขอบด้านบน (upper border) ของกล้ามเนื้อทราพีเซียส (trapezius)

          - จุดเกาะต้นกล้ามเนื้อซุปปราสไปนาตัส (supraspinatus)

          - ด้านบนและข้างของสะโพก

          - หลังส่วนของกระดูกต้นขา (greater trochanter)
 
โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

อาการปวดในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

สาเหตุของอาการปวดในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เกิดจากการไหลเวียนของเลือดและชี่ในเส้นลมปราณติดขัด ทำให้ไหลเวียนไม่คล่อง จึงเกิดอาการปวด แต่หากเลือดและชี่สามารถไหลเวียนได้คล่อง อาการปวดก็จะไม่เกิดขึ้น

การวิเคราะห์แนวคิดของเลือดและชี่อุดกั้นกับอาการปวด

1. การไหลเวียนเลือดสู่เนื้อเยื่อผิดปกติ อันเกิดจาก

- การขาดเลือดของเนื้อเยื่อจากเลือดอุดกั้นไหลเวียนไม่ดี อาการปวดจะเป็นแบบปวดเหมือนเข็มแทงเฉพาะที่ปวดร้าว เช่น การปวดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ปวดท้องประจำเดือน ปวดบริเวณที่เคยปวดถูกกระทบกระแทกฟกช้ำมาก่อน

- การปวดจากเลือดน้อยหรือพลังชี่น้อย หรือภาวะพร่องทำให้เลือดไหลเวียนช้ากว่าปกติ อาการปวดจะเนิบ ๆ คลุมเครือไม่ชัดเจน ถ้าขาดเลือดและชี่มากจนภายในร่างกายมีความเย็นมาก ขาดหยางชี่ อาการปวดจะรุนแรง การปวดแบบนี้เมื่อใช้มือกดหรือใช้ความร้อนประคบจะรู้สึกสบายขึ้น

- การปวดจากเลือดมาคั่งค้าง เกิดจากการอักเสบ อาจเนื่องจากการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ที่มีอาการปวดบวมแดงร้อน ซึ่งถือเป็นการอุดกั้นชนิดหนึ่ง การรักษาต้องใช้หลักการระบายภาวะความร้อนและอุดกั้น โดยอาการปวดลักษณะนี้ไม่ควรระงับด้วยความร้อน แต่จะต้องใช้การประคบความเย็น

2. การไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองผิดปกติ การปวดลักษณะนี้จะมีอาการตึง ๆ แน่น ๆ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการบวมน้ำ เช่น ขาบวม ท้องมาน (มีน้ำในช่องท้อง) ในแพทย์แผนจีน คือ การปวดจากภาวะความชื้นหรือเสมหะตกค้าง เนื่องจากระบบน้ำเหลืองกับระบบเลือดมักสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในทางคลินิกเวลารักษาการปวดจากเลือดอุดกั้นหรือความชื้นเสมหะอุดกั้นจะต้องพิจารณาการให้ยาสมุนไพรจีนรักษาร่วมกันด้วย

3. การปวดจากการอุดกั้นในอวัยวะกลวง เนื่องจากร่างกายคนของเรามีอวัยวะภายในที่ตัน เรียกว่า อวัยวะจั้ง มีหน้าที่ในการเก็บ อวัยวะภายในที่กลวงเรียกว่า อวัยวะฝู่ มีหน้าที่ลำเลียงส่งผ่านอาหารหรือสารคัดหลั่งหรือของเสียของระบบต่าง ๆ ดังนั้นหากการระบายของสิ่งต่าง ๆ ไม่คล่อง เกิดการติดขัด ย่อมทำให้เกิดอาการปวด เช่น ปวดนิ่วถุงน้ำดี การปวดแน่นอกเนื่องจากเสมหะไม่ออก การปวดท้องเนื่องจากท้องผูก การปวดตับอ่อนเนื่องจากการกดทับ การปวดร้าวเนื่องจากนิ่วอุดตันท่อไต เป็นต้น

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มอาการ ดังนี้

1. กลุ่มชี่ตับติดขัด
ลักษณะอาการ คือ เจ็บและปวดทั่วร่างกาย ปวดแบบเฉพาะที่หรือปวดบวม มีอาการชา เหนื่อยล้า เศร้าสร้อย จิตตก ปวดศีรษะ (รวมถึงปวดศีรษะจากไมเกรน) เริ่มมีอาการโกรธง่ายหงุดหงิดง่าย กล้ามเนื้อตึงบริเวณคอ ไหล่ นอนไม่หลับ ตื่นง่าย หลับยาก ลำไส้แปรปรวน อาการเหล่านี้อาจเกิดจากความเครียด ลิ้นมีฝ้าขาวหนา ชีพจรห่วน

2. กลุ่มชี่และเลือดพร่อง (โดยเฉพาะชี่ของม้ามพร่อง เลือดของหัวใจพร่อง เลือดของตับพร่อง)

ลักษณะอาการ คือ เจ็บและปวดทั่วร่างกาย เหนื่อยล้าเรื้อรั้ง เหนื่อยง่าย ปวดหัวตื้อ ๆ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา นอนไม่หลับ ตื่นง่าย ใบหน้าซีด อัตราการเต้นของหัวใจไม่ปกติ มักมีอารมณ์หดหู่ สีลิ้นซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรซี่และยั่ว

3. กลุ่มชี่และเลือดอุดตัน

ลักษระอาการ คือ เจ็บและปวดทั่วร่างกาย ปวดแสบ มักมีอาการปวดเหมือนถูกเข็มแทงเฉพาะที่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใบหน้ามีสีคล้ำ สีลิ้นม่วงหรือมีจุด ชีพจรเฉินหรือซี่เซอะ

4. กลุ่มหัวใจและไตไม่พอ

ลักษณะอาการ คือ เจ็บและปวดทั่วร่างกาย มีอาการข้อฝืดในช่วงเวลาเช้า ขี้หนาว ผู้ชายสมรรถภาพทางเพศลดลง ทั้งผู้ชายผู้หญิงความสามารถในการสืบพันธุ์ลดลง ประกอบกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดเอว ขาอยู่ไม่สุข กระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ปวดประจำเดือน ประจำเดือนขาด กลุ่มอาการเริ่มต้นก่อนมีประจำเดือน มีอาการร้อนวูบวาบเหงื่อแตกตอนกลางคืน มีอาการวิตกกังวล สีลิ้นแดงซีด ชีพจรเฉินซี่และซู่

การรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ด้วยการฝังเข็ม

การฝังเข็ม คือ วิธีการรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการใช้เข็มปักไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายในตำแหน่งที่เป็นจุดเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์ในการรักษา 2 ส่วน ได้แก่

1. เพื่อปรับสมดุลของร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวขึ้น ช่วยให้อวัยวะและระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายกลับทางานได้ตามปกติ ด้วยพลังธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิต จึงนับว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดี

2. การฝังเข็มสามารถช่วย “ระงับความเจ็บปวด” จึงมักนำไปใช้ในการรักษาโรคปวดต่าง ๆ หรือใช้ในการผ่าตัด

ทั้งนี้ การฝังเข็มได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WTO) จากการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญการฝังเข็มในปี ค.ศ.1979 และ 1975 องค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับว่า กลุ่มการรักษาอาการปวดเรื้อรัง เป็นกลุ่มอาการที่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการด้วยวิธีฝังเข็มได้ โดยเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลเด่นชัดเป็นพิเศษ ดังนั้น การรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ด้วยการฝังเข็มจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและได้ผลเด่นชัดในการรักษากลุ่มอาการปวดต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้ดีขึ้น

แนวทางการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม

โดยใช้วิธีการฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ ดังนี้

จุดฝังเข็มหลัก

JianJing (GB21), JianYu (LI15), QuYuan (SI13 ), C4JiaJi (EX-B2), C6Jiaji (EX-B2), QuChi (LI11), ZhouLiao (LI12), YinLingQuan (SP9), XiYan (EX-LE5), L5Jiaji (EX-B2), ZhiBian (BL54), Ashi Point.

จุดฝังเข็มประกอบ

1. กลุ่มชี่ของตับติดขัด ใช้จุด SanYinJiao (SP6), PiShu (BL20), ZuSanLi (ST36), TaiChong (LR3)

2. กลุ่มชี่และเลือดพร่อง ใช้จุด PiShu (BL20), WeiShu (BL21) , ZuSanLi (ST36), JieXi (ST41), HeGu (LI4)

3. กลุ่มชี่และเลือดอุดตัน ใช้จุด GeShu (BL17), WeiZhong (BL40), XueHai (SP10), SanYinJiao (SP6), HeGu (LI4)

4. กลุ่มหัวใจและไตไม่พอ ใช้จุด GuanYuan (RN4), ShenShu (BL23), TaiXi (KI3), XinShu (BL15), ShenMen (HT7)

ข้อสังเกตและคำแนะนำในการฝังเข็ม

1. สามารถใช้การฝังเข็มเพียงอย่างเดียวหรือผสมผสานการรักษาร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น ทุยหนา แช่ยา  หัตถการเสริม ครอบแก้ว รมยา เข็มอุ่น รับประทานยา และการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น กายภาพบำบัด เป็นต้น

2. ไม่ควรกระตุ้นเข็มรุนแรงหรือหลายครั้งเกินไป เพราะอาจทำให้มีอาการปวดระบมหลังจากการรักษาได้

3. ควรเน้นการรักษาที่ต้นเหตุด้วย โดยการหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม ร่วมกับหมั่นออกกำลังแบบยืดกล้ามเนื้อ (Stretching exercise) ของกล้ามเนื้อมัดนั้น เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำด้วย

4. การค้นหาสาเหตุและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญในการรักษากลุ่มอาการปวดจากพังผืดกล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตาม โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นกลุ่มอาการที่อาจมีอาการของโรคร่วมอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย ดังนั้นการรักษาจึงมิใช่การมุ่งรักษาที่อาการปวดเท่านั้น แต่ต้องมุ่งรักษาที่สาเหตุของการเกิดอาการเหล่านั้นและอาการของโรคอื่นๆด้วย เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด
 
------------------------

บทความโดย แพทย์จีนริฟฮาน  ยูโซะ

TCM. Dr. Rifhan Yusoh(罗如珊 中医师)
 
ข้อมูลอ้างอิง

- บทความเรื่อง กลุ่มอาการปวดเรื้อรังไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

https://www.si.mahidol.ac.th/th/department/rehabilitation/admin/news_files/160_18_1.pdf

- https://www.painawayclinic.com/th/ฝังเข็มกับกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อไฟโบรมัยอัลเจีย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้