ปาต้วนจิ่นกับกายบริหารเพื่อการรักษาสุขภาพ(八段锦练功与养生)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  5810 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปาต้วนจิ่นกับกายบริหารเพื่อการรักษาสุขภาพ(八段锦练功与养生)

“ปาต้วนจิ่น” เป็นชี่กงประเภทหนึ่ง มีต้นกำเนิดและ วิวัฒนาการอันยาวนานกว่า 200 ปี เป็นการผสมผสานระหว่างการหายใจ และกระบวนท่าต่าง ๆ เกิดเป็นกระบวนท่ามีทั้งหมด 8 ท่า

            ปา หมายถึง  เลขแปด หรือทฤษฎีแปดเหลี่ยม

            ต้วน หมายถึง ช่วงหรือตอน จิ่นมีความหมายอยู่ 3 ความหมาย คือ

1) มาจากคำว่า “จิ่นโป๊” แปลว่า ไหมทองในสมัยอดีตผ้าไหมทอง ถือเป็นสิ่งมีมูลค่า จึงแสดงถึงการฝึกที่มีคุณค่าและอ่อนช้อย งดงาม

2) “จิ่น” อาจหมายถึง พรม ซึ่งจุดเด่นของพรมคือมีการ เย็บอย่างต่อเนื่องกันไม่มีรอยต่อ อธิบายถึงท่วงท่าที่ต่อเนื่องกัน ไม่ขาดตอน

3) “จิ่น” ยังหมายถึงท่าชุดที่ดีที่สุดแสดงถึงการฝึก และวิธีการฝึกที่กลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดีดังนั้นอาจกล่าวได้ ว่า “ปาต้านจีน” หมายถึง ชุด 8 ท่าที่ดีที่สุดในการฝึกเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ที่มีเคลื่อนไหวที่อ่อนโยนและพริ้วไหวต่อเนื่องเรียบง่ายและสามารถออกท่าทางได้อย่างลื่นไหลสวยงาม

            ในมุมมองแพทย์แผนจีนมองว่า ร่างกายมนุษย์มีเส้นลมปราณ เชื่อมต่อไปยังอวัยวะต่าง ๆ และเชื่อมต่อไปตามแขนขาทั่ว ร่างกายภายนอกซึ่งเป็นช่องทางที่เลือดและวิ่งเพื่อหล่อเลี้ยง ร่างกายจึงไม่ควรให้ติดขัดควรไหลผ่านได้ตลอด เส้นลมปราณ จะกระจายอยู่ใต้ผิวหนังบนเนื้อส่วนต่าง ๆ ตามร่างกาย ถ้าหาก เพิ่มการกระตุ้นเส้นลมปราณและกระตุ้นจุดบางจุดบนเส้นลมปราณจะสามารถปรับการไหลเวียนของลมปราณได้

            ในการฝึก “ปาต้านจีน” สามารถเพิ่มการไหลเวียนผ่าน เส้นลมปราณ เสริมภูมิคุ้มกัน เสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อและ กระดูกฝึกสมองเพิ่มความจำกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในขจัดลมปราณคั่งค้างติดขัด

 
ท่าบริหาร ปาต้วนจิ่น


1) สองมือประคองแผ่นฟ้า(双手托天理三焦)

            1.1 ท่าเตรียม ยืนตามธรรมชาติ แยกขาออกจากกันให้มีความกว้างประมาณหัวไหล่สองข้าง ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัว

            1.2 หงายฝ่ามือขึ้น ประสานกันเข้าหาแกนกลางลำตัว ทำท่าเสมือนถือของอยู่ในมือ ค่อยๆดันมือขึ้นจากท้องจนถึงระดับอก จากนั้นบิดให้ด้านในฝ่ามือหันขึ้นด้านบน ตามองตามมือเหยียดแขนให้สุด ไปประสานกันที่เหนือศีรษะพร้อมทั้งหายใจเข้าช้า ๆ พร้อมกับเขย่งปลายเท้า

            1.3 ยืดลำตัวปล่อยแขนลงช้า ๆ พร้อมกับค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออก

            1.4 ทำซ้ำกัน 8 ครั้ง

ประโยชน์ที่ได้รับจากท่าสองมือประคองแผ่นฟ้า(双手托天理三焦)

            ท่านี้ทำให้การขับเคลื่อนของผ่านทั้งสามตำแหน่ง เป็นการบำรุงอบอุ่นทั้งสามตำแหน่ง (ซานเจียว) ทำให้ชีวิ่งผ่านด้านบนเกี่ยวกับหัวใจกับปอด ตรงกลางเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ด้านล่างเกี่ยวกับตับและไต ทั่วทั้งร่างกาย และนำที่ไม่ดีที่อวัยวะต่าง ๆ ไม่ต้องการระบาย ออกทางเส้นลมปราณชานเจียว เป็นการบริหารกระเพาะอาหาร และลำไส้ ช่วยการย่อยอาหาร ขจัดไขมันออกจากหน้าท้อง เหมาะสำหรับผู้ที่มีการย่อยอาหารไม่ดีและท้องผูกเป็นประจำ

            นอกจากนี้ยังช่วยบริหารกล้ามเนื้อบริเวณน่อง นิ้วเท้า ไหล่ ข้อมือและกล้ามเนื้อหน้าอก เพิ่มความสมดุลของร่างกายและการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ยังสามารถใช้เป็นท่าในการบริหารสำหรับ โรคเอ็นข้อไหล่อักเสบ กระดูกต้นคอเสื่อม โรคทางเดินหายใจเรื้อรังและกล้ามเนื้อลีบ

2) ง้างธนูยิงซ้าย-ขวา(左右开弓似射雕)

            2.1 ยืนในท่าเตรียม ยืนตามธรรมชาติ แยกขาออกจากกันให้มีความกว้างประมาณหัวไหล่สองข้าง ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัว

            2.2 ก้าวเท้าซ้ายออกข้างลำตัว ย่อเข่าลงให้ต่ำคล้ายกำลังนั่งบนม้านั่ง ประสานแขนทั้งสองไขว้กันเป็นรูปตัวเอ็กซ์ ซ้ายทับขวา

            2.3 ทำท่าลักษณะคล้ายกับยิงธนู วาดแขนซ้ายไปข้าง ๆ จนสุดเหมือนจับคันธนู ขณะเดียวกัน มือขวาทำลักษณะคล้ายกำลังเหนี่ยวสายธนู

            2.3 กางมือออกด้านข้างลำตัว วาดมือกลับเข้าหาตัว เก็บเท้าเข้าสู่ท่าเตรียม

            2.4 ทำสลับกันซ้ายขวา ทั้งหมด 8 ครั้ง

ประโยชน์ที่ได้รับจากท่าง้างธนูยิงซ้ายขวา(左右开弓似射雕)

            ท่านี้ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ทำให้กล้ามเนื้ออกไหล่และแขนยืดหยุ่นได้ดีขึ้น และลดไขมันออกจาก และต้นแขน

            บริหารท่านี้เป็นประจำจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อสะบัก กล้ามเนื้อหลังส่วนบน ป้องกันภาวะหลังงุ้มที่เกิดจากกล้ามเนื้อสะบักอ่อนแรง เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาออฟฟิตซินโดรม ปวดหลังส่วนบน และกล้ามเนื้ออักเสบ

3) เปลี่ยนดิน-ฟ้าให้ผกผัน(调理脾胃须单举)

            3.1 ยืนในท่าเตรียม ยืนตามธรรมชาติ แยกขาออกจากกันให้มีความกว้างประมาณหัวไหล่สองข้าง ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัว

            3.2 หงายมือทั้งสองข้างขึ้น ประสานมือทั้งเข้าหากัน โดยฝ่ามือไม่ติดกัน จากระดับหน้าท้องและค่อยๆขึ้นถึงระดับหน้าอก

             3.3 ค่อยๆ เลื่อนมือขวาขึ้นไปให้สูงกว่าระดับศีรษะโดยฝ่ามือหันขึ้นด้านบน ลักษณะยันฟ้ามือเดียว และปลายนิ้วชี้เข้าหาศีรษะ   

            3.4 ส่วนมือซ้ายเลื่อนลงมาอยู่ระหว่างเอว ให้ฝ่ามือหันลงด้านล่าง ปลายนิ้วชี้เข้าหาลำตัวแล้วขยับมือทั้งสองข้างขึ้นลงพอประมาณ พร้อมออกแรงกดลงและดันขึ้นเหมือนกำลังแบกแผ่นฟ้าและกดพื้นดินไว้ทำเช่นนี้สลับกันทั้งซ้ายขวา

ประโยชน์ที่ได้รับจากท่าเปลี่ยนดิน-ฟ้าให้ผกผัน(调理脾胃须单举)

            ท่านี้ช่วยบริหารม้าม และกระเพาะอาหาร ถ้าทำท่านี้อย่างถูกต้องจะสามารถส่งการเคลื่อนไหวและความกดดันไปนวด กระเพาะอาหาร และม้ามได้ ทำให้ระบบการย่อยทำงานได้เป็นปกติ

            การบริหารท่านี้เป็นประจำช่วยเพิ่มยืดเหยียดกล้ามเนื้อ biceps femoris, triceps, psoas major, rectus abdominis, erector spinae เหมาะสำหรับคนที่มีอาการปวดคอบ่าไหล่ ปวดต้นแขน และหัวไหล่

 

4)  เคลื่อนกายย้ายโคจร (摇头摆尾去心火)

            4.1 ยืนในท่าเตรียม ยืนตามธรรมชาติ แยกขาออกจากกันให้มีความกว้างประมาณหัวไหล่สองข้าง ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัว

            4.2 แยกเท้าทั้งสองข้างออกประมาณ 2 เท่าของความกว้างของไหล่ จากนั้นย่อเข่าลงโดยปลายเท้าทั้งสองข้างหันเข้าหากัน ฝ่ามือทั้งสองข้างวางที่หัวเข่า

            4.3 ค่อยๆ บิดลำตัวและศีรษะไปทางด้านซ้ายให้มากที่สุดพร้อมกับค่อย ๆ สูดลมหายใจเข้า

            4.4 หันกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม พร้อมกับผ่อนลมหายใจออก ทำเช่นนี้สลับกันทั้งซ้ายขวา ทำซ้ำ 8 ครั้ง

ประโยชน์ที่ได้รับจากท่าเคลื่อนกายย้ายโคจร (摇头摆尾去心火)

            ท่านี้ช่วยขจัดความเครียด ความอึดอัดใจ ดับไฟในใจ ช่วยให้ร่างกายท่อนล่างสมส่วน เสริมสร้างความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อสะโพก  (Gluteus Muscle)และกลุ่มกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า  (Quadriceps Muscle) เพิ่มความยืดหยุ่นและคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อต้นคอได้ดี

5) หันมองหลัง ขจัดความเมื่อยล้าทั้งห้าและบกพร่องทั้งเจ็ด(五痨七伤望后瞧)

            5.1 ยืนในท่าเตรียม ยืนตามธรรมชาติ แยกขาออกจากกันให้มีความกว้างประมาณหัวไหล่สองข้าง กางแขนเล็กน้อย

            5.2 ค่อย ๆ หันศีรษะไปมองด้านหลังช้า ๆโดยขยับไปทั้งตัว เริ่มจากทางด้านซ้ายก่อน พร้อมกับค่อย ๆ หายใจเข้า พยายามหันไปมองด้านหลังให้มากที่สุด โดยอย่าบิดลำตัวหรือหัวไหล่ เสร็จแล้วหันกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมช้า ๆ พร้อมผ่อนลมหายใจออก

5.3 ทำเช่นนี้สลับกันทั้งซ้ายขวา ทั้งหมด 8 ครั้ง

ประโยชน์ที่ได้รับจากท่าหันมองหลัง ขจัดความเมื่อยล้าทั้งห้าและบกพร่องทั้งเจ็ด(五痨七伤望后瞧)

            ท่านี้ช่วยขจัดความเมื่อยล้าทั้งห้า ฟื้นฟูอาการหย่อนสมรรถภาพของอวัยวะทั้งห้า คือ ตับ ปอด หัวใจ ไต และม้าม และเสริมสร้างการบกพร่องทั้งเจ็ด เนื่องจากขาดไปหล่อเลี้ยง ทำให้ความกระรี้กระเปร่า ความแข็งแรงเสื่อมโทรมลง ร่วมทั้งช่วยให้เส้นลมปราณเริ่นและเส้นลมปราณตูไหลเวียนดี  ป้องกันการเกิดโรค

            อาการเมื่อยล้าทั้งห้า คือ อาการเมื่อยล้า อันเกิดจาก การนั่งนาน ใช้สายตาเป็นเวลานาน ๆ ยืนนานเดินนาน และนอน เป็นเวลานานเกิน

            อาการเจ็ดอย่างที่กระทบอวัยวะ คือ รับประทาน อาหารมากเกินไปทำให้ข้ามไม่ปกติ อาการโกรธเคืองรุนแรงทำให้ ไหลวนจนทำให้ไตเสื่อม การใช้กำลังในการยกสิ่งของหรือ การนั่งในที่เปียกชื้นอยู่นานกระทบไต โดนความเย็นกระทบหรือ ทานน้ำเย็นของเย็น ๆ ส่งผลต่อปอด พักผ่อนน้อย ทำงานหนัก เครียด ทำร้ายสภาพจิตใจ ฤดูเปลี่ยนอากาศเปลี่ยนกระทบต่อ สภาพร่างกาย และอาการกลัวมากระทบต่อสภาพอารมณ์

            เหมาะสำหรับกลุ่มที่มีปัญหาอาการปวดเรื้อรังของคอบ่าไหล่ ปวดหัว ปวดเบ้าตา

6) กระเรียนขาวลงสู่ดิน(两手攀足固肾腰)

            6.1 ยืนในท่าเตรียม ยืนตรง

            6.2 ยืนให้เท้าชิดกัน หายใจเข้า ก้มตัวลง โดยที่ขาเข่าและแขนตรง พยายามเอาปลายนิ้วแตะที่หัวแม่เท้ายกตัวขึ้นลงเล็กน้อย จากนั้นเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับหายใจออก

    

6.3 ทำซ้ำทั้งหมด 8 ครั้ง

ประโยชน์ที่ได้รับจากท่ากระเรียนขาวลงสู่ดิน(两手攀足固肾腰)

            ช่วยส่งเสริมการทํางานของไต ทําให้ไตแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยเพื่อความยืดหยุ่นของกระดูกสันหลังและช่วยให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรง กล้ามเนื้อส่วนที่ได้รับการยืดได้แก่ กล้ามเนื้อขาด้านหลัง (Hamstrings Muscle) และกล้ามเนื้อน่อง (Calfs Muscle)

7) พลังหมัดพิชิตเสือดาว(攒拳怒目增力气)

            7.1 ยืนในท่าเตรียม ย่อขาลงให้อยู่ในลักษณะเหมือนนั่งอยู่บนม้านั่ง        

            7.2 กำมือทั้งสองข้างไว้ที่เอวให้ฝ่ามือหงายขึ้น

            7.3 หายใจเข้า พร้อมชกหมัดขวาออกมาตรง ๆ ให้หลังแขนอยู่ด้านบน สายตามองไปที่หมัดขวา ลืมตากว้าง ๆ 

            7.4 เก็บมือมาที่เดิมพร้อมหายใจออก ทำสลับกันทั้งซ้ายและขวา 8 ครั้ง

ประโยชน์ที่ได้รับจากท่าพลังหมัดพิชิตเสือดาว(攒拳怒目增力气)

            ท่านี้เดิมเป็นการฝึกการชกขั้นพื้นฐานในวิชาต่อสู้ อย่างไรก็ตามในแง่สุขภาพจะช่วยบริหารกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อกระตุ้นระบบเผาผลาญ และเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉงและความคล่องตัว ท่านี้จะเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อทั้งร่างกาย ทำให้ร่างกายกระชับเกิดความแข็งแกร่ง

8)  ดั่งลูกศรพุ่งสู่เป้า (背后七颠百病消)

            8.1 ยืนในท่าเตรียม

            8.2 ยืนให้เท้าชิดกัน เอามือทั้งสองข้างประสานกันไว้ที่ด้านหลัง เขย่งปลายเท้า และพยายามยืดลำตัว ยืดหัวขึ้น พร้อมหายใจเข้า

8.3 ยกส้นเท้าลง พร้อมกับหายใจออก ทำซ้ำจนครบ 8 ครั้ง

ประโยชน์ที่ได้รับจากท่าดั่งลูกศรพุ่งสู่เป้า (背后七颠百病消)

            ท่านี้ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยให้หาย เมื่อยล้า ป้องกันอาการท้องผูกและริดสีดวงทวารการหายใจเข้า เขย่งเท้าแล้วปล่อยให้ส้นเท้ากระแทกพื้นเบาๆ ทำให้เกิดความ สั่นสะเทือนเบาๆแผ่ไปทั่วร่างกาย มีผลทำให้กายและใจผ่อน คลาย การสั่นสะเทือนขนาดเบาๆ ทั่วร่างกายจะกระตุ้นกระดูก สันหลัง ข้อต่ออื่น ๆ กล้ามเนื้อ อวัยวะภายใน และการหมุนเวียน ของโลหิตทำให้หายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า

            การบริหารท่านี้เป็นประจำช่วยทำให้กล้ามเนื้อน่องแข็งแรงขึ้น ช่วยป้องกันอาการปวดส้นเท้า หรือที่เรียกว่า “รองช้ำ” ซึ่งมีงานวิจัยรายงานว่าช่วยให้อาการรองช้ำหายเร็วขึ้น และยังช่วยป้องกันอาการปวดเอ็นร้อยหวาย ปวดน่อง และปวดหน้าแข้งได้ด้วย

เอกสารอ้างอิง


1.      xujun.   tuinagongfaxue.  shanghai : shanghai Science&Technology Publishing House, 2011.
2.      กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (2561) คู่มือบริหารชี่กง สำหรับผู้สูงอายุ
3.      http://www.libarts.mju.ac.th/LibDocument/KM/ชี่กงปาต้วนจิ่น.pdf
4.      https://www.huachiewtcm.com/content/8069/ปาต้วนจิ่น-วิธีฝึกพลังบำรุงร่างกายด้วยตนเอง

 
พจ.กรกฎ คุณโฑ
คลินิกกระดูกทุยหนา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้