กรณีศึกษาและตัวอย่างการรักษาภาวะข้อไหล่อักเสบ (scapulohumeral periarthritis) ด้วยการนวดทุยหนา

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  5582 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรณีศึกษาและตัวอย่างการรักษาภาวะข้อไหล่อักเสบ (scapulohumeral periarthritis) ด้วยการนวดทุยหนา

          ข้อไหล่อักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบเรื้อรังของหัวไหล่และเนื้อเยื่อโดยรอบ มักพบในผู้สูงอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป มีอาการข้อเสื่อมหรือเกิดจากหรือใช้งานหน้าเกินไป ทำให้มีอาการปวดบริเวณรอบ ๆ ข้อหัวไหล่ การเคลื่อนไหวใช้ติดขัดเป็นอาการหลัก คนทั่วไปมักเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า ไหล่ติด

ระบาดวิทยา

          พบได้ประมาณ 2-5% ของประชากร มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักเป็นกับแขนทีไม่ถนัดมากกว่าข้างทีถนัดและมีโอกาสเป็นทั้ง2 ข้างได้ประมาณ 20-30% พบได้บ่อยในผู้ทีมีอายุระหว่าง40 ถึง60 ปีและพบว่าผู้ทีเป็นโรคเบาหวาน โรคของต่อมธัยรอยด์ และโรคหัวใจมีโอกาสเกิดภาวะข้อไหล่ติดได้มากกว่าคนทั่วไป

สาเหตุการเกิดโรค

           สาเหตุของข้อไหล่อักเสบ หรือไหล่ติด มีหลายสาเหตุ เช่น ความเสื่อม ใช้งานหัวไหล่มากเกินไปจนบาดเจ็บเรื้อรังมานาน อุบัติเหตุ หรือได้รับความเย็นมากเกินไป หรือเกิดการติดเชื้อ ทำให้บริเวณไหล่มีการเคลื่อนไหวได้น้อยลง

          ปัจจุบันมีการศึกษาทางกายภาพ พบว่าลักษณะทางกายภาพของข้อไหล่ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย เนื่องจากข้อไหล่เป็นข้อต่อแบบเบ้า (Ball and socket joint) ถือเป็นข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวได้กว้างที่สุดในบรรดาข้อต่อต่างๆในร่างกายข้อไหล่ เกิดจากส่วนหัวของกระดูกต้นแขน (Head of humerus) กับเบ้ากระดูกสะบัก (Scapula) ประกอบกัน แต่ส่วนหัวจะใหญ่เป็น 3 เท่าของเบ้าข้อต่อ จะมีเพียง 1/4 ถึง 2/3 ที่ข้อต่อจะสัมผัสกัน เอ็นยึดข้อต่อค่อนข้างบอบบางนอกจากนี้ถุงหุ้มข้อต่อหัวไหล่ยังบอบบางและอยู่แบบหลวม ๆ อีกด้วย

          ปุ่มหัวไหล่ (Acromion process- ปลายกระดูกสะบัก) และกล้ามเนื้อ Deltoid ด้านล่างจะมีถุงน้ำ synovial bursa ซึ่งถุงน้ำเหล่านจะทำหน้าที่ช่วยเหลือหัวไหล่ในการเคลื่อนไหว ทำให้ข้อไหล่สามารถกางออกไปได้มากกว่า 90 องศา แต่การกางแขน หรือ การยกชูแขนขึ้นมากเกินไป จะทำให้ถุงน้ำมีการเสียดสีบ่อยมากขึ้น จนทำให้เกิดการปุ่มหัวบาดเจ็บ

          กล้ามเนื้อที่ยืดเกาะอยู่กับหัวไหล่มีกล้ามเนื้อ Deltoid, Supraspinatus, Infraspinatus, Subscapularis, Teres minor ประกอบขึ้นเป็นถุงหุ้มข้อมีหน้าที่ทำให้เคลื่อนไหวหัวไหล่ได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีกล้ามเนื้อ long head brachii อีกด้วย

พยาธิสภาพ

          หลังจากการบาดเจ็บจะเกิดอาการอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดติดเชื้อ การอักเสบนั้นกระทบไปถึงถุงหุ้มข้อในระยะแรกถุงหุ้มข้อจะหดตัวเล็กลง ในระยะท้ายจะหดตัวมากขึ้นจนเสื่อมสภาพในที่สุดจะมีการเกาะตัวเป็นแคลเซียมมีพังพืด เยื่อหุ้มข้อหนาตัวขึ้น เนื้อเยื่ออ่อนต่างๆขาดความยืดหยุ่นหดสั้นแข็งตัวฉีกขาด หรือเกาะติดกัน ทำให้ปวดบริเวณรอบๆหัวไหล่ กล้ามเนื้อบริเวณไหล่ลีบฝ่อ จนทำให้การเคลื่อนไหวติดขัดใช้การไม่ได้

          ทางการแพทย์แผนจีน อธิบายกลไกการเกิดโรคไว้ว่า มักเกิดในช่วงอายุห้าสิบปี เจิ้งชี่(正气)ไม่พอ จิงพร่อง (精亏)หัวไหล่ถูกกระทบลมเย็น หรือมักนอนตะแคง เมื่อทางไหลเวียนของเส้นลมปราณถูกกดทับเป็นระยะเวลานาน ทำให้ชี่และเลือดติดขัด ก่อให้เกิดอาการปวดหรือชา เมื่ออาการปวดไหล่นานขึ้น ชี่และเลือดไหลติดขัดหรือไม่คล่อง เกิดการคั่งทำให้เกิดการบวมติด จนไหล่เคลื่อนไหวลดลงในที่สุด

อาการทางคลินิก

          มีอาการปวดบริเวณรอบหัวไหล่ การเคลื่อนไหวของหัวไหล่ติดขัด จะมีอาการปวดมากขึ้น เมื่อขยับเคลื่อนไหวหัวไหล่ หรือเวลานอนตอนกลางคืน อาจจะปวดจนทำให้นอนไม่หลับ โดยมีอาการปวดที่ไหล่ หรือท่อนแขนด้านบน แต่จะไม่เลยข้อศอกลงไป การเคลื่อนไหวของหัวไหล่จะติดขัดเพิ่มขึ้น บริเวณรอบๆหัวไหล่มีจุดกดเจ็บหลายจุด

ระยะของข้อไหล่อักเสบ

           อาการของโรคข้อไหล่ติด มี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะปวด ระยะข้อติด และระยะฟื้นตัว

1) ระยะปวด ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการปวดค่อย ๆ เป็นมากขึ้น ปวดเมือมีการเคลื่อนไหว ปวดมากตอนกลางคืนจนรบกวนการนอน พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อจะค่อยๆ ลดลง ระยะนี้ มักนาน2 ถึง 9เดือน

2) ระยะข้อติด อาการปวดจากระยะแรกเริ่มลดลง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในทุกทิศทางลดลงชัดเจน อาจส่งผลต่อกิจวัตรประจําวันอย่างมาก ระยะนี้ทั่วไปนาน 4-12 เดือน

3) ระยะฟื้นตัว อาการปวดจะลดลง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะค่อยๆ ดีขึ้น ในช่วง 5 เดือนถึง 2 ปี

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการโรค

          ในทางการแพทย์แผนจีน บอกว่าตำแหน่งของรอยโรคหรืออาการปวดบนเส้นลมปราณและเส้นเอ็น สามารถช่วยบอกตำแหน่งโรคได้ เช่น

 1) ตำแหน่งโรคอยู่ที่เส้นไท่อิน จะพบอาการปวดบริเวณจุด ZhongFu (LU 1) เมื่อยกแขนไปด้านหลังแล้วอาการปวดมากขึ้น

 2) ตำแหน่งโรคอยู่ที่เส้นหยางหมิง และเส้นเส้าหยาง จะพบอาการปวดบริเวณจุด JianYu (LI 15), JianLiao (TE 14) กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหัวไหล่ (deltoid) กางแขนออกแล้วปวดมากขึ้น

3) ตำแหน่งโรคอยู่ที่เส้นไท่หยาง จะพบอาการปวดบริเวณจุด JianZhen (SI 9), NaoShu (SI 10) หุบแขนเข้าแล้วปวด

ตัวอย่างกรณีการผู้ป่วย

ข้อมูลทั่วไป :ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 50ปี รหัสประจำตัวผู้ป่วย 322XXX

วันที่มารับการรักษา 14 พฤษภาคม 2564

อาการสำคัญ (Chief complaint) :ปวดหัวไหล่ข้างซ้ายระยะเวลา 3 เดือน

ประวัติปัจจุบัน (Present illness):ผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดหัวไหล่ข้างซ้ายเนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์และเอื้อมมือหยิบของ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อขยับหัวไหล่อาการจะปวดมากขึ้น ทำให้สวมใส่เสื้อผ้า ชุดชั้นในและสระผมลำบาก ปวดมากจนรบกวนการนอน ไม่สามารถนอนตะแคงข้างซ้ายได้ พิสัยการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ข้างซ้ายลดลง โดยเฉพาะท่ายกแขน(shoulder flexion) ท่ากางแขน(shoulder abduction) และท่าไขว้หลัง (Internal rotation)

การเจ็บป่วยอดีต(Past history):ปฏิเสธการแพ้ยา แพ้อาหาร ปฏิเสธประวัติการผ่าตัด ปฏิเสธโรคประจำตัวอื่น

การตรวจร่างกาย(Physical Examination):

            -ระดับอาการปวด 6/10

            -พิสัยการเคลื่อนไหว : ท่ายกแขน (shoulder flexion) 120 องศา; ท่ากางแขน(shoulder abduction) 150 องศา และท่าไขว้หลัง (Internal rotation)อยู่ที่ระดับก้น

            -จุดกดเจ็บ : พบจุดกดเจ็บบริเวณจะเกาะของกล้ามเนื้อlong head of biceps brachii , Supraspinatus, Infraspinatus, Subscapularis และกล้ามเนื้อTeres minor       

ผลการตรวจวินิจฉัย (Diagnosis):

          ผู้ป่วยมีภาวะเอ็นข้อไหล่อักเสบ ( 肩周炎jiscapulohumeral periarthritis) หรือ "ไหล่ห้าสิบ" (五十肩) เนื่องจากผู้ป่วยใช้ก้มหน้าใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะไหล่งุ้ม ข้อไหล่เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เอ็นรอบ ๆ เกิดการกดทับและเสียดสีของเอ็นข้อไหล่ซ้ำๆ ประกอบกับการเอื้อมมือหยิบของ ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นและเยื่อหุ้มข้อ จนเกิดอาการปวดหัวไหล่และไหล่ติด ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน จัดอยู่ในขอบเขตของโรค จินซาง筋伤การใช้งานซ้ำๆท่าเดิมบ่อยๆ ทำให้เกิดการบาดเจ็บเรื้อรัง กระทำต่อเส้นทางเดินลมปราณและเส้นเอ็นที่ผาดผ่านบริเวณไหล่ เมื่อการไหลเวียนของเส้นลมปราณถูกอุดกลั้น ทำให้เลือดและชี่ติดขัดก่อให้เกิดอาการปวด เมื่อสะสมเป็นเวลานาน ทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนติดขัดหรือไม่คล่อง เกิดการคั่งทำให้เกิดการบวมติด จนไหล่เคลื่อนไหวลดลงในที่สุด

แนวทางการรักษา (Treatment):

          เป้าหมายของการรักษา คือ การลดความเจ็บปวด เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหว และฟื้นฟูการกลับมาใช้งานของข้อไหล่ในการทำงานในชีวิตประจำวัน

          เนื่องจากโดยทั่วไปข้อไหล่ติดเป็นภาวะที่หายได้เอง การรักษาแบบประคับประคองตามระยะของโรค จะช่วยให้ผู้ป่วยส่วนนใหญ่อาการดีขึ้น ในระยะแรกอาการปวดชัดเจน การนวดทุยหนาจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น เมื่อเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ส่งผลให้การอักเสบลดลง บรรเทาอาการปวด บวม แดง ร้อนจากการอักเสบเฉียบพลัน เมื่ออาการปวดลดลง แต่การยังคงหลงเหลือไหล่ติด การนวดรักษาในระยะนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ให้ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น คลายความหนาแน่นของพังผืด ช่วยให้ข้อต่อยืดหยุ่น เคลื่อนไหวข้อต่อได้มากขึ้น การนวดทุยหนาจะทำให้อาการเป็นปกติเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือในการบริหารข้อไหล่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ และควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักและกระทบลมเย็น

ผลการรักษา (Progression note)

          หลังจากทำการรักษาผู้ป่วยด้วยการนวดทุยหนาเป็นจำนวน 9 ครั้ง อาการปวดบริเวณข้อไหล่อยู่ในระดับ 0/10 จากเดิมอยู่ที่ระดับ 6/10 พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ดีขึ้น ทำท่ายกแขน(shoulder flexion) และ ท่ากางแขน(shoulder abduction) ได้เป็นปกติ 180 องศา; และสามารถไขว้หลัง (Internal rotation)อยู่ที่ระดับ T12 ผู้ป่วยกลับมาใช้งานของข้อไหล่ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น สามารถกลับมาสวมใส่เสื้อผ้าและชุดชั้นใน และสระผมได้

ท่าบริหารหัวไหล่

1) ท่าไต่กำแพง : ยืนหันหน้าเข้าฝ่าผนัง ห่างจากฝาผนังประมาณ 1 ฟุต ยกแขนข้างที่ติดไปข้างหน้าให้ศอกตรง ใช้นิ้วไต่ฝ่าผนังขึ้นไปเรื่อยๆ พยายามเลื่อนปลายนิ้วมือให้สูงขึ้น ด้วยการเดินเข้าหาฝาผนัง จนรู้สึกตึงหรือเจ็บเล็กน้อย จึงถอยหลังออกมา ทำซ้ำวันละ 10 ครั้งต่อวัน


2) ท่าแกว่งแขน : ยืนตรง งอเข่าเล็กน้อยเพื่อการทรงตัว เท้าสองข้างแยกออกจากกันให้มีระยะห่างเท่ากับหัวไหล่ ปล่อยมือทั้งสองข้างลงตามธรรมชาติไม่คว่ำหรือหงายมือ จากนั้นแกว่งแขนเบา ๆ เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ทำซ้ำกันประมาณ 5-10 นาทีต่อวัน


3) ท่ามือไขว้หลัง : ยื่นมือข้างที่เจ็บไพล่ไปข้างหลังระดับสะโพก โดยให้หลังมือหันเข้าหาสะโพก จับปลายผ้าขนหนูทั้งสองข้างจากด้านหลัง ใช้แขนข้างที่ไม่มีอาการออกแรงดึงผ้าขึ้นเพื่อยืดส่วนที่ติดขัด จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย แล้วปล่อยแขนข้างที่เจ็บให้หายตึง ทำซ้ำ10 ครั้งต่อวัน



เอกสารอ้างอิง

1. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 1.  กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551.

2. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 3.  นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554


แพทย์จีน กรกฎ คุณโฑ (พจ.1107)

แผนกกระดูกและทุยหนา
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้