ภาวะนอนมากนอนไม่พอ กับศาสตร์การแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  5914 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะนอนมากนอนไม่พอ กับศาสตร์การแพทย์แผนจีน

          ทุกวันนี้เราล้วนมีภาระหน้าที่ ที่ต้องจัดการ การตื่นมาเพื่อจัดการกับภาระหน้าที่ต่างๆ ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญของการเริ่มต้นวันใหม่อย่างมีคุณภาพ การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน แบ่งสัดส่วนของการทำงาน การใช้ชีวิตเท่ากัน ทั้งวันเต็มที่กับการทำงาน พบเจอกับภาระต่างๆ ความเร่งรีบ แบกรับแรงกดดัน ความเครียด เมื่อเลิกงานก็ต้องกินอาหารปิ้งย่าง ชาบู ยำ ดื่มน้ำชง แอลกอฮอร์ ดูหนัง ซีรีย์ กีฬามันมัน เพื่อการผ่อนคลายร่างกาย เมื่อเต็มที่กับการใช้ชีวิต ในวังวนของลูป เช้าตื่น ทำงาน พัก ทำงาน พัก นอนและตื่นในอีกวัน สำหรับใครหลายคนจึงเป็นเรื่องที่ลำบากเมื่อการตื่นนอนของเช้าวันถัดไปเกิดการสะดุด เช่น เช้าแล้วยังอยากนอน ตื่นไม่ไหว ตื่นแล้วไม่สดชื่น ไม่อยากตื่น โดนเตียงดูดวิญญาณ อาการเหล่านี้บางครั้ง ใช่ว่าจะเกิดจากการนอนที่ไม่เพียงพอ แต่กลับเป็นการทำงานของร่างกายที่ผิดปกติ ที่มีอาการแสดงออกมาในรูปแบบของความผิดปกติในการตื่นนอน ซึ่งความผิดปกตินี้ในการการแพทย์แผนจีน เรียกว่า ภาวะนอนมาก

          ภาวะนอนมาก (ซื่อซุ่ย嗜睡 ตัวว่อ多卧 ซื่อเมี่ยน嗜眠 ตัวเมี่ยน多眠 เป็นต้น) คืออาการที่ผู้ป่วยอยากนอนตลอดเวลา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ปลุกแล้วเรียกแล้วตื่นขึ้นมา แต่ก็กลับไปหลับต่อ ไม่อยากตื่น ตื่นแล้วไม่อยากลุกจากเตียง เลื่อนเวลาตื่นไปเรื่อยๆ เป็นต้น

          ในการแพทย์จีนภาวะนอนมากมีตำแหน่งความผิดปกติอยู่ที่หัวใจ ม้าม และไต ร่วมกับสภาพพื้นฐานของร่างกายที่อ่อนแอ การอ่อนแอของหยางชี่ของหัวใจ ม้าม และไต หรือช่องทวารของหัวใจ(心窍)ขาดการหล่อเลี้ยง หรือความชื้น เสมหะขุ่นสกปรก เลือดคั่งอุดกั้นเส้นลมปราณลั่ว ทำให้ช่องทวารต่างๆถูกปิดกั้น

          ในอดีต แพทย์จีนหลี่ตงเหวียน(李东垣) (ค.ศ.1180-1251) เขียนในตำราผีเว้ยลุ่น《脾胃论》 ไว้ว่า “ม้าม กระเพาะอาการที่อ่อนแอ ส่งผลให้เกิดอาการเชื่องช้า ขี้เกียจ ง่วงหาว นอนมาก” แพทย์จีนจูเจิ้นเสียง(朱震亨) (ค.ศ.1281-1358) เขียนในตำราตันซีซินฝ่า《丹溪心法》ไว้ว่า “เมื่อปัจจัยก่อโรคความชื้นกระทบม้าม กระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการตัวหนักเคลื่อนไหวติดขัด ง่วง ไม่มีแรง อ่อนเพลีย เชื่องช้า ขี้เกียจ ง่วงหาว นอนมาก” จึงกล่าวได้ว่าม้าม กระเพาะอาหารที่อ่อนแอ และถูกปัจจัยก่อโรคความชื้นกระทบ เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะนอนมาก

          ในปัจจุบัน ภาวะนอนมาก มีสาเหตุการเกิดโรคที่พบบ่อยคือ ความชื้น เสมหะขุ่นสกปรก เลือดเกิดปิดกั้นอุดตันพลังหยาง พลังชี่ ส่งผลให้ พลังหยางของหัวใจทำงานผิดปกติ หรือพลังหยางอ่อนแอ พลังชี่พร่องไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงจิตใจและเสิน(สติ)

          ในปัจจุบัน กลไกการดำเนินของภาวะนอนมาก ที่พบได้บ่อยคือ ชี่ของม้ามที่อ่อนแอ ส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหาร ดูดซึม ลำเลียงสารอาหารเกิดความผิดปกติ ทำให้เกิดการคั่งของสารน้ำสารอาหาร นานเข้าเกิดเป็นเสมหะเหนียวขุ่นข้นสกปรกติดค้างอุดตันในเส้นเลือด ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดเกิดขึ้นไม่เต็มที่ นานวันเข้า ทำให้พลังชี่และเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย พลังหยางชี่ถูกทำลาย ส่งผลให้พลังหยางของหัวใจไม่เพียงพอ พลังชี่ของม้ามยิ่งอ่อนแอ เกิดเป็นความผิดปกติที่ซับซ้อน

          การวินิจฉัยภาวะนอนมาก และการแยกแยะกลุ่มอาการ

1. กลุ่มอาการปัจจัยการก่อโรคความชื้นปิดกันการทำงานของม้าม

    1.1 อาการแสดง นอนมาก ตื่นยาก ศีรษะหนักตื้อ แน่นเหมือนถูกห่อหุ้ม วิงเวียน รู้สึกเชื่องซึม ง่วงหาว ไม่สดชื่น ร่างกายแขนขารู้สึกหนัก เคลื่อนไหวติดขัด  ปวดเมื่อย อาจมีความรู้สึกร่างกายบวมๆ ตึงๆ แน่นหน้าอก ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง เบื่ออาหาร การรับรู้รสผิดแปลกไป คลื่นไส้ ฝ้าบนลิ้นเหนียว

    1.2 สาเหตุการเกิดโรค

          1) ปัจจัยการก่อโรคความชื้น มาจากฤดูฝน หรือการอาศัยอยู่ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง การใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศที่มากเกินไป การอาศัยอยู่ติดใกล้กับแห่งน้ำ ส่งผลทำลาย ปิดกั้นการทำงานของม้าม

          2) การรับประทานอาหารเผ็ด หวาน มัน ทอด ดื่มแอลกอฮอส์ อาหารดิบ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือมากเกินไป ทำให้ม้ามอ่อนแอลง จนไม่สามารถต้านทานความชื้นได้

          3) ความเครียด คิดมาก วิตกกังวลที่มากเกินไป ทำให้ชี่ของม้าม  เคลื่อนที่ช้า สารอาหาร สารน้ำที่ได้จากการย่อยอาหาร ไม่สามารถไปเลี่ยงตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตกค้างรวมกันเกิดเป็นความชื้นอุดตันตามเส้นลมปราณจิงลั่ว เส้นเลือด ช่องทวารต่างๆ

    1.3 วิธีการรักษา ใช้ยาสมุนไพรสรรพคุณ สลายความชื้น บำรุงม้าม ปลุกสติเปิดทวาร (燥湿健脾,醒神开窍)

    1.4 ยาสมุนไพรที่ใช้บ่อย

          1) ชางจู๋(苍术) สรรพคุณสลายความชื้น บำรุงม้าม

          2) ฮั่วเซียง(藿香) สรรพคุณกลิ่นหอม สลายเสมหะขุ่นสกปรก

          3) จวี๋หง(橘红) สรรพคุณปรับการไหลเวียนของชี่ ปรับสมดุลการทำงานของม้าม กระเพาะอาหาร

          4) โฮ้วผู่(厚朴) ขิงสด สรรพคุณผ่อนคลายและปรับการทำงานของม้าม กระเพาะอาการ  สลายความชื้น

          5) สือชังผู่(石菖蒲) สรรพคุณปลุกกระตุ้นการทำงานของม้าม สลายความชื้น ปลุกเสิน(สติ) เปิดช่องทวาร

2. กลุ่มอาการเลือดคั่งปิดกั้นการไหลเวียนโลหิต

    2.1 อาการแสดง นอนมาก ตื่นยาก ร่างกายไม่มีเรี่ยวแรง อ่อนเพลีย ปวดมึนเวียนศีรษะ มีอาการมานาน มีประวัติหลังฝ่าตัด ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ ชีพจรฝืด ลิ้นสีม่วงคล้ำ หรือมีลายเลือดคั่งบนลิ้น

    2.2 สาเหตุการเกิดโรค
 
          1) ความผิดปกติในร่างกาย หรือไม่สบายเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตมีปัญหา เกิดเป็นลิ้นเลือดอุดกั้นในหลอดเลือด

          2) หลังเข้ารับการผ่าตัด ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ ส่งผลให้เส้นเลือดถูกทำลาย ตัดขาด ฉีกขาด ส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตผิดปกติ ติดขัด เลือดที่ไหลเวียนไม่ได้ เกิดการคั่งของเลือด กลายเป็นลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือด ช่องทวารถูกติด กระทบต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง สมองไม่มีพลัง เกิดอาการนอนมาก

    2.3 วิธีการรักษา ใช้ยาสมุนไพรสรรพคุณ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ทะลวงเส้นลมปราณลั่ว (活血通络)

    2.4 ยาสมุนไพรที่ใช้บ่อย

          1) ฉื้อฉาวชื่อเสา(赤芍) ชวนโชงซยง(川芎) ถาวเถาเหริน(桃仁) หงฮัว(红花) สรรพคุณเพิ่มการไหลเวียนโลหิต สลายเลือดคั่ง

          2) ขิงสด เหล้าเหลือง(黄酒) สรรพคุณอุ่นเส้นเลือด เพิ่มการสูบฉีดโลหิต เพิ่มการไหลเวียนโลหิต

          3) ต้นหอม สรรพคุณเปิดทวาร ปลุกสติ

          4) พุทราแดง สรรพคุณป้องกัน บำรุงเจิ้งชี่

3. กลุ่มอาการพลังชี่ของม้ามพร่องอ่อนแอ

    3.1 อาการแสดง อยากนอน นอนมาก หลับบ่อย หลับง่าย ขี้เกียจ ไม่มีแรง หลังรับประทานอาหารอาการเป็นหนักขึ้น ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร อุจจาระไม่เป็นก้อน ผิวหน้าเหี่ยวย่น สีหน้าออกเหลือง ฝ่าบนลิ้นขาวบาง ชีพจรอ่อนแรง(虚)

    3.2 สาเหตุการเกิดโรค

          1) ความเครียด คิดมาก วิตกกังวลเป็นเวลานาน ทำให้ชี่ของม้ามเคลื่อนที่ช้าลง ไม่มีแรง จนม้ามไม่สามารถส่งชี่ไปหล่อเลี้ยงตามร่างกายได้

          2) การรับประทานอาหารเผ็ด หวาน มัน ทอด ดื่มแอลกอฮอร์ ของดิบ ติดต่อกันเป็นเป็นเวลานาน หรือมากเกินไป ทำให้ม้าม  การทำงานไม่ไหว การผลิตสารอาหาร ชี่เลือดลดลง จนไม่เพียงพอต่อการทำงานของร่างกาย

          3) การนั่งเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อต่างๆในร่างกาย ขาดการยืดหดตัว ส่งผลต่อการไหลเวียนของชี่ เลือด สารอาหารไม่เพียงพอทำให้ม้าม อ่อนแอ โดยการไหลเวียนเลือดที่ดี เลือดที่ถูกสูบฉีดไปสู่ส่วนปลายของร่างกาย จะไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้ดีต้องอาศัยการทำงานจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อต่างๆ แต่การที่กล้ามเนื้อจะทำงานได้ดีนั้น ก็ต้องมีชี่ เลือด สารอาหารที่ดีจากม้าม ส่งมาหล่อเลี้ยง  เมื่อการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้วงรอบของการไหลเวียนผิดปกติ นานวันเข้า ม้าม อ่อนแอ กล้ามเนื้อไม่มีแรง เกิดภาวะนอนมาก

    3.3 วิธีการรักษา ใช้ยาสมุนไพรสรรพคุณ เสริมสร้างบำรุงม้าม เพิ่มชี่(健脾益气)

    3.4 ยาสมุนไพรที่ใช้บ่อย

          1) ต่างตั่งเซิน(党参) ฝูหลิง(茯苓) ไป๋จู๋(白术) กานกันเฉ่า(甘草) สรรพคุณบำรุงม้าม เสริมสร้างเพิ่มชี่

          2) ป้านเซี้ยเซี่ย(半夏) เฉินผี(陈皮) สรรพคุณสลายเสมหะ ปรับการทำงานของระบบทางเดินอาหาร

          3) มู่เซียง(木香) ซาเหริน (砂仁) สรรพคุณปรับการไหลเวียนของชี่ ปลุกการทำงานของม้าม

4. กลุ่มอาการพลังหยางชี่พร่องเสื่อม

    4.1 อาการแสดง นอนมาก ขี้เกียจ ไม่มีแรง ไม่มีพลัง ปลุกแล้วไม่ค่อยรู้สึกตัว ปลุกยาก ตื่นยาก พูดเพ้อ หนาว แขนขาเย็น หน้าซีดขาว ชีพจรจมเล็กไม่มีแรง(沉无力) ลิ้นซีด ฝ่าบาง

    4.2 สาเหตุการเกิดโรค

          1) ร่างกายเสียสมดุลการทำงาน มีความผิดปกติในร่างกายมาเป็นเวลานาน ชี่เลือดผลิต ไหลเวียนผิดปกติ เปิดเป็นเสมหะขุ่นสกปรกปิดกันช่องทวารของหัวใจ หัวใจไม่สามารถบีบตัว สร้างพลังหยางได้

          2) ร่างกายถูกปัจจัยก่อโรคความเย็น ความหนาว อาหารเย็นจัด เข้าทำลายสมดุลความร้อนความเย็น(สมดุลอินหยาง) ทำให้พลังหยางลดลง

    4.3 วิธีการรักษา ใช้ยาสมุนไพรสรรพคุณเสริมสร้างชี่ อุ่นพลังหยาง(益气温阳)

    4.4 ยาสมุนไพรที่ใช้บ่อย

          1) ฟู่จื่อ(附子) ขิงแห้ง สรรพคุณเพิ่มความอุ่นและเสริมสร้างหยางของม้าม ไต

          2) จื้อฮวงฉี๋หวงฉี(炙黄芪) เหรินเซิน(人参) ไป๋จู๋(白术) จื้อกานเฉ่า(炙甘草) สรรพคุณเพิ่มบำรุงเหวียนเหยียนชี่

          3) สูสู๋ตี้หวง(熟地黄) อู่อวู่เว้ยจื่อ(五味子) ชวนโชง(川芎) สรรพคุณเพิ่มความชุ่มชื้น บำรุงอิน โดยหลักจะเพิ่มหยางต้องเพิ่มอินด้วย

          4) เซิงหมา(升麻) สรรพคุณกระตุ้นการไหลเวียนขึ้นสู่ส่วนบนของร่างกาย

          การรักษาภาวะนอนมากในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เป็นอีกหนึ่งภาวะที่มีการบันทึกถึงการสาเหตุของการเกิดโรค อาการแสดง วิธีการรักษาอย่างละเอียดเป็นระบบ มีการใช้ในทางคลินิกสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาหลายพันปี การปรับสมดุลการทำงานของหัวใจ ม้าม ไต ช่วยทำให้การตื่นนอนดีขึ้น ร่างกายสดชื่น มีพลังมากยิ่งขึ้น การรีบรักษาทำให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการของภาวะนอนมากไม่ซับซ้อน รักษาได้ง่าย ประหยัดระยะเวลาในการรักษา เพื่อคุณภาพการตื่นนอน ความพร้อมของสติปัญญา จิตใจในเช้าวันใหม่ และความสมดุลของสุขภาพองค์รวม การแพทย์แผนจีนจึงเป็นหนึ่งในการแพทย์ที่ให้ความสำคัญกับการตื่นนอนที่มีแข็งแรงและมีคุณภาพ

แพทย์จีนจิตติกร พิมลเศรษฐพันธ์ (พานจ้ายติง) คลินิกอายุรกรรมแผนจีนบุรุษเวช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้