ไขคำตอบเรื่องเสียงในหู

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  13857 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไขคำตอบเรื่องเสียงในหู

ในทางแพทย์แผนจีนมีมุมมองเกี่ยวกับหูอย่างไร
         

          อวัยวะที่เกี่ยวของกับหูและการได้ยินได้แก่ตับ ไต และม้าม รวมถึงระบบเส้นลมปราณ

          ทุนก่อนกำเนิดของคนคือไต ซึ่งไตมีหน้าที่เก็บสารจิงเพื่อหล่อเลี้ยงเส้นลมปราณและหู ในผู้สูงอายุเมื่อสารจิงและจินในไตลดลงก็จะทำการหล่อเลี้ยงหูไม่พอและให้การได้ยินลดลงได้

          ตับเป็นอีกอวัยวะที่มีความสัมพันธ์กับส่วนบนของร่างกาย เช่น หัวและสมองเป็นต้น หากมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย จะส่งผลให้หยางของตับลอยสูงและกระทบต่อการได้ยิน

          ทุนหลังกำเนิดคือกระเพาะอาหารและม้าม ซึ่งเป็นอวัยวะที่ช่วยย่อยละดูดซึมสารอาหารเพื่อสร้างชี่ และ เลือด ไปช่วยหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายรวมถึงหู นอกจากนี้ม้ามยังมีหน้าที่นำพาสารอาหารเหล่านี้ขึ้นไปเลี้ยงส่วนศีรษะอีกด้วย

          นอกจากนี้ยังมีเส้นลมปราณซึ่งทำหน้าที่นำสารสำคัญไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ โดยเส้นลมปราณที่ผ่านบริเวณหูคือ เส้นลมปราณเท้าเส้าหยางถุงน้ำดี มือเส้าหยางซานเจียว มือไท่หยางลำไส้เล็ก

มีเสียงในหูกับหูดับต่างกันอย่างไร

         อาการหูมีเสียงคือการที่ผู้ป่วยได้ยินเสียงรบกวนอาจจะได้ยินเสียงสูง หรือ เสียงลม โดยเสียงที่ได้ยินไม่ใช่เสียงที่มาจากภายนอก โดยส่วนมากผู้ป่วยมักจะได้ยินเสียงเพียงผู้เดียวและมักเกิดขึ้นเพียงด้านเดียว อาจมีการได้ยินลดลงร่วมด้วย

          ส่วนอาการหูดับนั้นคือการที่การได้ยินลดลงหรือไม่ได้ยินเลย อาการหูดับสามารถแบ่งได้เป็นแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง โดยแบบเฉียบพลันสามารถเกิดได้หลายสาเหตุเช่น การติดเชื้อไวรัส โรคความดันสูง พักผ่อนน้อยเกินไป หรือ โรคน้ำในหูไม่เท่ากันขั้นรุนแรง ซึ่งมักจะมีอาการเวียนหัวร่วมด้วย ส่วนการได้ยินลดลงแบบเรื้อรังมักเกิดในผู้สูงอายุซึ่งพบได้บ่อยจากการที่ประสาทหูเสื่อมตามอายุ

ต้องทำอย่างไรเมื่อมีอาการเหล่านี้

          ควรสังเกตตนเองก่อนในบางรายหายอาการไม่หนักสามารถหายไปเองได้ภายในไม่กี่นาที แต่หากไม่หายไปเองหรือมีอาการหนักขึ้น ควรเริ่มจากการตรวจการได้ยินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อแยกแยะโรคว่าต้นเหตุของโรคเกิดจากอะไร

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้คืออะไร

          มีประวัติได้รับบาดเจ็บบริเวณหู ได้รับการกระทบกระเทือน หูได้ยินเสียงดังมากๆ เช่น เสียงระเบิด เสียงประทัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีประวัติการใช้ยาบางกลุ่มที่สามารถทำลายระบบการได้ยิน ประสาทหูเสื่อม เป็นต้น

          การใช้หูฟังมากเกินไป และ ปัจจัยภายในร่างกายเช่นการทำงานของอวัยวะต่างบกพร่อง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากภายนอกเช่นความร้อนความชื้นมารบกวนการเดินของสารจิงและจินได้ เช่น ภาวะลมร้อน ความชื้นเป็นต้น ปัจจัยที่เกิดจากการใช้งานของหูที่กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงอายุก็เป็นอีกปัจจัยนึงที่ทำให้เกิดอาการนี้เช่นกัน

ในทางแพทย์แผนจีนสามารถแบ่งกลุ่มอาการของโรคหูมีเสียงได้อย่างไรบ้าง

          สามารถแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็นอาการแกร่งและอาการพร่อง โดยกลุ่มอาการแกร่ง ได้แก่ กลุ่มอาการลมร้อนจากภายนอกเข้ากระทำ (风热侵袭证) กลุ่มอาการไฟตับขึ้นรบกวนเข้ารุกราน (肝火上扰证) และ เสมหะและไฟสะสม (痰火郁结证)

          กลุ่มอาการพร่อง ได้แก่ กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง (脾胃虚弱证) และ กลุ่มอาการสารจำเป็นของไตพร่อง (肾精亏损证)

กลุ่มอาการลมร้อนจากภายนอกเข้ากระทำ (风热侵袭证)

          อาการ :  หูมีเสียงในระยะแรก ร่วมกับมีอาการแน่นตึงในหู การได้ยินลดลง หรือมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ไอเป็นต้น

กลุ่มอาการไฟตับขึ้นรบกวนเข้ารุกราน (肝火上扰证)

          อาการ : หูมีเสียง มักเกิดอาการหรือมีอาการหนักขึ้นหลังจากหงุดหงิดโมโห ร่วมกับมีอาการปากขม คอแห้ง หน้าและตาแดง ปัสสาวะสีเหลือง ท้องผูก เจ็บเสียดชายโครง ปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะ

เสมหะและไฟสะสม (痰火郁结证)

          อาการ : หูมีเสียง รู้สึกตึงแน่นในหู ร่วมกับมีอาการหนักศีรษะ แน่นหน้าอก ไอมีเสมหะ ปากขม

กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง (脾胃虚弱证)

            อาการ : หูมีเสียง มักเกิดอาการหรือเป็นหนักขึ้นเมื่อตรากตรำเหน็ดเหนื่อย หรือเวลานั่งแล้วลุกขึ้นจะเป็นหนักขึ้น ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย เซื่องซึม สีหน้าไม่สดใส เบื่ออาหาร ท้องอืดแน่น ถ่ายเหลว

กลุ่มอาการสารจำเป็นของไตพร่อง (肾精亏损证)

            อาการ : หูมีเสียงเป็นเวลานาน ร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยเอวและเข่าอ่อนแรง เวียนศีรษะ ตาลาย ผมร่วงหรือฟันโยกคลอน ปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อย สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เหงื่อออกในตอนกลางคืน

อาการเหล่านี้สามารถรักษาอย่างไร

          เมื่อตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจนและรักษา สามารถใช้การแพทย์แผนจีนควบคู่ในการรักษากับแผนปัจจุบัน ซึ่งสามารถพบแพทย์อายุรกรรมซึ่งจะใช้ยาสมุนไพรเพื่อปรับสมดุลร่างกาย และ ใช้การฝังเข็มเพื่อกระตุ้นเส้นลมปราณที่หล่อเลี้ยงหู

อาหารที่เหมาะกับกลุ่มอาการต่างๆ

          อาหารที่ควรงด เช่นแอลกอฮอล์ ชากาแฟที่เข้มๆเป็นต้น เพราะจะทำให้การนอนหลับไม่ดีทำให้การฟื้นฟูร่างกายช้าลง สำหรับผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มการร้อนชื้นควรจะลดอาหารจำพวกของหวานและ มันเพราะสองสิ่งนี้จำทำให้เกิดเสมหะซึ่งจะอุดกลั้นเส้นลมปราณและจะทำให้เป็นหนักขึ้นอีก อาการสารจำเป็นของไตพร่องต้องไม่เหน็ดเหนื่อยตรากตรำทำงานจนเกินไปเพราะการตรากตรำเหล่านี้จะทำให้สารจำเป็นในไตเสื่อมลงได้เร็วขึ้นรวมทั้งงดอาหารรสเผ็ดร้อนจัดด้วย สำหรับอาการม้ามและกระเพาะอาหารพร่องควรจะระวังในการทานอาหารโดยเฉพาะน้ำเย็น หากมีอาการนอนไม่หลับหงุดหงิดง่ายร่วมด้วยควรใช้น้ำอุ่นหรือสมุนไพรแช่เท้าก่อนนอน เพื่อช่วยให้หลับสบายขึ้นและเป็นการดึงไฟที่กวนส่วนหูลงไปข้างล่างด้วย

วิธีป้องกันตัวเองจากอาการเหล่านี้

          การไม่อยู่ในที่ที่เสียงดังเกินไป หรือ ใช้หูฟังเป็นเวลานาน พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ตรากตรำทำงานหนักเกินไป และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ อารมณ์ ควรทำอารมณ์ให้ปลอดโปร่ง แจ่มใส ไม่วิตกกังวลหงุดหงิดโมโหมากเกินไป

ท่าบริหารร่างกายเพื่อบรรเทาอาหารหูมีเสียง

1. การนวดกดจุดต่าง เริ่มด้วยการนวดบริเวณหู เอ่อเหมิน耳门(TE 21)、ทิงกง听宫(SI 19)、ทิงหุ้ย听会(GB 2)、อีเฟิง翳风(TE 17)


2. นวดตามเส้นลมปราณที่ผ่านหู จงจู่中渚(TE 3)、ไว่กวาน外关(TE 5)、หยางหลิงเฉวียน阳陵泉(GB 34)、ซานอินเจียว三阴交(SP 6)、จู๋ซานหลี่足三里(ST 36)

3. ดีดหลังหู(鸣天鼓):นำฝ่ามือทั้งสองแนบที่รูหู บิดข้อมือไปที่หลังหูเพื่อให้นิ้วชี้กลางนางก้อยอยู่บริเวณท้ายทอย นำนิ้วชี้วางบนนิ้วกลางแล้วดีดลงที่ท้ายทอย หากทำถูกวิธีจะได้ยินเสียงเหมือนตีกลอง ค่อยๆดีดนิ้วเป็นจังหวะจากเบาไปหนัก ทำทีละข้าง หรือทำพร้อมกันก็ได้ ครั้งละ20ทีเพื่อช่วยให้เลือดลมและลมปราณบริเวณหูเคลื่อนสะดวก ถ้าทำเป็นประจำจะสามารถป้องกันและรักษาอาการหูมีเสียงได้

4. ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางวางบริเวณรูหูด้านนอก กดเบาๆ ข้างละ 15-30  ครั้ง วันละ 3 ครั้ง เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตึงแน่นในหูร่วมด้วย

การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์นานๆทำให้เกิดอาการเสียงในหูได้หรือไม่

          ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกระดูกต้นคอเสื่อมอาจจะทำให้มีอาการหูมีเสียงได้ โดยการฝังเข็มและทานสมุนไพรจีนหรือนวดทุยหนาเพื่อช่วยรักษาอาการกระดูกต้นคอเสื่อมจะช่วยให้การมีเสียงลดลงได้ แนะนำให้ก้มหน้าใช้โทรศัพท์แต่พอดี ควรออกกำลังกายต้นคอทุกๆ 45 นาทีเพื่อคลายกล้ามเนื้อต้นคอ โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้ นั่งบนเก้าอี้ ชันเข่าประมาณ 90 องศา เริ่มจากงอขาข้างหนึ่ง ขาอีกข้างเหยียดตรง แขนสองข้างเหยียดตรง ฝ่ามือทั้งสองข้างตั้งตรงคล้ายท่าผลักประตูไปข้างหน้า หลังจากนั้นหมุนศีรษะไปทางซ้ายและทางขวา ข้างละ 7 ครั้ง

มีคนแนะนำให้ทานยาสมุนไพรจีนเพื่อรักษาอาการหูมีเสียงหรือหูดับควรจะหายามาทานเองหรือไม่

          อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าในการรักษาโดยแพทย์แผนจีนนั้นจะต้องจำแนกโรคให้เรียบร้อยก่อนจึงจะจ่ายยา การที่มีคนใช้แล้วอาการดีขึ้นนั่นหมายความว่ายานั้นเหมาะกับผู้ที่แนะนำมา แต่ผู้ป่วยไม่ควรไปซื้อตามคนอื่นมาทานเองเพราะอาจจะไม่ตรงกับกลุ่มอาการที่ตนเองเป็นอยู่ ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่เราจะใช้กันมาอย่างยาวนานแต่การใช้สมุนไพรอย่างผิดวิธีอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นทำให้การทำงานของตับและไตผิดปกติได้ การใช้ยาสมุนไพรจึงควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้