Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 5865 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะเบื่ออาหารหลังเคมีบำบัดเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากอาการหนึ่งในช่วงระหว่างและหลังการทำเคมีบำบัด เป็นภาวะที่สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยมะเร็งอย่างมากและนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารได้ลดลง และหากมีอาการมากจนส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมอาจจะนำมาซึ่งการไม่สามารถรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ฉายแสง หรือผ่าตัดต่อไปได้หรืออาจต้องลดขนาดยาเคมีบำบัดลง ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งอย่างเต็มที่ไป นอกจากนี้แล้วหากร่างกายผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากภาวะทุพโภชนาการเป็นระยะเวลานาน ก็จะส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยทรุดโทรมลง ภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่ เกิดความเครียดและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวหลังการรักษาตามมา
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
1. ยาเคมีบำบัดจะส่งผลกระทบต่อการรับรส การได้กลิ่น รสสัมผัส เนื่องจากยาเคมีบำบัดไปทำลายต่อมรับรสบริเวณลิ้น ส่งผลให้ความอยากอาหารของผู้ป่วยลดลง
2. ผู้ป่วยยังได้รับผลกระทบจากอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด ทำให้เกิดความกลัวที่จะทานอาหาร หรือรู้สึกไม่อยากอาหารตามมา
3. ยาเคมีบำบัดยังทำให้เซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติในร่างกายเกิดการสลายตัวที่เรียกว่า Tumor lysis syndrome โดยจะทำให้เกิดสภาวะเลือดเป็นกรดจากระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงซึ่งทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร
4. ยาเคมีบำบัดแต่ละประเภทก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจส่งผผลต่อความรู้สึกอยากอาหารได้ เช่น
4.1 การรับรสและกลิ่นผิดปกติโดยเกิดจากการใช้ยา carboplatin, cisplatin, cyclophosphamide, doxorubicin, 5-Fluorouracil และ methotrexate
4.2 อาการถ่ายเหลว เกิดจากการให้ยา 5-Fluorouracil, irinotecan, hydroxyurea, methotrexate และ dactinomycin
4.3 แผลในเยื่อบุช่องปากและทางเดินอาหาร เกิดจากการให้ยา Antimetabolites, cytotoxic, antibiotics
4.4 กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดจากการให้ยา bleomycin, dactinomycin, doxorubicin, 5-fluorouracil และ methotrexate
4.5 Metabolic abnormalities เกิดจากการให้ยา cisplatin, methotrexate, mitomycin, tamoxifen, tretinoin และยา vincristine
การรักษาอาการภาวะเบื่ออาหารหลังเคมีบำบัดด้วยการแพทย์แผนจีน
ในทางการแพทย์แผนจีนนั้นยาเคมีบำบัดจัดเป็นพิษรูปแบบหนึ่งซึ่งจะไปกระทบการทำงานของกระเพาะอาหาร ทำให้สมดุลในการลำเลียงอาหารของกระเพาะอาหารและม้ามเสียไป กระเพาะอาหารและม้ามอ่อนแอลง ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารขึ้นได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้พลังชี่ไหลย้อนขึ้นบนจนเกิดเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียนขึ้น
การรักษาจะเน้นไปที่การบำรุงกระเพาะอาหารและม้ามให้แข็งแรง ปรับสมดุลการทำงานที่ผิดปกติต่าง ๆ ของกระเพาะอาหารและม้าม เช่น ความชื้น เสมหะ ความร้อน หรือการไหลเวียนของพลังชี่ที่ผิดปกติต่าง ๆ เมื่อร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ความอยากอาหารก็จะดีขึ้นตามลำดับ
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการตับและกระเพาะอาหารไม่ประสานกัน syndrome of liver qi invading the stomach(肝气犯胃证Gān qì fàn wèi zhèng)
อาการ : เบื่ออาหาร อาเจียนเป็นน้ำย่อย เรอบ่อย ปวดจุกแน่นหน้าอก กระวนกระวาย หากอารมณ์ได้รับการกระทบกระเทือนจะมีอาการอาเจียนเป็นน้ำย่อยมากขึ้น
ลิ้นและชีพจร : ขอบลิ้นแดง ฝ้าขาวเหนียว ชีพจรตึง(弦)
การรักษา : ระบายตับ ปรับการไหลเวียนของชี่ ปรับสมดุลกระเพราะอาหารและดึงชี่ลง
2. กลุ่มอาการเสมหะจากความชื้น Phlegm-dampness syndrome(痰湿证Tán shī zhèng)
อาการ : เบื่ออาหาร อาเจียนเป็นน้ำลายใสๆ จุกแน่นที่หน้าอกและลิ้นปี่ เวียนศีรษะ ใจสั่น หรือมีเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้
ลิ้นและชีพจร : ฝ้าลิ้นขาวเหนียว ชีพจรลื่น(滑)
การรักษา : อบอุ่นสลายเสมหะ ดึงชี่ลง
3. กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ Spleen-stomach weakness syndrome(脾胃虚弱证Pí wèi xū ruò zhèng)
อาการ : เบื่ออาหาร ทานอาหารมากเกินไปก็จะอยากอาเจียน เป็นๆหายๆ ท้องอืดอาหารไม่ย่อย สีหน้าไม่มีชีวิตชีวา อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว
ลิ้นและชีพจร : ลิ้นซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กไม่มีแรง(细弱)
การรักษา : บำรุงม้าม ปรับสมดุลกระเพราะอาหารและดึงชี่ลง
4. กลุ่มอาการอินของม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง Spleen-stomach yin deficiency syndrome(脾胃阴虚证 Pí wèi yīn xū zhèng)
อาการ : หิวแต่ไม่อยากอาหาร ท้องมีเสียงโครกคราก อาเจียนซ้ำไปมาแต่ปริมาณไม่มาก บางครั้งก็อาเจียนแห้งๆ คลื่นไส้ ปากแห้งคอแห้ง
ลิ้นและชีพจร : ลิ้นแดง ฝ้าน้อยหรือไม่มีฝ้า ชีพจรเล็ก(细)
การรักษา : เสริมอินเพิ่มความชุ่มชื้น ดึงชี่ลง
ตัวอย่าง กรณีศึกษา
การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเบื่ออาหารหลังเคมีบำบัด ที่มารักษาที่คลินิกอายุรกรรม-มะเร็ง หัวเฉียวแพทย์แผนจีน
ข้อมูลทั่วไป : น.ส. ดXXX XXX เพศหญิง อายุ43ปี
วันที่มาเข้ารับการรักษาครั้งแรก : วันที่ 5 มิถุนายน 256x
อาการสำคัญ : อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร 3 เดือนกว่า
ประวัติอาการ : เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีอาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ โดยมีเลือดออกกะปริดกะปรอยไม่หยุด เมื่อไปตรวจภายในที่โรงพยาบาลได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ระยะที่ 2 ได้ทำเคมีบำบัดไป 2 คอร์สจากทั้งหมด 3 คอร์ส(ล่าสุดคือในวันที่ 30/5/256x) คอร์สที่ 3 กำหนดให้ในวันที่ 20/6/256x
อาการปัจจุบัน : มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปากขม คอแห้ง ผมร่วง นอนไม่หลับ นอนหลับยาก ตื่นง่าย ปัสสาวะกลางคืน 6-7 ครั้ง ยังมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดอยู่ ปวดเมื่อยเอว รู้สึกตัวร้อน มีเหงื่อออกกลางคืน อุจจาระวันละครั้ง โดยมีลักษณะนิ่มเป็นก้อนดี
ประวัติในอดีต : ไม่มี
ตรวจร่างกาย : ความดันโลหิต 142/97 mmHg อัตราการเต้นหัวใจ 99 ครั้ง/นาที อุณหภูมิ 36.4 องศาเซลเซียส น้ำหนัก 49 กิโลกรัม
ชีพจรเล็กเร็วและไม่มีแรง(细数弱) ลิ้นแดงเล็กน้อย ฝ้าขาวบาง มีรอยแตก(舌微红,苔薄白,有裂纹)
การวินิจฉัย : โรคเบื่ออหาร(厌食)โรคมะเร็งปากมดลูก(宫颈癌)
กลุ่มอาการชี่และอินพร่อง syndrome of dual deficiency of qi and yin (气阴两虚证 Qì yīn liǎng xū zhèng)
วิธีการรักษา : บำรุงไต ม้ามและกระเพาะอาหาร เสริมชี่และอิน โดยเลือกใช้ตำรับยาจือไป่ตี้หวงหวานและซื่อจวินจื่อทังเพิ่มลดในการรักษา รับประทานหลังอาหารเช้า-เย็น 7 วัน
ผลการรักษา : ความอยากอาหารมีมากขึ้น ปากขมและคอแห้งหายไป เรี่ยวแรงมีมากขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น 3 กิโลกรัม(52 กิโลกรัม) การนอนหลับดีขึ้น หลับง่าย ปัสสาวะกลางคืนเหลือ 1 ครั้ง เลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดลดลง ปวดเอวน้อยลง ไม่รู้สึกตัวร้อนและเหงื่อออกกลางคืนลดลง อุจจาระวันละ 2-3 ครั้ง โดยมีลักษณะนิ่มเป็นก้อนดี
สรุปผลการรักษา
จากเคสตัวอย่างของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาแสดงให้เห็นว่ายาสมุนไพรจีนสามารถลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดที่ส่งผลต่อความอยากอาหารของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี เมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น เรี่ยวแรงและกำลังใจของผู้ป่วยก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและความต่อเนื่องในการเข้ารับเคมีบำบัด ทำให้การรักษาได้ผลเต็มประสิทธิภาพและไม่ส่งผลต่อสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วยมากจนเกินไป
วิเคราะห์ผลการรักษา
ยาเคมีบำบัดส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเบื่ออาหาร โดยในเคสกรณีดังกล่าวในทางแพทย์แผนจีนยาเคมีบำบัดซึ่งจัดเป็นพิษชนิดหนึ่ง ได้เข้าไปทำลายพลังชี่และอินของไตและกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปากขม คอแห้ง ผมร่วง นอนไม่หลับ นอนหลับยาก ตื่นง่าย ปัสสาวะกลางคืนบ่อยครั้ง ปวดเมื่อยเอว รู้สึกตัวร้อน มีเหงื่อออกกลางคืน การรักษาจึงเน้นใช้ยาที่มีสรรพคุณบำรุงพลังชี่และอินของไตและกระเพาะอาหาร คือตำรับตำรับยาจือไป่ตี้หวงหวานและซื่อจวินจื่อทัง โดยผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่าภาวะเบื่ออาหารหลังเคมีบำบัดนั้นหากได้รับการดูแลด้วยแพทย์แผนจีนตั้งแต่ช่วงก่อนหรือเริ่มต้นให้เคมีบำบัดจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าช่วงท้ายหรือหลังจบการให้เคมีบำบัด เนื่องจากว่าหากให้ตั้งแต่ช่วงแรกจะสามารถลดโอกาสเกิดอาการที่มากเกินไปได้ ทำให้ร่างกายผู้ป่วยยังไม่ทรุดโทรมลงมากจนเกินไป แต่หากเป็นช่วงท้ายหรือหลังการให้เคมีบำบัดนั้น ส่วนมากร่างกายผู้ป่วยจะเริ่มมีผลกระทบเสียหายไปในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้การฟื้นฟูทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจึงแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนเพื่อเตรียมพร้อมร่างกายเพื่อรับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันได้ตั้งแต่ที่ทราบว่าป่วยโรคมะเร็ง
15 พ.ย. 2567
6 ธ.ค. 2567
26 ก.ย. 2567
15 พ.ย. 2567