Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 12745 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะเบื่ออาหารในเด็ก (Infantile anorexia)เด็กที่เลือกกินอาหาร ใช้เวลากับการกินนาน ไม่ยอมลองอาหารชนิดใหม่ หรือไม่กินอาหารที่จัดเตรียมไว้ให้ เป็นเด็กที่มีลักษณะกินอาหารช้า อมข้าว ร้องไห้อาละวาด ไม่ยอมกิน บ้วนทิ้งหรืออาเจียนอาหารที่กินเข้าไปแล้วออกมา มักพบในเด็กเล็กช่วงอายุ 1-6 ปี
สาเหตุของการเกิดโรค
สาเหตุของการเกิดมักเกิดจากปัจจัย 3 ปัจจัยหลักดังนี้
1. ปัจจัยด้านตัวเด็ก อาจมาจากความผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย โรคทางระบบประสาทที่เกี่ยวกับการดูด กลืน เคี้ยวอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร โรคทางพัฒนาการ นอกจากนี้อาจเกิดจากความรู้สึกของเด็กบางคนที่ไม่ชอบให้มีช้อนในปากหรือชอบให้แยกอาหารแต่ละชนิดไม่ชอบให้ผสมคลุกเคล้าอาหารหลายชนิดภายในจานหรือเด็กบางคนอาจเกิดความรู้สึกพะอืดพะอมเมื่อเห็นอาหารในจานมีปริมาณมาก
2. ปัจจัยด้านการเลี้ยงดู อาจเกิดจากการเริ่มอาหารเด็กช้าหรือเร็วเกินไปไม่เป็นไปตามช่วงวัย การให้อาหารตามตารางเวลามากกว่าตามความต้องการของเด็ก การให้น้ำผลไม้ น้ำหวานหรือขนมมากเกินไประหว่างมื้ออาหาร การเลี้ยงดูแบบควบคุมมากเกินไปเป็นต้น
3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สถานที่กินอาหารไม่เหมาะสม กลิ่นรุนแรงของอาหาร การมีสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเด็กออกไป หรือการมีผู้เลี้ยงดูเด็กหลายคนทำให้ไม่มีความสม่ำเสมอในการให้อาหาร มื้ออาหาร สับสน ไม่มีระเบียบ
การวินิจฉัยโรคเบื่ออาหารในเด็ก
สามารถตรวจดูจากพฤติกรรม 7 อย่างดังต่อไปนี้
1. กินช้า ใช้เวลากินต่อมื้อนานเกินครึ่งชั่วโมง
2. กินซ้ำ กินแต่อาหารเดิมๆ
3. กินแต่ขนม ปฏิเสธการกินอาหารมื้อหลัก
4. กินน้อย กินได้นิดๆหน่อยๆก็บ่นว่าอิ่ม
5. เลือกกิน กินแต่อาหารบางชนิดที่ตัวเองชอบ ไม่ชอบกินผักและผลไม้
6. อมข้าว ชอบอมไม่ยอมเคี้ยวข้าว
7. ชอบเขี่ย เขี่ยอาหารในจานเล่น ไม่ชอบกิน
มุมมองแพทย์แผนจีนต่อภาวะเบื่ออาหารในเด็ก
สาเหตุพื้นฐานของการเกิดภาวะเบื่ออาหารในเด็กมักเกี่ยวข้องกับการทานอาหารที่ไม่เหมาะสมหรือขาดคุณค่าทางโภชนาการในเด็ก เมื่อระยะโรคดำเนินเป็นเวลานาน ส่งผลทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารเสียสมดุลในการทำงาน ดังนั้นทำให้เกิดปัญหาการกิน ร่างกายซูบผอม ตัวเล็ก ซึ่งมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
วัยเด็กเล็กการทำงานของอวัยวะม้ามยังไม่แข็งแรงเพียงพอและยังไม่สามารถเลือกการทานอาหารได้เอง ไม่รู้จักหิวหรืออิ่ม เช่นการทานอาหารบำรุงที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและตามใจมากเกินไป การทานอาหารไม่ตรงเวลาเป็นต้น สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้ม้ามเสียการลำเลียง กระเพาะอาหารสูญเสียการทำงาน
กลไกการเกิดโรค
ม้ามและกระเพาะอาหารมีการทำงานร่วมกัน แม้ว่าบทบาทจะต่างกันแต่มีการทำงานที่เชื่อมต่อกัน เช่นม้ามมีหน้าที่ขนส่งสารอาหาร เป็นแหล่งกำเนิดของชี่และเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะตันทั้ง5 อวัยวะกลวงทั้ง6และกระดูก กระเพาะอาหารมีหน้าที่ย่อยอาหาร ส่งต่อให้ลำไส้เล็กเพื่อดูดซึม ถึงแม้ว่าหน้าที่การทำงานของม้ามและกระเพาะอาหารต่างกัน แต่การทำงานของทั้ง2อวัยวะนี้จะต้องมีการเชื่อมต่อประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นความผิดปกติของการรับประทานอาหาร จะทำให้การทำงานของม้ามและกระเพาะอาหารเสียสมดุล หากอินของกระเพาะอาหารถูกทำลายจะส่งผลทำให้ไม่มีความอยากอาหาร และหยางของม้ามถูกทำลาย ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารเสียสมดุลในการทำงาน
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. ม้ามเสียการลำเลียง(脾失健运)
สีหน้าซูบเหลือง ไม่อยากอาหารหรือทานอาหารแล้วไม่มีรสชาติ ร่างกายซูบผอม จิตใจปกติ ขับถ่ายปกติ ฝ้าลิ้นขาวหรือสีเหลืองบาง ชีพจรมีแรงปกติ
วิธีการรักษา : ปรับสมดุลม้าม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
หัตถการการรักษา : บำรุงเส้นลมปราณม้าม (补脾经) คลึงวนเน่ยปา-กว้า (运内八卦) จิกคลึงซื่อเหิงเหวิน(掐揉四横纹) ลูบจุดจงหว่าน (摩中脘) นวดคลึงจุดผีซู (揉脾俞) นวดคลึงจุดเว่ยซู (揉胃俞) กดคลึงจุดกานซู (揉肝俞)
2. อินของกระเพาะอาหารพร่อง(胃阴不足)
คอแห้งดื่มน้ำเยอะแต่ไม่อยากอาหาร ผิวแห้งขาดความชุ่มชื้น อุจจาระแห้ง ฝ้าลิ้นหลุดลอก ลิ้นมีสีแดงแห้งขาดความชุ่มชื้น ชีพจรเส้นเล็กและเร็ว (脉细数)
วิธีการรักษา : บำรุงกระเพาะอาหาร เพื่อสร้างอิน
หัตถการการรักษา : แยกอิน-หยาง(分手阴阳)ลงน้ำหนักแบบอิน-หนัก,หยาง-เบา นวดคลึงป่านเหมิน(揉板门)บำรุงเส้นลมปราณม้าม (补脾经) บำรุงเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร (补胃经) คลึงวนเน่ยปา-กว้า (运内八卦) นวดคลึงจุดจงหว่าน (摩中脘) กดคลึงจุดเว่ยซู (按揉胃俞) กดคลึงจุดซานเจียวซู (按揉三焦俞) กดคลึงจุดเซิ่นซู (按揉肾俞)
3. ชี่ของม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง(脾胃气虚)
อ่อนแรงเหนื่อยล้า สีหน้าซูบเหลือง ไม่มีความอยากอาหารหรือปฏิเสธอาหาร อุจจาระเป็นเศษอาหารไม่ย่อย ร่างกายซูบผอม เหงื่อออกง่าย ลิ้นซีดฝ้าขาว ชีพจรเล็กอ่อนแรง (脉细无力)
วิธีการรักษา : บำรุงม้าม เพื่อเพิ่มชี่
หัตถการการรักษา : บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร (补脾胃经) นวดดันเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ (推大肠经) บำรุงเส้นลมปราณไต (补肾经) คลึงวนเน่ยปา-กว้า (运内八卦) ลูบท้อง (摩腹) เนียจี๋ (捏脊)
หมายเหตุ
หัตถการการรักษาที่กล่าวข้างต้นเป็นหัตถการการนวดเบื้องต้นเท่านั้น ในการรักษาทางคลินิกจะต้องมีการปรับเปลี่ยนท่านวดตามลักษณะของคนไข้และลักษณะของโรคอย่างเหมาะสม
ตัวอย่างกรณีการรักษา
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN 341XXX เพศ : ชาย อายุ : 6 ปี
วันที่เข้ารับการรักษา 4 เมษายน 2564
น้ำหนัก 24.5 kg ส่วนสูง 124.5 cm
อาการสำคัญ (Chief complaint) :อยากอาหารน้อยลง 1 ปี
ประวัติปัจจุบัน (Present illness):ผู้ป่วยมาด้วยอาการความอยากอาหารน้อยลงเป็นเวลา 1 ปี ชอบทานอาหารฤทธิ์เย็น (ปลาแซลมอนดิบ ไอศกรีม) และของทอดของมัน ร่างกายผอม กล้ามเนื้อปกติ น้ำหนักและส่วนสูงไม่เพิ่มขึ้นเป็นเวลา 10 เดือน เหงื่อออกตอนนอนหลับ ท้องอืดง่ายหลังจากทานอาหาร ขับถ่ายปกติ
การเจ็บป่วยอดีต (Past history):ปฏิเสธการแพ้ยา แพ้อาหาร ปฏิเสธประวัติการผ่าตัด ปฏิเสธโรคประจำตัวอื่น
การตรวจร่างกาย (Physical Examination):ผมเส้นบางเป็นเงา สีหน้าเหลือง ผิวแห้งขาดความชุ่มชื้น จิตใจปกติ ริมฝีปากแห้ง ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรมีแรงปกติ
ผลการตรวจวินิจฉัย (Diagnosis) : ผู้ป่วยมีภาวะเบื่ออาหาร ซึ่งเกิดจากการทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ของมันและของทอดเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหารเสียสมดุล จึงแสดงอาการท้องอืดง่ายหลังจากทานอาหาร ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากทานอาหารต่อ เมื่ออาการสะสมมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย
แนวทางการรักษา (Treatment) :เป้าหมายการรักษาคือ ปรับสมดุลการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร โดยใช้วิธีการนวดทุยหนาสำหรับเด็ก ซึ่งท่านวดจะเน้นการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ปรับสมดุลการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร กระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย ร่วมกับการใช้รมยากล่องบริเวณหน้าท้อง เพื่ออบอุ่นเส้นลมปราณและกระจายความเย็น
เนื่องจากผู้ป่วยเป็นโรคเกิดภาวะนี้มานาน ทำให้การไหลเวียนของชี่และเลือดเกิดการติดขัด นอกจากจะเป็นการนวดทุยหนารักษาโรคแล้ว ยังแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกาย
ผลการรักษา (Progression note) :หลังจากการรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องด้วยการนวดทุยหนาและมีการปรับหัตถการการรักษาตามเหมาะสมจำนวน 9 ครั้งในระยะเวลา 4 เดือน ผู้ป่วยมีความอยากอาหารและอยากทานอาหารที่หลากหลายมากขึ้น มีสีหน้าที่ดีขึ้น ผิวและริมฝีปากไม่แห้ง น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม 2.45 kg. และส่วนสูงเพิ่มขึ้น 4.5 cm. พัฒนาการทางด้านร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567