Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 11340 จำนวนผู้เข้าชม |
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสมุนไพรจีนเริ่มค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพร่างกายของพี่น้องชาวไทยกันมากขึ้น เห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ หรือเมนูอาหารในชีวิตประจำวันนั้น หลายครั้งมีการประยุกต์นำสมุนไพรจีนเข้ามาใช้ เพื่อก่อให้เกิดการดูแลสุขภาพร่างกายกันมากขึ้น หลายท่านอาจยังคงสงสัยว่า สมุนไพรจีนที่แพทย์แผนจีนใช้ในการรักษาโรคนั้น มักมีแต่ตัวหนังสือภาษาจีนให้อ่าน ทำให้ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกว่ายาสมุนไพรจีนเข้าถึงได้ยาก และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าที่ควร
วันนี้เองผมจะขอยกตัวอย่างยาสมุนไพรจีนที่นิยมนำมาใช้ในการดูแลร่างกาย โดยขอเน้นไปที่การดูแลระบบทางเดินอาหารโดยตรง ส่วนจะมีสมุนไพรตัวไหนบ้าง เชิญติดตามได้เลยครับ
สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรที่แพทย์จีนนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง และมักจะถูกเลือกใช้อยู่ในตำรับยาหลาย ๆตำรับที่ใช้กันบ่อยครั้ง เนื่องด้วยตัวสมุนไพรมีคุณสมบัติในการบำรุงกระเพาะและม้ามให้แข็งแรง เหมาะสำหรับท่านที่ถ่ายเหลว ท้องเสียบ่อย อีกทั้งช่วยในด้านอาการเวียนศีรษะ ปัสสาวะน้อย นอนไม่หลับที่เกิดจากกระเพาะและม้ามอ่อนแอได้ดีอีกด้วย
คะแนนความนิยม : 8/10
2. ไป๋จู๋ (โกฐเขมา) (白术)
ไป๋จู๋ นั้นนับว่าคุณสมบัติของมันถือว่าค่อนข้างครบครันในการดูแลกระเพาะและม้ามของทุกท่าน และคล้ายกับสมุนไพรตัวแรกอย่าง ฝูหลิง ที่สามารถทำได้ทั้งบำรุงกระเพาะและม้าม ขับน้ำ สลายความชื้น ควบคุมเหงื่อ ที่สำคัญสำหรับผู้ที่วางแผนมีบุตร สมุนไพรตัวนี้ก็ยังสามารถบำรุงได้ด้วยเช่นกัน เราจึงมักจะเห็นสมุนไพรอย่าง ไป๋จู๋ ได้บ่อยและอยู่ในสูตรยาหลายตำหรับที่ใช้ดูแลทางเดินอาหารด้วยเช่นกัน
คะแนนความนิยม : 8/10
3. ปั้นเซี่ย (โหราข้าวโพด) (半夏)
สมุนไพรชนิดนี้ หากรับประทานเพียงตัวเดียวและไม่ได้ผ่านการแปรรูปเสียก่อน จะเกิดพิษต่อร่างกายได้สูงมาก โดยมากในประเทศไทยจะผ่านการแปรรูปเสียหมดแล้ว พิษของมันจึงลดน้อยลงและเมื่อใช้ร่วมกับยาตัวอื่นก็จะเกิดผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น ส่วนเรื่องของความสามารถของเจ้าตัวสมุนไพรชนิดนี้ นิยมใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะเสมหะและความชื้นเยอะ มีอาการท้องอืดแน่น คลื่นไส้อาเจียน และใช้ควบคู่กับยาสมุนไพรอื่น ๆ เพื่อรักษาโรคยอดฮิตอย่างกรดไหลย้อนได้ดีอีกด้วย
คะแนนความนิยม : 7/10
4. ต้าเจ่า (พุทราจีน) (大枣)
สมุนไพรที่ดูเป็นขนมหรืออาหารที่ดูเรียบง่ายที่สุด แต่กลับมีประโยชน์ต่อกระเพาะและม้ามเป็นอย่างมากก็คงหนีไม่พ้นสมุนไพรตัวนี้ โดยพุทราจีนเป็นอีกตัวหนึ่งที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่ต้องการดูแลกระเพาะม้าม โดยเฉพาะผู้ที่มีร่างกายผอมแห้ง ทานข้าวไม่อร่อย หิวบ่อย ก็นิยมใช้พุทราจีนในการเสริมร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งเจ้าพุทราจีนนี้ยังสามารถนำไปต้มเป็นน้ำดื่มต่างหากเพื่อใช้ในการบำรุงร่างกายทั่วไปได้ดีอีกด้วย แต่หากท่านใดร้อนในง่าย ควรปรึกษาแพทย์และไม่แนะนำให้รับประทานเพียงตัวเดียวนะครับ
คะแนนความนิยม: 10/10
5. อี้อี่เหริน (ลูกเดือย) (薏苡仁)
เป็นสมุนไพรจีนอีกตัวที่ชาวไทยน่าจะรู้จักกันมากที่สุด เพราะมันอยู่ตามร้านน้ำแข็งใสที่เราชอบรับประทานกัน ซึ่งเจ้าลูกเดือยนั้นก็จะมีส่วนช่วยในการบำรุงม้าม ขับชื้น แถมมาด้วยความสามารถในการช่วยบรรเทาอาการปวดไขข้อที่มาจากความชื้น รักษาอาการท้องเสียถ่ายเหลวได้อีกด้วย ถือว่าไม่ธรรมดาใช่ไหมละครับ โดยทั่วไปก็มักจะถูกนำไปผสมกับอาหารอื่นๆเพื่อทำเป็นโจ๊กนำไปใช้ในการบำรุงร่างกายทั่วๆไป ส่วนในทางคลินิกก็สามารถผสมร่วมกับยาจีนตัวอื่นๆเพื่อช่วยขับน้ำและความชื้นออกจากร่างกายด้วยเช่นกัน แต่ระวังกันให้ดีเพราะหากท่านใดท้องผูก กระเพาะและม้ามอ่อนแอแบบไม่มีความชื้นหรือแม้แต่คนท้อง ก็ไม่ควรหารับประทานหรือต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์แผนจีนนะครับ
คะแนนความนิยม: 6/10
เนื่องจากสมุนไพรมีความหลากหลายค่อนข้างสูง การรับประทานเองนั้นอาจส่งผลเสียต่อร่างกายและก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์แผนจีนและทำการรักษาฟื้นฟูอย่างเหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้น สมุนไพรที่ว่าดีอาจจะกลายเป็นโทษแก่ตัวของท่านเองได้
ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพกระเพาะลำไส้ที่ดีนะครับ
12 พ.ย. 2567
15 พ.ย. 2567
20 ม.ค. 2568
26 ก.ย. 2567