Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 5014 จำนวนผู้เข้าชม |
กระเพาะลำไส้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหาร หลายครั้งที่ตัวมันเองต้องรับผิดชอบกับอาหารและสิ่งแปลกปลอม ยา สารเคมีต่าง ๆ ที่เรารับประทานเข้าไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกระเพาะลำไส้นั้นหากมีการอักเสบหรือบาดเจ็บจากอาหารหรือการทำงานที่ผิดปกติไป ก็สามารถที่จะฟื้นฟูตัวมันเองได้ จึงเห็นได้ว่า บางครั้งเรารับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่สะอาดหรือรสจัดไป อาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย 1-2 ครั้งโดยไม่ต้องรับประทานยาก็สามารถกลับมาได้ปกติ แต่อีกหลายต่อหลายท่านอาจไม่เป็นเช่นนั้น และกลับพบว่าอาการของกระเพาะลำไส้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วนั้น ทำไมถึงใช้เวลานานกว่าคนทั่วไป และรับประทานยาตามอาการ ดูแลอาหารแล้วไม่สามารถดีขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการ “ท้องอืด” ที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้นั้น เป็นอีกอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาอาการของทางเดินอาหารทั้งหมด ซึ่งก่อนอื่นเลยนั้น เรามาตามหาสาเหตุกันก่อนครับว่า เหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้เรามีอาการท้องอืด ไม่ยอมหายขาดเสียที
อาหาร แน่นอนว่าอาหาร เป็นเรื่องส่วนบุคคล และเราไม่สามารถไปบังคับหรือห้ามไม่ให้ใครกินอะไรได้ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการกินเสมอ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่สภาพร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น อายุมากขึ้น ร่างกายและอวัยวะภายในเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นต้น ก็อาจทำให้อาหารที่เคยสามารถรับประทานได้ในวันนั้น กลับไปต่อไม่ได้ในวันนี้ ดังนั้นอย่างน้อยที่สุด เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับร่างกายเสียใหม่ และต้องพยายาม ลด ละ เลิก อาหารบางประเภทได้แล้ว เช่น ขนมหวาน แป้งทอด ถั่วอบเกลือที่อาจก่อให้เกิดแก๊ส ชา กาแฟ ของหมักดอง อาหารแปรรูป น้ำอัดลม เป็นต้น
การอยู่เฉย การที่เราปล่อยให้ร่างกายของเรานั้นอยู่นิ่งๆกับที่ทั้งวัน ไม่มีการกายบริหารระหว่างวัน หรือ จำนวนก้าวในการเดินน้อยมาก ขาดการออกกำลังกาย นั้นอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ เนื่องจาก การย่อยอาหารของกระเพาะลำไส้จำเป็นต้องอาศัยการบีบตัวในการทำงาน หากบีบตัวได้น้อยเกินไป ก็มักตามมาด้วยอาการท้องอืดได้เช่นกัน
กินเร็ว บางครั้งด้วยภาระหน้าที่การงานหรือในช่วงเวลาชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้หลายครั้งเราอาจไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องการของเคี้ยวอาหาร ทั้งที่จริงแล้วนั้น ด่านแรกของการย่อยอาหารเริ่มต้นจากการ เคี้ยว นั่นเอง ดังนั้นอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยจึงตามมาได้อย่างไม่ต้องสงสัย
สภาพจิตใจ หลายเคสที่ผมเจอนั้น บางครั้งเราตรวจร่างกายเท่าไหร่ กินยาลดกรดช่วยย่อยเท่าใด ก็ไม่สามารถทำให้ท้องอืดหายสนิทได้ จึงอาจจำเป็นต้องคอยสังเกตตัวเองเสมอว่า อาการท้องอืดที่เกิดขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กับสภาพจิตใจของเราหรือไม่ เช่น ความเครียด ความกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น
น้ำย่อยไม่เพียงพอ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน บางครั้งเราอาจจะพบว่าในชีวิตประจำวันจะมีอาหารบางกลุ่มที่ไม่สามารถย่อยได้ หรือรับประทานแล้วจะท้องอืดเป็นประจำ หนึ่งในนั้นอาจเป็น แป้ง เนื้อสัตว์บางประเภท นม น้ำตาล ไข่ เป็นต้น แสดงว่าตัวกระเพาะและลำไส้รวมถึงตับอ่อนนั้น อาจไม่สามารถผลิตหรือผลิตน้ำย่อยประเภทนั้นๆได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เราไม่สามารถรับประทานอาหารประเภทนั้นๆได้นั่นเอง
กลไกการฟื้นฟูมีปัญหา เราอาจสังเกตได้ว่า เวลาป่วยเรื่องกระเพาะลำไส้แล้ว ทำไมบางคนกินยาแล้วหายได้เลย บางคนกินยาเท่าไหร่ก็ไม่ยอมหายขาด ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่า กลไกการฟื้นฟูตัวเองของทางเดินอาหารทำได้ช้าหรือไม่สามารถทำได้ ร่วมกับอาจมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆเพิ่มเติม ทำให้โอกาสรักษาให้หายขาดนั้นช้าลงไปมาก เช่น โรคตับ โรคท้องผูก โรคถุงน้ำดี โรค panic โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน ปัญหาประจำเดือน เป็นต้น
จากสาเหตุบางประการในข้างต้น อาจเป็นเหมือนภัยเงียบที่บางครั้งเราอาจละเลยและไม่ได้ใส่ใจถึงสุขภาพของกระเพาะลำไส้มากพอ โดยการพยายามมองให้เห็นถึงต้นตอของปัญหานั้น เป็นสิ่งที่ควรทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วน หมั่นพยายามเรียนรู้และเข้าใจถึงสภาพร่างกายของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัย ซึ่งในลำดับต่อไป เรามาทำความเข้าใจถึงแนวคิดและไอเดีย วิธีการรักษาและฟื้นฟูในแบบฉบับของแพทย์แผนจีนกันบ้างว่า เรามีวิธีการมอง เรื่อง ท้องอืด นี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง
โปรดติดตามตอนต่อไป >>>
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567