รักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยวิธีแพทย์จีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  7704 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยวิธีแพทย์จีน

เปิงโล่ว คือ ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริบกะปรอยไม่หยุด บางครั้งอาจมีเลือดออกมาก หรือบางครั้งอาจมีเลือดออกมากสลับน้อย มักมีอาการ่วมกับรอบเดือนที่ไม่แน่นอน ปริมาณประจำเดือนที่ผิดปกติ

หากเลือดออกมากไม่หยุด แพทย์จีนเรียกว่า เปิง
หากเลือดออกน้อยกะปริดกะปรอยไม่หยุด แพทย์จีนเรียกว่า โล่ว

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
โดยปกติรอบประจำเดือน ปริมาณประจำเดือน ช่วงเวลาในการเกิดประจำเดือนจะถูกควบคุมอย่างเป็นระบบโดยกระบวนการที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมองและรังไข่โดยรวมเรียกว่า hypothalamic–pituitary-ovarian (HPO) axis เมื่อร่างกายได้รับปัจจัยกระทบ เช่น ความเครียด อารมณ์แปรปรวน สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การบำรุงร่างกายที่ไม่เพียงพอ ฮอร์โมนผิดปกติ โลหิตจาง การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้การทำงานของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมอง และรังไข่สูญเสียสมดุล จนเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก

สาเหตุเนื่องจากไข่ไม่ตก ผนังมดลูกจึงได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกิดไป โดยที่ไม่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนมาควบคุม เมื่อมดลูกได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากจนเกินไปในภาวะเริ่มต้น จะทำให้เกิดเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกะปรอยไม่หยุด(โร่ว) แต่หากได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากจนเกินไปเป็นเวลานาน อาจทำให้ประจำเดือนไม่มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อเกิดผนังมดลูกหนาตัว จึงง่ายต่อการเกิดเลือดออกจากช่องคลอดกะทันหันในปริมาณมาก(เปิง)

มุมมองของแพทย์จีนต่อสาเหตุและกลไกการเกิดโรค
เปิงโล่วเป็นโรคที่มีสาเหตุของการเกิดโรคที่ซับซ้อน ส่วนใหญ่สาเหตุของการเกิดโรคมักมีความเกี่ยวข้องกับอาการพร่อง ความร้อน และเลือดคั่ง กลไกการเกิดโรคคือชี่ เลือด และอวัยวะต่างๆในร่างกายเสียสมดุล ทำให้เส้นลมปราณชงและเส้นลมปราณเริ่นไม่สามารถควบคุมเลือดให้วิ่งอยู่ในเส้นเลือดได้ ส่งผลให้มีเลือดออกในช่วงที่ไม่ใช่ช่วงประจำเดือน

ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยเปิงโล่ว
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อ-นามสกุล น.ส ซXXX XXX
เพศ หญิง อายุ 23 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย 338XXX

วันที่เข้ารับการรักษา 10 มีนาคม 2565
อาการสำคัญ มีเลือดกะปริดกะปรอยออกจากช่องคลอดนาน 16 วัน

ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน
- 16 วันก่อนการมารักษาที่แพทย์แผนจีน ผู้ป่วยเริ่มมีเลือดออกกะปริดกะปรอยจากช่องคลอดไม่หยุด
- รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- มือเท้ามักมีเหงื่อออก
- ไม่เหนื่อยง่าย
- รับประทานอาหารได้ปกติ
- นอนหลับเป็นปกติ ขับถ่ายเป็นปกติ

ประวัติประจำเดือน 5/28 วัน ประจำเดือนมาล่าสุด(LMP) 14 กุมภาพันธ์ 2565 ปริมาณน้อย ประวัติตั้งครรภ์ 0-0-0-0

ประวัติเจ็บป่วยในอดีต
- เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เคยมีประวัติประจำเดือนมาไม่ปกติ 1 เดือนมา 2 ครั้ง แพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าเป็นภาวะไข่ไม่ตก
- ปฏิเสธประวัติการแพ้ยา
- ปฏิเสธประวัติการอาหาร
- ปฏิเสธประวัติผ่าตัด

การตรวจร่างกาย
- ในปี 2564 เคยอัลตร้าซาวด์มดลูกพบว่าไข่ไม่ตก ไข่เจริญเติบโตไม่ดี รังไข่ทั้ง 2 ข้างมีไข่มากกว่า 12 ใบ ผนังมดลูกหนา 1.2 CM
- ลิ้นคล้ำ มีจุดสีม่วง มีรอยฟัน ฝ้าขาวบาง ชีพจรลื่น



การวินิจฉัย
- ทางการแพทย์จีนวินิจฉัยว่าเป็นเปิงโล่ว กลุ่มอาการเลือดคั่ง
- แพทย์ปัจจุบันวินิจฉัยว่าเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก

กลไกของโรค
เนื่องจากอารมณ์และความเครียด ทำให้ชี่ตับไหลเวียนติดขัด ชี่เป็นตัวขับเคลื่อนเลือด เมื่อชี่ตับติดขัดส่งผลให้เกิดการคั่งของเลือดจนเกิดเลือดคั่ง เมื่อเกิดเลือดคั่งไปอุดกั้นที่เส้นลมปราณชงและเส้นลมปราณเริ่น เลือดเก่าจึงคั่งค้างทำให้เลือดใหม่ไม่ไหลเวียน เลือดไม่สามารถไหลอยู่ในเส้นเลือดได้ จนเกิดเป็นเปิงโล่ว

วิธีการรักษา
ใช้ตำรับยาเถาหงซื่ออู้ทังเพิ่มลด(桃红四物汤加减)มีฤทธิ์ในการสลายเลือดคั่ง เพิ่มการไหลเวียนเลือด บำรุงเลือด ปรับประจำเดือน ปรับผนังมดลูก และเพิ่มยาบำรุงชี่และช่วยห้ามเลือด

เนื่องจากคนไข้ผนังมดลูกหนาทำให้มีเลือดออกไม่หยุด จึงจำเป็นต้องขับประจำเดือนเพื่อให้ผนังมดลูกบางลง(เลือดเก่า) และบำรุงชี่และห้ามเลือดไปในตัว เพื่อไม่ให้ประจำเดือนมามากจนเกินไป เมื่อประจำเดือนมา ผนังมดลูกบางลง เลือดก็จะหยุดเอง

ประเมินผลหลังการรักษา(วันที่ 18 มีนาคม 2565)
- หลังจากกินยาจีน ประจำเดือนมาเยอะขึ้นและค่อยๆน้อยลง มีลิ่มเลือดปนออกมา
- เหนื่อยง่าย
- นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ

แนวทางการรักษาด้วยแพทย์จีนต่อเนื่อง
เนื่องจากคนมีอาการเหนื่อยง่ายร่วมด้วยจึงเปลี่ยนตำรับยาที่ช่วยในการบำรุงชี่มากขึ้น และปรับประจำเดือนร่วมด้วย

ประเมินผลหลังการรักษา(วันที่ 25 มีนาคม 2565)
- ประจำเดือนหยุดสนิท ไม่มีเลือดออก
- ไม่เหนื่อย มีแรงดี
- นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ

สรุปผลการรักษา
จากกรณีตัวอย่างจะเห็นได้ว่ายาจีนสามารถปรับประจำเดือนให้กลับมาเป็นปกติได้ อีกทั้งยังสามารถบำรุงร่างกายได้อีกด้วย

วิเคราะห์ผลการรักษา
- ผู้ป่วยมีภาวะเปิงโล่วมีเลือดออกกระปิดกะปรอยจากช่องคลอดไม่หยุด มีลิ่มเลือด โดยในทางการแพทย์แผนจีนนั้นจัดเป็นอาการที่พบในกลุ่มอาการเลือดคั่ง
- สำหรับชีพจรลื่นบ่งบอกประจำเดือนที่ใกล้มาหรือประจำเดือนกำลังมาอยู่ ในกรณีนี้มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ฮอร์โมนผิดปกติ ก็อาจทำให้เกิดชีพจรลื่นได้เช่นกัน
- สำหรับลิ้นนั้นมีสีคล้ำ มีจุดสีม่วงบนลิ้น บ่งบอกถึงการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดีเกิดเป็นเลือดคั่งในร่างกาย ลิ้นมีรอยฟันเนื่องจากม้ามพร่อง
- หลังรักษาไป 2 อาทิตย์อาการต่างๆ เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ และหายสนิทในที่สุด

บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน สิตา สร้อยอัมพรกุล (หมอจีน หลิน อิ่ง เหวิน)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1049
แพทย์จีนเฉพาะทางด้านนรีเวช และรักษาโรคอายุรกรรมทั่วไป มีบุตรยาก รังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร ประจำเดือนผิดปกติ วัยทอง ปวดประจำเดือน PCOS เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกในมดลูก อุ้งเชิงกรานอักเสบ บำรุงน้ำนมหลังคลอดและโรคทางนรีเวชอื่นๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้