วันนี้คุณให้คะแนนความปวดอยู่ที่เท่าไหร่ ?

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  14345 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วันนี้คุณให้คะแนนความปวดอยู่ที่เท่าไหร่ ?

ในการประเมินความปวดมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน หนึ่งในรูปแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและมีความสะดวกเข้าใจง่ายคือ การประเมินด้วยมาตรวัดความปวดแบบตัวเลข (numerical rating scale: NRS)



เป็นการประเมินความปวด โดยผู้ป่วยให้คะแนนความปวดด้วยตนเอง โดย 0 คือไม่ปวดเลย และ 10 คือ ปวดมากที่สุด แบ่งออกเป็นสามระดับได้แก่ 0-3 ไม่ปวดเลยหรือปวดเล็กน้อย 4-6 ปวดปานกลาง 7-10 ปวดมากที่สุด โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยความปวดประมาน 4-10 ยิ่งคะแนนความปวดมากขึ้นก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยมากตามลำดับ ในทางแพทย์จีนมีการแบ่งความหมายและลักษณะอาการปวดออกเป็นหลากหลายรูปแบบ



ระดับความปวด 0-3 มักพบอาการปวดเบาๆ (อิ่นท่ง 隐痛) เกิดจากร่างกายที่อ่อนเพลีย เลือดและสารจิงที่จำเป็นของร่างกายพร่อง หยางชี่ไม่พอ ทำให้กลไกในร่างกายขาดการบำรุง ผู้ป่วยในระยะนี้จะรู้สึกว่ามีอาการปวดที่ไม่รุนแรง แต่จะรู้สึกปวดได้บ่อยๆ ขี้หนาว หากมีอาการปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้ มักพบในผู้ป่วยที่ร่างกายค่อนข้างอ่อนเพลีย ไม่ค่อยออกกำลังกายหรือผู้สูงอายุเป็นต้น

 ระดับความปวด 4-6 มักพบอาการปวดตึง (จ้างท่ง 胀痛) เกิดจากชี่อุดกลั้นเป็นหลัก หากผู้ป่วยมีความเครียดสูง ส่งผลให้อาการปวดตึงชัดมากขึ้น ในทางคลินิกพบอาการปวดลักษณะนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันการทำงานและพฤติกรรมส่วนใหญ่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ มือถือ หรือขับรถเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการปวดตึงและมีความเครียดค่อนข้างง่าย

 ระดับความปวด 7-10 มักพบอาการปวดเข็มแทง (ชื่อท่ง 刺痛) เป็นการปวดคล้ายเข็มหรือมีดแทง ผู้ป่วยจะสามารถบอกตำแหน่งของอาการปวดได้อย่างชัดเจน เกิดจากเลือดคั่ง เมื่อการไหลเวียนของเลือดไม่ปกติเกิดการติดขัด ส่งผลให้เกิดการคั่งของเลือดจุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป เมื่อปล่อยทิ้งไว้อาการอาจรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างชัดเจน



เมื่อได้รับการครอบแก้วในบริเวณที่มีเลือดคั่ง ผิวหนังของผู้ป่วยจะมีสีแดงเข้มหรือม่วงเข้มชัดเจนมาก หากพฤติกรรมการทำงานต้องค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 45 นาทีขึ้นไปเป็นประจำ หรือกินยาแก้ปวดจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ



หากเป็นเช่นนี้ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายแล้วว่าเรากำลังใช้งานอย่างผิดรูปแบบ การรักษาด้วยการทุยหนา (นวดแบบจีน) ฝังเข็ม กินยาจีน ออกกำลังกาย สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อไม่ปล่อยให้อาการปวดเป็นเรื่องปกติ หมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย เราก็จะมีความสุขในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม


 
บทความโดย
แพทย์จีน ธนภรณ์ ธนศรีวนิชชัย (หลิว ฉาย เผิง)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.993 
นวดทุยหนารักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรม ปวดศีรษะ อัมพาตใบหน้า ใบหน้ากระตุก ไหล่ติด ปวดข้อศอก ข้อเข่าเสื่อม รองช้ำ โรคกระดูกต้นคอและเอว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้