เมื่ออิน-หยาง ไม่สมดุล จุดเริ่มต้นของความป่วยไปสู่โรคที่รุนแรงขึ้น

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  20798 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่ออิน-หยาง ไม่สมดุล จุดเริ่มต้นของความป่วยไปสู่โรคที่รุนแรงขึ้น

"ขาว กับ ดำ" เป็นขั้วตรงข้ามที่เป็น "ลักษณะคู่" หรือ "เทียนตี้จือเต้า" 天地之道 อันเป็นลักษณะคู่ที่ "ขับเคลื่อน หมุนเวียน แปรเปลี่ยนได้เรื่อยไม่สิ้นสุด" หรือ "เสินหมินจือฝู่เหยี่ย" 神明之府也

ดังนั้น "อิน และ หยาง" ก็คือ "ลักษณะคู่สองด้านที่มีการแปรเปลี่ยน มีเกิดดับเป็นพื้นฐาน มีลักษณะที่ตรงข้ามกัน ขัดแย้งกัน สู้กัน"

เช่น ทิศทางการเคลื่อนไหวสู่ด้านนอก สุ่ด้านบน ไฟ อุ่นร้อน ฯลฯ เป็นหยาง ทิศทางการเคลื่อนไหวสู่ด้านใน สู่ด้านล่าง สงบนิ่ง น้ำ หนาวเย็น ฯลฯ เป็นอิน นอกจากนี้ อิน-หยาง ยังรวมถึงความเป็นลักษณะคู่ ที่พึ่งพาอาศัยกัน แยกกันหรืออยู่เดี่ยวๆไม่ได้ เมื่อด้านบนเป็นหยาง ด้านล่างต้องเป็นอิน จะมีด้านบนโดยไม่มีด้านล่าง หรือมีด้านล่างโดยไม่มีด้านบนไม่ได้ ต้องมีคู่กันเสมอ

.
แล้ว "อิน-หยาง" เกี่ยวข้องอะไร
กับสุขภาพความเจ็บป่วยของมนุษย์เรา
ชี่ให้กำเนิดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ เลือดให้ชี่เป็นที่อาศัยอยู่และทำหน้าที่บำรุงชี่ ลักษณะการอยู่ร่วมกันแบบอาศัยพึ่งพากันแยกกันไม่ได้ต้องสมดุล จึงจะอยู่ได้ปกติสุขไม่เป็นโรค ถ้าเกิดภาวะที่ไม่สมดุล เช่น ร่างกายมีอะไรมากระตุ้นให้ตื่นตัวมากเกินไป เกิดภาวะหยาง และไม่มีตัวยับยั้งควบคุมให้สมดุล ความตื่นตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเกิดสภาวะความแปรปรวน ผิดปกติทั้งทางด้านร่างกายและสภาวะความผิกปกติทางอารมณ์

ตรงกันข้ามถ้าไม่มีการกระตุ้นให้ตื่นตัว เหลือแต่อินเป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นโรคเศร้าซึม โรคนอนไม่หลับหรือนอนมากผิดปกติ หรือผู้ป่วยติดยาเสพติดในปัจจุบัน ก็สามารถอธิบายในลักษณะความสัมพันธ์แบบอิน-หยางได้เช่นกัน

เมื่อสภาวะ อิน-หยาง ในร่างกายไม่สมดุล
คือจุดเริ่มต้นของความป่วย คือจุดเริ่มต้นการแปรเปลี่ยนไปสู่โรค

ความสมบูรณ์ของอิน-หยางในร่างกาย มีความสำคัญต่อสุขภาพไม่ว่าจะเป็นความสมดุลระหว่างส่วนบนหรือส่วนล่างของร่างกาย หรือ ระหว่างภายในหรือภายนอกร่างกาย หรือระหว่างพลังงานชี่นอกหรือพลังงานชี่ในร่างกาย หรือ ระหว่างชี่กับมวล ถ้าความสมดุลเสียไปก็ป่วยเป็นโรค แม้โรคต่าง ๆ จะซับซ้อนเพียงใด ก็มีวิธีรักษาโดยปรับสมดุลของอิน-หยางในร่างกาย การเสียสมดุล ดังนี้

ภาวะ, กลุ่มอาการอิน (Yin)
เป็นคำเรียกรวมของภาวะที่สังกัดในภาวะพร่องและภาวะเย็น ซึ่งแสดงออกในด้านการถูกระงับ ความสงบนิ่ง การทำงานลดลงหรือเสื่อมถอย หรือแสดงออกทางหมองคล้ำ รวมทั้งภาวะที่มีทิศทางเข้าสู่ภายในและเดินลงล่าง และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดจากปัจจัยก่อโรคที่สังกัดอิน

.
ภาวะ ,กลุ่มอาการหยาง (Yang)
เป็นคำเรียกรวมหมายถึงภาวะที่สังกัดในภาวะร้อนและภาวะแกร่งเกิน ซึ่งแสดงออกในด้านตื่นเต้น เคลื่อนไหว การทำงานมากขึ้นหรือรุนแรง หรือมีการแสดงออกไปทางสีสดใส รวมทั้งภาวะที่มีทิศทางเข้าสู่ภายนอกและขึ้นสู่ข้างบน และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดจากปัจจัยก่อโรคที่สังกัดหยาง


ภาวะ , กลุ่มอาการอินหยางเสียสมดุล กลุ่มอาการหยางถูกทำลาย
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อินและความเย็นในร่างกายมีพลังมากกว่า หรือจากรับประทานยาจีนที่มีลักษณะเย็นจัด หรือมีเหงื่อออกมากและท้องร่วง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการได้แก่ กลัวหนาว หน้าซีด มีเหงื่อไหลออกเองอย่างไม่ทราบสาเหตุ แขนขาเย็น ชีพจรแผ่วจนกระทั่งแทบจะไม่รู้สึก


ภาวะ , กลุ่มอาการอินถูกทำลาย
มักเกิดจากพิษร้อนจากภายนอกรุกเข้าสู่ร่างกาย หรือเกิดตามมาจากโรคไข้พิษที่ทำลายอินของตับและไต ซึ่งจะทำให้เกิดอาการได้แก่ มีไข้ต่ำๆ ร้อนที่อุ้งมืออุ้งเท้าและในอก ซูบผอม กระหายน้ำ แก้มแดงเป็นพักๆ ลิ้นแห้งและมีสีแดงก่ำ ชีพจรเล็ก เต้นแผ่วแต่เร็ว


ภาวะ , กลุ่มอาการอินพร่อง
เป็นกลุ่มอาการที่มีภาวะอินและสารน้ำของร่างกายขาดพร่องทำให้หยางชี่มีดุลกำลังแรงขึ้น มีอาการได้แก่ ปากแห้ง ลิ้นแห้งขาดความชุ่มชื้น รูปร่างผอมแห้ง ร้อนอุ้งมืออุ้งเท้าและในอก มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่าย เหงื่อออกขณะนอนหลับเวลากลางคืน ลิ้นแดงมีฝ้าน้อย ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว


ภาวะ , กลุ่มอาการหยางพร่อง
เกิดจากร่างกายมีภาวะหยางชี่พร่อง ทำให้สมรรถภาพการทำงานของร่างกายถดถอย มีอาการได้แก่ ขี้หนาว มือเท้าเย็น ใบหน้าซีดขาว ปัสสาวะใสปริมาณมาก อุจจาระเหลว ลิ้นซีดมีฝ้าขาว ชีพจรเป็นแบบพร่องและเต้นช้า


ภาวะ , กลุ่มอาการอินและหยางล้วนพร่อง
สาเหตุเกิดจากทั้งอินและสารน้ำกับหยางชี่ของอวัยวะภายในต่างพร่อง มีอาการได้แก่เวียนศีรษะ มีเสียงในหู อ่อนเพลีย กลัวหนาว แขนขาเย็น แต่ร้อนที่อุ้งมืออุ้งเท้าและในอก ใจสั่น เมื่อยเอว ลิ้นซีดและแห้ง ชีพจรเต้นเร็วแต่อ่อน

.
ภาวะ , กลุ่มอาการร้อนภายในจากอินพร่อง
สาเหตุเกิดจากอินและสารน้ำพร่องทำให้เกิดภาวะร้อนขึ้นภายในร่างกาย อาการได้แก่ มีไข้ต่ำๆ หรือมีไข้ในตอนบ่าย ร้อนที่อุ้งมืออุ้งเท้าและในอก แก้มแดงขึ้นเป็นพักๆ มีเหงื่อออกเวลากลางคืนขณะนอนหลับ ปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม ท้องผูก ลิ้นมีสีแดงและไม่ชุ่มชื้น ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว


ภาวะ , กลุ่มอาการไฟกำเริบจากอินพร่อง
สาเหตุเกิดจากอินและสารน้ำพร่องทำให้เกิดความร้อนจัดขึ้นในร่างกาย อาการได้แก่ร้อนกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ปากแห้งคอแห้ง มีเหงื่อออกเวลากลางคืนขณะนอนหลับ ฝันเปียก แก้มแดงเป็นพักๆ ร้อนรุ่มในกระดูก อุจจาระแข็ง ปัสสาวะน้อยและข้น ไอเป็นเลือด ลิ้นมีสีแดงและไม่ชุ่มชื้นหรือมีแผลที่ลิ้น ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว


ภาวะ , กลุ่มอาการหยางกำเริบจากอินพร่อง
มีอาการได้แก่ไข้เป็นพักๆ มีเหงื่อออกเวลากลางคืนขณะนอนหลับ แก้มแดงเป็นพักๆ เวียนศีรษะ ตาลาย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ลิ้นไม่มีฝ้า ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว


ภาวะ , กลุ่มอาการขาดสารน้ำจากอินพร่อง
อาการได้แก่กระหายน้ำ ผิวแห้ง ตาโบ๋ ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม อุจจาระแห้งแข็ง อุ้งมืออุ้งเท้าและในอกร้อน ผอมแห้ง มีเหงื่อออกเวลากลางคืนขณะนอนหลับ ลิ้นมีสีแดงและไม่มีฝ้า ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว


ภาวะ , กลุ่มอาการน้ำคั่งค้างจากอินพร่อง
อาการคือมีบวมน้ำที่แขนขา ปัสสาวะน้อย ปากแห้งคอแห้ง อุ้งมืออุ้งเท้าและในอกร้อน ท้องผูก ลิ้นมีสีแดงไม่มีฝ้า ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว


ภาวะ , กลุ่มอาการอินพร่องที่มีภาวะร้อนชื้นแทรกซ้อน
มีอาการได้แก่ ไข้ต่ำๆ เหงื่อออกเวลากลางคืนขณะนอนหลับ แก้มแดงในเวลาบ่าย อุ้งมืออุ้งเท้าและในอกร้อน ปากขมและเหนียวในปาก หนักแขนขา ลิ้นมีสีแดงและมีฝ้าสีเหลืองบาง ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว


ภาวะ / กลุ่มอาการอินพร่องที่มีภาวะเลือดคั่งแทรกซ้อน
อาการได้แก่ร้อนที่อุ้งมืออุ้งเท้าและในอก ปากแห้งคอแห้ง ไข้ต่ำในเวลาบ่าย บางส่วนของร่างกายมีอาการเจ็บแปลบเหมือนถูกแทง ขากเสมหะเป็นเลือดสีคล้ำและมีลิ่มเลือดปน ลิ้นมีจุดสีม่วง ชีพจรเล็กและเต้นแบบติดขัด


ภาวะ , กลุ่มอาการชี่ติดขัดจากหยางพร่อง
อาการได้แก่กลัวหนาว แขนขาเย็น หน้าซีด ตึงเจ็บตามอก ชายโครงและท้อง มีเสียงท้องลั่น ถ่ายอุจจาระเหลว ปัสสาวะใสและมีปริมาณมาก ลิ้นอวบซีด ชีพจรจมเต้นช้าและอ่อน

.
ภาวะ , กลุ่มอาการชื้นอุดกั้นจากหยางพร่อง
เกิดจากหยางชี่พร่องจึงชี่ทำการสังเคราะห์น้ำได้ลดลง อาการได้แก่กลัวหนาว แขนขาเย็น บวม ปัสสาวะไม่คล่อง ถ่ายอุจจาระเหลว เบื่ออาหาร แน่นท้อง ลิ้นอวบซีด ฝ้าลิ้นมีสีขาวเหนียวหรือสีขาวชุ่ม ชีพจรจม เต้นช้าและอ่อน


ภาวะ / กลุ่มอาการบวมน้ำจากหยางพร่อง
เกิดจากหยางของม้ามและไตพร่องจึงทำให้น้ำเกิดการสะสมคั่งค้างในร่างกาย อาการได้แก่บวมน้ำทั่วร่างกาย ปัสสาวะไม่คล่อง ใจสั่นหายใจหอบ ตัวเย็น แขนขาเย็น ท้องอืด ถ่ายอุจจาระเหลว ลิ้นอวบซีด ฝ้าลิ้นสีขาวและชุ่ม ชีพจรจมเต้นช้าและอ่อน


ภาวะ , กลุ่มอาการหยางพร่องที่มีภาวะเสลดจับเป็นก้อนแทรกซ้อน
อาการได้แก่กลัวหนาว แขนขาเย็น เวียนศีรษะ ง่วงนอน แน่นหน้าอกมีเสมหะมาก ร่างกายท้วมและหนักเนื้อหนักตัว ต่อมไทรอยด์โต ต่อมน้ำเหลืองตามข้างคอโต มีก้อนที่เต้านม บวมตามข้อข้อยึด ฝ้าลิ้นเหนียว ชีพจรลื่น


ภาวะ / กลุ่มอาการหยางพร่องที่ชี่และเลือดติดขัดจากความเย็น
อาการได้แก่กลัวหนาว แขนขาเย็น เจ็บที่ทรวงอก ชายโครง ใต้ลิ้นปี่ เอวเข่า ซึ่งอาการเจ็บจะบรรเทาเมื่อได้รับความอบอุ่น ในสตรีจะเกิดภาวะประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด ปวดประจำเดือน เลือดประจำเดือนมีสีคล้ำและมีก้อนเลือดปน ลิ้นอวบซีด ฝ้าลิ้นมีสีขาวชุ่มชื้น ชีพจรจมและเต้นช้า


ภาวะอินและเลือดพร่อง
หมายถึงภาวะสารน้ำ สารจิง และเลือดพร่อง ทำให้ร่างกายขาดสารหล่อเลี้ยง จึงมีอาการแสดงได้แก่ร่างกายซูบผอม หน้าเหลืองหม่นหมอง มีไข้ต่ำ แก้มแดงขึ้นเป็นพักๆ ชาตามแขนขา เวียนศีรษะตาลาย ใจสั่น นอนไม่หลับ ลิ้นมีสีแดงและไม่ค่อยมีฝ้า ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว


ภาวะ , กลุ่มอาการอินแรงหยางอ่อน
เป็นภาวะที่พลังด้านอินมีกำลังแรงจนทำให้พลังด้านหยางอ่อนลง มีอาการได้แก่กลัวหนาว แขนขาเย็น ปัสสาวะใสและมีปริมาณมาก ท้องร่วง หรือมีอาการปวด ซึ่งจะบรรเทาเมื่อได้รับความอบอุ่น ลิ้นซีดมีฝ้าสีขาว ชีพจรจมและเต้นช้า


ภาวะ , กลุ่มอาการอินแรงขับหยางออกภายนอก
เป็นภาวะที่พล้งด้านอินภายในร่างกายมีกำลังแรงจัดจนขับหยางชี่ให้ออกไปอยู่ส่วนภายนอกของร่างกาย ทำให้เกิดสภาวะที่แท้จริงภายในร่างกายเย็น แต่แสดงออกภายนอกเป็นภาวะร้อนปลอม


ภาวะ , กลุ่มอาการอินพร่องทำให้หยางพร่องตาม
เกิดจากขาดอินเป็นเวลานานจนส่งผลให้การสังเคราะห์ หยางชี่ลดลง ทำให้ร่างกายเกิดภาวะทั้งอินและหยางพร่อง โดยภาวะอินพร่องเป็นหลัก


ภาวะ , กลุ่มอาการหยางพร่องทำให้อินพร่องตาม
เกิดขึ้นจากหยางชี่อ่อนแอเป็นเวลานานจึงทำให้สร้างอินได้ไม่พอทำให้ร่างกายเกิดภาวะทั้งอินและหยางพร่อง โดยภาวะหยางพร่องเป็นหลัก


ภาวะ , กลุ่มอาการอินและหยางวาย
เป็นภาวะวิกฤตที่อินวายแล้วตามด้วยหยางวาย กลุ่มอาการหยางไม่ขึ้นสู่ส่วนบน เกิดจากชี่ของม้ามพร่องทำให้ไม่สามารถส่งหยางชี่ขึ้นไปหล่อเลี้ยงส่วนขนของร่างกาย เกิดอาการเวียนศีรษะ ตาลาย มีเสียงในหู กลัวหนาวและแขนขาเย็น อ่อนเพลียไม่มีแรง เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระเหลว ลิ้นซีดมีฝ้าขาว ชีพจรอ่อนและเต้นแบบเนิบช้า


ภาวะ , กลุ่มอาการส่วนบนร้อนปลอม
เป็นภาวะวิกฤตที่ส่วนล่างของร่างกายเย็นเป็นสภาวะที่แท้จริงของร่างกาย แต่ที่ส่วนบนของร่างกายกลับแสดงออกเป็นร้อน ซึ่งเป็นภาวะร้อนไม่แท้ มีอาการแสดงออกคือที่ใบหน้าจะซีดแต่กลับมีแก้มแดงขึ้นเป็นพักๆ


ภาวะ , กลุ่มอาการอินวาย
เป็นภาวะวิกฤตที่เกิดจากร่างกายขาดสารอินอย่างรุนแรง อาการแสดงคือเหงื่อออกเหนียวเหมือนน้ำมัน ตัวร้อนหน้าแดง ลิ้นแห้งไม่มีน้ำลาย ชีพจรเต้นเร็ว


ภาวะ , กลุ่มอาการหยางวาย
เป็นภาวะวิกฤตที่หยางชี่พร่องจนถึงขีดสุด อาการแสดงคือมีเหงื่อเย็นๆ ทะลัก


สอบถามข้อมูลการดูแลรักษาสุขภาพ
โดยหลักการและวิธีทางตามธรรมชาติ ใช้อินเพื่อเสริมหยาง ใช้หยางเพื่อเสริมอิน ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนแบบผสมผสาน
LINE OA : @HuachiewTCM



คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สังกัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
สถานพยาบาลการแพทย์แผนจีนต้นแบบ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์แผนจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้