โรคไตวายเรื้อรัง Chronic Kidney disease

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  6002 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคไตวายเรื้อรัง Chronic Kidney disease

โรคไตวายเรื้อรัง เป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุมีการทำลายเนื้อเยื่อของไต  หรือการทำงานของไตลดลงเป็นระยะเวลานาน  จนทำให้ไตสูญเสียหน้าที่การทำงานไป  ในระยะสุดท้ายต้องรักษาด้วยการฟอกไต

สาเหตุการเกิดโรค
โรคไตวายเรื้อรังแบ่งสาเหตุการเกิดโรคออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ


1. การเกิดโรคไตแบบปฐมภูมิ 
สาเหตุเกิดจากโรคไตแต่เดิม  เมื่อเป็นระยะเวลานานส่งผลทำให้การทำงานของไตลดลง  จนทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังเกิดขึ้น  โรคไตที่พบเจอได้บ่อยคือโรคไตอักเสบ  เช่น IgA nephropathy , Lupus nephritis เป็นต้น


2. การเกิดโรคแบบทุติยภูมิ 
สาเหตุเกิดจากโรคอื่นส่งผลทำให้การทำงานของไตแย่ลง  จนเกิดเป็นโรคไตวายเรื้อรังเกิดขึ้น ได้แก่ โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง  โรคเก๊าท์  โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น


อาการของโรค
ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย  อ่อนเพลีย  ขาและเท้าบวมน้ำ  หรืออาจมีเปลือกตาหรือใบหน้าบวมน้ำร่วมด้วย  ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง  ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะออกน้อย เป็นต้น


ระยะการเกิดโรค
ลักษณะการดำเนินโรคมักเป็นไปแบบเรื้อรัง  โดยมีสาเหตุมาจากโรคอื่นก่อนหรือแต่เดิมมีโรคไตจนส่งผลต่อการทำงานของไต  ทำให้ไตทำงานลดน้อยลงจนเกิดเป็นโรคไตวายเรื้อรังในที่สุด


การแยกแยะโรค
แยกแยะว่าการเกิดโรคเป็นแบบไตวายเฉียบพลันหรือไตวายเรื้อรัง


ในทางการแพทย์แผนจีนโรคไตวายเรื้อรังจัดอยู่ใน โรคซวีเหลา (虚劳) หรือ กวนเก๋อ (关格)

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรังเกิดจากป่วยเป็นโรคในระบบอื่นๆหรือโรคไตเป็นระยะเวลานาน  ทำให้การทำงานของไตแย่ลง  จนเกิดเป็นโรคไตวายเรื้อรังเกิดขึ้น  ฉะนั้นสาเหตุของการเกิดโรคไตวายเรื้อรังในทางแพทย์แผนจีนจึงมีความแตกต่างค่อนข้างมาก  มีได้หลายสาเหตุ  แต่สาเหตุหลักๆคือพลังของไตลดน้อยลง  มีความชื้นสะสมอยู่ภายใน  แต่อาจจะมีสาเหตุอื่นๆร่วมด้วยเช่น  ได้รับเสียชี่จากภายนอก  ทานอาหารไม่ถูกลักษณะ  ทำงานหักโหมทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เป็นต้น


การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. ภาวะ / กลุ่มอาการชี่ของม้ามและไตพร่อง
Qi of spleen and kidney deficiency  脾肾气虚证

อาการ
อ่อนแรง  หายใจถี่สั้น  ไม่อยากอาหาร  ปวดเมื่อยเอวเข่า  ท้องอืดแน่น  ถ่ายเหลว ปากแห้งไม่กระหายน้ำ


วิธีการรักษา
บำรุงชี่ของม้ามและไต


ตำรับยาที่เหมาะสม 
เพิ่มลดตำรับยาลิ่วจวินจื่อทัง (六君子汤加减)


หลักการเลือกใช้ตำรับยา
เลือกใช้ตำรับยาลิ่วจวินจื่อทัง (六君子汤) เพิ่มหวงฉี (黄芪)เพื่อบำรุงชี่และเสริมสร้างม้ามให้แข็งแรง  เป็นการบำรุงต้นทุนหลังกำเนิด  เพิ่ม ซวี่ต้วน (续断) ทู่ซือจื่อ(菟丝子) เพื่อบำรุงชี่ของไต


2. ภาวะ / กลุ่มอาการหยางของม้ามและไตพร่อง
Yang of spleen and kidney deficiency  脾肾阳虚证

อาการ
กลัวหนาว มือเท้าเย็น  อ่อนเพลียไม่มีแรง  หายใจถี่สั้น  ไม่อยากอาหาร  ปวดเมื่อยเอวเข่า  ท้องอืดแน่น  ถ่ายเหลว  ปัสสาวะตอนกลางคืน  ปากแห้งไม่กระหายน้ำ


วิธีการรักษา
อบอุ่นม้ามและไต


ตำรับยาที่เหมาะสม
เพิ่มลดตำรับยาจี้เซิงเสิ่นชี่หวาน(济生肾气丸加减)


หลักการเลือกใช้ตำรับยา
ตำรับยาจี้เซิงเสิ่นชี่หวาน (济生肾气丸)มาจากตำรับยาเสิ่นชี่หวาน (肾气丸) เพิ่มเชอเฉียนจื่อ (车前子) และหนิวซี(牛膝)  เป็นตำรับที่บำรุงทั้งอินและหยางของไต  และยังมีตัวยาที่ช่วยในการบำรุงม้าม  ขับความชื้น 


3. ภาวะ / กลุ่มอาการชี่และอินของม้ามและไตพร่อง
Qi and Yin of spleen and kidney deficiency  脾肾气阴两虚证

อาการ
อ่อนเพลีย ไม่มีแรง  ปวดเมื่อยเอวเข่า  คอแห้ง  ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน  ปัสสาวะกลางคืน


วิธีการรักษา
บำรุงชี่และอิน  เสริมไตบำรุงม้าม


ตำรับยาที่เหมาะสม
เพิ่มลดตำรับเสินฉีตี้หวงทัง (参芪地黄汤加减)


หลักการเลือกใช้ตำรับยา
ตำรับยานี้คือตำรับลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน (六味地黄丸) เพิ่มเหรินเซิน (人参)หรือใช้ (太子参) แทนก็ได้ ร่วมกับ หวงฉี (黄芪) บำรุงชี่และอินของไตและม้าม


4. ภาวะ / กลุ่มอาการอินและหยางพร่อง
Yin Yang deficiency  阴阳两虚证

อาการ
ขี้หนาว  มือเท้าเย็น  ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน  คอแห้งกระหายน้ำ  ปวดเมื่อยเอวเข่า  ปัสสาวะกลางคืน  อุจจาระแข็งแห้ง


วิธีการรักษา
อบอุ่นพลังหยาง  เสริมพลังอิน


ตำรับยาที่เหมาะสม
เพิ่มลดเฉวียนหลู่หวาน (全鹿丸加减)


หลักการเลือกใช้ตำรับยา
เหมาะสำหรับคนไข้โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย  ที่มีอาการทั้งอินและหยางพร่อง  โดยในตำรับยานี้จะเน้นบำรุงไตหยาง  เพื่อเสริมไตอิน  ร่วมกับบำรุงชี่และเลือด


5. ภาวะ / กลุ่มอาการความชื้นอุดกั้น
อาการ
คลื่นไส้อาเจียน  ตัวหนัก  ไม่อยากอาหาร  ท้องอืดแน่น  ปากเหนียว


วิธีการรักษา
บำรุงจงเจียว  ขับความชื้นและเสมหะ


ตำรับยาที่เหมาะสม
เพิ่มลดเสี่ยวปั้นเซี่ยและฝูหลิงทัง (小半夏加茯苓汤加减)


หลักการเลือกใช้ตำรับยา
ตำรับยานี้ประกอบด้วยตำรับยาเอ้อเฉินทัง (二陈汤)เพิ่ม ซูเย่ (苏叶) จู๋หรู (竹茹) ต้าหวง (大黄)ช่วยในการบำรุงจงเจียว  ขับชี่ระงับคลื่นไส้  ขับความชื้นและเสมหะ


ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่มารับการรักษากับแพทย์จีนอายุรกรรม  คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน

ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : 340XXX
ชื่อ : นาย XXX

วันที่เข้ารับการรักษา : 19 มีนาคม 2564
เพศ : ชาย
อายุ : 58 ปี


ประวัติการเจ็บป่วย (history taking)
มะเร็งที่ไต 7 ปีก่อน แต่ปัจจุบันได้ผ่าตัดออกเรียบร้อย


อาการสำคัญ (Chief complaint) 
เหนื่อยอ่อนเพลีย ร่วมกับปัสสาวะเป็นฟอง


ประวัติปัจจุบัน (Present illness)
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่าการทำงานของไตลดน้อยลง  ค่า Cr สูงขึ้น


อาการร่วม
ขี้หนาว  ปากแห้งคอแห้ง โดยเฉพาะตอนกลางคืน  ระบบขับถ่ายปกติ  นอนหลับได้


ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต (Past history)
ปฏิเสธการแพ้ยา


การตรวจเลือด
9/7/2563 ค่าน้ำตาลในเลือด 143 mg/dL  กรดยูริก 8.9 mg/dL  ครีเอทินีน 1.94 mg/dL  ค่าการกรองของไต 37 ml/min/1.73 m2


ผลการวินิจฉัย (Diagnosis)
- โรคไตวายเรื้อรัง (CKD)
- ในทางแพทย์แผนจีนจัดอยู่ในกลุ่มอาการซวีเหลา (虚劳证)

วิธีการรักษา (Treatment)
รับประทานยาสมุนไพรจีนโดยเน้นบำรุงชี่และอินของม้ามและไต  เพื่อให้ฟื้นฟูการทำงานของไต  ลดอาการเหนื่อย  อ่อนเพลีย ปัสสาวะเป็นฟอง เป็นต้น


ผลการรักษา (Progression note)
หลังจากผู้ป่วยรับประทานยาไป 1 สัปดาห์  อาการเหนื่อย อ่อนเพลีย รู้สึกหนาวดีขึ้น 


วันที่ 25/พฤษภาคม/2564 
ได้ตรวจเลือดอีกครั้งพบว่าค่าการทำงานของไตขยับดีขึ้น โดยกรดยูริก 8.6 mg/dL  ครีเอทินีน 1.65 mg/dL  ค่าการกรองของไต 45.08 ml/min/1.73 m2แต่เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรัง เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังจึงต้องรับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไปเพื่อติดตามผลของการรักษาอย่างใกล้ชิด


แพทย์จีนผู้ทำการรักษาและบันทึกผลการรักษา
แพทย์จีน ธันย์ชนก  เอื้อธรรมมิตร (หยาง กุ้ย เหรียน)
คลินิกอายุรกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้