วิธีป้องกันเด็กเล็กป่วย ในช่วงฤดูฝนและอากาศชื้น

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  4112 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีป้องกันเด็กเล็กป่วย ในช่วงฤดูฝนและอากาศชื้น

โรคที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วงฤดูฝน หรือ ฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลงรวมทั้งยังมีทั้งความร้อนและความชื้นในอากาศในเวลาเดียวกัน   สิ่งที่ตามมากับความชื้นคือ ปัญหาด้านการปรับอุณหภูมิในร่างกายของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่มีอาการผิดปกติต่างๆในร่างกาย ก็มักมีสาเหตุมาจากความชื้น

เมื่อความชื้นแทรกซึมเข้ามากระทบร่างกาย จะก่อให้เกิดการเข้าไปสะสม จนเริ่มอุดตันในอวัยวะภายในและเส้นลมปราณ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อม้ามโดยตรง

เนื่องจากม้ามเป็นธาตุดิน ชอบความแห้ง กลัวความชื้น ส่งผลให้ม้ามถูกความชื้นรุกรานได้ง่าย ถ้าม้ามและกระเพาะอาหารกระทบความชื้นจะทำให้การย่อยและการดูดซึมอาหารเสียไป มีอาการเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหาร , เบื่ออาหาร ,  ท้องอืด ,  ท้องเดิน ,  โรคผิวหนัง หรือไข้หวัดเป็นๆหายๆ เป็นต้น


เคล็ดลับและหลักการหย่างเซิงสุขภาพเด็ก ด้วยวิธีแพทย์แผนจีน
1. ในช่วงอากาศร้อนชื้น การเลือกและเตรียมอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กก็มีส่วนสำคัญ ในช่วงนี้ควรงดอาหารทอดน้ำมัน , หรือ อาหารรสหวานจัด ควรรับประทานในปริมาณที่ไม่มากเกินไป เนื่องจาก อาหารชนิดทอดๆมันๆ รสหวานจัด จะทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารเสียสมดุล ก่อให้เกิดโรคได้

2. ในช่วงวัยเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้น เด็กจึงควรได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่และวิตามิน ในปริมาณที่เหมาะสม

ในเด็กโต สามารถรับประทานอาหารได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ปรับรสชาติ และปรุงรสไม่ให้จัดจนเกินไป ควรเพิ่มการทานผักและผลไม้มากขึ้น และเสริมแคลเซียม เพื่อช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน


3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ไอศกรีม น้ำแข็ง น้ำเย็น ผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เช่น มะระ แตงกวา แตงโม ผักดิบ เป็นต้น เนื่องจากความเย็นจะทำให้หยางในร่างกายพร่อง ส่งผลให้ชี่และเลือดไม่ไหลเวียนติดขัด เกิดอาการปวดที่ศีรษะ ลำตัว แขนขา ข้อ ไข้ กลัวหนาว ไอ อ่อนเพลียได้ง่าย  

4. เด็กทุกช่วงวัย ควรได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และมีการออกกำลังกายควบคู่กันไป จะช่วยเสริมให้เส้นเอ็นและกระดูกแข็งแรง เลือดและชี่เกิดความสมดุล การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ สมบูรณ์แข็งแรง

5. อาหารที่ควรทานให้ช่วงหน้าฝนเพื่อขับความชื้น เช่น ลูกเดือย ซึ่งมีรสหวานอ่อนๆตามธรรมชาติ ฤทธิ์เย็น ช่วยเข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะ และปอด มีสรรพคุณขับน้ำ ลดบวม ลดชื้น บำรุงม้าม ระบายความร้อน ขับพิษ อาจหุงลูกเดือยผสมกับข้าวสาร หรือ ใส่ในน้ำขิง เช่น บัวลอยน้ำขิง มีรสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ม้าม และ กระเพาะอาหาร มีสรรพคุณ ขับความเย็น อุ่นร่างกายส่วนกลาง แก้คลื่นไส้ อุ่นปอด แก้ไอ ทั้งยังเป็นยาสำคัญในการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้อีกด้วย

6. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยเทคนิคการนวดใช้ทุยหนา ด้วยตนเองง่ายๆ ซึ่งผู้ปกครองสามารถนวดให้แก่เด็กๆได้  เป็นการช่วยเสริมภูมิ ป้องกันโรคในช่วงหน้าฝน

วิธีการนวดดันที่จุดซานกวน (推三关)

 
ตำแหน่งจุดซานกวน  อยู่บริเวณกระดูกปลายแขนด้านนิ้วหัวแม่มือ ตามแนวเชื่อมต่อระหว่างข้อต่อสองจุดที่สำคัญ คือข้อศอก (elbow) และข้อมือ (wrist) เป็นเส้นตรงดังภาพ



วิธีการนวด ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของผู้นวด ดันทิศทางขึ้นจากข้อมือ (wrist) เข้าหาข้อศอก (elbow) นวดดันประมาณ 5-10 นาที หรือรู้สึกอุ่นๆบริเวณที่นวด

สรรพคุณ บำรุงชี่ต้นทุนแต่กำเนิด กระตุ้นการไหลเวียนชี่และเลือดเพื่อขับกระจายหนาว

บทความโดย 
แพทย์จีน กัญธิมา วุฒิ (กาน ตี๋ หม่า)
甘迪玛 中医师
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1113

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้