โรคผิวหนังที่มีอาการคัน 风瘙痒 Pruritus

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  30223 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคผิวหนังที่มีอาการคัน 风瘙痒 Pruritus

เป็นอาการที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวจนอยากจะเกาบริเวณที่มีอาการ และมักเกิดการแกะเกา โดยผู้ที่มีอาการคันอาจมีผื่นผิวหนังร่วมหรือไม่ก็ได้ อาการคันสามารถเกิดขึ้นบนส่วนใดของร่างกายก็ได้ โดยเกิดอาการได้ทั้งตัวและเฉพาะที่

เฟิงเซาหย่าง(风瘙痒)ในทางแพทย์แผนจีน หมายถึง  โรคผิวหนังที่ไม่ได้มีรอยโรคปฐมภูมิแต่มีอาการคันเป็นหลัก หลังการเกาจะเกิดรอยเกา รอยแผลตกสะเก็ด และรอยดำคล้ำ นานวันผิวหนังจะเริ่มหนาตัว ผิวจะมีลักษณะสากหยาบ

เฟิงเซาหย่างโดยทั่วไปแล้วนั้นจะมีอาการผิวแห้ง และมักพบในผู้สูงวัย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในผู้สูงวัยผิวหนังจะเสื่อมสภาพตามอายุและไขมันใต้ผิวหนังลดจำนวนลงทำให้ขาดไขมันมาปกป้องผิว โดยอาการนี้ได้มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ “ไว่เคอเจิ้งจื้อฉวนซู”《素问∙至真要大论》ว่า “อาการคันจาก ลม ทำให้คันทั่วตัว และไม่มีรอยผื่น คันไม่หยุด”  สำหรับโรคนี้เทียบเคียงได้กับอาการคัน (Pruritus) ในทางแพทย์แผนปัจจุบัน

การแบ่งประเภทจากอาการคันในแพทย์แผนจีน
ลม(风痒) ลักษณะจะเกิดรวดเร็ว เคลื่อนที่ไปมา เปลี่ยนแปลงเร็ว ตำแหน่งคันย้ายที่ไม่แน่นอน  มักคันบางบริเวณ เป็นๆหายๆ

ร้อน(热痒)ผิวหนังมักแดง บวม มีอาการแสบร้อน มีอาการคันและเจ็บปนกัน

ความชื้น(湿痒)มักมีผื่นลักษณะเป็นตุ่มน้ำ ผื่นแฉะ มีน้ำซึม  อาการเป็นยาวนาน

แมลง(虫痒)อาการคันคล้ายมีแมลงไต่หรือมีพยาธิชอนไช คันตำแหน่งเดิมหากโดนความร้อนจะคันมากขึ้น

เลือดพร่อง(血虚痒)มักมีอาการคันทั่วตัว ผิวหนังแห้งลอก หรืออาจมีผิวแห้งแตก

เลือดคั่ง(血瘀痒)มีตำแหน่งอาการคันที่แน่นอน ผิวมักมีสีคล้ำเป็นเรื้อรังหายขาดยาก

อาการทางคลินิก
1. ผิวหนังคันเป็นระยะ ตำแหน่งการคันไม่แน่นอนหรือคันเฉพาะที่อาจเป็นบริเวณอวัยวะเพศ รอบทวารหนัก รวมถึงหนังศีรษะ และขาช่วงล่างเป็นต้น

2. ไม่มีรอยโรค รอยผื่นตั้งแต่แรกเริ่ม เกาไประยะหนึ่งจะเกิดรอยเกา ตกสะเก็ด มีรอยดำคล้ำ ลักษณะผิวหนาหยาบสาก หากมีอาการหนักอาจพบการติดเชื้อจนทำให้รูขุมขนอักเสบ หรือ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้

3. จะเกิดอาการคันหรือคันหนักขึ้นทุกครั้งที่ดื่มแอลกอฮอล์  มีการกระทบอารมณ์ หรือสวมเสื้อผ้าจากใยสังเคราะห์แล้วเสียดสี อุณหภูมิร้อนเย็นเป็นต้น

4. คนไข้มักมีอาการคันมากขึ้นเวลากลางคืนจนกระทบต่อการนอนหลับ

5. ในผู้ที่มีโรคเรื้อรังอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วยเช่น เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร เป็นต้น

สาเหตุของโรค ในมุมมองแพทย์แผนปัจจุบัน
1. ผู้เป็นโรคตับ - ถุงน้ำดี
2. ผู้ที่ระบบไตทำงานขัดข้อง
3. ผู้ที่ระบบต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ (เบาหวาน ไทรอยด์)

4. ผู้ที่มีเนื้องอก
5. ผู้ที่มีพยาธิในลำไส้
6. ปัจจัยด้านระบบประสาทและจิตใจ
7. สาเหตุจากภายนอกที่เกี่ยวข้องกับความเย็น - แห้ง อาหารรสจัด ล้วนเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุของโรคในมุมมองแพทย์แผนจีน
1. ความร้อน เลือดร้อน ความชื้น  เลือดพร่อง  สะสมจนเกิดลม
2. พื้นฐานร่างกาย
3. ปัจจัยก่อโรค(เสียชี่ 邪气)ภายนอก
4. ทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ทานอาหารที่แสลงหรือมีรสจัดรสเผ็ดมากเกินไป
5. อารมณ์หงุดหงิด
6. ผู้สูงอายุ ป่วยเรื้อรังร่างกายอ่อนแอ

การแบ่งกลุ่มอาการของโรคตามหลักแพทย์แผนจีน
1. ลมร้อนเลือดร้อน สะสมบริเวณผิวหนัง มาจากพื้นฐานร่างกายไม่แข็งแรงจึงถูกลม (เสียชี่) จากภายนอกมากระทบ ประกอบกับในร่างกายมีภาวะเลือดร้อน สะสมบริเวณผิวหนังและก่อให้เกิดอาการคัน

มักพบกลุ่มอาการนี้ในระยะเริ่มต้น ส่วนใหญ่แสดงอาการในช่วงฤดูร้อน พบมากในช่วงวัยรุ่นวัยและวัยทำงานเนื่องจากเป็นวัยที่มีความเครียดสูง มีอาการคันที่รุนแรง เมื่อโดนความร้อนจะมีอาการหนักขึ้น ผิวหนังมีรอยเกา ขีดข่วน รอยตกสะเก็ด และมักมีอาการร้อนรุ่มหงุดหงิด ปากแห้งกระหายน้ำ ชอบดื่มน้ำเย็น ท้องผูก ปัสสาวะเหลืองเข้มร่วมด้วย ลิ้นแดงฝ้าเหลืองบาง ชีพจรลอยเร็ว


2. ความร้อนชื้นสะสมที่ผิวหนัง การกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ กินอาหารรสจัด รสเผ็ด อาหารมันมากไปจะทำลายกระเพาะอาหารและม้าม ทำให้ระบบการย่อยเสียสมดุลเกิดเป็นความชื้นและความร้อนในร่างกาย ทำให้ระบบภายในแปรปรวน การกระจายเข้าออกของชี่ติดขัดอยู่ที่บริเวณผิวหนังทำให้เกิดอาการ

กลุ่มอาการนี้จะมีอาการคันรุนแรง หลังเกามีน้ำซึม หรือมักมีอาการช่วงขา อวัยวะเพศ รอบทวารหนัก ร่วมกับมีอาการปากแห้งปากขม แน่นหน้าอกเสียดชายโครง ไม่ค่อยอยากอาหาร ท้องผูก ปัสสาวะเหลืองเข้ม ลิ้นแดงฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว


3. เลือดและชี่พร่อง เกิดลมทำให้แห้ง เกิดจากการเจ็บป่วยเรื้อรังจนร่างกายอ่อนแอ เลือดและชี่พร่องทำให้ลมจากภายนอกมาจู่โจมได้ง่าย ภาวะที่เลือดน้อยง่ายต่อการเกิดลม ผิวหนังจึงขาดการหล่อเลี้ยงและเกิดอาการคัน  มักพบกลุ่มอาการนี้ในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ระยะโรคยาวนาน มีผิวที่แห้ง ผิวลอก หลังเกามีจุดเลือดออก พบรอยเกา ผิวหนังบางส่วนหนาตัวขึ้น อาจพบขุยลอก หลังอาบน้ำจะมีอาการหนักขึ้น ร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ ตาลาย นอนไม่หลับ ฝันเยอะ ลิ้นสีแดงหรือซีดฝ้าบาง ชีพจรเล็กเร็วหรือตึงเร็ว

การป้องกันและปฏิบัติดูแลตนเอง
·  ตัดเล็บให้สั้น ป้องกันการเกาที่รุนแรง
·  หลีกเลี่ยงการเกาที่รุนแรง การเสียดสี เลี่ยงการใช้น้ำร้อนอังบริเวณที่มีอาการคัน
·  ไม่ใช้สบู่ชนิดก้อนที่มีฤทธิ์เป็นด่างสูง ควรใช้ครีมอาบน้ำมีฤทธิ์ค่อนไปทางกรดหรือครีมอาบน้ำสำหรับเด็ก
·  เลือกสวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายที่อ่อนนุ่ม โดยเฉพาะชุดชั้นใน เลี่ยงผ้าจากใยสังเคราะห์
·  ระวังไม่ให้ผิวแห้งเกินไป พยายามอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิไม่ต่างกันมาก ใช้โลชั่นบำรุงอย่างเหมาะสม ปกป้องระวังไม่ให้ผิวแห้งเกินไปหรือหลีกเลี่ยงการโดนความเย็นแบบกะทันหัน
· งดบุหรี่ - เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รับประทานปลา กุ้ง ปู ปริมาณน้อย รวมถึงอาหารแสลงต่างๆ
· ทำจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนให้เพียงพออย่าหักโหมจนเกินไป
.

แนวทางการรักษาด้วยหลักการแพทย์แผนจีน
การรักษาโรคนี้จะเน้นการรักษาด้วยยาจีนเป็นหลัก ทั้งยาทานและยาใช้ภายนอก 


กลุ่มอาการลมร้อนเลือดร้อน จะเน้นวิธีขจัดลมร้อนทำให้เลือดเย็นลง ร่วมกับคนไข้ต้องดูแลตัวเองโดยการหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่แดดจัด ดื่มน้ำให้เพียงพอ

กลุ่มอาการความร้อนชื้นสะสมที่ผิวหนัง จะเน้นจ่ายยาขจัดความร้อนความชื้น ร่วมกับคนไข้ต้องดูแลตัวเองโดยระมัดระวังปรับพฤติกรรมการทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมัน ทานอาหารย่อยง่าย

กลุ่มอาการเลือดและชี่พร่อง จะเน้นจ่ายยากลุ่มบำรุงเลือดและชี่ เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นผู้สูงอายุ ทานอาหารได้น้อยลงและมักเน้นทานผักเป็นส่วนมากหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์เพราะย่อยยาก แนะนำให้ทานเนื้อสัตว์เพิ่มเติมสักเล็กน้อย อาจเป็นเนื้อปลาก็ได้เพื่อให้ย่อยง่าย ออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับช่วงวัยและความสามารถในการเคลื่อนไหวของแต่ละคน อาบน้ำแบบฟอกสบู่วันละ 1 ครั้ง ทาครีมให้ความชุ่มชื้นวันละ 1 - 2 ครั้ง

คำแนะนำนี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น ร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน หากต้องการคำแนะนำจำเพาะบุคคลควรปรึกษาแพทย์


บทความโดย แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร
คลินิกอายุกรรมภายนอก (ผิวหนัง) 

ตัวอย่างกรณีศึกษาการรักษาผู้ป่วยอาการคันเรื้อรัง

เคสที่ 1
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ป่วยเพศชาย อายุ 78 ปี   วันที่รับการรักษา 8 สิงหาคม 2563 HN 32xxxx

อาการสำคัญ
คันที่ผิวหนังทั่วตัวมานานกว่า 3 ปี
ประวัติปัจจุบัน
- ผู้ป่วยมีอาการคันทั้งตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีผื่นชัดเจน บางวันอาจมีรอยแดงปรากฏที่ผิวหนังบ้าง ตอนกลางคืนมีอาการคันมาก บางครั้งรู้สึกร้อนที่ผิว หงุดหงิดโมโหง่าย

- ผู้ป่วยเคยได้รับการรักษาโดยการทานยาแก้แพ้และทาโลชั่น อาการบรรเทาลงบ้างเล็กน้อย

- ขับถ่าย 2-3วัน/ครั้ง นอนหลับปกติ

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ความดันสูง เก๊าท์
การตรวจร่ายกาย ผิวแห้ง ผิวค่อนข้างกร้าน มีลักษณะผิวหนาตัวเล็กน้อย ผิวไม่เรียบออกขรุขระผิวสีแดงระเรื่อง ลิ้นสีแดง ฝ้าน้อย ชีพจรตึง

- การวินิจฉัย แพทย์แผนจีน 风瘙痒  เทียบได้กับการแพทย์แผนปัจจุบัน Pruritus

- จัดเป็นกลุ่มอาการถูกลมร้อนกระทำ ในเลือดมีความร้อนและเลือดพร่อง

- การรักษา ขับร้อน บำรุงเลือด ทำให้เลือดเย็น ลดอาการคัน

การติดตามผลการรักษา
ตรวจซ้ำครั้งที่ 2 วันที่ 15 สิงหาคม 2563 ผู้ป่วยมีอาการคันลดลงประมาณ 50% มีอาการคันส่วนใหญ่พบที่บริเวณเอวและแขนทั้งสองข้าง ตาแห้ง ขับถ่าย 2วัน/ครั้ง ลิ้นและชีพจรคงเดิม

ตรวจซ้ำครั้งที่ 3 วันที่ 21 สิงหาคม 2563 ผู้ป่วยมีอาการคันลดลง อาการคันส่วนใหญ่ที่บริเวณเอวซ้าย มีเสมหะสีขาว คันคอ ขับถ่าย 2วัน/ครั้ง ลิ้นมีฝ้าขาวบาง ชีพจรคงเดิม

เคสที่ 2
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 70 ปี   วันที่รับการรักษา 6 พฤศจิกายน 2563 HN 02xxxx

อาการสำคัญ
คันที่ผิวหนังทั่วตัวมามากกว่าครึ่งปี

ประวัติปัจจุบัน
- ผู้ป่วยมีอาการคันทั้งตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ แผ่นหลังท่อนบนพบว่ามีผื่นขึ้น บริเวณอื่นไม่มีผื่นชัดเจน  ตอนกลางคืนมีอาการคันมากเป็นพิเศษ เวลามีเหงื่อออกก็จะคัน

- ผู้ป่วยเคยไปรักษามาหลายที่ ใช้ยาแผนปัจจุบันและยาจีน (ที่คลินิกอื่น) อาการบรรเทาลงบ้างเล็กน้อย แต่ทานยาจีนครั้งล่าสุด อาการคันเป็นมากขึ้น หงุดหงิดโมโหง่าย คิดมาก คอแห้ง

- ขับถ่าย 1-2ครั้ง/วัน  นอนหลับปกติ ปัสสาวะตอนกลางคืน 1-2ครั้ง

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต -

การตรวจร่ายกาย ผิวแห้ง ผิวค่อนข้างกร้าน ที่แผ่นหลังด้านบนและต้นคอมีลักษณะผิวหนาตัวเล็กน้อย ผิวขรุขระและสีแดงระเรื่อ  ลิ้นสีแดง ฝ้าเหนียวเหลือง ชีพจรตึงเล็ก

การวินิจฉัย แพทย์แผนจีน 风瘙痒  เทียบได้กับการแพทย์แผนปัจจุบัน Pruritus จัดเป็นกลุ่มอาการความร้อนชื้นสะสมที่ผิวหนัง

การรักษา ขับร้อน ขจัดความชื้น ทำให้เลือดเย็น ลดอาการคัน

การติดตามผลการรักษา
ตรวจซ้ำครั้งที่ 2 วันที่13 พฤศจิกายน 2563 อาการคันลดลง อาการที่ผิวยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ผิวยังคงแห้ง คอแห้ง ขับถ่ายปกติ นอนหลับฝันบ่อย กระสับกระส่าย ลิ้นสีแดง ฝ้าน้อย ชีพจรคงเดิม

ตรวจซ้ำครั้งที่ 3 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 อาการคันลดลง ผิวที่แผ่นหลังและต้นคอเริ่มบางลง ขับถ่ายปกติ ปัสสาวะตอนกลางคืน 1ครั้ง นอนหลับปกติ ลิ้นสีแดง ฝ้าเหนียวเล็กน้อย ชีพจรคงเดิม

ตรวจซ้ำครั้งที่ 4 วันที่ 4 ธันวาคม 2563 อาการคันลดลง แทบไม่มีอาการคัน ผิวที่แผ่นหลังแห้ง ผิวที่ต้นคอหนาตัวเล็กน้อยสีคล้ำ นอนหลับปกติ ขับถ่ายปกติ ลิ้นสีแดงฝ้าน้อย ชีพจรเล็ก

กล่าวคือจากทั้ง 2 เคสนี้ มีอาการคล้ายกัน เช่น ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ มีอาการคันโดยไม่ทราบสาเหตุ ตอนกลางคืนมีอาการคันมากเป็นพิเศษเหมือนกัน ถึงจะมีอาการคล้ายกัน แต่สาเหตุของการเกิดโรคนั้นแตกต่างกัน ในกรณีเคสแรกมีสาเหตุจากถูกลม (เสียชี่) จากภายนอกมากระทบ ประกอบกับในร่างกายมีภาวะร้อนจึงทำให้เกิดอาการคัน ในกรณีเคสที่ 2 มีสาเหตุมาจากการทานอาหารหรือยาที่มีฤทธิ์ร้อนมากเกินไป ทำให้ระบบการย่อยเสียสมดุลเกิดเป็นความชื้นและความร้อนภายในจนทำให้เกิดอาการคัน การรักษาหรือการจ่ายยาจึงมีความแตกต่างกัน การดูแลตนเองก็มีความแตกต่างกัน ตามที่กล่าวไว้เบื้องต้น

บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน ณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย (เจิง ฉ่าย อิง)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้