โควิด19 กับแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  6827 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โควิด19 กับแพทย์แผนจีน

จุดเริ่มต้นของโควิด 19
ตั้งแต่ธันวาคม 2019 
มณฑลอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีคนไข้ปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด คนไข้มีอาการมีไข้ และในบางรายเริ่มมีการหายใจลำบาก


วันที่ 7 มกราคม 2020
ได้มีการวินิฉัยว่าเชื้อโรคที่ค้นพบเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่


วันที่ 13 มกราค ม 2020
พบผู้ป่วยนอกสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรายแรก


วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2020
WHO ได้ประกาศชื่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี่ว่า Corona virus disease 2019 (COVID-19) อย่างเป็นทางการ


โควิด 19 คืออะไร
ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) ถูกพบครั้งแรกในปี 1960 เป็นไวรัสที่สามารถติดเชื้อได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ปัจจุบันมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้แล้วทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดหนักทั่วโลกตอนนี้เป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยพบมาก่อน คือ สายพันธุ์ที่ 7 จึงถูกเรียกว่าเป็น “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” และในภายหลังถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โควิด-19” (COVID-19) นั่นเอง

อาการสำคัญของโควิด 19
อาการทั่วไป :มีไข้ ไอแห้ง อ่อนเพลีย
อาการที่พบไม่บ่อย : ปวดเมื่อยเนื้อตัว เจ็บคอ ท้องเสีย ตาแดง ปวดศีรษะ สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส มีผื่นบนผิวหนัง หรือนิ้วมือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี
อาการรุนแรง:หายใจลำบากหรือหายใจถี่ เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก สูญเสียความสามารถในการพูดและเคลื่อนไหว

การแยกแยะโควิด19 และไข้หวัดธรรมดา


     ตารางแยกแยะโควิด19 และไข้หวัดธรรมดาด้วยอาการแสดง

- ไข้หวัดธรรมดา มักไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง และมีอาการอยู่ไม่นาน หากดูแลร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ อาการไข้หวัดจะค่อย ๆ หายไปเองใน 3-4 วัน

- ไวรัส COVID-19 พบอาการปอดอักเสบอันนำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งความรุนแรงของโรคนี้จะแตกต่างกันตามความแข็งแรงของแต่ละคน 

ความรุนแรงของโรค
ปัจจุบันนักวิจัยประเมินว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 1,000 คน มีผู้เสียชีวิต ราว 5-40 คน แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของอายุ เพศ สุขภาพโดยทั่วไป

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลคนไข้ 56,000 คน ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การอนามัยโลก บ่งชี้ว่า ผู้ได้รับเชื้อ 4 ใน 5 คน จะมีอาการป่วยไม่รุนแรง โดย : 80% มีอาการไม่รุนแรง 14% มีอาการรุนแรง 6% มีอาการวิกฤต ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำที่ 1-2%

มุมมองของแพทย์แผนจีนต่อโควิด 19
การแพทย์แผนจีนจัด โรค COVID-19 อยู่ในขอบเขตของ โรคระบาด (瘟疫 เวินอี้) ปัจจุบันมีข้อมูลงานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นว่าจุดเด่นของ โควิด19 คือสามารถติดต่อได้จากคนสู่คน การระบาดมีความสอดคล้องกับภูมิภาค สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าโรคโควิท19 ในทางการแพทย์แผนจีนจัดอยู่ในขอบเขตของโรค “เวินอี้ (瘟疫)” ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของโรค “เวินปิ้ง (温病)”  

เวินปิ้ง(温病) คืออะไร ?
โรค “ เวินปิ้ง ” เป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยก่อโรคเวินเสีย (温邪) โดยอาการหลักของโรคคืออาการมีไข้สูง แพทย์แผนจีนแบ่งโรคเวินปิ้งเป็น 9 ประเภท ประเภทที่แพร่กระจายติดต่อระบาดง่าย เรียกว่า เวินอี้ (瘟疫)

เวินเสีย (温邪) คืออะไร ?
เวินเสีย คือปัจจัยก่อโรคของเวินปิ้งจะเกี่ยวข้องกับอากาศในฤดูกาลต่างๆ เช่น ลม ความร้อน ความชื้น ความแห้ง ความหนาวเย็น เป็นต้น เวินเสียสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทางจะโจมตีและเข้าสู่ร่างกายทางปาก จมูกและผิวหนัง ทำให้มีไข้และการพัฒนาของโรคจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว

เวินอี้ (瘟疫) คืออะไร ?
 “เวินอี้ (瘟疫)” คือคำที่ใช้เรียกโรคระบาดที่มีความรุนแรงในยุคปัจจุบัน ได้มีการบันทึกคำว่า เวินอี้ ไว้ในคัมภีร์โบราณโดยคำว่า เวิน (瘟) และ อี้ (疫)มีความหมายว่าโรคระบาดเหมือนกัน โดยสาเหตุของโรคระบาดเกิดจากเวินเสีย

ตำแหน่งของโรค
Ye Tian shi (叶天士) กล่าวว่า “ปอดเป็นอวัยวะที่อยู่สูงที่สุด เสียชี่จึงทำลายปอดก่อน ” และ “เวินเสียทำลายปอดก่อน” ดังนั้น ปอดจึงเป็นอวัยวะที่ได้รับเวินเสียจู่โจมได้ง่ายที่สุด

Xue sheng bai(薛生白) กล่าวว่า “湿土之气, 同类相召,故湿热之邪,始虽外受,终归脾胃也。” หมายความว่า ความชื้นและความร้อนมักทำลายกระเพาะและม้ามได้ง่าย

เนื่องจากม้ามเปิดทวารที่ปาก ปอดเปิดทวารที่จมูก ปัจจัยก่อโรคจึงเข้าทางจมูกจู่โจมปอด และเข้าทางปากจู่โจมกระเพาะและม้าม เพราะฉะนั้นตำแหน่งของโรคจึงอยู่ที่ ปอด กระเพาะและม้าม

อธิบายกลไกการเกิดโรคโควิด 19
และตำแหน่งโรคในทางการแพทย์จีน

โรคไวรัสโควิด19 ที่มีการรักษาโดยแพทย์แผนจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีคำสรุปออกมาว่าโรคไวรัสโควิด19 ถือเป็นโรคระบาดชนิด “ซือตู๋อี้ (湿毒疫)” เป็นโรคระบาดที่มีสาเหตุจากพิษและความชื้นเป็นหลัก

โดยส่วนใหญ่ความชื้นและพิษจะเข้าจู่โจมปอดก่อน แล้วจึงไปยังม้าม กระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดพยาธิสภาพการเปลี่ยนแปลงของโรคที่ค่อนข้างเบา มีส่วนน้อยที่ผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มหัวใจ ตับ และไต ทำให้เกิดการเจ็บป่วยวิกฤติรุนแรง

โรคนี้มีการเปลี่ยนแปลงของโรครวดเร็ว กระนั้นก็ตามยังคงมีแกนหลักของการเกิดโรค และมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของโรคที่ชัดเจนแน่นอน

ปอด
ตำแหน่งของปอดอยู่ที่หน้าอก มีหน้าที่กำกับชี่ในส่วนที่เกี่ยวกับลมหายใจ (肺司呼吸) อีกหน้าที่หนึ่งคือการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบเลือดในร่างกาย และช่วยหัวใจในการไหลเวียนเลือด (肺朝百脉)

จากทฤษฎีพื้นฐานกล่าวไว้ว่าปอดเปิดทวารที่จมูกและปอดควบคุมผิวหนัง อีกทั้งปอดยังมีหน้าที่แลกเปลี่ยนอากาศภายนอกและภายในร่างกายอีกด้วย ดังนั้นปอดจึงเป็นอวัยวะที่ง่ายต่อการรับปัจจัยก่อโรคต่างๆ หากปอดทำงานปกติ คนก็จะมีการหายใจที่ปกติเช่นกัน

กลไกการเกิดโรคเกิดจากความชื้นและพิษเข้าจู่โจมจมูกและผิวหนัง ความชื้นและพิษเข้าปิดกั้นการทำงานของปอดทำให้ชี่ปอดทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการไอ หอบ หายใจลำบาก (ภาพประกอบที่ 1)


แผนภาพที่ 1  แสดงกลไกการเกิดโรคโควิด 19 ที่ปอด

ม้ามและกระเพาะอาหาร

ม้ามมีหน้าที่นำอาหารและน้ำที่แปรสภาพเป็นสารจำเป็น ดูดซึมและลำเลียงไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย จากทฤษฎีพื้นฐานกล่าวไว้ว่าม้ามชอบความแห้งเกลียดความชื้น ม้ามมีความสัมพันธ์กับกระเพาะอาหาร ชี่ม้ามมีทิศทางขึ้น และชี่ของกระเพาะอาหารมีทิศทางลง

กลไกการเกิดโรคเกิดจากความชื้นและพิษเข้าจู่โจมปาก (ม้ามและกระเพาะเปิดทวารที่ปาก) ทำให้ม้ามถูกความชื้นเข้าอุดกั้น ม้ามจึงสูญเสียหน้าที่ในการดูดซึมลำเลียงน้ำและสารอาหาร เมื่อการดูดซึมน้ำและสารอาหารผิดปกติจึงเกิดความชื้นสะสม เข้าอุดกั้นชี่ของม้ามและกระเพาะ ส่งผลให้ชี่ของม้ามและกระเพาะทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจึงมีอาการแน่นท้อง หนักหัวหนักตัว อ่อนแรง พะอืดพะอม ไม่อยากอาหาร ท้องผูก (แผนภาพที่2)



แผนภาพที่ 2 แสดงกลไกการเกิดโรคโควิด 19 ที่ม้ามและกระเพาะอาหาร

ดังนั้น กลไกการเกิดโรคโควิด19 คือความชื้นและพิษเข้าอุดกั้นชี่ทำให้ปิดกั้นการทำงานของปอดและเข้าคุกคามการทำงานของม้าม หากความชื้นและพิษเดินทางเข้าสู่เยื่อหุ้มหัวใจ ตับ และไต จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยวิกฤติรุนแรง

รูปภาพด้านซ้ายเป็นรูปภาพของปอดผู้ป่วยโควิด 19 (รูปภาพที่ 1)  และรูปภาพปอดทางด้านขวาเป็นรูปภาพปอดคนปกติ (รูปภาพที่ 2)



แผนการป้องกันตามหลักแพทย์แผนจีน
โควิด19 สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ปัจจุบันยังคงไม่มียารักษาโดยตรง และแม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่ยังคงจำเป็นต้องใช้เวลาในการการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติม ดังนั้น การป้องกันโควิด19 จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

หลักการป้องกันคือหลีกเลี่ยงปัจจัยก่อโรค คือ ส่งเสริมเจิ้งชี่
ตั้งแต่เมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว คัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง ได้บันทึกเกี่ยวกับแนวคิดในการป้องกันโรคเอาไว้ กล่าวว่า “正气存内,邪不可干” แปลว่า “เจิ้งชี่ภายในยังดำรงอยู่ เสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) ก็ไม่อาจทำอะไรได้”

คัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิงกล่าวว่า “圣人不治已病治未病,不治已乱治未乱,此之谓也。”แปลว่า " หมอที่เก่งไม่รักษาเมื่อเกิดโรค แต่ป้องกันโรค (รักษาเพื่อไม่ให้เกิดโรค) และไม่รักษาต่อเมื่อภาวะรุนแรงแล้ว แต่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะรุนแรง”

ประโยคดังกล่าวบ่งบอกให้เห็นว่าแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคเป็นอย่างมาก

วิธีการป้องกันและบำรุงเจิ้งชี่
การป้องกันเจิ้งชี่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับอาหาร การพักผ่อน และการออกกำลังกายด้วย คัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิงกล่าวว่า “饮食有节,起居有常,不妄劳作” แปลว่า รับประทานอย่างพอประมาณ ใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติและไม่ทำงานหนักเกินไป

นอกจากนี้การป้องกันเจิ้งชี่ยังสามารถทำได้จากการรับประทานยาจีนสำเร็จรูปเพื่อบำรุงเจิ้งชี่อีกด้วยตัวอย่างเช่น ยฺวี่ผิงเฟิงส่านเค่อลี่ (玉屏风散颗粒)(รูปภาพที่ 3) ฮั่วเซียงเจิ้งชี่เจียวหนาน (藿香正气胶囊) (รูปภาพที่ 4)  เป็นต้น



หากแต่ยาเหล่านี้นอกจากจะสามารถป้องกันอาการป่วยได้แล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายได้อีกด้วย เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยการวินิฉัยโรคและร่างกายก่อน ดังนั้น จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วย

วิธีการดูแลตนเองที่บ้านตามหลักแพทย์แผนจีน
การออกกำลังกาย เป็นหนึ่งในวิธีการเพิ่มเจิ้งชี่ ดังนั้น เราควรออกกำลังกายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายตามความพร้อมของพื้นฐานสุขภาพ เน้นการทำอย่างต่อเนื่อง และไม่หักโหมจนเกินไป

ทานอาหารให้ครบ ทานให้พอเหมาะ การทานอาหารเพื่อสุขภาพ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับตนเอง และอาหารในเมนูหย่างเซิงต่างๆทางการแพทย์แผนจีน

ซันเย่าสมุนไพรบำรุงชี่ม้าม
สรรพคุณ
:บำรุงชี่ม้าม จากการศึกษาพบว่าในซันเย่ามีสารที่ช่วยในการกระตุ้นระบบการย่อยอาหาร เหมาะกับผู้ที่มีพื้นฐานสุขภาพของร่างกายที่จัดอยู่ในกลุ่มชี่พร่อง โดยเฉพาะชี่ม้ามพร่อง

วิธีทำ:นำซันเย่า 100 กรัม ตุ๋นรวมกับเนื้อไก่ 1,000 กรัม แล้วปรุงรสตามที่ชอบ หรือนำซันเย่าที่ตากแห้ง มาคั่วบนกระทะร้อนจนกึ่งสุกกึ่งดิบ แล้วนำมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 20 กรัม

เหมาะสำหรับ:คนที่มักเป็นหวัดง่ายเมื่ออากาศเปลี่ยน ไม่ทนต่อปัจจัยก่อโรคต่าง ๆ เช่น ความเย็น ความร้อน ความชื้น เป็นต้น หลังการเจ็บป่วยร่างกายมักฟื้นตัวช้า (รูปภาพที่ 5)


การพักผ่อน พักผ่อนในเวลาที่เหมาะสม พอเหมาะกับตนเอง (ปกติ 6-7 ชม.) ผ่อนคลายด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น หรือสมุนไพรแช่เท้าก่อนนอน นวดกดจุดหย่งเชวียน ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับได้ดีและมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

จุดหย่งเชวียน : Yong Quan
วิธีการ : ใช้นิ้วมือคลึงจุดหย่งเชวียน 5 - 10 นาที
ประโยชน์ : รักษาอาการอ่อนเพลีย  เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง เวียนศีรษะ หงุดหงิดง่าย คิดมาก เบาหวาน โรคภูมิแพ้อากาศ วัยทอง กลัวหนาว (รูปภาพที่ 6)  



การป้องกันในช่วงเวลาพิเศษ เช่น ภูมิคุ้มกันลดลง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มอาการชี่ของปอดพร่องทางการแพทย์แผนจีน จะมีอาการแสดง เช่น เหนื่อยง่าย เสียงพูดเบาลง หายใจสั้นลง เหงื่อออกง่าย ไม่ทนร้อนทนหนาวและกลัวลม สาเหตุมักเกิดจากทำงานตรากตรำ พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอารมณ์เศร้าโศกต่อเนื่องนานๆ หรือโมโหง่าย จนทำให้ชี่ปอดอ่อนแอ ควรจะรับประทานยาสมุนไพรเพื่อการปรับสมดุล ฟื้นฟูชี่พื้นฐานของร่างกาย

 
บทความโดย

แพทย์จีน สิตา สร้อยอัมพรกุล (หลิน อิ่ง เหวิน)
TCM. Dr. Sita Soiampornkul (Lin Ying Wen)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1049

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้