ผดผื่นในฤดูร้อน โรคผิวหนังที่มาพร้อมอากาศเปลี่ยนแปลง

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  67872 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผดผื่นในฤดูร้อน โรคผิวหนังที่มาพร้อมอากาศเปลี่ยนแปลง

เฟ่ยจื่อ หรือ ผดร้อน เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในฤดูร้อน ที่มีอากาศร้อนจัดหรือร้อนอบอ้าว อาการเด่นคือมีผื่นหรือตุ่มน้ำเล็กๆขึ้นบนผิวหนัง ร่วมกับมีเหงื่อออกมาก มักพบบ่อยในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ บุคคลที่มีรูปร่างเจ้าเนื้อ หรือบุคคลที่ใส่เสื้อผ้ารัดรูป ค่อนข้างคับแน่น หรือผ้าเนื้อหนา


เฟ่ยจื่อในสมัยโบราณมีชื่อเรียกหลากหลายตามแต่จะมีการบันทึกในคัมภีร์แต่ละเล่ม เช่น ฉัวเฟ่ย (痤疿)  ฉัวเฟ่ยชวง(痤痱疮) เฟ่ยชวง (沸疮) ในคัมภีร์ซู่เวิ่นมีการกล่าวถึงฉัวเฟ่ยว่า “ถ้าหากเหงื่อออกจะทำให้เกิดฉัวเฟ่ย” ในคัมภีร์จูปิ้งหยวนโฮ่วลุ่น (诸病源候论) ก็มีกล่าวถึงว่า เดือนที่มีอากาศร้อนจัด ทำให้รุมขุมขนของคนเปิดออก ทำให้ได้รับลมร้อนเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เมื่อพิษจากลมร้อนโจมตีผิวหนัง ทำให้เกิดเฟ่ยชวง ลักษณะเหมือนกับน้ำเดือด หากมีอาการเบาก็จะมีลักษณะเป็นผดเป็นเล็กๆขนาดเท่าเมล็ดข้าวฟ่าง หากเป็นหนักเหงื่อร้อนออกมากจนทำให้เกิดเป็นแผล คือสาเหตุที่ทำให้มีชื่อเรียกว่า เฟ่ยจื่อ (沸子) (เฟ่ย แปลว่าเดือด แปลตรงตัวคือ ผื่นที่มีลักษณะคล้ายน้ำเดือด) และในคัมภีร์ไว่เคอเจิ้งจง (外科正宗) ก็มีการบันทึกลักษณะอาการของผื่นหน้าร้อนนี้ไว้ด้วยว่า “บุคคลที่เป็นฉัวเฟ่ย ลักษณะผื่นหนาแน่นเหมือนการโปรยข้าวฟ่าง ยอดแหลมคล้ายหนาม คันและแสบมากรู้สึกเหมือนหนามตำทั่วตัว เพราะร่างกายได้ถูกลมมากระทบ ทำให้รูขุมขนปิด”

แพทย์แผนปัจจุบันเห็นว่าโรคนี้เกิดจากอาการร้อน และร้อนอบอ้าวมากเกินไปจนทำให้เหงื่อออกมาก แต่มีการหลั่งออกจากรูขุมขนได้ไม่ดี ทำให้ต่อมเหงื่ออุดตัน ท่อของต่อมเหงื่อปริแตกจนทำให้เหงื่อกระจายออกไปในเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆจนทำให้เกิดผื่นขึ้น

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในแพทย์แผนจีน
เมื่ออยู่ในฤดูหรือช่วงเวลาที่ร้อนจัด ร่างกายได้รับความร้อนเข้ามากระทบ ความร้อนสะสมอบอยู่ภายใน ความร้อนรวมกับความชื้นจากเหงื่ออุดกั้นรูขุมขน ทำให้เหงื่อไหลออกไม่สะดวกขังอยู่ในช่องว่างใต้ผิวหนังจนเกิดเป็นผื่น

อาการทางคลินิก
โรคนี้มักขึ้นบริเวณ ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ หน้าอก แผ่นหลัง ข้อพับข้อศอก รักแร้ ขาหนีบ รวมถึงบริเวณใต้ราวนมในสตรี

เบื้องต้นผิวหนังจะมีสีแดง จากนั้นจะค่อยๆขึ้นตุ่มผด ตุ่มน้ำเล็ก ขนาดเท่าหัวเข็มหรือขนาดเมล็ดข้าวฟ่าง บริเวณรอบเป็นรอยแดงระเรื่อ เรียงตัวเป็นแถวอย่างหนาแน่นแต่ไม่รวมตัวกัน หากสัมผัสจะมีความรู้สึกคล้ายหนามทิ่ม ในบางที่อาจเห็นเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็กชั้นตื้น ผนังบาง ภายในมีน้ำใส รอบๆไม่พบรอยแดง ซึ่งจะมีอาการคันหรืออาการแสบร้อนที่รุนแรงไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หลังตากแดด รวมถึงหลังรับประทานอาหารร้อนๆจะมีอาการหนักมากขึ้น

การเกิดและการยุบของผื่นขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างมาก เมื่ออากาศร้อนอบอ้าว การขับเหงื่อไม่สะดวก จะเกิดผื่นขึ้น หากอากาศเปลี่ยนเป็นเย็นภายในไม่กี่วันผื่นจะแห้ง หากอาการไม่รุนแรงผื่นจะหลุดลอกเป็นขุยและหายไป หากอากาศเปลี่ยนกลับมาร้อนอีก ผื่นก็จะกลับมาเกิดใหม่ซ้ำได้อีกครั้ง  ดังนั้น จึงเกิดเป็นรอยผื่นขึ้นเป็นแถบ และยุบเป็นแถบ  หากได้รับการรักษาไม่ทันเวลาหรือมีการเกาจนติดเชื้อ จะทำให้เกิดเป็นกลุ่มตุ่มหนองหรือเป็นฝีขนาดเล็ก กลายเป็น “เฟ่ยตู๋”(痱毒 / รูขุมขนอักเสบ) ระยะของโรคอาจยาวนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ได้

การรักษา
หากอาการไม่รุนแรงไม่จำเป็นต้องทานยา อาจใช้วิธีการใช้ยาใช้ภายนอก เช่น น้ำต้มใบป๋อเหอ (ใบมิ้นต์) หรือคาลามายด์ทา หากมีอาการหลายวันไม่หายอาจปรับวิธีการทานอาหาร หรือ ใช้ทายาที่เอ่ยด้านล่างต้มเป็นชาดื่มจิบระหว่างวัน หากมีอาการเป็นๆหายๆไม่หายขาดหรือมีอาการเป็นตุ่มหนองแนะนำให้ปรึกษาแพทย์

สมุนไพรที่ใช้บ่อย
1. ถั่วเขียว (绿豆)รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจและกระเพาะอาหาร มีสรรพคุณขับพิษระบายร้อน ขับน้ำ
2.ป๋อเหอ (薄荷)รสเผ็ด ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอดและตับ มีสรรพคุณ ขับลมร้อนที่มาจากภายนอก รักษาผื่น ชุ่มคอ ระบายชี่ที่ตับ ผ่อนคลายอารมณ์
3. ดอกสายน้ำผึ้ง (金银花) รสหวาน ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด หัวใจ กระเพาะอาหาร มีสรรพคุณขับลมร้อนที่มากระทบจากภายนอก ลดพิษร้อน

แนะนำเมนูอาหารหย่างเซิงด้วยตนเอง
"ถั่วเขียวต้มน้ำเก๊กหล่อ"
ส่วนผสม 
ถั่วเขียว (แช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง)
ดอกเก๊กฮวย หล่อฮังก๊วย
น้ำตาลทรายแดง น้ำเปล่า


วิธีทำ
1. นำดอกเก๊กฮวยและหล่อฮังก๊วยต้มในน้ำเปล่า เคี่ยวประมาณ 10 นาที แล้วกรอกกากดอกเก๊กฮวยและหล่อฮังก๊วยออก

2. เทน้ำเปล่าเทลงไปพอให้ท่วมถั่วเขียวเล็กน้อย ใส่น้ำที่ต้มจากเก๊กฮวยและหล่อฮังก๊วยตามลงไปให้ท่วมเมล็ดถั่วเขียวสัก 2 ข้อนิ้ว จากนั้นต้มจนน้ำเดือดและให้ถั่วเขียวเปื่อย ประมาณ 20 นาที

3. ใส่น้ำตาลทรายแดงลงไป คนจนละลาย ตักใส่ถ้วย

"สลัดแตงโมกับแตงกวา"
ส่วนผสม 
แตงโม (หั่นเต๋า) 4-5 ถ้วย
แตงกวา (หั่นเต๋า) 4 ลูก
หอมแดง (สไลซ์ ) 1/4 ถ้วย
ใบมินต์สับ 1/2 ถ้วย
พาร์สลีย์สับ 1/2 ถ้วย
ถั่วพิสตาชิโออบ 1/4 ถ้วย
น้ำมันมะกอก 1/4 ถ้วย
เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
น้ำสลัดตามใจชอบ


วิธีทำ
1. ใส่แตงโม แตงกวา และหอมแดงลงในอ่างผสม ตามด้วยใบมินต์ พาร์สลีย์ และถั่วพิสตาชิโอ คลุกเคล้าพอเข้ากัน

2.ใส่น้ำมันมะกอก เกลือป่น และน้ำสลัดตามใจชอบลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักใส่ภาชนะ พร้อมเสิร์ฟ

การป้องกันและการปฏิบัติตัว
1. ในวันที่อากาศร้อนจัด​ ควรทำงานหรืออยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท​เพื่อไม่ให้ร่างกายร้อนจนเกินไป

2.ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดหรือหนาเกินไป ควรใส่เสื้อผ้าหลวมๆให้ระบายอากาศได้ดี อาจเน้นผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย

3.หากเหงื่อออกเยอะ ควรอาบน้ำและเปลี่ยนชุดชั้นใน  สำหรับเด็กทารกนั้น​หลังอาบน้ำเสร็จ ให้หลีกเลี่ยงการเกาหรือใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวแรงเกินไปและควรทาแป้ง

4.หลังจากเหงื่อออกมาก ไม่ควรลงแช่น้ำเย็นทันที

5.หลังจากที่ป่วย หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนและสบู่อาบน้ำ แต่สามารถใช้น้ำอุ่นอาบน้ำแทนได้

6.หลีกเลี่ยงการใช้ครีมที่มีเนื้อค่อนข้างหนัก ซึมสู่ผิวช้า หรือครีมที่มีส่วนผสมของปิโตรเลี่ยม น้ำมัน หรือขี้ผึ้ง

7.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งในเวลาที่มีแดดจัด

 


ผู้สร้างสรรค์บทความ
แพทย์จีนณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย
แพทย์จีนสมเกียรติ พัดอินท
แพทย์จีนคณิฏฐ์ษา จิรัฐิติกาล
แพทย์จีนมนัญญา อนุรักษ์ธนากร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้