Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 68624 จำนวนผู้เข้าชม |
ท้องผูก Constipation 便秘 (便秘) เป็นอาการที่อุจจาระแข็ง ถ่ายออกยาก ต้องใช้เวลาในการขับถ่ายอุจจาระนาน หรือแม้จะใช้เวลาไม่นานหากขับถ่ายยากก็นับเป็นอาการท้องผูกด้วย กลไกของโรคทางแพทย์แผนจีนเกี่ยวข้องกับภาวะร้อนคั่งในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือมีภาวะหยางพร่องทำให้อุจจาระแข็งตัวจากความเย็น ชี่ เลือด และอินพร่อง หรือมีก้อนในช่องท้องกดทับลำไส้ อาการท้องผูกนอกจากจะพบในโรคของลำไส้แล้ว โรคของทวารหนัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาต ก้อนในช่องท้องกดทับลำไส้ โรคที่มีไข้สูง รับประทานยาขับระบายมากเกินไป รับประทานอาหารที่มีลักษณะร้อนแห้งมากเกินไป การผ่าตัด การทำงานของร่างกายเสื่อมถอย เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ทั้งสิ้น
อาการท้องผูกเกิดจากลำไส้ไม่ค่อยเปิดหรือเปิดแต่ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยถ่าย หากถ่ายอุจจาระมักจะแห้งและแข็ง อาการของคนท้องผูกสร้างความน่ารำคาญแต่ก็สามารถรักษาได้ไม่ยาก หากเลือกการรักษาที่ถูกต้อง
ท้องผูกอาจจะตามด้วยอาการอื่นๆอีก เช่น ปวดหัว มึนงง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ สมองคิดช้า เฉื่อยชาไม่กระฉับกระเฉง
ท้องผูกที่มีสาเหตุจากม้าม Splenic constipation 脾約 (脾约)
มีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพิษร้อนแห้งจับตัวขึ้นภายในร่างกาย ขาดสารน้ำและอิน หรือมีภาวะม้ามพร่อง ทำให้การทำหน้าที่ลำเลียงไม่ดี พิษเย็นจับตัว ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง ทำให้เกิดภาวะอุจจาระแข็งขับถ่ายลำบาก หรือการขับถ่ายต้องใช้เวลานานกว่าจะถ่ายออกแต่ละก้อน เป็นโรคที่สังกัดโรคอวัยวะภายในอุดตัน
ท้องผูก มีสาเหตุมาจากร่างกายขาดน้ำและอาหารที่มีกากจากผักและผลไม้ทำให้อุจจาระแห้งจนขับถ่ายลำบาก หรือมีร้อนสะสมอยู่ภายในร่างกายทำให้ขาดน้ำหล่อเลี้ยง อีกกรณีคือสมรรถนะการทำงานของลำไส้ใหญ่ถดถอย สามารถแยกกลุ่มอาการได้ 4 ประเภท ดังนี้
1. กลุ่มอาการแกร่ง : ท้องอืด ตึง กดแล้วเจ็บ อุจจาระแข็งเหมือนมูลแพะ มีไข้ หน้าแดง หิวน้ำบ่อย กระหายน้ำ ปากแห้ง ลมหายใจมีกลิ่น ปัสสาวะน้อย สีเข้ม
2. กลุ่มอาการพร่อง : อยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง มึนงงศีรษะ ใจสั่น ผิวหมองคล้ำ
3. กลุ่มความเย็น : ท้องผูก ปวดแบบเย็นๆในท้อง ชอบความอุ่น แขนขาเย็น ปัสสาวะมากและใส
4. กลุ่มที่เกิดจากชี่ : ท้องผูก ปวดท้อง ปวดชายโครง เรอบ่อย หลังผายลมหรือถ่ายออกแล้วรู้สึกสบาย
อ้างอิงข้อมูล
1. บัญชีรหัสกลุ่มโรค อาการและหัตถการด้านการแพทย์แผนจีน ฉบับ 2016
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
2. ครอบแก้ว วิธีง่ายๆในการดูแลสุขภาพด้วยตัวคุณเอง
อาจารย์หยาง เผย ซิน
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567