Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 20776 จำนวนผู้เข้าชม |
ไต เป็นรากฐานของอวัยวะภายในและอิน-หยาง ไตเป็นกำเนิดของชีวิต ไตเป็นรากฐานของชีวิตก่อนคลอด ไตมีรูปร่างรูปไข่มนโค้ง คล้ายเมล็ดถั่วแดง ด้านนอกมีเนื้อเยื่อไขมันสีเหลืองห่อหุ้ม เนื้อไตตรงกลางสีขาวขอบมีสีดำ ไตมี 2 ข้าง ข้างซ้ายและข้างขวา อยู่ในช่องท้องบริเวณด้านข้างของกระดูกสันหลังระดับเอวอันที่ 2 ไตข้างขวาอยู่ต่ำกว่าข้างซ้ายเล็กน้อย ไตเป็นธาตุน้ำ มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับกระดูก ไขกระดูก สมอง เส้นผม หู อวัยวะสืบพันธุ์ และทวารหนัก
หน้าที่ทางสรีรวิทยา
ไตมีหน้าที่กักเก็บจิง (精) ไม่ให้จิงชี่ถูกใช้ไปโดยไม่จำเป็น คัมภีร์ซู่เวิ่น ลิ่วเจี๋ยจั้งเซี่ยงลุ่น《素问 。六节藏象论》กล่าวว่า “ไตมีหน้าที่เกี่ยวกับการจำศีล เก็บซ่อนเป็นทุน เป็นที่อยู่ของชี่” ในไตดูแลน้ำ รับสารจิงจากอวัยวะภายในทั้ง 5 และภายนอกทั้ง 6 มาเก็บซ่อนไว้ ไตจะสะสมให้มีจิงพอเพียงอยู่ตลอด หากหน้าที่ของไตพร่องจะกระทบต่อการเจริญเติบโต ความพิการทางเพศและสมรรถภาพทางเพศ
ไตเก็บสะสมสารจำเป็น (จิง)
จิงชี่ของไตมี 2 ชนิด ได้แก่ จิงที่ได้รับมาจากพ่อแม่เป็นจิงก่อนเกิด และ จิงที่ได้มาจากสารอาหารเป็นจิงหลังเกิด จิงทั้ง 2 ชนิดนี้ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยสารจิงหลังเกิดนั้นต้องการอาหารจากจิงก่อนเกิดในการสร้าง สารจิงที่ได้รับหลังเกิดจะเติมให้กับจิงก่อนเกิดไม่ให้พร่อง ในหนังสือจิ่งเยฺวี่ยฉวนซูจ๋าเจิ้ง 《景岳全书杂症》บันทึกไว้ว่า
“ตั้งแต่คนเกิดจนถึงตาย อาศัยจิงและเลือดเป็นทุน เมื่อคนเกิดมาอาศัยสารอาหารหล่อเลี้ยงร่างกาย ถ้าไม่มีจิงและเลือดโครงสร้างก็ไม่เกิด ถ้าไม่มีสารอาหารโครงร่างก็ไม่เจริญเติบโต จิง เลือด มิ่งเหมิน (命门) สารอาหารควบคุมโดยม้ามและกระเพาะอาหาร มิ่งเหมินได้พลังก่อนเกิด กระเพาะอาหารและม้ามได้จากพลังหลังเกิด สารอาหารต้องอาศัยการจัดการของทุนก่อนเกิด และจิงเลือดก่อนเกิดต้องอาศัยทุนของสารอาหารหลังเกิด”
สารจิงของไต มีความสำคัญต่อการเกิด และการเจริญเติบโต ในคัมภีร์ซู่เวิ่น ซ่างกู่เทียนเจินลุ่น《素问 。上古天真论》กล่าวว่า
“เด็กหญิงอายุ 7 ปี ชี่ของไตแกร่งและฟันงอก อายุ 14 ปี เญิ่นม่าย (任脉) และไท่ชง (太冲) เชื่อมโยงกันสมบูรณ์ เริ่มมีรอบเดือนและมีลูกได้ อายุ 21 ปี ชี่ของไตมีมากและมีฟันแท้สมบูรณ์ อายุ 28 ปี เอ็นและกระดูกแข็งแรง มีเส้นผมสมบูรณ์เต็มที่ และร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง อายุ 35 ปี หยางหมิง (阳明) เริ่มถดถอย ใบหน้าเริ่มคล้ำ และผมเริ่มร่วง อายุ 42 ปี ลมปราณหยาง 3 เส้น เริ่มถดถอย ใบหน้าหมองคล้ำ และผมเริ่มขาว อายุ 49 ปี เญิ่นม่ายพร่อง ไท่ชงถดถอย รอบเดือนเริ่มหมด รูปร่างเปลี่ยน และไม่มีบุตร”
และ “ผู้ชายอายุ 8 ปี ชี่ไตแกร่ง ผมและฟันเริ่มเจริญ อายุ 16 ปี ชี่ไตบริบูรณ์สู่วัยเจริญพันธุ์ มีการหลั่งน้ำเชื้อ อินหยางสมดุล และมีบุตร อายุ 24 ปี ชี่ของไต กระดูกและเอ็นแข็งแรง และมีฟันแท้สมบูรณ์ อายุ 32 ปี เอ็น กระดูก และกล้ามเนื้อสมบูรณ์ อายุ 40 ปี ชี่ของไตเริ่มถดถอย ผมร่วง และเหงือกร่น อายุ 48 ปี หยางชี่ที่ขึ้นข้างบนเริ่มถดถอยลง ใบหน้าหมองคล้ำ และผมเคราหงอก อายุ 56 ปี ชี่ของตับเริ่มถดถอย เอ็นขยับเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว น้ำเชื้อลดลง หมดวัยเจริญพันธุ์ การทำงานของไตเริ่มถดถอย และโครงร่างเริ่มเปลี่ยน อายุ 64 ปี ฟันและผมร่วง
จะเห็นได้ว่า จิงชี่ของไตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นผม ฟัน สีหน้า ลักษณะทางเพศ และโครงร่างของร่างกายในเด็ก ถ้ามีการเจริญเติบโตช้า จะดูได้จากช้า 5 อย่าง คือ ทรงตัวตรงช้า เดินช้า ฟันขึ้นช้า ผมงอกช้า พูดช้า และมีอาการอ่อน 5 อย่าง คือ คออ่อน ปากอ่อน มืออ่อน ขาอ่อน กล้ามเนื้ออ่อน
ไตควบคุมน้ำ
ไตควบคุมน้ำ หมายถึง ไตควบคุมน้ำโดยการปรับสมดุลของน้ำ ในคัมภีร์ซู่เวิ่น นี่เถียวลุ่น《素问 。逆调论》กล่าวว่า “ไตเป็นอวัยวะน้ำควบคุมจินเยี่ย” ไตควบคุมน้ำโดยเอาน้ำจากสารอาหารไปเลี้ยงทั่วร่างกาย และนำน้ำที่ได้จากกระบวนการไปทางไต โดยอาศัยความร่วมมือจากปอด ม้าม กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ซานเจียว ชี่จากไตจะให้พลังงานแก่กระเพาะอาหารในการรับสารอาหารน้ำ ส่งต่อให้ม้ามใช้การดูดซึมน้ำ ส่งต่อไปยังปอด ปอดจะกระจายน้ำและส่งน้ำลงและมีซานเจียวที่ให้น้ำผ่านสะดวก ส่งน้ำไปยังไตเพื่อขับออกทางกระเพาะปัสสาวะ
ไตควบคุมชี่
ไตควบคุมชี่ โดยการรับชี่ของปอด ชี่ของปอดเกิดจากการหายใจไปเลี้ยงทั่วร่างกายนั้น มีทิศทางของชี่ในทางกระจายออกและลงล่าง การที่ชี่ของปอดจะลงล่างได้ดีต้องอาศัยชี่ของไตช่วยรับซับดูดไว้ คัมภีร์เน่ย์จิง《内经》ได้กล่าวถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างไตกับปอดไว้เป็นครั้งแรก คัมภีร์หลิงซู เปิ่นเสิน《灵枢。本神》กล่าวว่า “เส้นลมปราณเส้าอินไต ไตมักสัมพันธ์ในปอด” ในคัมภีร์ซู่เวิ่น นี่เถียวลุ่น《素问 。逆调论》กล่าวว่า “ผู้ที่นอนราบไม่ได้ นอนจะหอบ เป็นเพราะผลกระทบจากชี่น้ำ น้ำคือสารจินเยี่ยมีลักษณะไหลไป ไตเป็นอวัยวะน้ำควบคุมการนอนและหอบ
ในตำราจินคุ่ย เอี้ยวเลี่ย《金匮要略》ได้กล่าวถึงความสำคัญของไตถดถอยกับอาการหายใจสั้นและยาวไกล (หอบ) ว่า “ผู้ที่หายใจสั้น มีน้ำตาเล็กน้อย รักษาโดยขับออกทางปัสสาวะ ตำรับยาที่เหมาะสม คือ หลิงกุ้ยจู๋กันทัง (苓桂术甘汤) และเซิ่นชี่หวาน (肾气丸)” ในตำราเล่ย์เจิ้งจื้อไจฉ่วนเจิ้ง 《类证治栽喘症》เขียนโดยแพทย์จีนหลินเพ่ย์ฉิน (林佩琴) กล่าวว่า “ปอดเป็นจ้าวควบคุมชี่ของไต เป็นรากฐานของชี่ของปอด เป็นผู้ให้ชี่ ไตเป็นผู้รับชี่ ลักษณะอินหยางเกี่ยวกับการหายใจจึงจะปกติ ถ้าทิศทางการให้ขับขึ้นลงของชี่ผิดปกติจะเกิดอาการหอบ”
สรุปเพื่อความเข้าใจแบบง่ายๆ
ชี่ของปอดมีทิศทางขึ้นบน โดยปอดเป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนบนของร่างกาย (上焦ซ่างเจียว) มีหน้าที่ให้ชี่รับอากาศบริสุทธิ์ กระจายชี่ และเป็นธาตุทอง ชี่ของไตมีทิศทางลง โดยไตเป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนล่างของร่างกาย (下焦เซี่ยเจียว) มีหน้าที่รับชี่ เก็บกักจิงชี่ และเป็นธาตุน้ำ
ธาตุทองและน้ำให้กำเนิดเกื้อกูลกัน เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งป่วยเป็นเวลานาน จะกระทบถึงอีกธาตุหนึ่งได้ เช่น โรคปอด ไอเรื้อรังเริ่มจากชนิดแกร่ง ต่อไปกระทบถึงไตกลายเป็นหอบชนิดจากไตพร่อง กระทบไม่ดูดซับรับชี่ของปอดทำให้หอบ
คุณสมบัติพิเศษของไต
ไตเป็นอวัยวะทำหน้าที่เก็บกัก
คัมภีร์ซู่เวิ่น ลิ่วเจี๋ยจั้งเซี่ยงลุ่น《素问 。六节藏象论》กล่าวว่า “ไต หน้าที่เสินจำศีลเก็บกักเป็นทุน” ไตได้ชื่อว่าเป็นอวัยวะน้ำให้เก็บซ่อนอินแท้ และหยางดั้งเดิม (元阳) นอกจากนี้ไตยังมีหน้าที่ดึงน้ำและสารเหลวกลับ ควบคุมการเปิดปิดถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ช่วยไม่ให้ทารกแท้ง ปิดกั้นไม่ให้สารเข้มข้นหลุดออกไป ถ้าหน้าที่เก็บกักของไตเสียไป ไตรับดูดซับชี่ปอดไม่ได้จะหอบ เก็บจิงไม่อยู่จะเกิดน้ำกามเคลื่อนหรือหลั่งเร็ว ในสตรีรอบเดือนมามาก แท้งง่าย ปัสสาวะ อุจจาระกลั้นไม่อยู่
จิงชี่ในไตแปรเปลี่ยนเป็นอินของไต หยางของไต เพื่อเป็นทุนของอินหยางทั่วร่างกาย
หมายเหตุ
คำว่า อินของไตหยางของไต อินแท้หยางแท้ (真阴真阳) อินเดิมหยางเดิม (元阳元阴) น้ำของมิ่งเหมิน ไฟของมิ่งเหมิน มีความหมายเดียวกัน
จิงชี่และอินหยางของไต
- จิงของไต
จิง (精) หมายถึง สารที่มีอยู่ขนาดเล็ก จำเป็นต่อร่างกาย จิงของไต (肾精) มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูก สมอง และการเจริญทางเพศ เป็นทุนหลังเกิด หรืออาจไม่ส่งจิงที่ไตจากพ่อแม่ก่อนเกิดเป็นทุน ถ้าจิงของไตไม่เพียงพอจะเกิดอาการพิการ การเจริญเติบโตช้าในเด็ก เกิดช้า 5 อย่างและอ่อน 5 อย่าง ดังกล่าวข้างต้น ในผู้ใหญ่ถ้าจิงของไตไม่เพียงพอจะแก่เร็ว ผมร่วง ฟันร่วง ความจำเสื่อม สมรรถภาพทางเพศของผู้ชายจะมีน้ำกามน้อย เป็นหมัน ในสตรีจะมีบุตรยาก รอบเดือนผิดปกติ เป็นต้น
- ชี่ของไต
ชี่ของไต (肾气 เซิ่นชี่) เป็นพลังงานที่แปรมาจากจิงของไต ซึ่งเป็นพื้นฐานของสรีระของร่างกาย เป็นพลังที่ใช้ในการเจริญเติบโตของร่างกาย การเจริญพันธุ์ การดูดซับรับพลังงาน การหายใจจากปอด ช่วยการได้ยิน ควบคุมการเปิดปิด การขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การที่ชี่ของไตเพิ่มหรือถดถอยบกพร่องถึงภาวะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าชี่ของไตไม่สามารถเหนี่ยวรั้งเก็บกัก หรือไม่สามารถจัดการกับน้ำ หรือไม่รับชี่ จะมีอาการน้ำกามเคลื่อน ฝันเปียก ถ่ายเหลว ปัสสาวะใสมาก เป็นต้น
- อินของไต
ในยุคราชวงศ์ถัง ซุ่นซือเหมี่ยว (孙思邈) ได้กล่าวถึงโรคไตซึ่งมีชนิดแกร่งพร่องร้อนหนาวว่าต้องรักษาโดยการเสริมความชุ่มชื้นแต่ยังไม่ได้กล่าวว่าเป็นอินของไต (肾阴 เซิ่นอิน) ต่อมาในยุคราชวงศ์ซ่ง เริ่มใช้คำว่า เสริมอินของไต โดยใช้ตำรับยา ลิ่วเว่ย์ตี้หวงหวาน (六味地黄丸) ในยุคราชวงศ์หมิง ได้เริ่มใช้คำว่า ไตเก็บอินหยาง อินหยางเป็นพื้นฐานของอินหยางทั่วร่างกาย ในตำราอีก้วน เสฺวี่ยเจิ้งลุ่น《医贯。血证论》กล่าวว่า “ผู้ที่ได้มีประตูชีวิตจะดำรงชีพอยู่ได้ เป็นไฟไม่มีรูปร่าง เรียกว่า เหวียนชี่ (元气) หรือ ชี่ดั้งเดิม น้ำที่ไม่มีรูป เรียกว่า เหวียนจิง (元精) หรือ จิงดั้งเดิม โดยเก็บอยู่ที่ไต 2 ข้าง
ดังนั้น กล่าวได้ว่า อวัยวะตันทั้ง 5 มีไตเท่านั้นที่มีไฟแท้และน้ำแท้ หรือเรียกว่า อินแท้ หยางแท้” ดังนั้น อินของไต อาจเรียกว่า อินดั้งเดิมหรืออินแท้ ซึ่งเป็นสารเหลวและอินของร่างกายคน ทำหน้าที่บำรุงเสริมความชุ่มชื้นให้แก่อวัยวะต่าง ๆ และให้สมดุลกับหยางของไต ถ้าอินของไตพร่อง จะมีอาการแสดง 2 ลักษณะ ดังนี้
(1) อินของไตไม่เพียงพอให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย จะมีอาการเวียนศีรษะ มีเสียงในหู อุจจาระแข็ง รูปร่างผอม ลิ้นแห้ง คอแห้ง
(2) อินของไตไม่สามารถข่มหยางของไตให้สมดุล จะมีอาการรู้สึกร้อนข้างในฝ่ามือ ฝ่าเท้า หน้าอกร้อน เหงื่อออกกลางคืน นอนไม่หลับ ฝันเปียก เป็นต้น
- หยางของไต
ในยุคราชวงศ์ซ่ง ตำราผู่จี้เปิ๋นซื่อฟาง จูโซ่วซฺวีฮั่นเซียวจฺเหวีย《普济本事方。诸嗽虚汗消竭》เขียนโดย สฺวี่ซูเวย์ (许叔微) กล่าวว่า “ชี่ของไตบริบูรณ์เป็นไฟแท้” ตำราฉีเซิงฟาง ปู่อี้ 《济生方。补益》เขียนโดย เอี๋ยนย่งเหอ (严用和) กล่าวว่า “ผู้ที่ดำรงชีวิตโดยไม่ดูแลร่างกายให้ดี ใช้ร่างกายมากเกินไป หยางแท้จะถดถอย ไฟแท้ไม่สามารถให้ความอบอุ่น ทั้งนี้เป็นเพราะไฟแท้พร่อง” แพทย์จีนที่มีชื่อเสียงจางจิ่งเยฺวี่ย (张景岳) ได้สร้างตำรับยาที่ใช้บำรุงหยางของไต เรียก อิ้วกุยหวาน (右归丸)
หยางของไต (肾阳 เซิ่นหยาง) หรือ หยางแท้ (真阳 เจินหยาง) หรือ หยางดั้งเดิม (元阳 เหวียนหยาง) เป็นรากทุนของหยางทั่วร่างกาย และใช้ถ่วงดุลกับอินของไต ถ้าหยางของไตพร่องจะมีอาการอ่อนเพลีย กลัวหนาว ปลายแขนและขาเย็น ปวดเอว เข่าและแขนเย็น ๆ สมรรถภาพทางเพศลดลง มดลูกเย็น บวมน้ำ เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง
Basic Traditional Chinese Medicine
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN : 978-974-16-0792-1
26 ก.ย. 2567
12 พ.ย. 2567
15 พ.ย. 2567
20 ม.ค. 2568