Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 21415 จำนวนผู้เข้าชม |
ทำไมยาสมุนไพรจีนนำกลับไปต้มเองที่บ้าน
กับยาที่คลินิกบริการต้มให้จึงมีรสและสีแตกต่างกัน ?
ปัจจุบันคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีนให้บริการต้มยาบรรจุเสร็จด้วยหม้อต้มยาแรงดันอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ไม่มีเวลาต้มยาเอง หลายๆท่านที่มารับบริการยาจีนในคลินิกฯ หลายท่านสงสัยว่าเหตุใดยาต้มที่คลินิกฯต้มให้ กับยาต้มเองที่บ้านจึงมีความแตกต่างกัน เมื่อรับประทานยาต้มแล้ว รู้สึกรสชาติเจือจางกว่า
ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากวิธีการต้มยาแบบดั้งเดิมด้วยหม้อต้มยาแบบครัวเรือนนั้น ตัวยาจะมีการสัมผัสกับอากาศโดยตรงเป็นเวลานาน ทำให้สารประกอบเคมีต่าง ๆ ในตัวยาเช่น แอนทราควิโนน เฟลโวน และเอนไซม์ชนิดต่าง ๆ เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและไฮโดรไลซิสได้ง่าย ซึ่งจะทำให้น้ำยามีสีเข้มขึ้น
และเนื่องจากการใช้หม้อต้มยาแรงดันอุตสาหกรรม เป็นการนำตัวยาไปต้มในหม้อต้มที่มีฝาปิดมิดชิด ทำให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและไฮโดรไลซิสลดลง จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้น้ำยาที่ได้มีสีอ่อนกว่า
ภาพที่ 1 : หม้อต้มยาเซรามิก ภาพที่ 2 : หม้อต้มยาแรงดันอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ วิธีการต้มยาด้วยหม้อต้มแบบครัวเรือน จะมีตะกอนและกากยาปะปนอยู่ในน้ำยาด้วย ทำให้สีของน้ำยาค่อนข้างเข้ม ส่วนการใช้หม้อต้มยาแรงดันอุตสาหกรรมนั้น น้ำยาจะผ่านการกรองหลายชั้นในขณะที่น้ำยายังร้อนอยู่และบรรจุลงในเครื่องแพ็คยาสุญญากาศ ถึงแม้ว่าจะมีตะกอนขนาดเล็กปะปนมาบ้าง แต่จะไม่มีกากยาในน้ำยาจึงทำให้น้ำยาที่ได้ค่อนข้างใส มีรสชาติและสีของน้ำยาที่แตกต่างจากการต้มยาด้วยตนเอง
ปัจจัยที่มีผลต่อรสชาติและสีของยาต้ม
1. ตัวยาส่วนประกอบในตำรับยา
1.1 ยาสมุนไพรมีองค์ประกอบและปริมาณของสารเคมีแตกต่างกัน บางชนิดมีสีเข้ม เช่น สูตี้หวง (โกฐขี้แมว) เมื่อมีตัวยาชนิดนี้ในตำรับยาจะทำให้น้ำยาที่ได้มีสีออกน้ำตาลเข้ม ซึ่งจะแตกต่างจากตำรับยาที่ไม่มีตัวยาที่มีสีเข้ม อาจมีสีอ่อนถึงสีเหลืองใสได้
1.2 ตัวยาชนิดเดียวกันหากพื้นที่เพาะปลูกและฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน ก็จะมีสีและกลิ่นที่แตกต่างกันได้เล็กน้อย แต่ตัวยาทุกชนิดได้ผ่านมาตรฐานตามข้อกำหนดในเภสัชตำรับของสาธารณรัฐประชาชนจีน
2. ภาชนะที่ใช้ในการต้มยา
2.1 หม้อสแตนเลส
หม้อต้มยาแรงดันอุตสาหกรรมที่ใช้ในคลินิกฯ เป็นหม้อสแตนเลสที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความดันที่เหมาะสมในการต้มยา ทั้งนี้สารสำคัญในตัวยาจะไม่ทำปฏิกิริยากับภาชนะต้มที่เป็นสแตนเลส แต่จะทำปฏิกิริยากับภาชนะโลหะชนิดอื่น นอกจากนี้การต้มด้วยหม้อสแตนเลสดังกล่าว ส่งผลให้โปรตีนที่อยู่ในตัวยาประเภทสัตว์วัตถุไวต่อการแตกตัวได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่วนสัตว์วัตถุที่มีลักษณะแข็ง เช่น เปลือกหอย และธาตุวัตถุ จะทำให้สามารถสกัดสารออกฤทธิ์ออกมาได้มากขึ้น และการเลือกใช้ภาชนะที่ปิดสนิทในการต้มตัวยาประเภทที่มีกลิ่นหอม จะช่วยป้องกันการระเหยของน้ำมันหอมระเหยในตัวยา
2.2 หม้อที่มีส่วนประกอบของเหล็กหรือทองแดง
จะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารประกอบทางเคมีในตัวยาได้ ทำให้เกิดตะกอนหรือสารที่ละลายได้ไม่ดีในน้ำ ทำให้สีของน้ำยาเข้มขึ้น และจะมีกลิ่นสนิมของเหล็กเมื่อทานแล้วอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ภาชนะที่มีส่วนประกอบของเหล็กหรือทองแดงในการต้มยา ควรใช้ภาชนะที่เป็นเซรามิก แก้ว หรือสแตนเลสในการต้มยา
3. ระดับไฟที่ใช้ต้มยา
ไฟที่ใช้ต้มยาแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ไฟอ่อน และไฟแรง โดยทั่วไปในการต้มยามักจะใช้ไฟแรงก่อนแล้วจึงใช้ไฟอ่อน บางครั้งอาจใช้ไฟอ่อนหรือไฟแรงเพียงอย่างเดียวในการต้มยา เช่น นิยมใช้ไฟอ่อนในการต้มยาสูตรตำรับบำรุงร่างกายหรือ มักใช้ไฟแรงในการต้มยาสูตรตำรับรักษาอาการเปี่ยวเจิ้ง (มีอาการไข้ กลัวหนาว ครั่นเนื้อครั่นตัว ชีพจรลอย เป็นต้น) การใช้ระดับไฟที่ไม่เหมาะสมจะทำให้สีและรสชาติของน้ำยาที่ได้แตกต่างกัน
4. เวลาที่ใช้ในการต้มยา
เวลาที่ใช้ที่เหมาะสมจะขึ้นกับประเภทของตัวยา เช่น ยารักษาอาการหวัด จะต้มต่อหลังจากน้ำเดือด 15 นาที เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ในตัวยา ฉะนั้นการต้มยานาน ๆ เพื่อให้ได้สีของน้ำยาที่เข้มข้น ไม่ได้หมายถึงประสิทธิภาพของยาต้มที่ดีเสมอไป
5. ปริมาณน้ำที่ใช้ต้มยา
ชนิดและปริมาณของตัวยาส่วนประกอบในยาแต่ละตำรับไม่เหมือนกัน ลักษณะของตัวยาและการดูดซับน้ำของตัวยาแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกัน ฉะนั้นการควบคุมปริมาณน้ำที่ใช้ในการต้มยาให้เหมาะสมจึงต้องอาศัยประสบการณ์และการสังเกต ซึ่งปริมาณน้ำที่มากเกินไปอาจจะทำให้สีของน้ำยาดูเจือจางลงได้ และปริมาณน้ำที่น้อยเกินไปจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาเช่นกัน
6. การกรองน้ำยาต้ม
ปัจจัยที่มีความสำคัญ คือ
6.1 ความละเอียดของตัวกรองที่ใช้ ส่วนใหญ่แล้วมักจะกรองด้วยผ้าขาวบาง ซึ่งสามารถกรองกากยาได้ดีระดับหนึ่ง แต่ก็จะขึ้นกับจำนวนชั้นของผ้าขาวบางที่ใช้ ฉะนั้นอาจจะมีตะกอน และกากยาปนออกมากับน้ำยา หรือการใช้ตะแกรงร่อน ซึ่งจะมีรูผ่านที่ใหญ่กว่าผ้าขาวบาง จึงมีกากยาปนมากับน้ำยามากกว่า แต่ถ้าเป็นหม้อต้มยาแรงดันอุตสาหกรรมของคลินิกฯ จะผ่านตัวกรองหลายชั้น จึงทำให้น้ำยาที่ได้มีความใส ไม่มีกากของยาปนออกมา
6.2 จำนวนครั้งที่กรอง ความใสของน้ำยาจะขึ้นกับจำนวนครั้งที่กรอง ยิ่งกรองหลายครั้งก็จะได้น้ำยาใสมากขึ้น
6.3 ช่วงเวลาที่กรองยา ถ้ากรองน้ำยาในขณะที่ร้อน จะได้น้ำยาที่ใสกว่าการกรองในขณะที่เย็น ทั้งนี้เนื่องจากการตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ตัวยาสำคัญที่ละลายได้ไม่ดีในน้ำเย็นจะตกตะกอนออกมา ฉะนั้นกระบวนการต้มยาของคลินิกฯ จะเป็นการกรองในขณะที่ร้อน จะทำให้ได้ตัวยาสำคัญมากกว่าการกรองในขณะที่เย็น
7. ผู้ทำหน้าที่ต้มยา
ในกระบวนการต้มยานั้นมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีและรสชาติ เช่น ตัวยาบางชนิดอาจมีสารออกฤทธิ์ที่ไม่มีสี การดูเพียงสี ความเข้มหรือความใสจึงไม่สามารถบ่งบอกถึงคุณภาพของยาได้โดยตรง อย่างไรก็ดีหากมีเวลาในการต้มยาได้นั้นก็สามารถทำด้วยตนเองได้ และเนื่องจากเวลาในการเก็บรักษาที่ยาวนานเกินไปจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบของยาและส่งผลต่อประสิทธิภาพได้ ดังนั้นควรเรียนรู้วิธีการเก็บรักษาและต้มยาที่ถูกต้องด้วยตนเองจึงเป็นทางเลือกที่ดี
ในกระบวนการต้มยาของคลินิกฯ นั้น การจัดยาตามใบสั่งแพทย์ที่ถูกต้อง และวิธีต้มยาที่เหมาะสม ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ของผู้จัดยา ผู้ทำหน้าที่ต้มยา ซึ่งจะมีการตรวจสอบในทุกขั้นตอน จึงทำให้มั่นใจได้ว่าใบยาทุกใบมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
8. การเก็บรักษายาต้ม
ยาต้มของทางคลินิกฯ จะบรรจุในถุงสูญญากาศ ทำให้ยาต้มที่ได้มีความสะอาดปลอดภัย โดยทั่วไปสามารถเก็บในตู้เย็นได้ไม่เกิน 30 วัน จึงควรรับประทานยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรเก็บยาไว้เป็นเวลานาน
สำหรับยาที่นำไปต้มเองโดยปกติยา 1 ห่อจะต้มได้ 2 ครั้ง แล้วนำน้ำยาที่ได้มาผสมกันแบ่งรับประทาน เช้า-เย็น ดังนั้นเมื่อต้มเสร็จ ควรนำน้ำยาที่ได้ใส่ภาชนะที่มีฝาปิด แช่ตู้เย็นไว้ และให้นำยามาอุ่นร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
เอกสารอ้างอิง
1. Zhejiang Hospital[Internet]. 自煎中药易氧化颜色显得深: Zhou Yi News; c2007-05 [updated 2007 May; cited 2019 Oct 27]. Available from: http://news.163.com/17/0516/03/CKHF06LT00014SEH.html
2. Li Yan, Bai Ming, Song Ya-gang, Guo Hui, Miao Ming-san. Research and reflection on standard
decoction of chinese material medica. Chinese Traditional and Herbal Drugs 2018. 17:3977-3980.
27 มิ.ย. 2566
21 ต.ค. 2567