โรคลำไส้แปรปรวน Irritable bowel syndrome IBS

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  137617 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคลำไส้แปรปรวน Irritable bowel syndrome  IBS

โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome / IBS)  (กลุ่มอาการลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า) เป็นภาวะที่ลำไส้ทำหน้าที่ผิดปกติโดยไม่มีพยาธิสภาพหรือความผิดปกติของโครงสร้างลำไส้ และโรคทางกายอื่นใด ก่อให้เกิดอาการปวดท้องมีลมในท้องมาก ร่วมกับท้องเดินหรือท้องผูกแบบเรื้อรัง จัดว่าเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการท้องเดินเรื้อรัง ในกลุ่มประเทศตะวันตกพบโรคนี้ประมาณร้อยละ 10-20 ของคนทั่วไป ส่วนในบ้านเราจากการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มอาการลำไส้ใหญ่มีการเคลื่อนตัวและบีบตัวผิดปกติ เบื้องต้นพบประมาณร้อยละ 4-7 ของคนทั่วไป

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัน ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยสูงอายุ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มมีอาการครั้งแรกตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป   พบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี และหลังอายุ 60 ปี จะพบน้อยลง พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 1.5 – 3 เท่า  โรคนี้แม้จะมีอาการเป็นๆ หายๆ เป็นแรมปีหรือตลอดชีวิตก็ไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือกลายเป็นโรคร้ายแรงแต่อย่างใด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีสุขภาพแข็งแรงและทำงานได้เป็นปกติ 


สาเหตุ 
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม สภาพจิตใจ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทระบบฮอร์โมน และสารเคมีมีต่างๆ เช่น พรอสตาแกลนดิน ซีโรโทนิน แบรดิไคนิน เป็นต้น ที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่ทำหน้าที่ผิดปกติไป กล่าวคือ ลำไส้ใหญ่มีความไวต่อสิ่งกระตุ้น (ได้แก่ความเครียด อาหารบางชนิด) มีการเคลื่อนตัวเร็วกว่าปกติ (ทำให้ท้องเดิน) หรือช้ากว่าปกติ (ทำให้ท้องผูก) และมีการบีบตัวมากกว่าปกติ (ทำให้ปวดท้อง)

นอกจากนี้ยังพบว่า การติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ชักนำให้เกิดโรคนี้ได้ เรียกว่า โรคลำไส้แปรปรวนหลังติดเชื้อ (post-infectious IBS)


อาการ
มีลักษณะเฉพาะคือ มีอาการปวดท้อง มีลมในท้อง ร่วมกับท้องเดิน ท้องผูก หรือท้องเดินสลับท้องผูกเป็นๆหายๆเป็นแรมปี อาการเหล่านี้อาจเป็นต่อเนื่องทุกวัน หรือเป็นบางวันหรือบางช่วง ซึ่งนับรวมๆกันแล้วเป็นเวลามากกว่า 12 สัปดาห์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อาการจะมีลักษณะและความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละคน หรือแต่ละช่วงเวลา ส่วนน้อยที่จะมีอาการมากจนผู้ป่วยต้องไปปรึกษาแพทย์ อาการปวดท้องมีลักษณะไม่แน่นอน อาจปวดบิดเกร็งเป็นพักๆปวดตื้อ ๆ ปวดแปลบๆหรือแน่นอึดอัดไม่สบายท้อง ส่วนใหญ่จะปวดบริเวณท้องน้อยข้างซ้าย (บางรายอาจปวดทั่วท้อง) อาการจะทุเลาทันทีหลังถ่ายอุจจาระหรือผายลม

ผู้ป่วยมักมีลมในท้องมาก ท้องอืด เวลาถ่ายอุจจาระมักมีลมออกมาด้วย ในรายที่มีอาการท้องเดินเป็นอาการเด่น จะมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อย (มากกว่า 3 ครั้ง / วัน) โดยมักมีอาการปวดท้องอยากถ่ายทันทีหลังกินอาหารโดยเฉพาะมื้อที่กินอาหารหลังปล่อยให้ท้องว่างมานาน (เช่นมื้อเช้า) กินอาหารมาก กินเร็วๆหรือกินอาหารชนิดที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ผู้ป่วยจะปวดท้องถ่ายแบบกลั้นไม่อยู่ต้องเข้าห้องน้ำทันที บางรายอาจมีอาการเหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุด อยากถ่ายบ่อยๆทั้ง ๆ ที่เพิ่งถ่ายไปไม่นาน

โดยทั่วไปมักถ่าย 1-3 ครั้งหลังอาหารบางมื้อ แล้วหายเป็นปกติ อาการไม่รุนแรง ไม่มีคลื่นไส้ อาเจียนไม่มีภาวะขาดน้ำ และส่วนใหญ่หลังเข้านอนแล้วมักจะไม่ต้องลุกขึ้นมาถ่ายอุจจาระจนกระทั่งรุ่งเช้า ในรายที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่น จะมีอาการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง / สัปดาห์ อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็งขนาดเล็ก ถ่ายลำบาก ต้องออกแรงเบ่ง และมีอาการปวดบิตในท้องร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการท้องเดินสลับท้องผูกเป็นช่วงๆ

ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายมีมูกปนออกมากับอุจจาระ มูกนี้คือน้ำเมือก (mucus) ปกติที่เยื่อบุลำไส้หลั่งออกมาเพื่อให้ความชุ่มชื้น และปกป้องผิวลำได้ ไม่มีกลิ่นเหม็น และไม่มีเลือดปน บางรายอาจมีอาการปวดท้อง มีลมในท้อง โดยไม่มีอาการท้องเดินหรือท้องผูกร่วมด้วยก็ได้ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อย หรือโรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบหรือรุนแรงขึ้น เนื่องจากสิ่งกระตุ้น ได้แก่
• ความเครียดทางจิตใจ วิตกกังวล ซึมเศร้า
• อาหารบางชนิด เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารเผ็ดจัด มันจัด กะทิ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต แยม ผลไม้ น้ำหวาน น้ำผึ้ง หมากฝรั่ง โดล่า น้ำโซดาน้ำอัดลม เป็นต้น
• อาหารมื้อหนัก (กินปริมาณมาก) หรือกินอาหารหลังปล่อยให้ท้องว่างมานาน หรือกินอาหารเร็วๆ
• ยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูกหรือท้องเดิน
• ขณะมีประจำเดือน
• การติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีภาวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคกังวลทั่วไป  โรคซึมเศร้า  อาหารไม่ย่อย  ไมเกรน  อาการปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดประจำเดือน ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่ได้ นอนไม่หลับ เป็นต้น


สิ่งตรวจพบ
มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน บางครั้งอาจพบอาการท้องอืด มีลมในท้องมาก ภาวะแทรกซ้อน ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากทำให้เกิด ความวิตกกังวล กลัวเป็นโรคมะเร็ง โรคร้ายแรง บางรายอาจเป็นมากจนมีผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน ในรายที่ถ่ายบ่อยหรือต้องเบ่งถ่ายมากๆ ก็อาจทำให้โรคริดสีดวงทวาร กำเริบได้


เกณฑ์การวินิจฉัยโรคลำไส้แปรปรวน มีอาการปวดท้องหรือแน่นท้อง นับระยะเวลาโดยรวมแล้วอย่างน้อย 12 สัปดาห์จากช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการอย่างต่อเนื่องทุกวัน

อาการปวดท้องหรือแน่นท้องมีลักษณะ 2 ใน 3 อย่างต่อไปนี้
• อาการทุเลาหลังถ่ายอุจจาระ
• เมื่อมีอาการเกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงความถี่ (จำนวนครั้ง) ของการถ่ายอุจจาระ
• เมื่อมีอาการเกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอุจจาระ


หมายเหตุ
1. อาการต่อไปนี้ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคลำไส้แปรปรวน
• จำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระต่อวันผิดปกติ (มากกว่า 3 ครั้ง / วันหรือน้อยกว่า 3 ครั้ง / สัปดาห์)
• ลักษณะอุจจาระผิดปกติ (เป็นก้อนแข็งถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลว)
• มีอาการผิดปกติของการถ่ายอุจจาระ (ต้องเบ่งถ่ายปวดท้องถ่ายทันทีจนกลั้นไม่อยู่หรือรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุดต้องวิ่งเข้าห้องน้ำถ่ายอุจจาระบ่อยๆ
• ถ่ายเป็นมูกปนมากับอุจจาระ
• มีอาการท้องอืดมีลมในท้องมาก

2. อาการต่อไปนี้ทำให้นึกถึงโรคนี้น้อยลงและควรหาสาเหตุอื่น
• ซีด
• เลือดออกในทางเดินอาหาร
• ท้องเดินอย่างต่อเนื่อง
• ท้องผูกรุนแรง
• น้ำหนักลด
• ปวดท้องและถ่ายอุจจาระหลังนอนหลับตอนกลางคืน
• มีประวัติของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
• เริ่มมีอาการครั้งแรก เมื่อมีอายุ 50 ปีขึ้นไป


ข้อแนะนำ  
1. โรคนี้จะมีอาการเป็นๆหายๆเรื้อรังและไม่มียารักษาโดยเฉพาะหรือให้หายขาด แต่ก็ไม่มีอันตรายใดๆทั้งสิ้นรวมทั้งไม่กลายเป็นมะเร็งหรือโรคร้ายแรงอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง เพียงสร้างความรำคาญหรือความลำบากในการคอยหาห้องน้ำเวลาเดินทางออกนอกบ้าน หากจำเป็นก็สามารถใช้ยาบรรเทาอาการเป็นครั้งคราว

2. ควรสังเกตว่ามีสิ่งกระตุ้นหรือเหตุกำเริบจากอะไร (ความเครียด อาหาร ยา) แล้วหลีกเลี่ยงและดูแลตนเองด้วยการปฏิบัติตนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ อาการต่างๆก็จะทุเลาได้

3. ในรายที่มีอาการผิดแผกไปจากเกณฑ์การวินิจฉัย หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น หรือโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม

วิธีการรักษาโรคลำไส้แปรปรวนโดยวิธีแพทย์แผนจีน

การวินิจฉัยกลุ่มอาการของโรค
1.กลุ่มอาการแกร่ง
ท้องอืด ตึง ไม่ชอบการกด อุจจาระแข็งเหมือนมูลแพะ มีไข้หน้าแดง กระหายน้ำ  ปากแห้ง ลมหายใจมีกลิ่น  ปัสสาวะน้อย สีเข้ม
ลิ้น       แดง  ฝ้าหนา แห้ง  เหลือง 
ชีพจร   ใหญ่   เร็ว (Hong Su Mai 洪数脉)

2.กลุ่มอาการพร่อง
อยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก  เพลียไม่มีแรง มึนงงศีรษะ ใจสั่น ผิวพรรณไม่ผ่องใส  ไม่ถ่ายหลายวันก็ไม่รู้สึกอึดอัดมาก
ลิ้น       สีซีด  ฝ้าขาว  
ชีพจร   เล็ก   อ่อนแรง (Xi Ruo Mai  细弱脉)

3. กลุ่มความเย็น
ท้องผูก ปวดแบบเย็น ๆ ในท้อง ไม่ชอบความเย็น  ชอบความอุ่น  แขนขาเย็น  ปัสสาวะมากและใส 
ลิ้น       ซีด  ฝ้าขาว 
ชีพจร   จม ช้า หรือตึงแน่น  (Chen Jin Mai 沉紧脉)

4. กลุ่มที่เกิดจากชี่
มักจะมีอาการท้องผูก อยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก  ปวดท้อง  ปวดชายโครง  หลังผายลมหรือถ่ายออกแล้วรู้สึกสบาย  ชอบถอยหายใจ  เรอบ่อย
ลิ้น       ฝ้าเหนียวบาง
ชีพจร    ตึง ตึงเร็ว (Xian  Mai 弦脉)

หลักการรักษา
ขจัดการอุดกั้น ปรับสมดุลกระเพาะ และเสริมการไหลเวียนของชี่ในทางเดินอาหาร 

1. การรักษาโดยวิธีอายุรกรรมตำรับยาจีน
เลือกชนิดยา และปรับตำรับยาตามพยาธิสภาพของผู้ป่วย ในเบื้องต้นจะตรวจวินิจฉัยเพื่อประเมินชนิดยาในตำรับ รวมทั้งระยะเวลาในกาารใช้ยา ร่วมกับการส่งเสริมสุขภาพโดยโภชนบำบัด

2. การรักษาโดยการฝังเข็ม  ในการรักษาในบางรายจะกระตุ้นเข็มแบบระบาย หรือ บำรุง ซึ่งพิจารณาจุดหลักในการรักษาขึ้นกับอาการของผู้ป่วย  ฝังเข็มในจุดของเส้นลมปราณ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และกระตุ้นการทำงานของอวัยวะให้ดีขึ้น กระตุ้นเข็มแบบระบาย หรือ กระตุ้นจุดบนล่างเพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียน อันเนื่องมาจากชี่ของกระเพาะอาหารวิ่งย้อนขึ้นบน หรือใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า กระตุ้นเข็ม นาน 30 นาที  หรือ ฝังเข็มกระตุ้นเข็มแรงแบบระบาย ไม่คาเข็ม กระตุ้นวันละ 2 ครั้ง โดยทั่วไป อาการจะดีขึ้นภายใน 24 – 48 ชั่วโมง หลังฝังเข็ม

3. การรมยา  โดยการรมยาบนเข็ม โดยใช้ขิงคั่น ครั้งละ 15 – 20 นาที วันละ 3 ครั้ง

4. ฝังเข็มหู หรือ ติดวัสดุกดจุดใบหู
 
หมายเหตุ 
1. การฝังเข็มและรมยาได้ผลดีในการรักษาโรค แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 6 - 24 ชั่วโมง แพทย์จีนจะพิจารณาการรักษาเสริมอื่นๆ

2. การฝังเข็มรมยา ได้ผลดีในการลดอาการปวด และผลที่ได้ก็คงอยู่นาน ส่วนภาวะลำไส้อุดตันจากการอุดตันภายใน (mechanical obstruction) ก็สามารถลดอาการปวดได้ดีเช่นกัน แต่ผลคงอยู่ได้ไม่นาน

3. การใช้ภาคยาจีนในการรักษา  ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อประเมินการจ่ายตำรับยาที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายในเวลานั้น เพื่อให้ยาจีนได้แสดงสรรพคุณทางการรักษากับผู้ป่วยได้ตรงคนตรงโรค และการใช้ยาจีนในทางการบำรุงร่างกายหรือรักษาโรคควรอยู่ในการดูแลโดยแพทย์จีนที่ได้มาตรฐาน ไม่ควรซื้อยาทานเอง


สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม 
LINE@ : @huachiewtcm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้