การฝังเข็มหู Ear Acupuncture Therapy

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  33953 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฝังเข็มหู  Ear Acupuncture Therapy

การฝังเข็มหู สามารถใช้รักษาและป้องกันโรคของร่างกายและอวัยวะต่างๆได้ โดยการกระตุ้นจุดที่มีตำแหน่งแน่นอนบนใบหู ด้วยเข็ม หรือวัสดุกระตุ้นหูที่เหมาะสม การฝังเข็มที่ใบหูมีการประยุกต์ใช้รักษาโรคในประเทศจีนมานานหลายพันปี ดังมีบันทึกไว้หลายแห่งในคัมภีร์แพทย์โบราณ ตัวอย่างเช่น "คัมภีร์หวังตี้เน่ย์จิง" กล่าวว่า "จุดส่วนกลางของใบหู ใช้สำหรับรักษาหูหนวก" รวมทั้งหูยังเป็นส่วนหนึ่งในการใช้วินิจฉัยโรคบางอย่างด้วย ตลอดจนการแพทย์พื้นบ้านที่สืบทอดกันในหมู่ชาวจีนในชนบท มีการใช้วัสดุต่างๆในการกระตุ้นใบหูบำบัดรักษาโรค เช่น การแทงเข็ม การรมยา การนวด และการปิดแปะสมุนไพรตามจุดบนใบหู 

ปัจจุบันการฝังเข็มหูได้รับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และนิยมแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย ประหยัด ไม่เป็นอันตรายและได้ผลดี


- ภาพแสดงตำแหน่งทางกายวิภาคของใบหู - 

ความสัมพันธ์ระหว่างใบหูและอวัยวะภายใน
ในมุมมองของแพทย์จีนแต่โบราณ ร่างกายของมนุษย์ทุกส่วน ไม่ว่าอวัยวะภายในหรือภายนอก ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว หู นอกจากเป็นหนึ่งในอวัยวะรับรู้แล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับอวัยวะภายในอื่นๆด้วย  คัมภีร์หวังตี้เน่ย์จิง กล่าวว่า ชี่ของไตไหลเวียนผ่านไปถึงหู เพื่อทำให้การได้ยินเป็นปกติ คัมภีร์เกี่ยวกับการนวดจีน แบ่งหูเป็น 5 ส่วน ที่สัมพันธ์กับอวัยวะตันทั้ง 5 ได้แก่

กะบังหู = ไต
ขอบหู = ม้าม
ขอบหูส่วนบน = หัวใจ
เนื้อเยื่อผิวหนังและใต้ผิวหนังของใบหู = ปอด
หลังหู = ตับ

แพทย์ในอดีต ได้อาศัยการวินิจฉัยโรคของอวัยวะภายในจากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของจุดต่างๆบนความสัมพันธ์ระหว่างหูกับอวัยวะภายใน โดย ไต เปิดทวารที่หู , ตับพร่องทำให้การได้ยินลดลง , ตับแกร่งทำให้ปวดศีรษะ  หูอื้อ (โกรธ) , ม้ามพร่องทวารทั้งเก้าไม่คล่อง , ปอดควบคุมชี่เกี่ยวกับการฟัง , คอหอยและเส้นเสียง ชี่ปอดพร่องทำให้ไม่ได้ยิน , หัวใจเปิดทวารที่ลิ้น ซึ่งเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก จึงต้องอาศัยเปิดทวารที่หูด้วย




องค์ประกอบของใบหู
ใบหู ประกอบด้วย กระดูกอ่อน ไขมัน เนื้อเยื่อบางๆ  เส้นประสาทฝอยเล็กๆ มากมาย นอกจากนี้ยังมีเส้นประสาทมาควบคุมจากไขสันหลังระดับคอที่ 2 และ 3 เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ( Trigeminal nerve )  เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ( Facial nerve ) ซึ่งมาหลังหู   เส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 ( Vagus nerve )  ซึ่งควบคุมคอหอย ดังนั้นโรคที่เกิดจากเส้นประสาทเหล่านี้รักษาที่หูได้

การเรียกชื่อส่วนต่างๆของใบหู
(Terminology for the anatomical regions of the auricular surface)
1. บริเวณขั้วของวงใบหู
ĚrLúnJiǎo (เอ่อร์หลุนเจี่ยว:耳轮脚 : Helix crus)
สัมพันธ์กับกระบังลม

2. บริเวณขอบหู
ĚrLún (เอ่อร์หลุน : 耳轮 : Helix )
เป็นบริเวณขอบนอกสุดของใบหู สัมพันธ์กับทอลซิล ทางเดินหายใจส่วนบน

3. บริเวณตรงข้ามวงใบหู
DuìĚrLún ( ตุ้ยเอ่อร์หลุน : 对耳轮 : Antihelix )
สัมพันธ์กับกระดูกสันหลัง และรวมถึงจุดกระดูกสันหลังส่วนคอ อก เอว และกระเบนเหน็บ ขอบในรวมถึงจุดคอ ทรวงอกและท้อง

4. ส่วนเหนือบริเวณตรงข้ามวงใบหู
DuìĚrLúnShàngJiǎo ( ตุ้ยเอ่อร์หลุนซ่างเจี่ย: 对耳轮上脚 : Superior Antihelix crus) สัมพันธ์กับขา จุดนิ้วเท้า ข้อเข่า เข่า ตาตุ่มและส้นเท้า

5. ส่วนใต้บริเวณตรงข้ามวงใบหู
DuìĚrLúnXiàJiǎo ( ตุ้ยเอ่อร์หลุนเซี่ยเจี่ยว :对耳轮下脚 : Inferior Antihelix crus ) สัมพันธ์กับบริเวณตะโพก รวมถึงจุดประสาทขา (เส้นประสาท sciatic) ตะโพก และประสาทซิมพาเรติค

6. บริเวณคล้ายท้องเรือ
ĚrLúnZhōu (เอ่อร์โจว : 耳舟 : Scapha )
สัมพันธ์กับแขนและรวมถึงจุดไหปลาร้า ข้อ ไหล่ แขน ศอก ข้อมือ นิ้วมือ

7. บริเวณแอ่งสามเหลี่ยม
SānJiǎoWō ( ซันเจี่ยววอ : 三角窝 : Triangular fossa )
สัมพันธ์กับอวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงจุดมดลูก เสินเหมินและกระดูกเชิงกราน

8. บริเวณรอบๆข้างของวงใบหู
ĚrLúnJiǎoZhōuWéi (เอ่อร์หลุนเจี่ยวโจวเหวย:耳轮脚周围 :  Orifice of the external auditory meatus ) สัมพันธ์กับทางเดินอาหาร รวมถึง จุดปาก หลอดอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น

9. บริเวณอุ้งใบหู
ĚrJiǎTǐng (เอ่อร์เจี่ยถิง : 耳甲艇 : Cymba conchae) สัมพันธ์กับบริเวณท้อง รวมถึงจุดกระเพาะ ปัสสาวะ ไต ตับอ่อน ถุงน้ำดี ตับ ม้าม

10. บริเวณอุ้งหน้ารูหู
ĚrJiǎQiāng (เอ่อร์เจี่ยเชียง :耳甲腔 : Cavum conchae)
สัมพันธ์กับบริเวณทรวงอก ซึ่งรวมถึงจุด หัวใจ ปอด ซันเจียว

11. บริเวณรอยหยักระหว่าง Tragus 
PíngJiānQiēJì (ผิงเจียนเชียจี้ : 屏间切迹 :Intertragic notch)
สัมพันธ์กับจุดต่อมไร้ท่อ  รังไข่ อัณฑะ

12. บริเวณ Tragus 
ĚrPíng ( เอ่อร์ผิง :耳屏 : Tragus ) สัมพันธ์กับจุดจมูกชั้นใน คอหอย ยอดติ่งหูสัมพันธ์กับต่อมหมวกไต บริเวณรอยหยักเหนือ Tragus  PíngShàngQiēJì (ผิงซ่างเชียจี้ :屏上切迹 : Supratragic notch) สัมพันธ์กับจุดหูชั้นนอก

13. บริเวณตรงข้าม Tragus 
DuìĚrPíng (ตุ้ยเอ่อร์ผิง : 对耳屏 : Antitragus) สัมพันธ์กับบริเวณศีรษะด้านหน้า จุด Subcortex (ส่วนใต้เปลือกสมอง) ท้ายทอย จุดติ้งฉ่วน(จุดหอบ) และต่อมน้ำลาย

14. บริเวณติ่งหู
ĚrChuí (เอ่อร์ฉุย :耳垂 : Ear lobule) สัมพันธ์กับบริเวณใบหน้า ขากรรไกรบนล่าง เพดานและพื้นใต้ลิ้น ตา ต่อมทอนซิล หูชั้นใน จุดระงับความรู้สึกถอนฟัน บน ล่าง

15. บริเวณหลังหู
ĚrBèi (เอ่อร์เป้ย :耳背 : Ear back) สัมพันธ์กับบริเวณหลัง รวมถึงจุดหลังส่วนบน หลังส่วนล่าง


ภาพแสดงตำแหน่งจุดฝังเข็มใบหู 

เส้นลมปราณเป็นเครือข่ายใหญ่ สามารถเชื่อมโยงอวัยวะทั้งภายในและภายนอก

1. เส้นที่เกี่ยวกับหู
เช่น เส้นหยางหมิงกระเพาะ เส้าหยางซันเจียว ไท่หยางลำไส้เล็ก หยางหมิงลำไส้ใหญ่ ไท่หยางกระเพาะปัสสาวะ เส้าหยางถุงน้ำดี เส้าอินไต เจวี๋ยอินตับ ฉีจิงปาม่าย

2. หูเกี่ยวข้องกับอวัยวะจั้งฝู่ เช่น ไตเปิดทวารที่หู ตับพร่อง การได้ยินลดลง ตับแกร่ง ทำให้ปวดศีรษะ หูอื้อ (โกรธ) ม้ามพร่องทวารทั้งเก้าไม่คล่อง ปอด ควบคุมชี่เกี่ยวกับการฟัง คอหอยและเส้นเสียง ชี่ปอดพร่องจะไม่ได้ยิน หัวใจเปิดทวารที่ลิ้นซึ่งเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก จึงต้องอาศัยเปิดทวารที่หูด้วย

3. หูเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของร่างกาย
หูสีคล้ำเล็ก ไตจะเล็ก หูหยาบใหญ่ แสดงว่า ไตใหญ่ หูอยู่สูงแสดงว่า ไตอยู่ค่อนข้างสูง หูมีรอยบุ๋มลึกๆ ข้างหลัก แสดงว่า ไตอยู่ค่อนข้างต่ำ หูแข็งและหนา แสดงว่า ไตมีประสิทธิภาพสมบูรณ์  หูบางไม่แข็งแรงแสดงว่าไตไม่แข็งแรง  เด็กเป็นโรคอีสุกอีใส ฝีดาษ ถ้าหลังหูแดงร้อน แสดงถึงพยากรณ์โรคดี แต่ถ้าหลังหูดำคล้ำ แสดงถึงโรคจะรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าหลังติ่งหูแดง มีแผลเรื้อรัง ที่ mastiod process  แสดงถึงมักมีพยาธิสภาพในสมอง  ถ้ายอดหูเย็นๆ แสดงถึงเด็กกำลังจะออกหัด  ส่วนผู้ป่วยเบาหวานดูขอบหูจะแห้งเกรียมดำ ไม่มีประกาย




จุดฝังเข็มใบหู
เป็นจุดหรือบริเวณที่มีตำแหน่งแน่นอน เพื่อการกระตุ้นด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้เกิดผลในการรักษา จุดที่กระจายอยู่ทั่วใบหูแต่ละจุดสะท้อนอวัยวะที่แตกต่างกัน หากมองเป็นภาพกว้างๆ พบว่าการสะท้อนอวัยวะบนหู เมื่อมองดูจะคล้ายทารกในครรภ์ท่ากลับหัว


 
การกระจายจุด ในส่วนต่างๆของใบหู สะท้อนอวัยวะโดยรวม  ได้แก่ อาณาบริเวณติ่งหู สัมพันธ์กับบริเวณศีรษะและใบหน้า , ร่องขอบหูสัมพันธ์กับระยางค์บน , สันหูและขั้วหูทั้งสอง สัมพันธ์กับลำตัวและระยางค์ล่าง ,  แอ่งหูทั้งบนและล่าง สัมพันธ์กับอวัยวะภายใน และบริเวณแอ่งหูที่อยู่รอบขั้วขอบหู สัมพันธ์กับระบบย่อยอาหาร

พยาธิสภาพของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- ความผิดปกติของแขน จะพบผิดปกติที่เอ่อร์โจว
- ความผิดปกติของขา จะพบที่ตุ้ยเอ่อร์หลุนซ่างเจียวและเซี่ยเจียว
- ความผิดปกติของลำตัวจะพบที่ตุ้ยเอ่อร์หลุน
- ความผิดปกติของใบหน้า หู จมูก ลำคอ จะพบที่ Tragusและเอ่อร์ฉุย
- ความผิดปกติของศีรษะ จะพบที่ตุ้ยเอ่อร์ผิง
- ความผิดปกติของช่องท้องตอนล่าง จะพบที่เอ่อร์เจี่ยติง
- ความผิดปกติของการย่อยอาหาร จะพบที่รอบ ๆ ขาของเอ่อร์หลุน
- ความผิดปกติของอุ้งเชิงกราน จะพบที่ซานเจียววอ

หลักการของแพทย์จีนในการเลือกจุดฝังเข็มบนใบหู
1. แพทย์จีนจะเลือกจุดตำแหน่งของโรคที่เกิด เช่น เลือกจุดกระเพาะอาหารสำหรับอาการปวดกระเพาะอาหาร เลือกจุดประสาทซิมพาเทติก สำหรับความผิดปกติในหน้าที่ของอวัยวะภายในและการหมุนเวียนโลหิต

2. เลือกจุดตามทฤษฎีแพทย์แผนจีน เกี่ยวกับการจำแนกโรค เช่น เลือกจุดตาสำหรับรักษาโรค
เกี่ยวกับตา ขณะเดียวกันให้เลือกจุดตับร่วมด้วย เนื่องจากตับมีความสัมพันธ์กับตา ในไข้หวัดธรรมดา และโรคผิวหนัง เลือกจุดปอด เนื่องจากปอดสัมพันธ์กับผิวหนังและรูขุมขน

3. เลือกจุดตามทฤษฎีแพทย์ตะวันตก เช่น ปวดประจำเดือน นอกจากเลือกจุดมดลูกแล้ว ยังเลือกจุด Subcortex (ส่วนใต้เปลือกสมอง) และจุดต่อไร้ท่อด้วย

4. เลือกจุดโดยอาศัยประสบการณ์  เช่น เลือกจุดร่องสำหรับลดความดันในโรคความดันโลหิตสูง เลือกจุดติ้งฉ่วนสำหรับโรคหอบหืด เลือกจุดไส้ติ่งสำหรับโรคไส้ติ่งอักเสบ

 
จุดบนใบหูสำหรับการรักษาโรคในระบบต่าง ๆ
1. ระบบทางเดินอาหาร จุดกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ตับอ่อน ถุงน้ำดี ม้าม ตับ ประสาทซิมพาเธติก ท้อง ต่อมไร้ท่อ เสินเหมิน

2. ระบบทางเดินหายใจ จุดติ้งฉ่วน หลอดลม ปอด ทรวงอก ท้ายทอย เสินเหมิน ประสาทซิมพาเทติกต่อมไร้ท่อ

3. ระบบหมุนเวียนโลหิต จุดหัวใจ ปอด ต่อมหมวกไต เสินเหมิน ประสาทซิมพาเธติก ต่อมไร้ท่อ

4. ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ จุดไต กระเพาะปัสสาวะ ต่อมหมวกไต ท้ายทอย เสินเหมิน ประสาทซิมพาเธติก ต่อมไร้ท่อ

5. โรคเกี่ยวกับประสาทและจิตใจ จุด Subcortex (ส่วนใต้เปลือกสมอง) ท้ายทอย ศีรษะด้านหน้า หัวใจ กระเพาะอาหาร ไตและเสินเหมิน

 6. โรคทางสูติ-นรีเวชวิทยา จุดรังไข่ ต่อมไร้ท่อ ไต มดลูก ประสาทซิมพาเธติก

 7. โรคของอวัยวะรับความรู้สึก
หู       -  จุดหูชั้นใน ท้ายทอย ต่อมหมวกไต ไต เสินเหมิน
จมูก   -  จุดจมูก (ภายใน) ต่อมหมวกไต จมูก (ภายนอก)
คอหอย -  จุดคอหอย ต่อมไร้ท่อ ยอดหูติ่ง ไต หัวใจ ต่อมหมวกไต เสินเหมิน
ตา         -  จุดตา ตับ

8. แก้อักเสบและระงับปวด จุดที่สัมพันธ์กับบริเวณที่เป็น จุดเสินเหมิน ต่อมหมวกไต
ท้ายทอย  Subcortex (ส่วนใต้เปลือกสมอง)

9. โรคผิวหนัง จุดที่สัมพันธ์กับบริเวณที่เป็น ต่อมไร้ท่อ ปอด ต่อมหมวกไต เสินเหมิน

การกระตุ้นจุดบนใบหู
การกระตุ้นจุดใบหูมีหลากหลายวิธี ไม่ต่างจากการกระตุ้นจุดฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ ได้แก่ การแทงจุดด้วยเข็มบาง การเคาะด้วยเข็มดอกเหมย การติดคาเข็มขนาดเล็ก หรือวัสดุการกดจุดต่างๆ , การรมยา , การเจาะปล่อยเลือดด้วยเข็มสามเหลี่ยม , การนวด , การฉีดยาเข้าจุด และการกระตุ้นด้วยเลเซอร์ แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อด้อย และข้อบ่งใช้แตกต่างกัน ผลการรักษาที่ดี นอกจากเกิดจากการวินิจฉัยและการเลือกจุดแล้ว ยังขึ้นกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ในการกระตุ้นจุดด้วย 



การแทงด้วยเข็มบาง (The filiform needle method)
- แพทย์จีนจะใช้เข็มขนาดความยาว 0.5 - 1 ชุ่น ทำการปราศจากเชื้อบริเวณนั้น แล้วแทงเข็มอย่างรวดเร็วเป็นมุมฉากที่จุด   โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรู้สึกตึงๆ หรือร้อน พอง ปวดหนักๆ ซึ่งเป็นอาการที่บ่งชี้ว่าการรักษาได้ผล หากไม่เกิดความรู้สึกใดๆ แพทย์จีนจะปรับทิศทางของเข็มใหม่จนเกิดความรู้สึก จากนั้นจะคาเข็ม 20– 30 นาที กระตุ้นเข็มเป็นช่วง ๆ สม่ำเสมอหรือกระตุ้นตลอดเวลา ถ้าใช้เข็มหู (Pin-like needle) สามารถคาเข็มได้ 2-3 เล่ม การฝังเข็มทำวันละ 1 ครั้งหรือวันเว้นวัน โดย 10 ครั้งเป็นหนึ่งคอร์ส

ในบางกรณีอาจมีการฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture โดยแพทย์จีนจะฝังเข็มไม่ลึก ความแรงพอดีไม่ปวดมากนัก ในกรณีนี้ จะเลือกใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยในรายที่เป็นโรคระบบประสาท หรือมีอาการปวดเกร็งจากอวัยวะภายใน

การติดคาวัสดุกดจุดหู
วัสดุที่ใช้ติดคาที่ใบหูมีหลายอย่าง แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

- เข็มสอดผิวหนัง นิยมใช้เข็มกด (Thumb-tack needle) รูปทรงคล้ายตะปูกดกระดาษขนาดจิ๋ว กดติดแนบชิดบนผิวหนัง ปิดทับด้วยเทปกาว คาไว้ 3-5 วัน ระหว่างการคาเข็ม ผู้ป่วยจะต้องกดคลึงเข็ม 1-3 นาที วันละ 3-5 ครั้ง การติดเข็มแบบนี้ไม่นิยมในประเทศไทยเนื่องจากมีอากาศร้อนชื้น หากติดคาเข็มไว้นานๆ อากาศอับชื้น ฝุ่น อาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้ง่าย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการฝังเข็มหูในระยะเวลาไม่นาน และถอนเข็มออกทันที ไม่คาเข็มไว้นาน

- วัสดุกดจุดหู มีหลากหลายชนิด ที่นิยมใช้คือ "หวั่งปู้หลิวสิง" (vaccaria segetalis) (สมุนไพรชนิดหนึ่ง)  หรือ เม็ดแม่เหล็ก หรือวัสดุอื่นที่มีลักษณะกลมผิวเรียบขนาดไม่เกิน 4 ม.ม. ข้อดีคือ ราคาไม่แพง ปลอดภัย ไม่เจ็บ เหมาะสำหรับเด็ก หรือคนที่กลัวเจ็บ กลัวเข็ม ใช้ติดที่จุดหูด้วยเทปกาว คาไว้ 3-5 วัน กดคลึง 1-3 นาที วันละ 3-5 ครั้ง



"หวั่งปู้หลิวสิง" (vaccaria segetalis) เหมาะกับโรคเรื้อรัง และต้องรักษานาน หรือเม็ดแม่เหล็ก ติดแล้วให้ผู้ป่วยกดเอง ตำแหน่งละ  1-3 นาที วันละ 3 ถึง 5 ครั้ง โดยคาไว้ 3-5 วัน ก่อนเปลี่ยนใหม่

ข้อควรระวังและข้อแนะนำ
1.  การฝังเข็มหูต้องทำภายใต้เทคนิคการปลอดเชื้ออย่างเคร่งครัด
2.  การฝังเข็มหู มีข้อห้ามในกรณีใบหูอักเสบ หญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติแท้งบ่อยๆ
3.  การรักษาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์จีนที่ได้มาตรฐาน การฝังเข็มหูจะต้องทำหัตถการอย่างระมัดระวัง เบามือ และนุ่มนวล ในสตรีมีครรภ์ เด็ก คนชรา หรือผู้ป่วยที่มีภาวะร่างกายอ่อนแอ ก่อนมารับการฝังเข็มต้องพักผ่อนให้เพียงพอ




สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม 
LINE@ : @huachiewtcm

ข้อมูลอ้างอิง
การฝังเข็ม รมยา เล่ม 2 การฝังเข็มรักษาโรคที่พบบ่อย Acupuncture & Moxibusion volume2
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
 ISBN 978-816-11-0277-7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้