มะเร็งระยะสุดท้ายกับการรักษาประคับประคองด้วยแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  27149 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มะเร็งระยะสุดท้ายกับการรักษาประคับประคองด้วยแพทย์แผนจีน

การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
กับการรักษาประคับประคองด้วยวิธีแพทย์แผนจีน


ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย (End stage cancer) หมายถึง ผู้ป่วยมะเร็งที่มีการลุกลามไปตามอวัยวะอื่นๆ หรือ ผู้ป่วยที่แพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยระยะที่ 4 หรือ แพทย์ให้ความเห็นว่าไม่สามารถให้การรักษาแบบหวังผลหายได้ ซึ่งมักจะพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการค่อนข้างหนัก คุณภาพชีวิตลดลง ส่งผลกระทบทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ  ซึ่งการรักษาโดยทั่วไปมักจะเป็น การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) คือ การรักษาตามอาการ โดยมุ่งเน้นในการบรรเทาความเจ็บปวด ลดความทุกข์ทรมาน และช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ รวมไปถึงการดูแลรักษาอาการต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งจากตัวโรคมะเร็ง และอาการข้างเคียงต่างๆที่เกิดขึ้นจากการรักษาโรค




ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามส่วนใหญ่ มักจะมีอาการแสดงมากกว่าหนึ่งอาการ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ร้อยละ 45 ของผู้ป่วยจะได้รับการบรรเทาอาการโดยรังสีรักษา ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการความรุนแรงของโรคได้ แต่จากการข้อมูลผลการวิจัยในไทยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพบอาการเหล่านี้ได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ

1. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
2. อาการปวด
3. นอนไม่หลับ 
4. เบื่ออาหาร
5. เวียนศีรษะ 

เป้าหมายหลักของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย  คือ เป้าหมายเพื่อยืดชีวิต 
เป้าหมายรักษาตามอาการ และเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ดังนั้น การทำความเข้าใจกับตัวผู้ป่วยและครอบครัวจึงเป็นเป้าหมายร่วมกันของการรักษา ซึ่งเป็นหัวใจหลักสิ่งที่สำคัญ



อาการสำคัญ ที่สามารถรับการดูแลแบบประคับประคอง มีดังนี้

1. อาการปวดทรมาน

2. อาการผิดปกติในการนอน

3. อาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลด

4. อาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง ขาดพลังงาน

5. อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

6. อาการวิงเวียนศีรษะ

7. อาการอื่นๆ เช่น อาการชาปลายมือปลายเท้า อาการขับถ่ายผิดปกติ ภาวะแห้งทั่วร่างกาย-ไม่มีน้ำลายถ่ายแห้ง หายใจลำบาก อาการแน่นท้อง ภาวะท้องมาน ขาบวมน้ำ อาการวิตกกังวลซึมเศร้า เป็นต้น

การรักษาประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน


โดยทั่วไปแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทางแผนปัจจุบัน เนื่องจากสภาพร่างกายผู้ป่วยที่อ่อนแอ แพทย์อาจจะประเมินและพิจารณาว่าไม่สามารถรับการรักษาที่หนักหน่วงแบบมุ่งเน้นให้หายขาดได้ ดังนั้น แพทย์จะเน้นในการบรรเทาความเจ็บปวด ลดความทุกข์ทรมาน ฟื้นฟูเสริมบำรุงให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีพลังงานชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการดูแลรักษาอาการต่างๆที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยเป็นสำคัญ



ส่วนในทางแพทย์แผนจีน มองว่า ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายส่วนใหญ่เนื่องจากเจ็บป่วยมาเป็นเวลานาน ประกอบกับการรักษาต่างๆเช่นผ่าตัด  ฉายแสง เคมีบำบัดเป็นต้น ส่งผลทำให้จะมีเจิ้งชี่พร่องหรือภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอ  ชี่และเลือดไม่เพียงพอ  ม้าม  ตับและไต รวมทั้งอวัยวะต่างๆการทำงานถดถอย ร่วมกับมีชี่และเลือดติดขัด เกิดเสมหะสกปรกสะสมอุดกั้น พิษร้อนสะสมภายใน เป็นผลทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา

ดังนั้น ในการรักษา ก็จะขึ้นกับปัจจัยการเกิด
ถ้าหาก "แกร่ง" จะใช้วิธี “ระบาย” หรือ ขจัดปัจจัยเสียออกไป
ถ้าหาก "พร่อง" จะใช้วิธี “บำรุง” เป็นสำคัญ



การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการตามหลักการของแพทย์แผนจีน

1.ภาวะ / กลุ่มอาการเลือดคั่งจากชี่ติดค้าง
Pattern / syndrome of qi stagnation and blood stasis 
气滞血瘀证 Qì zhì xuè yūzhèng
อาจจะมีอาการปวดแน่นหรือปวดเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง อาการปวดอาจสัมพันธ์กับอารมณ์  ตอนกลางคืนจะปวดมาก  เสียดสีข้าง แน่นท้อง ตามผิวหนังอาจพบจ้ำเลือดคั่ง เป็นต้น ลิ้นสีม่วงคล้ำ  ชีพจรตึงสะดุด

2. ภาวะ/กลุ่มอาการเสมหะจากความชื้น
Phlegm-dampness pattern / syndrome 
痰湿证 Tán shī zhèng
มักรู้สึกตัวหนักๆ อ่อนเพลียอยากนอน มีเสมหะน้ำลายเยอะ อาจมีภาวะบวมน้ำ ไม่อยากอาหาร แน่นหน้าอก ขับถ่ายไม่สุด เป็นต้น ฝ้าลิ้นหนาเหนียว  ชีพจรลื่น

3. ภาวะ / กลุ่มอาการจากพิษร้อนชื้นสะสม
Pattern / syndrome of retained dampness-heat toxin 
湿热毒蕴证  Shī rè dú yùn zhèng
มักมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณก้อน ก้อนอาจบวมแดงร้อนหรือแตกเน่า ร่วมกับตัวร้อนมีไข้สูง ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้า คอแห้ง ท้องผูก  เป็นต้น สีลิ้นแดงฝ้าเหลืองเหนียว  ชีพจรตึงเร็ว

4. ภาวะ / กลุ่มอาการร้อนชื้น
Dampness-heat pattern / syndrome 
湿热证  Shī rè zhèng
มักรู้สึกตัวร้อน อาจมีสารคัดหลั่งกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดปน อาจมีภาวะบวมน้ำ ตัวเหลือง ตาเหลืองและปัสสาวะเหลืองเข้ม คลื่นไส้ ปากขมคอแห้ง ไม่อยากอาหาร เป็นต้น ลิ้นแดงฝ้าลิ้นเหลืองเหนียว  ชีพจรลื่นเร็ว

5. ภาวะ / กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง  
Pattern / syndrome of dual deficiency of qi and blood 
气血两虚证 Qì xuè liǎng xū zhèng
มักจะมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง ชาตามปลายมือปลายเท้า รูปร่างผอม หน้าซีด เป็นต้น สีลิ้นซีดคล้ำ ฝ้าลิ้นบางหรือไม่มี  ชีพจรเล็กและอ่อนแรง

6. ภาวะ / กลุ่มอาการชี่และอินพร่อง
Pattern / syndrome of dual deficiency of qi and yin 
气阴两虚证 Qì yīn liǎng xū zhèng ; 气阴亏虚证 Qì yīn kuī xū zhèng 
มักจะมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย คอแห้งปากแห้ง ไอแห้ง เสียงแหบแห้ง อาจมีอาการร้อนหงุดหงิด รูปร่างผอม อุจจาระแห้งแข็ง เป็นต้น สีลิ้นแดงซีด ฝ้าลิ้นบางหรือไม่มี  ชีพจรเร็วแต่อ่อนแรง

7. ภาวะ / กลุ่มอาการหยางของม้ามและไตพร่อง
Spleen-kidney yang deficiency pattern / syndrome
脾肾阳虚证 Pí shèn yáng xū zhèng
脾肾虚寒证 Pí shèn xū hán zhèng
มักจะมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง รูปร่างผอมติดกระดูก หน้าหมองคล้ำไม่มีชีวิตชีวา  ขี้หนาว ปวดเมื่อยเอว อาจมีภาวะบวมน้ำ เป็นต้น สีลิ้นซีดคล้ำ ตัวลิ้นอ้วนใหญ่ ฝ้าลิ้นบางหรือไม่มี  ชีพจรจมเล็กและอ่อนแรง

8. ภาวะ / กลุ่มอาการอินของตับและไตพร่อง
Liver-kidney yin deficiency pattern / syndrome
肝肾阴虚证 Gān shèn yīn xū zhèng
มักจะมีอาการปวดเมื่อยเอว ขาไม่มีแรง เวียนศรีษะ ตาแห้ง มีอาการร้อนหงุดหงิด ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน โหนกแก้มแดง เหนื่อยอ่อนเพลีย คอแห้งปากแห้ง เป็นต้น  สีลิ้นแดง ฝ้าลิ้นไม่มี  ชีพจรเล็กเร็ว


 

ตัวอย่างกรณีศึกษา การรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
ที่มารักษาที่คลินิกอายุรกรรม-มะเร็ง คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน


ข้อมูลทั่วไป
ชื่อ : นางกXXX   XXXX
เพศ : หญิง  อายุ : 66  ปี

เลขประจำตัวผู้ป่วย : HN 266XXX  

วันที่มาเข้ารับการรักษาครั้งแรก :  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อาการสำคัญ : ปวดแน่นท้องร้าวไปเอวเป็นเวลานาน 2-3 เดือน 

ประวัติอาการ
- ผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติ เมื่อปี 2549 เนื่องจากปวดแน่นท้องจึงได้เป็นตรวจที่โรงพยาบาลแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่  จากนั้นได้ทำการผ่าตัดและทำเคมีบำบัดซ้ำหลายคอร์สการรักษา

- เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 ตรวจเช็คซ้ำพบว่ามีน้ำในช่องท้องเยอะระดับ moderate และมีน้ำในเยื่อหุ้มปอดซ้ายเล็กน้อย มีมะเร็งกระจายหลายจุดในช่องท้องขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 3 cm แพทย์แผนปัจจุบันจึงได้ให้ทำเคมีบำบัดต่อ ค่า CA125 : 297 Ý (0-35),   ค่าเลือดโดยรวมผิดปกติมีภาวะเลือดจาง แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีอากรปวดแน่นท้องมากและร้าวไปเอว จึงมาขอรับการรักษาด้วยวิธีการรักษาโดยแพทย์แผนจีน


อาการเบื้องต้นที่มาพบแพทย์จีน
ผู้ป่วยมีอาการปวดแน่นท้องมากและร้าวไปเอว (ทานยาบรรเทาปวด) หายใจลำบาก มีอาการหอบ  ไม่สามารถนอนราบได้ ไอและมีเสมหะ เหนื่อยไม่มีแรง ทานอาหารได้ นอนหลับไม่ค่อยดี (ทานยาช่วยนอนหลับ) ขับถ่ายไม่ปกติ  


ประวัติในอดีต : โรคดันโลหิตสูง

ตรวจร่างกาย :  ความดันโลหิต 144/56mmHg  น้ำหนัก 82 kg    

มีอาการท้องบวมแน่น ขาสองข้างบวม  ใบหน้าซีด แววตาไม่สดใส  สีลิ้นซีดคล้ำฝ้าขาวเหนียว  ชีพจรเล็ก

การตรวจวินิจฉัย :     
โรคมะเร็งรังไข่ (ระยะ 4 /กระจายเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง)


แพทย์จีนจัดอยู่ในกลุ่มโรคจีจู้ย (มีก้อนในช่องท้อง) 积聚  / กลุ่มภาวะอาการชี่และเลือดไม่เพียงพอ เสมหะความชื้นอุดกั้นภายใน

วิธีการรักษาโดยแพทย์จีน
ใช้วิธีการบำรุงชี่และเลือด ขจัดเสมหะและความชื้น  โดยเลือกใช้ตำรับยาหลักคือ กุยผีทัง เพิ่มลดตัวยาร่วมกับยาสมุนไพรจีนชนิดต้ม ที่มีสรรพคุณต้านมะเร็ง รับประทานยาจีนเช้า-เย็น หลังอาหาร และใช้ยาภายนอกหมางเซียวประคบหน้าท้องลดอาการบวมน้ำ


ประเมินผลการรักษา 
ครั้งที่ 2 (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560)  
- อาการปวดแน่นท้องลดลง น้ำหนักตัวลดลง 4 kg
- ไอและมีเสมหะลดลง ยังมีปวดเอวและเหนื่อย
- ทานอาหารได้ นอนหลับไม่ค่อยสนิท ขับถ่ายยังไม่ปกติ 
- สีลิ้นซีดคล้ำฝ้าขาว ชีพจรเล็ก
- CT scan : พบว่าปริมาณน้ำในช่องท้องลดลง และขนาดของมะเร็ง
ที่กระจายในช่องท้องเล็กลง ตำแหน่งRUQจาก 3.0x2.3 ลดเป็น 2.0x1.5 cm ตำแหน่งแนวกลางจาก 2.9x2.4 ลดเป็น 1.1x1.1 cm  ตำแหน่งเยื่อบุช่องท้องด้านข้างจาก 3.5x1.9 ลดเป็น 2.8x1.4 cm  ตำแหน่งเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกรานจาก 1.7 ลดเป็น 1.4 cm และ 2.5 เป็น 2.1cm  

ครั้งที่ 3 (วันที่ 2 เมษายน 2560)     
- ไม่มีอาการปวดแน่นท้องและร้าวเอว  และไม่มีอาการไอหรือมีไข้
- ผู้ป่วยยังคงทำเคมีบำบัดต่อเนื่อง (ล่าสุด-ครั้งที่4)
- อาการข้างเคียงการการทำเคมีบำบัดลดลงกว่าแต่ก่อน 
- ปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อย นอนหลับได้ดีขึ้น ขับถ่ายยังไม่ปกติ 
- สีลิ้นซีดคล้ำฝ้าบาง ชีพจรเล็ก

ครั้งที่ 4 (วันที่ 6 ธันวาคม 2560) 
- ไม่มีอาการปวดแน่นท้องและร้าวเอว  
- เนื่องจากผู้ป่วยทำการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ได้พักการรักษาไปช่วงหนึ่งพบว่า
- น้ำในช่องท้องกลับมาอีก  ค่ามะเร็งสูงขึ้นไป CA125 : 600 Ý แพทย์จึงเตรียมจะให้ทำเคมีบำบัดต่อ และกลับมารักษาแผนจีน
- อาการโดยรวมปกติ ทานอาหารและนอนหลับได้  แต่การขับถ่ายยังไม่คล่อง
- สีลิ้นซีดคล้ำฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก

ครั้งที่ 5 (วันที่ 4 มกราคม 2561) 
- ไม่มีอาการข้างเคียงไม่สบายตัวจากการทำคีโม  ปริมาณน้ำในช่องท้องลดลง จากที่ต้องไปเจาะปล่อยน้ำในช่องท้องทุก 4 วัน กลายเป็น 2 อาทิตย์ครั้งนึง
- อาการโดยรวมปกติ  สีลิ้นซีดคล้ำฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก
- ค่ามะเร็งลดลง CA125 : 199 Ý,  
- ค่าเลือดทั่วไป Hb: 9.8 g/dl ß, Hct: 28.8 %ß, RBC: 3.22x106mmß

ครั้งที่ 6 (วันที่ 4 พฤษภาคม 2561) 
- ปริมาณน้ำในช่องท้องกลับขึ้นมาลง  เจาะปล่อยน้ำในช่องท้องทุก 3 อาทิตย์ 1 ครั้ง
- อาการโดยรวมปกติ  ขับถ่ายคล่องปกติ
- สีลิ้นซีดคล้ำฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก
- CT scan : พบว่าปริมาณน้ำในช่องท้องลดลง และขนาดของมะเร็งที่กระจายในช่องท้องเล็กลงจากเดิม ตำแหน่งRUQจาก 2.0x1.5 ลดเป็น 1.8x1.1 cm ตำแหน่งแนวกลางจาก 1.1x1.1 ลดเป็น 1.0x0.8cm  ตำแหน่งเยื่อบุช่องท้องด้านข้างจาก 2.8x1.4 ลดเป็น 2.3x1.3 cm  ตำแหน่งเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกรานจาก 1.4 ลดเป็น 1.2 cm และ 2.1 เป็น 1.7 cm
- ค่ามะเร็งลดลง CA125 : 93 Ý, 
- ค่าการทำงานของตับผิดปกติ  AST: 43 U/LÝ, ALT: 67 U/LÝ,  ALP: 211 U/LÝ
- ค่าเลือดทั่วไป Hb: 10.1 g/dl ß, Hct: 29.3 %ß, RBC: 3.43x106mmß

ครั้งที่ 7 (วันที่ 22 กรกฎาคม 2561) 
- ปริมาณน้ำในช่องท้องกลับขึ้นมาช้าลง  เจาะปล่อยน้ำในช่องท้องทุก 6 อาทิตย์ครั้งนึง
- อาการโดยรวมปกติ  ขับถ่ายคล่องปกติ
- สีลิ้นซีดคล้ำฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก

ครั้งที่ 8 (วันที่ 2 มิถุนายน 2562) 
- ปริมาณน้ำในช่องท้องกลับขึ้นมาช้าลง  ยังมีเจาะปล่อยน้ำเป็นระยะ
- ผู้ป่วยยังทำเคมีบำบัดอยู่อย่างต่อเนื่อง
- อาการโดยรวมปกติ ทานอาหารได้ นอนหลับดี ขับถ่ายคล่องปกติ
- สีหน้าสดใสปกติ  สีลิ้นซีดคล้ำฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก
- ค่ามะเร็งลดลง CA125 : 38 Ý , 
- ค่าการทำงานของตับปกติ  AST: 29 U/L, ALT: 20 U/L, ALP: 124 U/L
- ค่าเลือดทั่วไปดีขึ้น Hb: 10.8 g/dl ß, Hct: 32.3 %ß, RBC: 3.61x106mmß

สรุปผลการรักษา
จากเคสกรณีศึกษาข้างต้น เห็นได้ว่าการรักษาด้วยยาสมุนไพรจีนตำรับ สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยมะเร็งได้และดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  ช่วยลดอาการข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด  ช่วยส่งเสริมการรักษาของแผนปัจจุบันให้มีประสิทธิมากขึ้น  และยังทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอีกด้วย

วิเคราะห์ผลการรักษา
ผู้ป่วยมะเร็งรายนี้มีอาการเริ่มแรก คือ มีอาการปวดแน่นท้อง ร้าวไปเอวค่อนข้างมาก เนื่องจากมะเร็งกระจายทั่วในช่องท้อง ประกอบกับมีน้ำในช่องท้องด้วย 

จากสภาพร่างกายที่อ่อนแอ เหนื่อยไม่มีแรง  ใบหน้าซีด แววตาไม่สดใส  สีลิ้นซีดคล้ำ ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก ร่วมกับมีภาวะเลือดจาง  ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนวิเคราะห์ได้ว่าเกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดและทำเคมีบำบัดซ้ำหลายคอร์สการรักษา จนทำให้เจิ้งชี่หรือภูมิพื้นฐานไม่แข็งแรงพอ เลือดและชี่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการต่างๆข้างต้น

หลังจากการใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณใช้วิธีการบำรุงชี่และเลือด ขจัดเสมหะและความชื้น ร่วมกับยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง และยังมียาประคบหมางเซียวภายนอก ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดบวมไล่น้ำ สลายก้อนทำให้นิ่ม จึงสามารถทำให้อาการปวดของผู้ป่วยค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอีกด้วย

แต่ทั้งนี้ การรักษาโดยทั่วไปของผู้ป่วยมะเร็งจะถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจร่างกายด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันตามปกติ และสามารถรับการรักษาแบบผสมผสานร่วมกันทั้งแผนจีนและแผนปัจจุบันจะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง
แสงระวี แทนทอง, อำภพร นามวงศ์พรหม, น้ำอ้อย ภักดีวงศ์. ประสบการณ์อาการ และคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่ได้รับรังสีรักษา. APHEIT  Journal, 2559, 5(1): 40-47.

บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน อรกช มหาดิลกรัตน์ (ไช่ เพ่ย หลิง)
คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง


อ่านข้อมูลประกอบการรักษาโรคมะเร็งด้วยแพทย์แผนจีน
หาหมอจีนทำไมต้องแมะ

การรักษาด้วยยาจีน 
กินยาจีนอย่างไรให้ได้ผลดี
สารพันคำถามโรคมะเร็ง


สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม 
Hotline : 095-884-3518
LINE@ : @huachiewtcm

คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน 
เปิดให้บริการการรักษาแก่ประชาชน 3 สาขาทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาค
1. กรุงเทพฯ   โทร. 02-223-1111 ต่อ 102 
2. โคราช       โทร. 044-258-555 , 085-325-1555 
3. ศรีราชา    โทร.038-199-000 , 098-163-9898 
ดูแผนที่การเดินทางของทุกสาขา


 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้