ภาวะเครียด วิตกกังวลกับการรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน (Anxiety Neurosis)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  30287 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะเครียด วิตกกังวลกับการรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน (Anxiety Neurosis)

โรควิตกกังวล (Anxiety) หรือ โรคประสาทชนิดวิตกกังวล (Anxiety Neurosis)
เป็นโรคประสาทที่มีอาการวิตกกังวลเป็นหลัก ลักษณะพิเศษของโรคแบ่งเป็นกังวลแบบทั่วไปตลอดเวลา หรือตื่นตระหนกเป็นพักๆ มักมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติแปรปรวนร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อตึงเกร็ง กระวนกระวายอยู่ไม่นิ่ง ทางคลินิกแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ Generalized Anxiety Disorder และ Panic Disorder


Anxiety เป็นโรคที่พบได้บ่อยทางคลินิก อุบัติขึ้นเยอะในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรง ยิ่งมีการพัฒนาของเศรษฐกิจและ สังคม แนวโน้มของอัตราการเกิดโรควิตกกังวลยิ่งเพิ่มขึ้น



แพทย์แผนปัจจุบันเลือกใช้ยาในการรักษาเป็นหลัก แต่ยาเหล่านี้มีข้อเสีย คือ มักมีผลข้างเคียงมาก ราคาแพง ใช้แล้วติดยา ผู้ป่วยต้องพึ่งยาอยู่ร่ำไป

แพทย์แผนจีนรักษาโรควิตกกังวลโดยยึดถือหลักการปรับสมดุลแบบองค์รวมและวินิจฉัยแยกแยะรักษาตามกลุ่มอาการ ซึ่งผลการรักษาดีจนได้รับความสนใจจากปัญญาชนชาวจีนและต่างชาติ

ประเภทลักษณะพิเศษ
Generalized anxiety disorder,GAD

(แบบเรื้อรัง , แบบทั่วไป)
เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดของโรควิตกกังวล
มักเริ่มเป็นอย่างช้าๆ ในระยะยาวผู้ป่วยรู้สึกเครียดและไม่สงบ 
Panic disorder,
PD

(แบบเฉียบพลัน 
ตื่นตระหนก)
อาการกังวลแบบรุนแรงเกิดขึ้นแบบซ้ำๆ ลักษณะพิเศษคือเกิดขึ้นโดยกระทันหันและไม่สามารถพยากรณ์ได้  ระดับของปฏิกิริยารุนแรง ผู้ป่วยมักรู้สึกกลัวและตื่นตระหนกกับผลของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแบบเลวร้ายและหายจากอาการกังวลอย่างรวดเร็ว


อธิบายเกี่ยวกับโรควิตกกังวลในทฤษฎีทางการแพทย์แผนจีน

แพทย์แผนจีนไม่มีชื่อโรควิตกกังวล แต่อ้างอิงจากอาการทางคลินิกจัดอยู่ในขอบเขตของโรคของอารมณ์ และโรคของหัวใจ มีความสัมพันธ์กับอาการ ชี่ติดขัด (郁症)  ตกใจ (惊)  ใจหวิว (悸) ใจสั่น (心悸) ใจสั่นรัว (怔忡) นอนไม่หลับ (不寐) โรคไป่เหอ (百合病)

โดยมีสาเหตุของโรคสัมพันธ์กับ อารมณ์ติดขัด ตับไม่เก็บกักจิตวิญญาณ ครุ่นคิดมากเกินไป หัวใจและไตทำงานไม่ประสานกัน ชี่หัวใจไม่พอ เสมหะปิดกั้นทวารของหัวใจ


Cr.Photo : wikiHOW


Cr.Photo : http://paper.sciencenet.cn/

การแพทย์แผนจีน รักษาโรควิตกกังวลได้แสดงถึงลักษณะพิเศษของแนวคิดการรักษาโรคทางอารมณ์ ได้แก่ "รักษาจากสมอง" "รักษาจากหัวใจ" "รักษาจากไต"


Cr.Photo : wp.3phk.co


เมื่อพิจารณาจากเส้นลมปราณของจุดฝังเข็มที่ใช้รักษาโรควิตกกังวลมีที่อัตราการใช้มากที่สุด ส่วนมากจะอยู่บนเส้นลมปราณตู  เส้นลมปราณมือเส้าอินหัวใจ เส้นลมปราณมือเจ่วอินเยื่อหุ้มหัวใจและเส้นเท้าเส้าอินไต



Cr.Photo : http://sh.qihoo.com
" รักษาจากสมอง : 从脑论治 "

เส้นลมปราณตูมีวิถีการไหลเวียนที่กึ่งกลางด้านหลังของศีรษะ เข้าไปเชื่อมประสานกับสมอง สมองเป็นที่พำนักของหยวนเสิน ควบคุมการทำงานของจิตใจ


Cr.Photo : researchgate.ne




จุดไป่หุ้ย (BaiHui) เสินถิง (ShenTing) ต้าจุย (DaZhui) เป็นจุดสำคัญของเส้นลมปราณตูช่วยปรับสมดุลชี่และเลือดของเส้นหยาง เปิดทวาร เสริมบำรุงสติปัญญา 

จุดเฟิงฉือ (FengChi) เสวียนหลู (XuanLu) ไท่หยาง (TaiYang) เปิ่นเสิน (BenShen) ซึ่งเป็นจุดฝังเข็มด้านข้างศีรษะรวมทั้งจุดนอกระบบ จุดอาซื่อบริเวณศีรษะ เช่น จุดอิ้นถาง (YinTang)  อันเหมียน (AnMian) ซื่อเสินชง (SiShenChong) เป็นต้น  ล้วนมีผลต่อการรักษาโรคทางสมองโดยตรง

การรักษาโรควิตกกังวล
แพทย์จีนที่ทำการรักษา จะเลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณตูและจุดฝังเข็มที่อยู่บริเวณศีรษะซึ่งสัมพันธ์กับสมองอย่างใกล้ชิด แสดงให้เห็นถึงแนวคิดสำคัญในการรักษาโรคจิตเวชวิตกกังวลโดยการปรับสมดุลการทำงานของสมอง

" รักษาจากหัวใจ : 从心论治 "
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีแนวคิดว่า หัวใจเป็นจ้าวแห่งอวัยวะภายใน เป็นที่อยู่ของจิตใจ พื้นฐานของโรควิตกกังวลอยู่ที่หัวใจ หัวใจควบคุมจิตใจ หน้าที่การทำงานของเสินหัวใจต้องอาศัยเลือดของหัวใจหล่อเลี้ยงและชี่ของหัวใจในการผลักดัน(สูบฉีด) เลือดและชี่หัวใจไม่พอทำให้จิตใจไม่กระปรี้กระเปร่า เสินไม่อยู่ในที่พำนัก หรือ  “จ้าว (หัวใจ) ไม่เฉียบแหลม สิบสองอวัยวะถึงแก่อันตราย” จุดฝังเข็มบนเส้นมือเส้าอินหัวใจและเส้นมือเจวียอินเยื่อหุ้มหัวใจล้วนสัมพันธ์กับหัวใจควบคุมจิตใจอย่างใกล้ชิด มีสรรพคุณสงบเสินหัวใจ บำรุงชี่หัวใจ จุดเป้ยซู เช่น ซินซู เจวี่ยอินซู ล้วนเป็นจุดที่ชี่ของหัวใจไหลไปยังที่บริเวณแผ่นหลัง มีสรรพคุณหล่อเลี้ยงหัวใจ สงบเสินเช่นเดียวกัน แบบแผนการรักษาโรควิตกกังวลมักเลือกใช้จุดฝังเข็มของเส้นหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจ แสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่รักษาจากหัวใจ

รักษาจากไต (从肾论治)
ตำแหน่งพยาธิสภาพของโรควิตกกังวลอยู่ที่สมอง แต่ไตและสมองมีการเชื่อมสัมพันธ์การอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ ไตเก็บกักสารจิง สารจิงสร้างไขกระดูก ไขกระดูกเติมเต็มสมอง สมองเป็นทะเลแห่งไขกระดูก คัมภีร์หลิงซู บทจิงม่าย《灵枢·经脉》กล่าวไว้ว่า :

“มนุษย์แรกกำเนิดเริ่มจากสารจิง สารจิงก่อเป็นสมองไขกระดูก”
น้ำและไฟทำงานประสานกันถือเป็นรากฐานสมดุลของร่างกายที่มีระบบขั้นตอน คัมภีร์อีเสวียรู่เหมิน《医学入门》กล่าวว่า :

“โรคทั้งหลายของคนเรานั้น ล้วนเกิดจากน้ำและไฟทำงานไม่ประสานกัน”
คัมภีร์หลิงซู บทจิงม่าย《灵枢·经脉》บันทึกไว้ว่า : “โรคที่เกิดจากพยาธิสภาพของไต:ปากร้อน ลิ้นแห้ง คอบวม ชี่ตีย้อนขึ้น · คอแห้งเจ็บหงุดหงิด ปวดหัวใจ พื้นฐานการรักษาโรคอยู่ที่หัวใจและไต กล่าวคือ พื้นฐานอยู่ที่อิน-หยาง หัวใจและไตทำงานประสานกัน อินหยางสมดุล ดังนั้นโรคไม่เกิดขึ้น

จุดเซิ่นซู (ShenShu) เป็นจุดที่ชี่ของเส้นลมปราณไตไหลไปยังบริเวณหลัง มีสรรพคุณบำรุงไต เสริมชี่ จุดไท่ซี (TaiXi)เป็นชุดซู จุดหยวนของเส้นลมปราณไต มีสรรพคุณบำรุงไต ดึงรั้งชี่ เสริมธาตุดินเพื่อสร้างธาตุทอง จุดเจ้าไห่ (ZhaoHai) สังกัดเส้นลมปราณไต เป็นจุดปาม่ายเจียวหุ้ย เชื่อมกับเส้นลมปราณอินเฉียวม่าย มีสรรพคุณปรับสมดุลอิน สงบเสิน การรักษาโรควิตกกังวลทางเวชปฏิบัติเลือกใช้จุดพิเศษที่สัมพันธ์กับไต แสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของการรักษาโรควิตกกังวลจากไต

“ทฤษฏีอวัยวะทั้งห้าเก็บสะสมเสิน”
กับการวินิจฉัยแยกแยะรักษาตามอวัยวะภายในแผนจีน



โรควิตกกังวลมักมีสาเหตุจากการทำงานของอวัยวะภายในขาดสมดุล การเคลื่อนไหวของชี่ผิดปกติทำให้จิตใจไม่สงบ ตำแหน่งของโรคเกี่ยวข้องกับหัวใจ ตับ ม้าม ปอด ไต

คัมภีร์เน่ยจิง《内经》ได้กล่าวถึง “ทฤษฏีอวัยวะทั้งห้าล้วนมีเสินสถิตย์” คิดว่าอวัยวะทั้งห้าล้วนมีเสินสถิตย์ การเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเสินเกี่ยวข้องกับอวัยวะทั้งห้าอย่างใกล้ชิด

การเลือกใช้จุดฝังเข็มรมยา นอกจากเส้นลมปราณตู เส้นหัวใจ เส้นเยื่อหุ้มหัวใจ เส้นไตที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้ว พบว่า ยังมีการเลือกใช้จุดฝังเข็มบนเส้นเท้าเจวียอินตับ เส้นเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหาร เส้นเท้าไท่อินม้ามและเส้นมือไท่อินปอด

 • จุดเน่ยกวน (NeiGuan) เป็นจุดลั่วของเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ
 • จุดจู๋ซานหลี่ (ZuSanLi) เป็นจุดเหอของเส้นลมปราณเท้าหยางหมิงกระเพาะ
 • จุดไท่ชง (TaiChong) เป็นจุดหยวนของเส้นลมปราณตับ
 • จุดไท่ซี (TaiXi) เป็นจุดหยวนของเส้นลมปราณเท้าเส้าอินไต
 • จุดเลี่ยเชวีย (LieQue) เป็นจุดจิงของเส้นลมปราณมือไท่อินปอด
 • จุดซานอินเจียว (SanYinJiao) เป็นจุดตัดของเส้นลมปราณตับ ม้ามและไต

จุดฝังเข็มเหล่านี้นอกจากสามารถปรับสมดุลชี่ของอวัยวะภายในแล้ว ยังเน้นไปยังลักษณะพิเศษกลไกการเกิดโรคของโรควิตกกังวล มีสรรพคุณในการกระจายชี่ตับ ปรับสมดุลตับ เสริมสร้างม้าม ละลายเสมหะ บำรุงพร่องเสริมสร้างหยวนชี่  แสดงให้เห็นถึง การรักษาโรควิตกกังวลด้วยการฝังเข็มและรมยานั้นได้ให้ความสำคัญในการยึดเอาทฤษฏีอวัยวะทั้งห้ามีเสินสถิตย์และการวินิจฉัยแยกแยะรักษาตามอวัยวะภายในแผนจีนในการเลือกใช้จุดฝังเข็ม

การวินิจฉัยและรักษาตามกลุ่มอาการ
"กลุ่มอาการชี่ตับติดขัด"
อาการแสดงทางคลินิก : อารมณ์แปรปรวน มีความเครียด กังวล ชอบถอนหายใจ ปวดแน่นชายโครง ตำแหน่งปวดไม่แน่นอน เรอ ไม่สบาย ลิ้นซีดแดง ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรตึง (เสียน)

หลักการรักษา : ปรับกระจายชี่ตับ คลายเครียด สลายการติดขัด

"กลุ่มอาการชี่ติดขัดกลายเป็นไฟ"
อาการแสดงทางคลินิก : ใจสั่น นอนไม่หลับ ฉุนเฉียว โกรธง่าย แน่นชายโครงและหน้าอก ปากขม คอแห้ง หรือปวดศีรษะ ตาแดง หูอื้อหรือ เชาจ๋า (嘈杂) เรอเปรี้ยว ปัสสาวะเหลืองเข้ม ท้องผูก ลิ้นแดง ฝ้าลิ้นเหลือง ชีพจรตึงเร็ว (เสียนซู่)

หลักการรักษา : ปรับกระจายชี่ตับ คลายเครียด ระบายไฟตับ เสริมด้วยการสงบเสิน

การเลือกใช้จุด : อิ้นถาง、ไป่หุ้ย、ไท่ชง、เสียซี、อันเหมียน、เน่ยกวน、เสินเหมิน


"กลุ่มอาการเสินหัวใจไม่สงบ"
อาการแสดงทางคลินิก : ใจสั่น โกรธง่าย นั่งยืนไม่เป็นสุข  หงุดหงิด นอนไม่หลับ มือสั่นทั้งสองข้าง นอนได้น้อย ฝันมาก ขี้ตกใจ หายใจสั้น เพลีย สมาธิสั้น ความจำถดถอย ลิ้นซีดแดง ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเล็กละเอียด
  
การรักษาด้วยการฝังเข็มและการรมยา
หลักการรักษา : สงบเสินทำให้นิ่ง หล่อเลี้ยงหัวใจสงบอารมณ์

การเลือกใช้จุด : ซินซู、ผีซู、เน่ยกวน、อันเหมียน、เสินเหมิน

การรักษาด้วยยาจีน
ตำรับยา : ผิงปู่เจิ้นซินตัน ลดเพิ่ม
ยาที่ใช้ : สูตี้ 10 กรัม , ม่ายตง 10 กรัม , เทียนตง 10 กรัม , ต่างเซิน 10 กรัม , ฝูหลิง 10 กรัม , หยวนจื้อ 15 กรัม , ซวนเจ่าเหริน 15 กรัม ,  หลงฉือ 15 กรัม , อู่เหว่ยจึอ 15 กรัม , กานเฉ่า 3กรัม

"กลุ่มอาการเสมหะและความร้อนขึ้นมากระทบ"
อาการแสดงทางคลินิก : หงุดหงิด โกรธง่าย ใจสั่น ตกใจ หวาดกลัว  ไอ เสมหะมาก สีเหลืองเหนียว คลื่นไส้ นอนน้อย ฝันมาก แน่นหน้าอกและชายโครง ปากขม ลิ้นแดง ฝ้าลิ้นเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว (ฮว่าซู่)

การรักษาด้วยการฝังเข็มและการรมยา
หลักการรักษา : สลายเสมหะ ดับร้อน สงบเสิน

การเลือกใช้จุด : ซื่อเสินชง เหอกู่ เฟิงหลง ผีซู จู๋ซานหลี่ เฟิงฉือ ชวีฉือ

การรักษาด้วยยาจีน
ตำรับยา :หวงเหลียนเวินต่านทัง ลดเพิ่ม

การใช้ยา : หวงเหลียน 10 กรัม , จู๋หรู 10 กรัม ,  จื่อสือ 9 กรัม,  ป้านเซี่ย 9 กรัม ,  จวี๋หง 10 กรัม ,  ฝูหลิง 10 กรัม , ขิงสด 3 แผ่น , กานเฉ่า 6 กรัม

"กลุ่มอาการอินพร่องมีไฟลุกโชน"
อาการแสดงทางคลินิก : ใจสั่น ไม่สงบ หงุดหงิด นอนน้อย เวียนศีรษะ หูอื้อ ขี้ลืม ปวดเมื่อยเอวเขาอ่อน ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน ปากแห้ง สารน้ำมีน้อย ลิ้นแดงเข้ม ชีพจรละเอียดเร็ว (ซี่ซู่)

การรักษาด้วยการฝังเข็มและการรมยา
หลักการรักษา : เสริมอินดับร้อน บำรุงหัวใจ สงบเสิน

การเลือกใช้จุด : ต้าหลิง ซานอินเจียว ไท่ซี

การรักษาด้วยยาจีน
ตำรับยา :กุยผีทัง

การใช้ยา : ไป๋จู๋ 15 กรัม , ตังกุย 15 กรัม , ฝูหลิง15 กรัม , หวงฉี 15กรัม ,  หลงเหยียนโหร่ว 15กรัม , หยวนจื้อ 15กรัม , ซวนเจ่าเหริน 15 กรัม ,  เหรินเซิน 10 กรัม , มู่เซียง 10 กรัม , กานเฉ่า 6 กรัม

การวิเคราะห์จากการศึกษาวรรณกรรม
 •  จากการวิเคราะห์วรรณกรรม จุดที่เลือกใช้บ่อยทางเวชปฏิบัติ ได้แก่ ไป่หุ้ย เสินถิง ซื่อเสินชง เน่ยกวน เสินเหมิน ซานอินเจียว ไป่หุ้ย เสินถิง เป็นจุดของเส้นลมปราณตู เชื่อมกับสมอง สามารถยกหยางทำให้สมองปลอดโปร่ง

 •  ซื่อเสินชงเป็นจุดนอกระบบ ช่วยเสริมสรรพคุณของจุดไป่หุ้ยในการยกกระจายหยางบริสุทธิ์ ทำให้สมองปลอดโปร่ง สงบเสิน เน่ยกวนเป็นจุดของเส้นลมปราณมือเจว่อินเยื่อหุ้มหัวใจ มีสรรพคุณปรับสมดุลชี่ดูแลเสิน

 •  จุดเสินเหมินสังกัดเส้าอิน เป็นจุดหยวนของเส้นลมปราณหัวใจ เป็นประตูเข้าออกของชี่หัวใจ  หัวใจเก็บกักเสิน ฝังเข็มที่จุดเสินเหมินสามารถสงบหัวใจและเสินได้

 •  ซานอินเจียวสังกัดเส้นลมปราณเท้าไท่อินม้าม เส้นเท้าทั้งสามตัดกันที่จุดนี้ ฝังโดยใช้วิธีระบายเพิ่มด้วยการรมยาสามารถปรับสมดุลม้ามและกระเพาะอาหาร เสริมบำรุงตับและไต บำรุงไขสมอง สรรพคุณหลักคือ ทำให้นิ่ง สงบเสิน เสริมบำรุงม้ามและไต สงบเสิน ทำให้สมองปลอดโปร่ง

การวิเคราะห์จาก Typical case
 • คุณหลิว เพศหญิง อายุ 72 ปี เวียนศีรษะมา 30 ปี อาการหนักขึ้น 2 วัน จึงเข้ามารักษาตัวที่แผนกผู้ป่วยใน

• อาการที่พบระหว่างเข้ารับการรักษา :เวียนศีรษะ ไม่สามารถยืนได้ วิตกกังวลร่วมกับหวาดกลัว ใจสั่น แน่นหน้าอก ปากขม คอแห้ง รู้สึกมีสิ่งแปลกปลอมติดคอ ไอมีเสมหะขาวเหนียว  การรับประทานและการนอนหลับแย่ มักฝันร้าย เข้านอนลำบาก มักตกใจตื่น ปัสสาวะบ่อย อุจจาระ 3 ครั้งต่อวัน แต่ไม่เหลว ลิ้นคล้ำ ฝ้าลิ้นเหลืองบาง ชีพจรตึงละเอียด มีประวัติเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมและปวดกระเพาะอาหารมาหลายปี
 
• การวิเคราะห์พยาธิสภาพผู้ป่วย : ผู้ป่วยท่านนี้เป็นผู้สูงอายุเพศหญิง อายุเยอะ ป่วยมานาน ชี่ไตพร่อง หน้าที่การเก็บกักไม่ดี ทำให้จำนวนครั้งของปัสสาวะและอุจจาระเพิ่มขึ้น ไตพร่องไม่เก็บหยาง ขึ้นไปรบกวนเสินของหัวใจ ไฟหัวใจไม่อยู่ที่ตำแหน่งที่ควรอยู่ จึงมีอาการใจสั่น และเนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิตกกังวลเป็นเวลานาน ชี่ถุงน้ำดีไม่กระจาย  ชี่และเลือดไม่สมดุล  เมตาบอลิซึมของสารน้ำผิดปกติ ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก ปากขม เหมือนมีอะไรติดคอ อาเจียนเป็นเสมหะเหนียวข้น เป็นต้น

การวินิจฉัย :โรควิตกกังวล ;กลุ่มอาการชี่ไตพร่อง หัวใจและถุงน้ำดีขาดสมดุล

ตำรับการฝังเข็ม :ฝังเข็มจุดไป่หุ้ย อิ๋นถาง เน่ยกวน  หยางหลิงเฉวียน และเพื่อดึงชี่กลับแหล่งพำนัก (จงหว่าน เวี่ยหว่าน ชี่ไห่ กวนหยวน)

รมยาที่จุดเก๋อซู ต่านซู เซิ่นซู มิ่งเหมิน จุดละ 5 จ้วง  ฝังเข็มใต้ผิวหนังที่จุด ซินซู ต่านซูสลับกัน
ร่วมกับการรับประทานยาอันเสินติ้งจื้อหวาน หลังจากนั้น7 วัน อาการของโรควิตกกังวลทั้งหลายดีขึ้นอย่างชัดเจน

จากนั้นแพทย์จีนได้ประเมินให้ใช้ตำรับรักษาอาการเวียนศีรษะกับตำรับรักษาอาการวิตกกังวลในเข้างต้นสลับกัน รักษา 20 วัน อาการทั้งหลายดีขึ้น ให้ผู้ป่วยย้ายออกโรงพยาบาลและมาตรวจตามนัดที่คลินิกผู้ป่วยนอกได้ตามปกติ

ข้อมูลโดย ศาสตราจารย์หวัง เว่ย
แห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน
สาธารณรัฐประชาชนจีน
E-mail : wangweitcm@163.com

แปลและเรียบเรียงโดย 
แพทย์จีนปิยะมาศ เมืองใชย  (แผนกฝังเข็ม)

อ่านข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม

1. ฝังเข็มเจ็บไหม-อันตรายหรือไม่
2. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
3. การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
4. การรักษา Stroke中风-จ้งเฟิง-อัมพฤกษ์-อัมพาต

5. การฝังเข็มปลุกสมองเปิดทวาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้