ปวดหัวในมุมมองหมอจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  8906 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดหัวในมุมมองหมอจีน

เมื่อพูดถึง “อาการปวดศีรษะ” ทุกท่านล้วนแต่เคยเป็นอาการนี้มาด้วยกันทั้งสิ้น เนื่องจากปวดศีรษะเป็นอาการที่พบบ่อยในทางคลินิก อาจพบเพียงอาการปวดศีรษะเพียงอย่างเดียวหรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วยและอาจเป็นหนึ่งในอาการแสดงของโรคอื่นๆ พบได้ในประชากรร้อยละ 4-5 บางคนแค่พักผ่อนสักครู่อาการก็ดีขึ้น

บางคนอาจต้องรับประทานยา อาการจึงจะทุเลา บางคนอาจนานๆเป็นสักครั้ง แต่ในบางคนเป็นบ่อยและมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  เนื่องจากการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของบุคคลที่แตกต่างกัน พฤติกรรมต่างๆที่ไม่ถูกสุขลักษณะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่ออัตราการเกิดอาการปวดศีรษะ 

จากงานวิจัยพบว่าผู้ปวดศีรษะมีการอาการปวดศีรษะเรื้อรังถึง 70-80% และยังพบว่าอาการปวดศีรษะเรื้อรังมีความสัมพันธ์กับการนอนหลับ  ความเครียด วิตกกังวล ปัญหาทางสุขภาพจิต การเข้าสังคม การประกอบอาชีพ รวมไปถึงปัญหาด้านการเรียน 

ปัญหาต่างๆเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนสิ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ  การรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนด้วยสมุนไพรจีนนอกจากมีผลการรักษาอาการปวดศีรษะเป็นที่น่าพึงพอใจแล้วยังมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อย จึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ป่วยจากทั้งในและต่างประเทศ

อาการปวดหัวในมุมมองศาสตร์การแพทย์แผนจีน


ปวดศีรษะ หรือ “โถวท่ง” (头痛)ถูกบันทึกครั้งแรกไว้ในคัมภีรย์เน่ยจิง โดยเรียกอาการปวดศีรษะว่า “โส่เฟิง” (首风) หรือ “หน่าวเฟิง”(脑风) และยังมีการบันทึกถึงอาการปวดศีรษะในชื่ออื่นๆเช่นแพทย์จีน “หวางเคิ่นถาง” (王肯堂) บันทึกไว้ในตำรา “เจิ้งจื้อซุ่นเซิง” (证治准绳 )ว่า “โถวเฟิง”   (头风)   “โถว” (头)คือศีรษะ ส่วน “เฟิง”(风)หมายถึงลม เนื่องจากเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนลม ตำแหน่งปวดไม่แน่นอน อาการหายได้เอง มีระดับการปวดหนักเบาแตกต่างกันไปและเมื่อหายแล้วมักมีเป็นซ้ำลักษณะดังกล่าวคล้ายลม

 
ปวดศีรษะกับความสัมพัทธ์อินหยาง
หลายท่านคงเคยทราบเกี่ยวกับทฤษฏีอินหยางกันมาบ้างแล้ว เนื่องจากอินหยางเป็นพื้นฐานของการแพทย์แผนจีน ทั้งการวินิจฉัยในศาสตร์การแพทย์แผนจีนตามหลัก “ปากางเปี้ยนเจิ้ง”(八纲辨证) ได้มีการวินิจฉัยโรคตามหลักอินหยางไว้ อาการปวดศีรษะจึงแบ่งตามหลักอินหยางได้คร่าวๆดังนี้


อิน (阴) คือ พระจันทร์ กลางคืน ความเย็น ความมืด รูปธรรม  ผู้ที่ปวดศีรษะตอนกลางคืนไม่ว่าอาการจะหนักหรือเบา ไม่ว่าจะปวดศีรษะแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หากอาการกำเริบหรือปวดหนักมากขึ้นในตอนกลางคืนจัดอยู่ในกลุ่มสเว่ปิ้ง (血病:โรคที่เกี่ยวกับเลือด) หรือ กลุ่มอินปิ้ง (阴病 : โรคที่เกียวกับอิน)

หยาง (阳) คือ พระอาทิตย์ กลางวัน ความร้อน นามธรรม ผู้ที่ปวดศีรษะตอนกลางวันไม่ว่าอาการจะหนักหรือเบา ไม่ว่าจะปวดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หากอาการกำเริบหรือปวดหนักมากขึ้นในตอนกลางวันถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มชี่ปิ้ง (气病 : โรคที่เกี่ยวกับชี่)หรือกลุ่มหยางปิ้ง (阳病 : โรคที่เกี่ยวกับหยาง)

ทั้งนี้เนื่องจากเลือดเป็นสารน้ำภายในร่างกาย เป็นรูปธรรมสามารถมองเห็น จับต้องได้จึงจัดว่าเลือดเป็นอิน ส่วนชี่คือลมปราณที่ไหลเวียนทั่วร่างกายเป็นนามธรรม ไม่สามารถมองเห็นได้จึงจัดเป็นหยาง

- อ่าน - ทฤษฎีอิน-หยาง = พื้นฐานการแพทย์แผนจีน


ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับความร้อนแล้วเกิดอาการปวดศีรษะหรืออาการปวดเป็นหนักมากขึ้น เมื่อได้รับความเย็นแล้วอาการปวดทุเลาลง จัดว่าเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มหยางปิ้ง ในทางกลับกันหากผู้ป่วยได้รับความเย็นแล้วอาการปวดหนักขึ้น และเมื่อได้รับความร้อนอาการปวดลดลงผู้ป่วยที่มีภาวะเช่นนี้จัดอยู่ในกลุ่มอินปิ้ง

อิน หยาง เป็นพื้นฐานหลักของการแพทย์แผนจีน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การรับประทานยาจีนและการฝังเข็มสามารถที่ช่วยปรับอินหยางให้สมดุลได้ การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้นเป็นการรักษาแบบองค์รวมมีความซับซ้อน  ผู้ป่วยจึงควรได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ปวดศีรษะรักษาได้โดยการฝังเข็ม

ต้นทางแห่งความปวด



บทความโดย แพทย์จีนกฤตยา   โจ้งจาบ  แผนกอายุรกรรม
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาศรีราชา


 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้