Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 71006 จำนวนผู้เข้าชม |
“หมอดี ... ยาต้องดีด้วย” เป็นคำกล่าวขานติดปากในประชาชนชาวจีน "หมอดี" คือ หมอที่มีทักษะ มีประสบการณ์ มีความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ "ยาดี" คือเป็นยาสมุนไพรที่สด ปลอดภัยจากสิ่งปนเปื้อน เป็นยาที่มีการแปรรูปได้ถูกต้องตามกรรมวิธีของเภสัชศาสตร์จีน การรักษาจึงจะได้ประสิทธิผล
การต้มยาและการรับประทานยาจีนก็เป็นอีกสองขั้นตอนที่สำคัญในการรักษา การต้มยาในคลินิกนั้นปัจจุบันมีการใช้ระบบต้มยาที่เป็นพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณยาและความเข้มข้นของยาได้ นอกจากรูปแบบของยาต้ม ในปัจจุบันยังพัฒนาเป็นรูปแบบยาชงละลาย (ยาเคอลี่) และยังมีรูปแบบยาอื่น ๆ เช่น ยาบดผง ยาลูกกลอนที่มีส่วนผสมน้ำผึ้งหรือผสมน้ำแล้วทำเป็นลูกกลอน ซึ่งการเลือกใช้รูปแบบยาจะขึ้นอยู่กับลักษณะโรค ระยะเวลาที่รักษาและการออกฤทธิ์ของยานั้น ๆ
การรับประทานยาจีนให้ได้ประสิทธิผล โดยปกติแล้วแพทย์จีนจะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย การรับประทานยาจีนที่ถูกวิธี รวมถึงเวลาที่รับประทาน ขอควรระวังและข้อห้ามต่าง ๆ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผลในการรักษาทางคลินิกนั้นดีขึ้น เห็นผลการรักษาได้ดี ชัดเจนขึ้น
โดยปกติแล้วนั้น ยาจีนหนึ่งห่อ หรือ หนึ่งเทียบ จะต้มสองครั้ง จากนั้นนำมาผสมกัน แล้วค่อยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น การดื่มยาควรดื่มในขณะที่ยายังอุ่น ไม่ร้อนจัด หรือ เย็นจัดจนเกินไป
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานยาจีนให้ได้ผลทางการรักษา มีดังต่อไปนี้
1. ยารักษาโรคอายุรกรรมทั่วไป
ควรรับประทานหลังมื้ออาหารประมาณครึ่งชั่วโมง หากเป็นยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารจะช่วยลดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้
2. ยาประเภทบำรุง หรือ รักษาโรคระบบทางเดินอาหาร
ควรรับประทานก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ดี
3. ยาประเภทฆ่าพยาธิหรือยาระบาย
ให้รับประทานในขณะท้องว่าง
4. ยาที่รักษาสำหรับบางโรคที่มีอาการกำเริบเป็นเวลา
เช่น ยารักษาโรคมาลาเรียให้ทานยาก่อนมาลาเรียกำเริบ
5. ยาที่ช่วยให้จิตใจสงบ หรือ รักษาการนอนหลับ
ควรรับประทานยาก่อนเข้านอน
6. ยาประเภทชาชงให้รับประทานแทนน้ำดื่ม
โดยจิบดื่มแทนน้ำได้บ่อยๆ
7. ในผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียน
ควรต้มยาให้ค่อนข้างเข้มข้น แต่มีปริมาณน้อย แล้วแบ่งรับประทานหลายๆ ครั้ง
8. โดยทั่วไปควรดื่มยาในขณะที่ยามีอุณหภูมิอุ่นๆ ไม่ร้อนจัด และไม่เย็นจัด
9. ในกรณีมีการรับประทานยาแผนปัจจุบันร่วมด้วย
ให้รับประทานยาจีนหลังจากรับประทานยาแผนปัจจุบันแล้ว 1 ชั่วโมง เพื่อมิให้ยาแต่ละประเภทขัดแย้งสรรพคุณกัน และยาแต่ละประเภทได้แสดงสรรพคุณทางการรักษาได้อย่างเต็มที่
10. หากผู้ป่วยมีการรับประทานยาละลายลิ่มเลือด ควรแจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อนทุกครั้ง เพราะยาจีนบางชนิดอาจเสริมฤทธิ์ละลายลิ่มเลือดได้ด้วย เมื่อแพทย์ทราบข้อมูลแล้วจะได้ปรับเปลี่ยนชนิดของตัวยาสมุนไพรจีนหรือปริมาณให้มีความเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตามวิธีการรับประทานยาจีนที่เหมาะสมมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปตามภาวะอาการและคำแนะนำเพิ่มเติม รวมไปถึงข้อควรระวังในยาแต่ละตำรับแต่ละประเภท ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะในผู้ป่วยบางราย การรับประทานยาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะบุคคล เช่น อาการของโรค สภาพร่างกายพื้นฐานของผู้ป่วยและปัจจัยอื่นๆ เป็นต้น
ข้อแนะนำเพื่มเติม
การรับประทานยาสมุนไพรจีนในช่วงแรก ๆ หรือในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนยา จะมีช่วงที่ร่างกายอยู่ในระหว่างการปรับสมดุล อาจพบอาการอ่อนเพลีย อาการท้องเสียเล็กน้อย หรือวิงเวียนศีรษะได้บ้าง 2 – 3 วัน หากอาการเหล่านี้มีอยู่ตลอดระยะเวลาที่รับประทานยา ควรหยุดยาและแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยาอีกครั้ง
ข้อควรระวังทั่วไป
1. ยาที่มีฤทธิ์ขับเหงื่อและยาระบาย
* ยาชนิดขับเหงื่อ เมื่อรับประทานยาแล้วมีเหงื่อซึม ควรระมัดระวังไม่ให้ร่างกายโดนลม
* ยาชนิดระบาย เมื่อได้ผลการรักษาตามที่ต้องการในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ควรหยุดรับประทาน
2. ควรหยุดรับประทานทันทีหากเกิดอาการแพ้
ยาสมุนไพรบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการแพ้หรือผลข้างเคียงได้ เช่น มีผื่นขึ้น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากมีอาการเหล่านี้หลังจากรับประทานยาจีน ควรหยุดรับประทานทันทีและแจ้งแพทย์ผู้จ่ายยา
3. การรับประทานยาจีนร่วมกับยาแผนปัจจุบัน
สำหรับผู้ที่รับประทานยาแผนปัจจุบันเป็นประจำ หากต้องการรับประทานยาสมุนไพรจีนร่วมด้วย ควรเว้นระยะห่างในการรับประทานยาแต่ละประเภท อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
มีสมุนไพรบางชนิดที่ควรระวังในการใช้ และการรับประทานร่วมกับยาแผนปัจจุบัน เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง
4. ยาสมุนไพรบางชนิดห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และให้น้ำนมบุตร
ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรระมัดระวังในการใช้ยาและควรอยู่ในการกำกับดูแลโดยแพทย์ที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย
อาหารที่ไม่ควรรับประทานในระหว่างช่วงรักษาและรับประทานยาสมุนไพรจีน
โดยทั่วไปผู้ป่วยทุกรายควรงดอาหารที่มีคุณสมบัติเย็นจัด อาหารมัน อาหารเหม็นคาว อาหารที่ระคายเคืองหรือมีฤทธิ์กระตุ้นรุนแรง ย่อยยาก รสจัด เป็นต้น
เพื่อให้การรักษาโดยวิธีการรับประทานยาจีน ส่งเสริมสรรพคุณของยาเพื่อรักษาอย่างเต็มที่ ดังนั้น ในช่วงระหว่างที่รับประทานยาจีนอยู่นั้น ควรงดเว้นอาหารบางชนิด เพื่อมิให้ยาถูกทำลายสรรพคุณ และร่างกายไม่ได้รับผลกระทบจากการทานอาหารที่ไม่เหมาะสม
1. โรคร้อน ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด ของทอด อาหารที่มีไขมันมาก อาหารรสหวานจัด หรืออาหารที่ให้พลังงานมาก
2. โรคเย็น ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นหรืออาหารดิบ ผู้ป่วยที่มีเสมหะอุดกั้นในทรวง โรคหัวใจขาดเลือด ห้ามทานของมัน และควรงดการสูบบุหรี่และดื่มแอกกอฮอลล์
3. โรคหยางของตับขึ้นบน ทำให้เวียนศีรษะ ไม่ควรทานอาหารเผ็ดร้อน รสจัดจ้าน
4. โรคกระเพาะอาหารอ่อนแอ ไม่ควรทานอาหารเหนียวเหนอะ อาหารที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงรสสำเร็จรูป และของมันๆ
5. โรคผิวหนัง ที่มีอาการคันและแผลอักเสบเป็นหนอง ไม่ควรรับประทานอาหารทะเล เช่น ปลา ปู กุ้ง และอาหารเผ็ดๆ รวมทั้งเห็ดหอม หน่อไม้ เป็นต้น
6. โรคหอบหืด มีอาการไอ ควรลดการสูบบุหรี่ ไม่ควรทานอาหารรสเผ็ด อาหารมันเหนียวเหนอะ อาหารรสหวานมันจัด
7. ผู้ป่วยนอนหลับยาก ควรหลีกเลี่ยงรับประทานเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ ชากาแฟ
8. ผู้ป่วยหยางพร่อง หนาวง่าย พลังความร้อนของร่างกายไม่พอ ต้องหลีกเลี่ยงอาหาร ผักสด ผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น น้ำเย็น น้ำแข็ง
9. ผู้ป่วยอินพร่อง คอแห้ง ร่างกายแห้ง ขาดสารน้ำในร่างกาย ร้อนจากภาวะอินพร่อง (เซลล์แห้ง) ต้องหลีกเลี่ยงเหล้า อาหารเผ็ด ของทอด ของมัน เพราะจะเกิดเสมหะและความร้อนในร่างกายมากขึ้น
วิธีการรับประทานยาจีน
1. ยาจีนชนิดต้ม ควรทานขณะยายังอุ่นๆ โดยเฉพาะยาที่รักษากลุ่มอาการปวดทุกชนิด
2. ยาจีนชนิดเม็ด ควรทานยาพร้อมน้ำอุ่น เหมาะสมกว่าน้ำเย็นจัด
3. ยาจีนชนิดบำรุง ควรทานก่อนมื้ออาหาร 30 นาที
4. ยาจีนชนิดช่วยระบาย หรือ ยาจีนเพื่อขับพยาธิ ควรทานขณะท้องว่าง ก่อนมื้ออาหาร
5. ยาจีนชนิดบำรุงม้าม เสริมม้าม หรือยาจีนตำรับที่มีส่วนประกอบของชนิดยาที่อาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ควรทานยาหลังมื้ออาหาร 30 นาที
6. ยาจีนชนิดช่วยให้สงบ ส่งเสริมการนอนหลับ ควรทานยาก่อนนอน
7. กรณีมีการรับประทานยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาประเภทอื่นๆ ให้เว้นช่วงการทานยาแต่ละประเภท 1 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ยาแต่ละชนิดขัดแย้งทางสรรพคุณกัน
8. ไม่ควรทานยาร่วมกับน้ำชา กาแฟ หรือนม เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารเสียประสิทธิภาพการดูดซึมยา
9. ไม่ควรเติมน้ำตาล น้ำหวาน ลงในยาจีนเพื่อลดความขม เพราะจะทำให้ยาเสียสรรพคุณ
*** กรณีที่นอกเหนือจากนี้ เช่น รายละเอียดการรับประทานยาเฉพาะบุคคล ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป แพทย์จีนจะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วย ***
ข้อควรระวัง
ยาจีนที่ออกฤทธิ์ได้แรง ชัดเจน เช่น ยาจีนชนิดขับเหงื่อ ยาระบาย เมื่อทานยาจีนแล้วอาจมีเหงื่อออก จึงไม่ควรโดนความเย็น เช่น ลม หรือ อยู่ในห้องแอร์เย็นๆ ส่วนยาชนิดระบาย เมื่อทานแล้วอาจจะรู้สึกเหมือนมีอาการท้องเสีย ควรดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อมิให้ร่างกายขาดน้ำ
Q : ทานยาสมุนไพรจีนมีผลข้างเคียงหรือไม่ ?
ยาสมุนไพรจีนหรือยาสมุนไพรไทยหรือยาแผนปัจจุบัน ต่างก็มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่แล้วยาสมุนไพรจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน แพ้ผื่น หรือผลข้างเคียงที่รุนแรง (ความเป็นพิษต่อตับ ไต หรืออวัยวะอื่น) ซึ่งผลข้างเคียงและความเป็นพิษก็จะมีหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายของแต่ละบุคคล อายุ เพศ ปริมาณยา ระยะเวลาและวิธีการใช้ยา นอกจากนี้การใช้ยาหลายชนิดร่วมกันในการรักษารวมถึงอาหารที่รับประทาน อาจทำให้เกิดอันตรกิริยาของยากันเองหรือยากับอาหารทำให้มีผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้
แนะนำว่าหากรับประทานยาสมุนไพรจีนแล้วเกิดผลข้างเคียงหรือผลอันไม่พึงประสงค์ขึ้น ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์ ในการใช้สมุนไพรจีน ควรอยู่ภายใต้การควบคุม ดูแลของแพทย์จีน จะทำให้การใช้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
Q : สมุนไพรจีนสามารถทานคู่กับยาแผนปัจจุบันได้หรือไม่ ?
หลักพิจารณาการใช้ยาสมุนไพรจีนร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ต้องดูตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย ความรุนแรงของโรคที่เป็น รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ ต้องแจ้งประวัติการใช้ยาให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณา ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการเลือกใช้ยา โดยทั่วไปแล้วหากใช้ร่วมกัน ควรเว้นช่วงการรับประทานยาสมุนไพรจีนและยาแผนปัจจุบันให้ห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมง
Q : รูปแบบยาต้ม ยาผงเคอลี่ ยาเม็ดสำเร็จรูป มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยกลุ่มใด และให้ผลการรักษาที่แตกต่างกันหรือไม่ ?
ยาต้ม คือการนำยาสมุนไพรจีน (อิ่นเพี่ยน) มาต้มกับน้ำ แล้วรับประทานโดยทั่วไปแล้วยาต้มนั้นเหมาะสมกับโรคในระยะเฉียบพลันและที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากรูปแบบยาต้มสามารถดูดซึมผ่านลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดและออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว มีจุดเด่นตรงที่แพทย์สามารถตั้งสูตรตำรับปรับชนิดของยาและปริมาณให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะรายได้ ทำให้ผลการรักษานั้นได้ผลดี แต่มีข้อด้อยตรงที่วิธีการต้มยาที่ใช้เวลานานและการพกพาอาจจะไม่สะดวก มีกลิ่นและรสยาที่ค่อนข้างฉุน
ยาเคอลี่ คือ การนำยาสมุนไพรจีน (อิ่นเพี่ยน) มาผ่านกรรมวิธีการสกัดแล้วทำให้แห้งอยู่ในรูปแบบผงที่มีลักษณะเป็นเกล็ด โดยทั่วไปแล้วมีความเข้มข้นสูงกว่ายาต้ม จึงทำให้ขนาดของยาที่รับประทานนั้นน้อยกว่า มีความสะดวกในการพกพา เพียงแค่ผสมชงกับน้ำอุ่นก็สามารถรับประทานได้ทันที มีกลิ่นและรสของยาที่อ่อนลง ทั้งนี้แพทย์จีนจะเป็นผู้ที่กำหนดขนาดรับประทานเคอลี่โดยเปรียบเทียบกับยาต้ม
ยาสำเร็จรูป คือยาเตรียมรูปแบบต่าง ๆ ที่มีหลากหลาย มีรูปแบบในการรับประทานที่พบเห็นทั่วไป เช่น แคปซูล ยาเม็ดลูกกลอน ยาเม็ดตอก (tablet) รูปแบบยาใช้ภายนอก เช่น ยาผง ยาขี้ผึ้ง ครีม โดยทั่วไปยาสำเร็จรูปนั้นเหมาะกับโรคเรื้อรัง หรืออาการของโรคไม่รุนแรงมากนัก ใช้ในการรักษาควบคุมอาการของโรคในระยะยาว และใช้กับกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป จะไม่ได้เฉพาะเจาะจงต่อผู้ป่วยรายใดรายหนึ่งเหมือนกับยาต้มหรือยาเคอลี่
แพทย์แผนจีนจะเป็นผู้พิจารณาเลือกรูปแบบยาให้ตรงกับผู้ป่วย โดยจะพิจารณาโรคที่เป็น รวมถึงความรุนแรงของอาการและช่วงระยะเวลารักษา การดำเนินของโรคอยู่ในช่วงใด โดยหากเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม ข้อเด่นข้อด้อยของยาแต่ละรูปแบบก็จะให้ผลการรักษาที่ดีเช่นกัน
Q : ยาสมุนไพรจีนมีสเตียรอยด์หรือไม่ ?
โดยธรรมชาติของสมุนไพรจะไม่มียาสเตียรอยด์ที่เป็นสารสังเคราะห์ ซึ่งสเตียรอยด์ที่เป็นสารสังเคราะห์นั้นถือได้ว่าเป็นยาที่มีคุณอนันต์ เมื่อนำมาใช้ในการรักษาทางคลินิกจะให้ผลการรักษาที่เห็นผลรวดเร็ว แต่ในทางกลับกันก็นำมาซึ่งผลข้างเคียงมากมาย โดยจะส่งผลเสียต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบต่อมไร้ท่อ และอื่น ๆ จึงได้มีผู้หวังจะใช้ประโยชน์จากสเตียรอยด์สังเคราะห์ นำมาปนปลอมในยาสมุนไพรรูปแบบต่าง ๆ โดยที่พบส่วนมากจะเป็นยาเม็ดลูกกลอน ซึ่งความจริงแล้วยาเม็ดลูกกลอนเป็นการนำผงยาสมุนไพรหลายชนิดมาผสมกับน้ำผึ้งซึ่งเป็นกระสายยาปั้นให้เป็นลูกกลอน ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์สังเคราะห์ แต่มีองค์ประกอบที่หลากหลายซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคต่าง ๆ โดยทั่วไปสมุนไพรบ้างชนิดอาจจะมีสารสเตียรอยด์ตามธรรมชาติ (Natural Steroid) ซึ่งไม่เหมือนกับยาสเตียรอยด์สังเคราะห์ (Synthetic Steroid) จึงไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
ดังนั้น การใช้ยารูปแบบยาลูกกลอนหรือรูปแบบอื่นๆ ควรจะพิจารณาเลือกโดยดูจากฉลากยาว่ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยาถูกต้องหรือไม่ มีการระบุองค์ประกอบของยาอย่างชัดเจนหรือไม่ รวมถึงสามารถคัดกรองการปนปลอมยาสเตียรอยด์สังเคราะห์ จากชุดตรวจสารสเตียรอยด์สังเคราะห์ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจและความปลอดภัยในการใช้ยา
Q : จะมั่นใจได้อย่างไรว่ายาจีนมีความปลอดภัยและมีคุณภาพ ?
การเลือกใช้ยาสมุนไพรจีน สามารถพิจารณาจากแหล่งผลิตและสถานประกอบโรคศิลปะว่าได้รับอนุญาตถูกกฏหมายหรือไม่ ถ้าเป็นยาสมุนไพรจีนที่นำไปต้มเอง อาจพิจารณาเลือกจากความน่าเชื่อถือของสถานประกอบการรวมถึงแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งสมุนไพรที่ดีและมีความปลอดภัยในการนำมาใช้จะเลือกจากแหล่งผลิตหรือแหล่งเพาะปลูกที่ได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) และเมื่อนำมาผลิตเป็นรูปแบบต่างๆ ก็จะผ่านมาตรฐานการผลิต GMP (Good Manufacturing Practice) นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาจากความถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การขึ้นทะเบียนตำรับยา แหล่งผลิต เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย
ข้อมูลอ้างอิง : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับยาจีน
ISBN 974 -506 -934-5
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567