หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  10689 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

การใช้ชีวิตประจำวันในยุคสมัยใหม่ ล้วนแล้วแต่ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมายทำให้เราละเลยเรื่องการดูแลตนเองที่ถูกต้อง  วันนี้ผมอยากจะแนะนำพฤติกรรมเสี่ยงที่คนไข้หลายๆคนมักจะทำเป็นประจำโดยบางทีก็เป็นความเคยชิน พอทำซ้ำๆบ่อยๆเข้า ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดเลยนะครับหากเราปฏิบัติตนให้ถูกต้อง และใช้งานอวัยวะต่างๆในร่างกายของเราอย่างถูกวิธี  อย่าลืมนะครับว่า อะไหล่รถยนต์ซ่อมแซมได้ เปลี่ยนใหม่ได้ แต่อวัยวะต่างๆในรางกายของเราหากเสื่อมแล้ว ซื้อมาเปลี่ยนให้เหมือนเดิมไม่ได้ ดังนั้น การบำรุง ดูแลรักษาและใช้งานอวัยวะของเราอย่างระมัดระวัง จะช่วยยืดอายุและไม่ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ

เอาล่ะครับ มาดูกันว่า พฤติกรรมหรือวิธีการใช้ชีวิตประจำวันของเรามีอะไรบ้างที่อาจจะทำให้เรามีปัญหาได้

1.  การยกของผิดวิธี  เวลาที่เราก้มลงไปยกสิ่งของนั้น  น้ำหนักของตัวเราจะไปกดลงบริเวณด้านหน้าของหมอนรองกระดูกสันหลัง  ทำให้ของเหลวภายในกระดูกสันหลังถูกดันไปทางดันหลัง  จังหวะที่มีการยกสิ่งของขึ้นมา  กล้ามเนื้อก็จะเกิดการเกร็งตัว  ทำให้แรงดันเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า  จึงทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังที่เสื่อมอยู่ก่อนแล้ว หรือหากมีการทำเป็นประจำบ่อยๆ ซ้ำๆ ก็จะทำให้เนื้อเยื่อของหมอนรองกระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บเรื้อรัง  จนเกิดการบาดเจ็บและทับเส้นเส้นประสาทได้ง่ายครับ


2.  การนั่งที่ผิดตามความเคยชิน  หลายคนจะเข้าใจว่าการนั่งที่ถูกต้องนั้นคือการนั่งตัวตรง ซึ่งก็ไม่ผิด  แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรหาหมอนใบเล็ก ๆ รองที่หลังด้วย  เพื่อลดภาระการทำงานของกล้ามเนื้อหลัง  หากไม่มีอะไรรองเลยจะทำให้หลังแข็งได้ 

เมื่อนั่งเก้าอี้ไปนาน ๆ จะเริ่มรู้สึกเมื่อยล้าที่หลัง คนส่วนใหญ่ก็มักจะเลื่อนตัวไปข้างหน้า  หรือโน้มตัวไปข้างหน้า  ทำให้กล้ามเนื้อหลังและเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกสันหลังเกิดการยืดตัว และแข็งเกร็ง  ท่านี้จะรู้สึกสบายในระยะแรก  แต่พอนั่งไปนาน ๆ เวลามีการเคลื่อนไหวก็จะรู้สึกปวดเมื่อยได้เช่นกัน  ท่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหลังแล้วยังส่งผลกระทบต่อหมอนรองกระดูกโดยตรง  ทำให้หมอนรองกระดูกถูกกดทับตลอดเวลา  ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการเสื่อมได้เร็วยิ่งขึ้น และทำให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ง่าย




3.  การนั่งไขว่ห้าง  การนั่งท่านี้เป็นท่าที่คนส่วนใหญ่ก็นิยมทำกัน  ซึ่งสามารถทำได้แต่ไม่ควรนั่งท่านี้เป็นเวลานาน  เมื่อเรานั่งไขว่ห้างเป็นประจำจะเกิดการเคยชินของกล้ามเนื้อทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังถูกกดไปทางด้านหลังและด้านข้าง  ซึ่งเป็นจุดที่หมอนรองกระดูกสันหลังมีความบอบบางมากที่สุด   นอจากนี้ยังทำให้กระดูกอุ้งเชิงกรานเกิดการผิดรูปอีกด้วย




4. โรคอ้วน   เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ได้ควบคุมปริมาณการกินและโภชนาการที่ดี  ขาดการออกกำลังกายจนทำให้มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป  เมื่อมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้นนั้นแต่กระดูกของเรามีขนาดเท่าเดิม   หมอนรองกระดูกสันหลังก็ต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  เมื่อมีการเคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆ  ก็จะทำให้มีแรงกดไปที่หมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีภาวะแซกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย




5. การขับรถติดต่อกันนานหลายชั่วโมง  ผู้ที่ขับรถเป็นประจำก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า หลังแล้วนั้นยังมีความเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกได้ง่ายอีกด้วย  เนื่องจากท่านั่งเป็นท่าที่มีแรงกดมาที่หมอนรองกระดูกมากที่สุด  อีกทั้งยังอยู่ในท่านี้เป็นเวลานานหลายชั่วโมง  อีกทั้งยังได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการเดินทางอีกด้วย  ยิ่งทำให้ตัวหมอนรองกระดูกได้รับแรงกดเพิ่มหลายเท่า  ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพลงได้ง่าย



6. แม่บ้าน   เป็นงานที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังได้ง่าย เนื่องจากงานบ้านส่วนใหญ่ต้องทำทุกวัน ทำซ้ำๆและบางครั้งต้องใช้แรงมาก เช่น ยืนก้มหน้าล้างจาน  ถูพื้น  ปูเตียง  ท่าทางในการทำงานบ้านต่างๆ เหล่านี้เมื่อทำเป็นประจำก็ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากด้วยเช่นกัน



7. การไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระแรง ๆ  เมื่อมีการไอ , จาม หรือ อุจจาระ แรงดันภายในช่องท้องจะเพิ่มขึ้นหากมีภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมแล้วก็จะเกิดการปริ้นของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ 




บทความโดย แพทย์จีน บดินทร์ ก่อกวิน (กวน จิน ซุ่น)
แผนกทุยหนาและกระดูก
 
สอบถามข้อมูลหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ท่านสามารถแอดไลน์ เพื่อพูดคุย หรือสอบถามแนวทางการรักษาเบื้องต้น
LINE@ ได้ที่ : @huachiewtcm (พิมพ์ @ ด้วยนะคะ)
ตอบคำถาม 24 ชั่วโมง
HOTLINE : 095-884-3518


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้