การฝังเข็มปลุกสมองเปิดทวาร

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  22402 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฝังเข็มปลุกสมองเปิดทวาร

แพทย์จีนมีวิธีการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มแบบ “ปลุกสมองเปิดทวาร” ซึ่งจะขออธิบายเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ของสาเหตุและพยาธิกำเนิดของโรคจ้งเฟิงในทรรศนะของแพทย์แผนจีน โดยแนว คิดใหม่นี้จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับ “เสิน (神)” เป็นพิเศษ

*** อ่านเพิ่มเติม เสิน (神) คืออะไร ?

โดยเฉพาะ “เสิน” ในความหมายในแง่กว้าง ซึ่งหมายถึง  สมอง จิตใจ จิตวิญญาณ  รวมทั้งการแสดงออกต่าง ๆ ของร่างกาย  ซึ่งสามารถใช้เสิน อธิบายพยาธิสรีรวิทยาของการเกิดโรคได้ตามแผนภูมิด้านล่าง 



จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับเสินมาก และมองว่าเสิน ซึ่งควบคุมโดยหัวใจในทางแพทย์แผนจีน ซึ่งเทียบได้กับสมองในทรรศนะของแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากสมองเป็นศูนย์กลางในการควบคุมการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งการแสดงออกทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ การรับรู้ก็ต้องอาศัยสมอง

ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแล้วว่า พยาธิกำเนิดของโรคจ้งเฟิงอยู่ที่สมอง และมีกลไกการเกิดโรคสำคัญคือ “ทวารปิด เสินหลบซ่อน เสินไม่ชักนำชี่ (窍闭神匿,神不导气)” แม้ว่าการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมักจะมีอาการแบบทันทีทันใดก็ตาม แต่ผู้ป่วยมักมีสภาพ พื้นฐานที่อ่อนแอเป็นระยะนานอยู่ก่อน  โดยเฉพาะตับ ไตพร่อง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อสาเหตุและ กลไกการเกิดโรค



ดังนั้น วิธีการฝังเข็มตามแนวดั้งเดิมที่เน้น การขจัดไล่ลมรักษาเส้นลมปราณ (散风治络) ที่เน้นการปักเข็มแนวเส้นลมปราณหยาง โดยเฉพาะเส้นลมปราณหยางหมิงที่มีเลือดลมมาก ดังที่เคยปฏิบัติกันมาอาจไม่เพียงพอ  ในแนวคิด “ปลุกสมองเปิดทวาร (醒脑开窍)” มีมุมมองว่า โรคหลอดเลือดสมองหรือจ้งเฟิง เป็นโรคที่มีอาการหนัก มีอาการแสดงหลายอย่าง ระยะเวลาของโรคนาน ตำแหน่งของโรคอยู่ลึก การรักษาจึงต้องแก้ที่สาเหตุพื้นฐาน คือตับและไตพร่อง โดยมุ่งเน้นการ “หล่อเลี้ยงเสริมบำรุงตับและไต (滋补肝肾)” เป็นหลัก





ในขณะเดียวกัน การที่ผู้ป่วยมีทวารสมองถูกอุดกั้น เส้นลมปราณติดขัด ชี่และเลือดไหลเวียนไม่คล่อง ทำให้แขนขาอ่อนแรงเคลื่อนไหวได้ลำบาก เพื่อให้การฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น จึงต้องมีการรักษาให้เส้นลมปราณไหลเวียนได้คล่องร่วมไปด้วย ซึ่งสามารถสรุปเป็นหลักการสำคัญของการรักษาคือ “ปลุกสมองเปิดทวาร หล่อเลี้ยงเสริมบำรุงตับและไตเป็นหลัก เสริมด้วยการทะลวงเส้นลมปราณให้ไหลเวียนคล่อง (醒脑开窍,滋补肝肾为主,疏通经络为辅)”





แนวคิดในการนำการปลุกสมองเปิดทวารมาใช้ในรักษาโรคหลอดเลือดสมองหรือจ้งเฟิงนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาโรคดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนเทียนจิน เมือง เทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดยศาสตราจารย์ สือเสวหมิ่น (Shi XueMin,石学敏 教授) ได้เริ่มทำการค้นคว้าวิจัย “วิธีการฝังเข็มแบบ ปลุกสมองเปิดทวาร (醒脑开窍针刺法)” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972   ซึ่งมีแนวคิดต่างไปจากการฝังเข็มแบบเดิม โดยนำมาใช้ร่วมกับวิธีการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ







พบว่าให้ผลในการรักษาที่ดีมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติแนวคิดในการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคจ้งเฟิง งานวิจัยของศาสตราจารย์ สือเสวหมิ่น นี้เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์และได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นในระดับประเทศ มีแพทย์แผนจีนทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากเดินทางมาเพื่อศึกษาดูงานด้านนี้ ศาสตราจารย์ สือเสวหมิ่น ได้ใช้หลักพื้นฐานของการรักษาโรคตามแพทย์แผนจีน หลักการฝังเข็ม ร่วมกับทฤษฎีการเกิดโรค ทำการศึกษาค้นคว้า ทดลอง ทดสอบในผู้ป่วยกว่า 20 ปี จนตกผลึกเป็นแนวทางในการรักษา ทั้งในแง่จุดที่เลือกใช้ ทิศทาง ความลึก และความแรงในการกระตุ้นเข็ม 




วิธีปฏิบัติในการฝังเข็มแบบ ปลุกสมองเปิดทวาร
วิธีการฝังเข็มแบบ ปลุกสมองเปิดทวาร เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์จีนมุ่งแก้ไขกลไกพื้นฐานของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโดยตรง ซึ่งมีการบดบังทวารสมองจากเลือดคั่ง ลมตับ เสมหะ เป็นต้น ทำให้ทวารสมองปิด เสินถูกปิดบัง  เสินไม่สามารถชักนำชี่ได้ (窍闭神匿,神不导气) การฝังเข็ม โดยวิธีนี้จะเลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณอิน และเส้นลมปราณตูเป็นหลัก ร่วมกับการใช้เทคนิคเฉพาะในการฝังเข็มเพื่อเพิ่มผลการรักษา ซึ่งพบว่า ถ้าสามารถเริ่มฝังเข็มได้เร็วเท่าไหร่ ผลการรักษาก็จะยิ่งดีและเร็ว ในทางปฏิบัติ ถ้าผู้ป่วยมีสัญญาณชีพ (โดยเฉพาะค่าความดันโลหิต) ที่สม่ำเสมอหรือค่อนข้างคงที่ ก็สามารถเริ่มใช้การฝังเข็มร่วมไปกับวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้ทันที







ปัญหาร่วมที่พบบ่อยในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองและการแก้ไข
1. Pseudobulbar palsy (假球麻痹) ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการกลืนลำบากหรือสำลัก แพทย์จีนจะรักษาโดยการฝังเข็มเพื่อเพิ่มกลไกการเปิดปิดสะดวก หยางชี่ไหลเวียนคล่อง ช่วยหล่อเลี้ยงสมอง ไขกระดูก ทำให้ทวารสมองปลอดโปร่ง  เพื่อกระตุ้นรีเฟล็กซ์ที่ผนังคอโดยตรงร่วมด้วย มีรายงานการใช้ในผู้ป่วย 521 ราย พบว่าอาการหายร้อยละ 65 และได้ผลดีร้อยละ 20



2. ปัญหามือกำไม่คลาย มักพบในผู้ป่วยกล้ามเนื้อมีการฟื้นตัวแล้ว  การแก้ไขอาการโดยเลือกใช้จุดฝังเข็มช่วยทะลวงปรับลมปราณและเอ็น ลดอาการเกร็ง   รวมไปถึงกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชาที่ปลายนิ้วมือร่วมด้วย  ซึ่งการฝังเข็มจะให้ผลดีในการรักษา





3. ปัญหาไหล่ติด ข้อไหล่อักเสบ มักมีสาเหตุจากการที่ผู้ป่วยมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง แล้วขาดการบริหาร ไม่ได้มีการขยับข้อไหล่เป็นเวลานาน ทำให้ข้อไหล่เกิดพังผืด มีอาการติดขัด การรักษา ใช้การปักเข็มที่จุดบริเวณรอบหัวไหล่ เน้นปักเข็มแบบระบายด้วยวิธีซอยเข็ม หรือปั่นเข็ม กรณีที่มีจุดกดเจ็บชัดเจน  อาจใช้การปล่อยเลือดที่จุดนั้น ๆ แล้วครอบกระปุก นอกจากนี้ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้พยายามขยับหรือบริหารหัวไหล่เองด้วย อย่างไรก็ตามการบริหารหัวไหล่ควรทำด้วยความระมัดระวัง  เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมีกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ฝ่อ การบริหารที่เกินพิสัยการเคลื่อนไหวอาจทำให้ข้อไหล่หลุดหรือเคลื่อนได้



4. ปัญหาข้อเข่าอ่อนแรง ผู้ป่วยที่มีภาวะอัมพาตครึ่งซีก บางรายกล้ามเนื้อที่จะมาพยุงบริเวณข้อเข่าอ่อนแรงไปด้วย บางครั้งผู้ป่วยเดินแล้วเกิดข้อเข่าบิดได้ กรณีนี้อาจป้องกันโดยการปักเข็มเสริมที่จุดหลักและจุดร่วม

5. ปัญหาเท้าตก (足下垂) หรือ foot drop ทำให้เวลาเดินผู้ป่วยต้องงอตะโพก และสะบัดข้อเข่า  แพทย์จีนจะรักษา โดยการฝังเข็มในจุดฝังเข็มที่ช่วยเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อ tibialis anterior

6. ปัญหาเท้าบิดเข้าใน (足内翻) หรือ Talipes varus เป็นอีกปัญหาที่พบบ่อย ปัจจุบันยังไม่มีจุดฝังเข็มที่ได้ผลดี แต่ในผู้ป่วยบางราย พบว่าหลังปักเข็ม  สามารถดัดเท้าของผู้ป่วยกลับมาได้เกือบปกติทันที แต่เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งเท้ามักบิดเข้าด้านในอีก อาจจะต้องทำซ้ำในครั้งถัดไป  ปกติมักไม่ได้ใช้วิธีนี้ในการฝังเข็มทุกครั้ง  เนื่องจากค่อนข้างเจ็บเมื่อปักเข็ม  ในบางกรณีแพทย์จีนจะใช้วิธีฝังเข็มแบบกระตุ้นจนผู้ป่วยรู้สึกกระตุกบริเวณข้อเท้าตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการฝังเข็ม จะช่วยป้องกันปัญหาเท้าบิดเข้าในได้

7. ปัญหากล้ามเนื้อแข็งเกร็ง (肌张力高) หรือ spasticity พบบ่อยบริเวณไหล่ แขนท่อนบน  ทำให้ยกแขนไม่ขึ้น ข้อศอกอยู่ในลักษณะงอ อีกบริเวณที่มักพบ คือ ต้นขาด้านใน การรักษาใช้วิธีการหาจุดที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ (motor point) แล้วปักเข็มเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายพร้อมกับขยับข้อไหล่ หรือข้อศอกของผู้ป่วยให้ยืดออก เช่น กรณีกล้ามเนื้อ Biceps เกร็งมากจนข้อศอกงอ อาจปักเข็มบริเวณใกล้เอ็นของกล้ามเนื้อ ให้กล้ามเนื้อคลายจากการเกร็ง พร้อมกับขยับข้อศอกผู้ป่วย หรือในรายที่กล้ามเนื้อเกร็งมาก มีจุดกดเจ็บชัดเจน อาจใช้การปล่อยเลือดตรงจุดนั้นพร้อมครอบกระปุก หรือทำการครอบกระปุกแบบเคลื่อนที่ (走火罐)นอกจากนี้การทำกายภาพบำบัดร่วมด้วยจะช่วยได้มาก

นอกจากนี้แพทย์จีนที่รักษายังเลือกใช้ชุดจุดบริเวณแขนหรือขา เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาตามการวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการของโรค ตามหลักแพทย์แผนจีน  เช่น

-  พยุงหรือฟื้นฟูชี่หลัก (扶正)
-  ทะลวงเส้าหยางและปรับตับควบคุมชี่ (疏利少阳,疏肝理气)
-  กระตุ้นสารสะอาด (ชิงชี่) ขึ้นบน ทำให้สารขุ่นลงล่าง (升清降浊)
-  เสริมหัวใจสงบเสิน (益心安神)
-  ขับร้อนระบายหยางหมิง (清泄阳明)
-  ดับลมภายในหยุดเกร็ง (熄风止痉)

สรุปจุดเด่นของการฝังเข็มตามแนวคิด “ปลุกสมองเปิดทวาร”
1. เป็นวิธีรักษาที่มีพัฒนาการมาจากความเข้าใจ ในสาเหตุและกลไกการเกิดโรค โดยการที่พบ ว่า สมองกับเสินมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และโรคมีสาเหตุพื้นฐาน คือ “บนแกร่งแต่ล่างพร่อง (证是上实,而上实由于下虚)” และมีกลไกร่วมคือ “ทวารปิดเสินหลบซ่อน (窍闭神匿)”

2. มีการพัฒนา วิธีการเลือกและจับคู่จุดที่ใช้ โดยมีจุดจากเส้นลมปราณอินเป็นหลัก ต่างจากในอดีตที่ใช้จุดจากเส้นลมปราณหยางเป็นหลัก เนื่องจากต้องการเน้นการบำรุงล่างพร่อง (ตับและไตพร่อง) ร่วมกับการปลุกสมองให้กลับมาทำงานตามปกติ

3. มีการทดสอบและศึกษาถึง ทิศทาง ความลึก วิธีการกระตุ้นเข็ม และความแรงที่ใช้ในจุดฝังเข็มแต่ละจุด เป็นหลักการที่แน่นอน และพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

สอบถามข้อมูลหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ท่านสามารถแอดไลน์ เพื่อพูดคุย หรือสอบถามแนวทางการรักษาเบื้องต้น
LINE@ ได้ที่ : @huachiewtcm (พิมพ์ @ ด้วยนะคะ)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

1. ฝังเข็มเจ็บไหม ? อันตรายหรือไม่ ?
2. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
3. รายชื่อแพทย์จีนเฉพาะทางด้านระบบประสาทและสมอง


ข้อมูลประกอบบทความ  : การฝังเข็มรมยา เล่ม 4
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาชนจีน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้