Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 17688 จำนวนผู้เข้าชม |
ศาสตร์การแพทย์แผนจีน เรียกโรคหลอดเลือดสมองว่า “จ้งเฟิง (中风)” หมายถึง โรคที่มีอาการหน้ามืด ล้มลงหมดสติฉับพลัน ร่างกายครึ่งซีกอ่อนแรง ปากเบี้ยว เห็นภาพซ้อน พูดติดขัด หรืออาจไม่มีอาการล้มลงหมดสติ แต่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก จนถึงอาการ ปากเบี้ยว เห็นภาพซ้อน
Cr.Pic : www.epochtimes.com.tw
ลักษณะพิเศษของโรคจ้งเฟิง คือ "เกิดอาการฉับพลันชัดเจน" จากหลายสาเหตุ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีลักษณะคล้ายกับลมในธรรมชาติ ซึ่งเคลื่อนไหวเร็วและเปลี่ยนแปลงง่าย คำว่า 中 (จ้ง) แปลว่า ถูกกระทำ และ 风 (เฟิง) แปลว่า ลม "จ้งเฟิง" โดยรูปศัพท์จึงหมายถึง "โรคที่ถูกกระทำโดยลม"
โรคจ้งเฟิงจัดเป็นปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ ของการแพทย์จีน และยังเป็นโรคที่ได้ชื่อว่า “สามสูงในหนึ่งเดียว (三高一多)” คือ เป็นโรคที่มีอัตราการเกิดโรคสูง อัตราตายสูง และอัตราพิการสูง
ประวัติเกี่ยวกับโรคจ้งเฟิง (Stroke) โรคหลอดเลือดสมอง
โรคจ้งเฟิง เป็นโรคที่มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ทางการแพทย์จีนทุกยุคสมัย เป็นเวลายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยมีชื่อเรียกและทัศนะต่อโรคต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย
คัมภีร์เน่ยจิง (内经) คัมภีร์การแพทย์จีนที่สมบูรณ์และสืบทอดมากว่า 2000 ปี ได้บันทึกเกี่ยวกับอาการของโรคจ้งเฟิง ในการดำเนินของโรคที่ต่างกัน โดยเรียกภาวะหน้ามืดล้มลง หรือเกิดอาการฉับพลัน ว่า ผู่จี๋ (朴击) ต้าเจี๋ย (大厥) หรือ ป๋อเจี๋ย (薄厥) และในกรณีที่อ่อนแรงครึ่งซีก ใช้คำว่า เพี่ยนกู (偏枯) เพี่ยนเฟิง (偏风) หรือ เฟ่ยเฟิง (痱风)
เกี่ยวกับสาเหตุของโรค คัมภีร์เน่ยจิง ได้บันทึกไว้หลายแห่ง เช่น
- ในภาค หลิงซู บท ชื่อเจี๋ยเจินเสีย (灵枢,刺节真邪) กล่าวว่า เมื่อพร่อง สิ่งก่อโรคเข้ารุกราน...เกิดเป็นเพี่ยนกู
- ในภาค หลิงซู บท เชิงชี่ทงเพี่ยนลุ่นเปี้ยน (灵枢,生气通天论篇) หยางชี่ จากการโกรธจัด... เลือดจะคั่งที่ส่วนบนทำให้เกิด ป๋อเจี๋ย
- ในภาค ซูเวิ่น บท เถียวจิงลุ่นเปี้ยน (素问,调经论篇) ชี่ที่ไปกับเลือดโถมขึ้นส่วนบน เกิดต้าเจี๋ย หากรุนแรงทำให้ตายได้ หากชักนำชี่กลับลงล่างได้จะรอด หากกลับไม่ได้จะตาย
- ในภาค ซูเวิ่น บท ทงผิวซวี่สือลุ่นเปี้ยน (素问,虚实论篇) ผู่จี๋ และ เพี่ยนกู เกิดจากป่วยเป็นโรคจากอาหารการกิน
สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) แพทย์ จางจ้งจิ่ง (张仲景) ได้บันทึกตำราเกี่ยวกับโรคที่มีอาการไข้จากความเย็นชื่อว่า ซางหันจ๋าปิ้งลุ่น (伤寒杂病论) ได้กล่าวถึงโรคจ้งเฟิง ใน 2 ความหมาย คือ โรคไข้ที่เกิดลมภายนอกมากระทำ เรียกว่า “ซางหันจ้งเฟิง (伤寒中风)” และโรคที่เกิดจากลมภายในเรียกว่า “จ้งเฟิง (中风)” รวมทั้งได้บันทึกอาการของโรคไว้ในคัมภีร์ จินคุ่ย (金匮) ว่า “ลมก่อให้เกิดโรค มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ขยับไหล่ไม่ได้ ปวดชา ชีพจรเบาเร็ว” ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับโรคจ้งเฟิงในปัจจุบันนั่นเอง
ในยุคก่อนราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุของโรคยังคงเชื่อว่า เกิดจากลมภายนอกเป็นหลักและมีพร่องภายใน จนถึง ราชวงค์จิน-เหยวียน (ค.ศ. 1115-1234 และค.ศ. 1206-1368) ได้เกิดแนวคิดทฤษฎีใหม่ว่า สาเหตุและกลไกการเกิดโรคมาจากปัจจัยภายใน เช่น แพทย์ หลี่ตงเหยวียน (李东垣) เสนอว่า “เจิ้งชี่ (正气) อ่อนแอ ทำให้ลมภายในเคลื่อนไหวแปรปรวน” และ “โรคจ้งเฟิงมีสาเหตุจากการที่ชี่ดั้งเดิม (元气) พร่อง ทำให้ไฟหัวใจกำเริบ”
แพทย์ จูตานซี (朱丹溪) เสนอเรื่องสาเหตุของโรคเกี่ยวกับเสมหะว่า
“ภาวะพร่องแล้วมีเสมหะ ทำให้เกิดอัมพาตครึ่งซีก” และ “ความชื้นเสมหะทำให้เกิดความร้อน”
แพทย์ หวางหลี่ มีมุมมองจากสาเหตุของโรคแล้ว
เสนอแบ่ง จ้งเฟิง เป็น “เจินจง (真中)” และ “เน่ยจง (类中)”
สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) แพทย์ จางจิ่งเอี้ย เสนอแนวคิด
“สาเหตุของโรคเกิดจากการสะสมของการบาดเจ็บภายใน (เฟยเฟิง: 非风)”
โดยในหนังสือ จิ่งเอี้ยเฉียนซู เฟยเฟิง (景兵全书,非风) กล่าวว่า
“บรรดาคนที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่เกิดจาก ไม่ระมัดระวังอาหารที่กิน หรือการดื่มสุรามากไป หรือเกิดอาการบาดเจ็บภายในจากอารมณ์ทั้งเจ็ด หรือหมกมุ่นกิจกรรมทางเพศมากไป ทำให้เกิดอินพร่องก่อน แล้วเกิดหยางพร่องตามมา อินลงล่าง หยางขึ้นบน จนถึงอินหยางไม่อยู่ด้วยกัน สารจำเป็น (จิง) และชี่ไม่เนื่องกัน เป็นสาเหตุให้เกิดอาการหน้ามืดล้มลงฉับพลัน”
นอกจากนี้ แพทย์ในยุคเดียวกัน ได้อรรถาธิบายอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยด้วยโรคจ้งเฟิง โดยมีสาเหตุมาจากลมภายในเป็นหลัก รวมถึงการมีชี่สวนทางย้อนขึ้น และมีเสมหะคั่งที่ส่วนบนของร่างกาย แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุจากลมภายในยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นัก ในยุคนี้ แพทย์ หลี่จงจื่อ เสนอให้แบ่ง จ้งเฟิง เป็น ปี้เจิ้ง และ ทัวเจิ้ง
สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) มีการศึกษาและเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องลมภายใน จึงสรุปว่า กลไกสำคัญในการเกิดโรคจ้งเฟิง คือ ลมภายในที่เคลื่อนไหวสะเปะสะปะ (内风妄动) และกล่าวถึงตับซึ่งเป็นอวัยวะที่เกี่ยวกับลม ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค เช่น แพทย์ เอี้ยเทียนซื่อ (叶天士) กล่าวว่า
“ตับเป็นอวัยวะเกี่ยวกับลม เนื่องจากจิงและเลือดพร่องขาด เสมือนต้นไม้ขาดน้ำหล่อเลี้ยง ไม้ไม่เจริญงอกงาม ทำให้ หยางตับแกร่ง ก่อให้เกิดลมภายใน
(肝为风脏,因精血衰耗,水不涵木,木少灌荣,故肝阳偏亢,内风时起)”
ซึ่งเป็นการจำแนกพยาธิกำเนิดอย่างหนึ่งของโรคจ้งเฟิง ที่ยังใช้ในทางคลินิกตราบเท่าปัจจุบัน ในยุคนี้ แพทย์ หวางชิงเยิ่น แนะนำให้ใช้ยาตำรับ ปู่หยางหวนอู่ทัง (补阳还五汤) ในการรักษาอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งเป็นตำรับที่ใช้กันบ่อย
หลังจากประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. 1949) การแพทย์จีน ได้จัดโรคจ้งเฟิง เป็นโรคทางอายุรกรรม โดยให้คำจำกัดความว่า
“เป็นโรคที่มีอาการหมดสติล้มลง ไม่รู้สึกตัวฉับพลัน มีเสมหะน้ำลายแออัดและคั่ง เมื่อฟื้นมักมีภาวะรู้สึกตัวไม่ปกติ มีอัมพาตครึ่งซีก หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด เป็นต้น”
ตามความหมายนี้โรคจ้งเฟิง จึงครอบคลุมถึงโรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disease) ของการแพทย์แผนตะวันตก นอกจากนี้ยังได้อธิบายสาเหตุว่า “เกิดจากอินและหยางในร่างกายเสียสมดุล อินจมลงสู่ส่วนล่าง หยางมากขึ้นสู่ส่วนบน ขาดน้ำรดไม้ หยางแกร่งแปรสภาพเป็นลม เลือดกับชี่ย้อนขึ้น แทรกซ้อนด้วยเสมหะและความร้อนขึ้นไปปกคลุมทวารที่ปลอดโปร่ง ลุกลามไปรบกวนระบบเส้นลมปราณ (阴阳失调,阴陷于下,阳亢于上,水不涵木,阳化风动,血随气逆,痰热侠杂,蒙蔽清窍,窜扰经隧)” โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ลมภายในที่เคลื่อนไหวมากผิดปกติ และอาจมีปัจจัยชักนำจากลมภายนอกที่มากระทำ
สำหรับประวัติการฝังเข็มรักษาโรคจ้งเฟิง ได้เริ่มมีบันทึกใน คัมภีร์เน่ยจิง ว่า
“เลือกใช้จุดบนเส้น หยางก่อน ตามด้วยจุดบนเส้นอิน”
จากนั้นมีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการรักษาเรื่อยมา ตามองค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละยุค ในสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง ได้กล่าวถึงโรคจ้งเฟิงว่า
“เส้นลมปราณว่างพร่อง ชี่ก่อโรคจากภายนอกเข้ารุกราน”
หลักการรักษา คือ
“เสริมบำรุงเลือดและชี่ ขับไล่ลม ขจัดความเย็นและชี่ก่อโรคออกไป”
ในสมัยราชวงศ์จิน-เหยวียน ได้มีการปรับวิธีการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคนี้ใหม่ โดยแพทย์ จางเหยวียนซู่ (张元素) ได้เสนอหลักการว่า
“โรคจ้งเฟิงต้องเชื่อมต่อเส้นลมปราณ ด้วยการปักเข็มที่ 12 จุดจิ่ง (井穴) เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างหลอดเลือด เส้นลมปราณ เลือดและชี่ ทำให้อินและหยาง เลือดและชี่กลับสู่ภาวะปกติ”
ด้วยหลักการดังกล่าว ได้เกิดวิธีการเลือกจุดปักเข็ม 2 รูปแบบ คือ ใช้หยางชักนำอิน (从阳引阴) และใช้อินชักนำหยาง (从阴引阳) ขณะที่แพทย์ หวาง กว๋อรุ่ย (王国瑞) ได้ใช้วิธีการปักเข็มด้านตรงข้ามกับโรค ตามบันทึกใน คัมภีร์เน่ยจิง ว่า
“ปักเข็มที่แขนขาด้านปกติก่อนด้วยวิธีบำรุง ตามด้วยปักเข็มแขนขาด้านที่เป็นโรคด้วยวิธีระบาย”
ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ได้มีการรักษาโรคจ้งเฟิงตามระยะของโรค โดยแบ่งเป็น ระยะก่อนมีอาการ ระยะฉับพลัน และระยะท้ายหรือระยะแทรกซ้อน โดยในระยะฉับพลันผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว มีการใช้ 12 จุดจิ่ง หรือจุด RenZhong (GV 26) ในระยะแทรกซ้อนมีอัมพาตครึ่งซีก เน้นใช้จุดตามเส้นลมปราณหยาง จนถึงตอนปลายราชวงศ์ชิง เมื่อการแพทย์แผนตะวันตกได้เข้าสู่ประเทศจีน ทำให้ทราบแน่ชัดว่า ตำแหน่งที่เกิดของโรคจ้งเฟิงอยู่ที่สมอง จึงได้ก่อให้เกิดงานวิจัยและการพัฒนาการรักษาโรค ในเชิงบูรณาการของการแพทย์ทั้งสองแผนอย่างใหญ่หลวง
สาเหตุของโรค
ความรู้เกี่ยวกับโรคจ้งเฟิง มีการพัฒนามาโดยตลอดกว่าสองพันปีดังกล่าวมาแล้ว ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า การเกิดโรคมีปัจจัยมาจาก การที่พื้นฐานร่างกายมีชี่เลือดขาดพร่อง ร่วมกับ 3 อวัยวะหลัก ได้แก่ หัวใจ ตับและไต เสียสมดุล เมื่อมีปัจจัยชักนำต่าง ๆ มากระตุ้น จึงทำให้เกิดโรค ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. อายุมากขึ้น ร่างกายเสื่อมถอย
เมื่ออายุมากขึ้น พื้นฐานของร่างกายเสื่อมถอยลงตามวัย เกิดอินตับและไตพร่อง หยางตับแกร่ง หรือร่างกายอ่อนแอ จากการดำเนินชีวิตไม่เหมาะสม เช่น ตรากตรำงานมากเกินไป (ตามทฤษฎีการบาดเจ็บภายในสะสม ของ จางจิ่งเอี้ย) เกิดอินและเลือดพร่อง หยางแกร่งลุกโชนเกิดลมไฟ ผลคือ ส่วนล่างมีอินพร่อง หยางตับแกร่งเกินเปลี่ยนเป็นลมไฟ ชี่และเลือดย้อนขึ้นส่วนบน ปิดทวารสมอง ทำให้เกิดโรคอย่างฉับพลัน
2. การบริโภคอาหารไม่เหมาะสม
การรับประทานหวาน มัน รสจัดเกินไป กินอิ่มมากเกินไป ดื่มสุรามากไป หรือมีรูปร่างใหญ่โตแต่ชี่อ่อนแอ ชี่ของม้ามและกระเพาะพร่อง ม้ามเสียหน้าที่ในการแปรสภาพและลำเลียง ทำให้เกิดเสมหะ ความชื้นสะสม นานวันเข้าเสมหะแปรเปลี่ยนเป็นความร้อน ไปอุดกั้นเส้นลมปราณและปิดกั้นทวารสมอง หรือในกรณีที่หยางตับมากเกินไปข่มม้าม จนการทำหน้าที่ลำเลียงของม้ามเสียไป เกิดเสมหะขุ่นขึ้น หรือไฟตับมากเกินเผาผลาญสารน้ำจนกลายเป็นเสมหะ ลมตับแทรกซ้อนด้วยเสมหะและไฟ เข้าไปตามเส้นลมปราณ ไปปิดกั้นทวารสมอง เกิดหมดสติฉับพลัน แขนขาอ่อนแรง
3. ตรากตรำทำงานหรือหมกมุ่นทางเพศมากไป
การตรากตรำทำงานมากไป ทำให้สูญชี่ ทำลายอิน เกิดอินพร่อง หยางแกร่ง ลมหยางขึ้นส่วนบน ทำให้ชี่และเลือดสวนย้อนขึ้นบน ปิดกั้นทวารสมอง
การมีเพศสัมพันธ์มากไป ทำให้เกิดไฟหัวใจ ทำลายธาตุน้ำของไต ธาตุน้ำไตไม่สามารถคุมไฟหัวใจ เกิดหยางแกร่งแปรเป็นลม
4. ผลกระทบจากอารมณ์
มุ่งมาดปรารถนามากเกินไป ทำให้ไฟหัวใจกำเริบ หรือพื้นฐานร่างกายมีภาวะอินพร่อง ขาดน้ำรดต้นไม้ (ธาตุน้ำสร้างธาตุไม้ตามหลักปัญจธาตุ) ร่วมกับได้รับผลกระทบทางอารมณ์ ทำให้หยางตับเคลื่อนไหวรุนแรง กระตุ้นไฟหัวใจ ทำให้ชี่และเลือดย้อนขึ้นบน เสินหัวใจเลอะเลือน จนถึงไม่รู้สึกตัว
ปกติเก็บกด โมโหง่าย อารมณ์ไม่โปร่งโล่ง ทำให้ชี่ตับติดขัด นานวันเกิดเป็นไฟ หยางตับแกร่ง กระตุ้นธาตุไฟของหัวใจ เลือดลมพุ่งขึ้นจนปิดกั้นทวารสมอง ทำให้เกิดอาการหน้ามืด ล้มลงกะทันหัน
อารมณ์หงุดหงิด เครียดเรื้อรัง เกิดไฟพร่องขึ้น ทำลายอินจิง (สารจำเป็น) นานเข้าเป็นเหตุให้เกิดอินตับและไตพร่อง หยางแกร่งแปรเป็นลม
5. ชี่พร่องร่วมกับลมจากภายนอกเข้ากระทำ
ชี่และเลือดไม่พอ หลอดเลือดว่างพร่อง ลมก่อโรคจากภายนอกเข้าสู่เส้นลมปราณ ทำให้ชี่และเลือดติดขัด กล้ามเนื้อ เอ็นและหลอดเลือดขาดการหล่อเลี้ยง เกิดอาการอ่อนแรง หรือร่างกายมีเสมหะชื้น ร่วมกับได้ผลกระทบจากลมภายนอก กระตุ้นให้เสมหะความชื้นไปอุดกั้นในเส้นลมปราณ จนเกิดอาการอ่อนแรง
กลไกของโรค
1. ตำแหน่งของโรคอยู่ที่สมอง และเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับตับและไต
2. อินตับและไตพร่องเป็นพื้นฐาน ลม ไฟ เสมหะและเลือดคั่งเพิ่มซ้ำเติม
3. กลไกการเกิดโรค เริ่มจากโครงสร้างพื้นฐาน เกิดความไม่สมดุลของอินและหยาง ชี่และเลือดไหล เวียนผิดปกติ เข้ากระทบสมอง
4. อาการของโรคที่ไม่รุนแรง ตำแหน่งของโรคอยู่ที่เส้นลมปราณ สาเหตุเป็นจากลมตับร่วมกับเสมหะเข้าสู่เส้นลมปราณ หลอดเลือดอุดตัน เส้นลมปราณขาดสารหล่อเลี้ยง ทำให้อ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว เป็นต้น
อาการโรคที่รุนแรง ตำแหน่งของโรคอยู่ที่อวัยวะภายใน และแบ่งออกเป็น กลุ่มอาการปิด หรือ ปี้เจิ้ง (闭证) และกลุ่มอาการหลุด หรือ ทัวเจิ้ง (脱证)
กลุ่มอาการปิด จัดเป็นภาวะแกร่ง แบ่งเป็น กลุ่มอาการปิดชนิดอิน หรือ อินปี้ (阴闭) มีสาเหตุจากเสมหะสกปรกอุดตันเส้นเลือด และ กลุ่มอาการปิดชนิดหยาง หรือ หยางปี้ (阳闭) มีสาเหตุจากเสมหะร้อนและความร้อนอุดตันเส้นเลือด
สำหรับกลุ่มอาการหลุด จัดเป็นภาวะพร่อง อินเหือด หยางสลาย อินหยางแยกจากกัน นับว่ามีอันตรายมาก
5. ระยะพักฟื้น เลือดและชี่ ไม่สมดุล หลอดเลือดและเส้นลมปราณมีการไหลเวียนติดขัด
หากตำแหน่งของโรคที่อยู่อวัยวะภายใน สภาพของโรคอันตรายสาหัส การรักษาจะช่วยให้รอดพ้นจากการเสียชีวิต กลับมารับรู้สติดีขึ้น แต่ยังมีภาวะพร่องของตับและไต และยังมีการตกค้างของลม ไฟ เสมหะ และเลือดคั่งอยู่ในเส้นลมปราณ ทำให้การไหลเวียนเลือดและชี่ติดขัด มีอาการครึ่งซีกอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดติดขัด ซึ่งการฟื้นฟูใช้เวลานานและช้า
แผนภูมิที่ 1 สรุปสาเหตุและกลไกการเกิดโรคจ้งเฟิง
กลไกการเกิดโรคจ้งเฟิง (แผนภูมิที่ 1) อาจสรุปตามการแพทย์แผนจีนได้ 4 ประโยค คือ
“ชี่เลือดย้อนขึ้นบน ปกคลุมเสินดั้งเดิม (气血上逆,上蒙元神)”
“เส้นลมปราณติดขัด บดบังทวารที่ปลอดโปร่ง (阻滞经络,蒙闭清窍)”
“ชี่เลือดย้อนขึ้นบน เสินหัวใจเลอะเลือน (气血上逆,心神昏冒)”
“ปัจจัยลมภายนอกกระตุ้นให้เสมหะความชื้นไปอุดกั้นเส้นลมปราณของสมอง
(外风引动痰湿,闭阻经络)”
โดยทำให้เกิดผลรวบยอดสุดท้าย คือ
“ทวารปิดเสินหลบซ่อน เสินไม่ชักนำชี่ (窍闭神匿,神不导气)”
ผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีภาวะหมดสติก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของสาเหตุและตำแหน่งโรค
Cr.Pic : ymaa.com
การแบ่งประเภทกลุ่มอาการของจ้งเฟิง
จ้งเฟิงแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามตำแหน่งของโรค ได้แก่
1. โรคกระทำต่อเส้นลมปราณ หรือ จ้งจิงลั่ว (中经络) ตำแหน่งของโรคค่อนข้างตื้น สภาพอาการของโรครุนแรงน้อยกว่า โดยมีร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่คล่อง แต่สติยังแจ่มใสอยู่ จ้งจิงลั่ว ยังแบ่งออกได้เป็น
- จ้งจิง (中经) มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ปากลิ้นเบี้ยว ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด ร่วมกับ ร่างกายข้างหนึ่งชาเป็นอาการสำคัญ ไม่มีอาการมึนงง
- จ้งลั่ว (中络) มีอาการของร่างกายครึ่งซีก หรือมือแขนด้านใดด้านหนึ่งชา ร่วมกับอาการอ่อนแรง หรือร่วมกับอาการปากลิ้นเบี้ยว
2. โรคกระทำต่ออวัยวะภายใน หรือ จ้งจั้งฝู่ (中脏腑) ตำแหน่งของโรคค่อนข้างลึกกว่า สภาพอาการของโรคค่อนข้างหนัก พบมีอาการครึ่งซีกร่างกายอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่คล่อง และมีปัญหาการรับรู้สติ ตั้งแต่สติไม่แจ่มใสจนถึงหมดสติ ซึ่งใช้เป็นอาการสำคัญในการแยกกลุ่มกับจ้งจิงลั่ว ถ้าแยกย่อยออกไป อาจแยกได้เป็น จ้งจั้ง และ จ้งฝู่
- จ้งจั้ง (中脏) หรือ โรคกระทำต่ออวัยวะตัน มีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว อ่อนแรงครึ่งซีก ปากลิ้นเบี้ยว ลิ้นแข็งพูดไม่ได้
- จ้งฝู่ (中腑) หรือ โรคกระทำต่ออวัยวะกลวง มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ปากลิ้นเบี้ยว ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด ร่างกายข้างหนึ่งชาเป็นอาการสำคัญ ร่วมกับมีอาการมึนงง
จ้งจั้ง หรือ จ้งจั้งฝู่ ยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการใหญ่ (ตารางที่ 1) ได้แก่
กลุ่มอาการปิด หรือ ปี้เจิ้ง (闭证) หรือ กลุ่มอาการตึงเกร็ง (tense syndrome) จัดเป็นกลุ่มอาการแกร่ง มีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว ปากปิด กัดฟันแน่น มือกำแน่น แขนขาเกร็งตึง หายใจแรง
กลุ่มอาการปิด หรือ ปี้เจิ้ง ยังแบ่งออกตามลักษณะของสาเหตุเป็น 2 ชนิด ได้แก่
กลุ่มอาการปิดชนิดหยาง หรือ หยางปี้ (阳闭) มีลักษณะอาการของเลือดคั่ง ความร้อนและเสมหะ ได้แก่ ตัวร้อน หน้าแดง หายใจแรงปีกจมูกขยับ มีเสียงของเสมหะ ท้องผูก ปัสสวะเหลือง ลิ้นแดงเข้มและแห้ง ฝ้าลิ้นเหลืองเหนียว ชีพจรตึง-ลื่น-เร็ว (Xian-Hua-ShuMai)
กลุ่มอาการปิดชนิดอิน หรือ อินปี้ (阴闭) มีลักษณะอาการของความเย็น ความชื้นและเสมหะ ได้แก่ หน้าซีด ริมฝีปากม่วง เสมหะมาก น้ำลายไหลย้อย แขนขาเย็น ลิ้นมีฝ้าขาวเหนียว ชีพจรจมลื่น (Chen-HuaMai)
กลุ่มอาการหลุด หรือ ทัวเจิ้ง (脱证) หรือ กลุ่มอาการอ่อนเปลี้ย (flaccid syndrome) จัดเป็นกลุ่มอาการพร่อง มีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว ตาปิด ปากอ้า มือแบ แขนขาอ่อนไม่มีแรง ปัสสาวะอุจจาระราด เหงื่อแตก หายใจแผ่วเบา
ตารางที่ 3 ลักษณะทางคลินิกของกลุ่มอาการปิด (ปี้เจิ้ง)
และ กลุ่มอาการหลุด (ทัวเจิ้ง)
ข้อมูลประกอบบทความ
การฝังเข็มรมยา เล่ม 4 (การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง)
Acupuncture & Moxibustion volume 4)
ISBN 978-616-11-1176-2
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567