Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 17523 จำนวนผู้เข้าชม |
การเสพติดบุหรี่ เป็นปัญหาที่สำคัญทางสังคมและการแพทย์ ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมนุษย์ มีสารพิษมากกว่า100ชนิดที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ซึ่งก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคปอดอักเสบ ความพิการแต่กำเนิด โรคมะเร็ง อายุขัยสั้นลง เกิดความพิการของทารกในครรภ์ ฯลฯ สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกเสพติดบุหรี่นั้น การรักษาโดยแพทย์แผนจีนมีแนวทางดังนี้
ในทัศนะของแพทย์แผนจีน "บุหรี่เกี่ยวข้องกับปอด" ปอดทำหน้าที่กระจายซี่ กระจายพลังเปรียบเสมือนต้นไม้ของร่างกาย การสูบบุหรี่เข้าไปในทางเดินหายใจเข้าสู่ปอด ทำให้ร่างกายขาดความสมดุล ซี่และเลือดไหลเวียนไม่ดีจนทำให้เกิดโรค การแลกเปลี่ยนออกซิเจนในร่างกายลดลง ไอร้อนจากบุหรี่สะสมในร่างกาย สารเสพติดที่อยู่ในบุหรี่ ในระยะข้างต้นสามารถรักษาได้ แต่พอระยะนานๆ เราไม่สามารถรักษาได้ ลองนึกภาพพุ่มไม้ที่เคลือบยางมะตอย เป็นตะกรันเหนียวๆ เมื่อปอดมีปัญหาเบื้องต้นจะเกิดอาการไอ หากเป็นมากก็จะหอบ ถ้าปอดอุดตัน การทำงานก็จะแย่เหนื่อยง่าย
การฝังเข็มที่จุดพิเศษ TianWeiXue (EX-UE21)
Cr.Photo : www.ebramec.edu.br
เสพติดบุหรี่และต้องการเลิกสูบแบบถาวร
ฝังเข็มที่จุดพิเศษ TianWeiXue อยู่บริเวณข้อมือ กระตุ้นจุดฝังเข็ม ให้เกิดความรู้สึกชาและตึงแน่นบริเวณข้อมือหรืออาจรู้สึกขึ้นไปถึงแขน หรือรู้สึกง่วงซึมหรือเกิดความสุข หรือรู้สึกถึงรสของโลหะหรือรสชาติอื่นๆในปาก ฝังเข็มวันละครั้ง และ 1 - 2 ครั้งก็เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเลิกเสพติดบุหรี่ได้
การฝังเข็มหู
Cr.Photo : www.crew2000.org.uk
จุดบนใบหูที่แพทย์จีนใช้ในการรักษา
Mouth, Tongue, Lung, Liver, Chest, Subcortex, Shenmen, Occiput, Trachea
วิธีการกระตุ้น
ใช้การกระตุ้นจุดใบหูตามมาตรฐานการกระตุ้นจุดบนใบหู
การแปะวัสดุกดจุดหู
มีหลากหลายชนิด ที่นิยมใช้คือ "หวั่งปู้หลิวสิง" (vaccaria segetalis) (สมุนไพรชนิดหนึ่ง) หรือ "เม็ดแม่เหล็ก" หรือวัสดุอื่นที่มีลักษณะกลมผิวเรียบขนาดไม่เกิน 4 ม.ม. ข้อดีคือ ราคาไม่แพง ปลอดภัย ไม่เจ็บ เหมาะสำหรับเด็ก หรือคนที่กลัวเจ็บ กลัวเข็ม ใช้ติดที่จุดหูด้วยเทปกาว คาไว้ 3-5 วัน กดคลึง 1-3 นาที วันละ 3-5 ครั้ง
หูเป็นตัวแทนของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเราเหมือนกัน เหมือนกับฝ่าเท้า โดยการใช้เม็ดแม่เหล็ก หรือ การแปะวัสดุกดจุดหู (นิยมเรียกกันว่า เม็ดผักกาด) ที่ติดกับพลาสเตอร์แปะที่หู ใช้มือกดกระตุ้น 3-4 ครั้ง ครั้งละครึ่งนาที การกระตุ้นเท่ากับการฝังเข็ม คือ กระตุ้นบริเวณที่เราต้องการรักษา ส่วนใหญ่แล้ว การเลิกบุหรี่ มีจุดสำคัญๆ ที่บริเวณจุดเสินเหมิน ที่เกี่ยวข้องกับปอด และหัวใจ ติดครั้งเดียวใช้ได้ร่วมอาทิตย์ ผลการรักษาทำให้คนไข้ไม่รู้สึกอยาก และรู้สึกเหม็นไม่อยากสูบ
การรักษาต้องฝังเข็มวันละครั้ง ประมาณ 2 อาทิตย์ หรือ 14 วัน และต้องเป็นอาการที่อยู่ในช่วงรักษาได้ หากรักษาไม่ได้ เช่น ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองแล้ว ก็ต้องรักษาแบบประคับประคองกันไป เลือกใช้จุด ปาก (口), เสินเหมิน (神门), ปอด (肺), กระเพาะ (胃), และจุดสมอง (脑) เป็นต้น ใช้เข็มหู หรือ การแปะวัสดุกดจุดหู ฝังติดไว้ที่จุดฝังเข็มหู พร้อมด้วยเอาเทปกาวแปะติดให้แน่น โดยแต่ละครั้งให้ฝังสลับข้างกันไป ติดไว้นาน 4-6 วัน โดยให้ผู้ป่วยกดนวดทุกวัน วันละ 3 ครั้ง หรือกดนวดเวลาที่รู้สึกอยากสูบบุหรี่
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
อาการถอนยาจากการสูบบุหรี่ที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจอันเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่มานานจนเสพติดแล้วนั้น เช่น กระวนกระวาย หงุดหงิด วิตกกังวล รู้สึกว่างเปล่าไม่มีความหมาย น้ำหนัก ตัวเพิ่มขึ้น จะเกิดเมื่อหยุดสูบบุหรี่ การรักษาด้วยการฝังเข็มสามารถระงับหรือลดอาการถอนยาจากการหยุดสูบบุหรี่ได้ นอกจากนั้นการรักษาด้วยการฝังเข็มจะเปลี่ยนความรู้สึกต่อรสชาติของบุหรี่ทำให้รู้สึกว่าบุหรี่ไม่มีรสชาติอันหอมหวนเช่นเดิมและทำให้หยุดสูบไปในที่สุด
การฝังเข็ม ช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์จากการอดบุหรี่ได้ อาทิ อารมณ์หงุดหงิดรุ่มร้อนใจ , สติไม่อยู่กับร่องกับรอย , ปวดศีรษะ , ง่วงนอน หาวบ่อย, กระเพาะลำไส้แปรปรวน , กระวนกระวาย
ในทางปฏิบัติ การเลือกจุดฝังเข็มไม่ได้เลือกจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น การกำหนดแผนการรักษา จะกำหนดจากการวิเคราะห์อาการและโรคของผู้ป่วยก่อน ไม่ใช่ว่ามาครั้งเดียวจะฝังเข็มทุกจุดเลย แต่จะพิจารณาดูอาการผู้ป่วยในแต่ละครั้ง หากคนไข้มีอาการหงุดหงิด มีปัญหาเรื่องอารมณ์ หมอจีนจะฝังเข็มช่วยให้สงบอารมณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากลมของตับ จุดฝังเข็มก็ต้องเกี่ยวข้องกับตับมาช่วย เช่น จุดไท่ชง บางคนมีอารมณ์โมโห ความโกรธทำให้ตาลาย เช่นจุดเฟิงฉือ จิงหมิง
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ จิตใจของคนไข้ต้องการเลิก การฝังเข็มก็จะฝังที่จุดบนเส้นลมปราณ ได้แก่ เส้นลมปราณปอด เส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ เส้นลมปราณไตและเส้นลมปราณอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับปอด อาทิ จุดเหอกู่ ถ้าไล่ตามเส้นลมปราณ จะขึ้นไปสู่ปาก ปากเป็นทวารของม้าม นอกจากนี้จุดหยางหมิน และจุดเลี่ยะเขวีย จุดจ้าวไห่ จุดจู๋ซ่านหลี่ จุดซานอินเจียว ช่วยบรรเทาอาการหอบไอ และเจ็บคอ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนสูบบุหรี่ บางคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีแล้วเกิดความอยากที่จะลอง ทั้งๆที่รู้ว่าสารที่อยู่ในบุหรี่มีโทษ พออ่อนไหวก็ชักจูงได้ง่าย บางคนก็มีสภาพจิตที่ต้องการหาที่พึ่ง และคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่ง บางคนสูบแล้วโล่งสบายใจกลายเป็นติดบุหรี่ในที่สุด
สมุนไพรจีนที่ช่วยลดความอยากบุหรี่
ติงเซียง 丁香 หรือ กานพลู เป็นสมุนไพรที่มีรสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น ตัวยาเข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร ปอดและไต มีน้ำมันหอมระเหยช่วยทำให้จิตใจสงบผ่อนคลาย บรรเทาอาการไอ และยังช่วยระงับกลิ่นปากไปด้วยในตัว ซึ่งเมื่อนำดอกกานพลูแห้งมาอมจะช่วยลดความอยากบุหรี่ลงไปด้วย
หวีซินเฉ่า 鱼腥草 หรือ คนไทยจะคุ้นเคยกับชื่อ ผักคาวตอง, ผักคาวทอง มีรสเผ็ด ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปรารปอด ช่วยลดความร้อนที่ปอด ขับสารพิษ ขับปัสสาวะ ลดอาการไอ ปอดอักเสบ นำมาชงดื่มเป็นชา ช่วยลดกลิ่นปาก
หยางกานจวุ้ย หรือ คาโมมายด์ มีรสหวาน ขมเล็กน้อย มีกลิ่นหอม ช่วยลดอาการหงุดหงิดกระวนกระวาย ทำให้จิตใจผ่อนคลาย หลับสบาย หลับสนิท คุณภาพการนอนดีขึ้น ดวงตาสดใส ลดอาการไอ นำมาชงเป็นชาดื่มระหว่างวัน ลดความอยากสูบบุหรี่
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
1. กำหนดวันที่จะเลิกสูบบุหรี่
2. ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง กำลังใจจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมให้กำลังใจตัวเองด้วย
3. คาดคะเนช่วงเวลาที่คุณจะอยากสูบบุหรี่แล้ว หากิจกรรมหรือสิ่งทดแทนเพื่อไม่ให้นึกถึงการสูบบุหรี่ เช่น ออกกำลังกาย เล่นเกม ถักไหมพรม ล้างหน้าแปรงฟัน เคี้ยวหมากฝรั่ง
4. ยืดกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ต้นคอ บ่าไหล่ ศีรษะ เพื่อลดความตึงเครียด
5. ทำจิตใจให้สงบสบาย เช่น การสูดลมหายใจลึกๆ การอาบน้ำอุ่น การนวดตัว
6. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่
7. ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำสำเร็จ
ขอให้ทุกท่านที่ตั้งใจจะลดเลิกบุหรี่เพื่อเป็นรางวัลชีวิตให้แก่ตนเองเพื่อสุขภาพที่ดี ประสบความสำเร็จในความตั้งใจนี้นะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน
บทความโดย
แพทย์จีน กนิษฐา ใจเย็น แสงสกุล
(จาง เยว่ ฟาง)
张月芳 中医师
TCM. Dr. Kanittha Jaiyen Saengsakul
( Zhang Yue Fang)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.557
คลินิกฝังเข็ม
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567