นาฬิกาชีวิต เคล็ดลับหย่างเซิงสุขภาพ

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  147061 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นาฬิกาชีวิต เคล็ดลับหย่างเซิงสุขภาพ

นาฬิกาชีวิต เคล็ดลับหย่างเซิงสุขภาพ ( 中医十二时辰养生秘诀 )  Download

ศาสตร์ทางการแพทย์แผนจีนเชื่อว่า ธรรมชาติและมนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยธรรมชาติจะมี ปี ฤดู วัน เวลา และมีการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับร่างกายมนุษย์เป็นวัฏจักร กล่าวคือ ร่างกายของคนเราจะมีเส้นลมปราณหลายเส้น ในแต่ละเส้นจะมีชื่อและคุณสมบัติเฉพาะ รวมถึงมีจังหวะเวลาที่แน่นอน เปรียบเสมือนการอยู่เวรยามในช่วงเวลาที่ต่างกันของแต่ละวัน โดยที่ชี่และเลือดจะไหลไปยังเส้นลมปราณรวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและทำให้เกิดโรคขึ้น ดังนั้น หากเราเข้าใจกฎนาฬิกาชีวิตหย่างเซิงสุขภาพ ก็จะช่วยให้เราสามารถดูแลสุขภาพและปรับวิถีชีวิตของตัวเราเองได้

แนวความคิดตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน จะแบ่งเวลาใน 1 วัน ออกเป็น 12 ชั่วยาม โดยที่ 1 ชั่วยาม จะเท่ากับ 2 ชั่วโมง ดังนั้น หมอจีนจึงแนะนำให้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามนาฬิกาชีวิต ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับหย่างเซิง หรือ เคล็ดลับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ดังนี้


ยามจื่อ (子时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 23:00 น. - 01:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ก่อนยามจื่อต้องเข้านอน" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของถุงน้ำดีจะทำหน้าที่ หมายถึง ถุงน้ำดีเก็บน้ำดีที่ได้จากตับและส่งน้ำดีมาช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก โดยทฤษฏีของศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้นเชื่อว่า ถุงน้ำดีจะทำหน้าที่ในการตัดสินใจ ในช่วงของ "ยามจื่อ" ไขกระดูกจะเริ่มต้นสร้างเลือด และซ่อมแซมร่างกาย และอวัยวะทั้งหมดภายในร่างกายจำเป็นจะต้องพึ่งพาการทำงานของถุงน้ำดี ดังนั้น ยามจื่อจึงเป็นเวลาที่เราควรจะนอนหลับ เพราะการหลั่งของถุงน้ำดีจะส่งผลทำให้สมองโล่ง ปลอดโปร่ง และแจ่มใส ถ้าในยามจื่อเรานอนหลับได้อย่างเต็มที่และเพียงพอ จะทำให้เส้นลมปราณของถุงน้ำดีมีพลัง ทำให้เมื่อเรารู้สึกปลอดโปร่ง แจ่มใส ใต้ตาไม่คล้ำเมื่อตื่นมาในตอนเช้า แต่ถ้าหากเราไม่สามารถเข้านอนก่อนยามจื่อได้ ก็จะทำให้ไฟที่ถุงมีน้ำดีย้อนกลับขึ้นมาด้านบน (胆火上逆) ก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ปวดศรีษะ คิดมาก กังวล และเมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้าก็จะรู้สึกง่วงหงาวหาวนอน งัวเงีย มึนงง ไม่แจ่มใส ใต้ตาก็จะมีสีดำ คล้ำ และในขณะเดียวกันหากเราไม่ได้นอนในยามจื่อ จะทำให้การหลั่งของถุงน้ำดีเกิดความผิดปกติ และง่ายต่อการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี


ยามโฉ่ว (丑时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 01:00 น. - 03:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามโฉ่วต้องนอนให้หลับสนิท" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของตับจะทำหน้าที่ หมายถึง ตับจะกำจัดสารพิษในร่างกาย ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยการนำมาสังเคราะห์และเก็บสะสมไว้ในรูปไกลโคเจน และสร้างน้ำดีมาเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่าตับเป็นที่เก็บกักเลือด ซึ่งเวลาที่คนเรานอน เลือดจะเก็บไว้ที่ตับ และในช่วงเวลาที่เรานอนหลับสนิท เลือดจะไหลเวียนมาที่ตับ ซึ่งสามารถเพิ่มพลังชี่ของตับได้ โดยในช่วงเวลา 02.00 น. ร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินได้สูงสุด หากในยามโฉ่วเรานอนไม่หลับ แต่ตับก็จะยังคงทำงาน แต่จะไม่สามารถเผาผลาญพลังงานและกำจัดพิษได้ตามปกติ ดังนั้น จึงเป็นเหตุทำให้เรามีสีหน้าหมองคล้ำ เกิดกระและจุดด่างดำ อารมณ์ร้อน โกรธง่าย และอาจจะนำไปสู่โรคตับได้ โดยเฉพาะหากในช่วงเวลายามโฉ่ว (ตี 1 - ตี 3) เราดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อตับเป็นอย่างมาก


ยามอิ่น (寅时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 03:00 น. - 05:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามอิ่นหลับลึก ปอดเปิดรับพลังบริสุทธิ์" เพราะเป็นช่วงเวลาที่เส้นลมปราณของปอดทำหน้าที่ หมายถึง ปอดเป็นจุดเริ่มต้นและรวบรวมพลังของชี่และเลือด ส่วนตับจะเก็บกักเลือด สลายเซลล์เม็ดเลือดแดง แล้วนำเลือดใหม่ส่งไปยังปอด ปอดจึงเป็นศูนย์รวมหลอดเลือดนับร้อยเพื่อเป็นจุดแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน โดยปอดจะส่งก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ถือเป็นจุดที่พลังชี่และเลือดเคลื่อนตัว เพื่อให้ระบบหายใจทำงานได้เต็มที่ และเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายให้สามารถรับก๊าซออกซิเจนได้อย่างเพียงพอ ช่วงเวลานี้ ถ้าหากนอนหลับได้ลึกจะทำให้เรามีใบหน้าที่สดใส ดูมีเลือดฝาด รู้สึกสดชื่น แจ่มใส และกระปรี้กระเปร่าเมื่อตอนตื่นนอน

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาประมาณ 04:00 - 05:00 น. จะเป็นช่วงที่อุณหภูมิของร่างกาย ความดัน การเต้นของชีพจร และการหายใจจะลดต่ำลงมากที่สุด เพราะเลือดจะไปเลี้ยงสมองได้น้อยกว่าปกติ ร่างกายของเราจึงควรได้รับความอบอุ่นในช่วงเวลานี้มากที่สุด และเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะอากาศเย็น แต่สำหรับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจหรือปอดมีปัญหา เช่น มีอาการหายใจติดขัด ไอ จาม มีน้ำมูก หรือโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบ จะต้องระมัดระวังสุขภาพของตนเองให้มากเป็นพิเศษ เพราะในช่วงยามอิ่นนี้ จะเป็นช่วงที่อาการของโรคหอบมักจะกำเริบได้ง่าย และในผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็มักจะทรุดลงในยามอิ๋นนี้ด้วยเช่นกัน นั่นก็เนื่องมาจากการที่สมองได้รับก๊าซออกซิเจนน้อยหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจส่งผลให้ความจำของเราเสื่อมลงได้


ยามเหม่า (卯时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 05:00 น. - 07:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามเหม่าดื่มน้ำอุ่นช่วยขับถ่ายอุจจาระ" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ทำหน้าที่ ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ประตูฟ้าเปิด พระอาทิตย์กำลังขึ้น ช่วงตี 5 จึงควรตื่นนอน และประตูดินเปิด ซึ่งหมายถึงทวารหนักนั่นเอง ดังนั้นเราควรตื่นนอนเพื่อให้การขับถ่ายของเสียเป็นไปอย่างปกติ ถ้ายังไม่ตื่นนอนในเวลานี้จะทำให้ไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้หมด และเกิดสารพิษสะสมในร่างกาย ปอดและลำไส้ใหญ่มีความสัมพันธ์กัน ถ้าพลังปอดดี ก็จะขับถ่ายได้ปกติด้วย ลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย รับกากอาหาร ดูดซึมน้ำและถ่ายอุจจาระ มีการหลั่ง cortisol เพื่อช่วยให้ร่างกายมีความกระปรี้กระเปร่าขึ้น และหากลำไส้ใหญ่มีการเคลื่อนตัวดี ก็จะส่งผลให้การขับถ่ายอุจจาระดีตามไปด้วย ในช่วงยามเหม่านี้ พลังชี่และเลือดจะรวมกันอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ ดังนั้น ในช่วงเวลานี้เราควรจะดื่มน้ำอุ่นเพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายของเราทำงานได้ดีขึ้น

ยามเฉิน (辰时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 07:00 น. - 09:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามเฉินเวลาอาหารเช้า" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของกระเพาะอาหารทำหน้าที่ หมายถึง การย่อยและการดูดซึมอาหารถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในระบบทางเดินอาหาร โดยในช่วงเวลา 7 โมงเช้าถึง 9 โมงเช้า เราควรรับประทานอาหารเช้า เพราะจะทำให้การย่อยและการดูดซึมทำงานได้ดีที่สุด แต่ในบางคนที่ไม่ค่อยรับประทานอาหารเช้า จะทำให้เกิดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารที่มากเกินไป ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ อาหารในมื้อเช้านับว่าเป็นมื้อที่สำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นมื้อแห่งการเติมพลังงานให้กับสมองและหัวใจให้สามารถไปสูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงทั้วร่างกาย ทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตาม หากเราไม่รับประทานอาหารเช้าติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่างกายของเราก็จะไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า มักจะมีอาการอ่อนเพลีย เชื่องช้า ขึ้หลงขี้ลืม ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ ซึ่งการรับประทานอาหารเช้าในช่วงเวลานี้ ยังเป็นการช่วยป้องกันให้เราห่างไกลจากโรคเบาหวาน ช่วยป้องกันให้เราห่างไกลจากโรคหัวใจ และที่สำคัญยังช่วยป้องกันเราให้ห่างไกลจากโรคอ้วนได้อีกด้วย


ยามซื่อ (巳时)

คือ  ช่วงเวลาระหว่าง 09:00 น. - 11:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามซื่อขยับตัวเล็กน้อย" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของม้ามทำหน้าที่ หมายถึง ม้ามเป็นอวัยวะที่คอยควบคุมการขนส่ง ควบคุมเลือด ควบคุมการย่อย การดูดซึม และทำหน้าที่กระจายสารอาหารและน้ำไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยม้ามยังมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย กำจัดเม็ดเลือดแดงที่เสื่อมสภาพ โดยพลังชี่และเลือดจะมาจากการทำงานของม้ามและกระเพาะจากอาหารที่รับประทาน ยามซื่อนี้ร่างกายมักจะมีความตื่นตัวมากกว่ายามอื่น ๆ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การทำงาน ทำกิจกรรม แต่ก็ควรออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวเล็กน้อยพอประมาณ และการดื่มน้ำจะเข้าไปช่วยให้ม้ามทำงานในการกระจายสารอาหารและน้ำไปยังอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น


 

ยามอู่ (午时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 11:00 น. - 13:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามอู่นอนพักกลางวันสักงีบ" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของหัวใจทำหน้าที่ หมายถึง หัวใจเป็นอวัยวะที่ควบคุมจิตใจ จึงควรนอนพักในชาวงเวลานี้เหมาะสมมากที่สุดเพื่อเป็นการบำรุงหัวใจ ยามอู่เป็นช่วงเวลาที่หยางชี่มากที่สุด และอินชี่น้อยที่สุด แต่ในยามจื่อ (子时) อินชี่มากที่สุด และหยางชี่น้อยที่สุด (สลับกัน) จึงเรียกได้ว่า ยามจื่อ ยามอู่ เป็นเวลาที่อินหยางสลับเวรกันทำหน้าที่ และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การบำรุงอินและหยางด้วยการนอนในช่วงเวลาจื่อและอู่ โดยเราควรนอนพักในช่วงเวลากลางวันนี้ ประมาณ 15 - 30 นาที เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พัก และเพื่อความสมดุลของร่างกายทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น

 

ยามเว่ย (未时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 13:00 น. - 15:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามเว่ยเป็นเวลาย่อยและการดูดซึม" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของลำไส้เล็กทำหน้าที่ หมายถึง ในช่วงยามเว่ยนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ลำไส้เล็กทำหน้าที่ในการดูดซึมสารอาหารและน้ำ แล้วจึงอาศัยม้ามส่งไปยังหัวใจและปอดเพื่อเลี้ยงร่างกาย และกากอาหารจะถูกส่งต่อไปยังลำไส้ใหญ่ โดยน้ำจะดูดซึมและขับออกไปที่กระเพาะปัสสาวะ ในยามเว่ยนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ลำไส้เล็กทำงานได้ดีที่สุด ฉะนั้น ในมื้อกลางวัน เราจึงไม่ควรรับประทานอาหารเกิน 13.00 น. เพราะตั้งแต่ 13.00 - 15.00 น. เป็นเวลาสำหรับการย่อยและการดูดซึม

 

ยามเซิน (申时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 15:00 น. - 17:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามเซินดื่มน้ำช่วยขับปัสสาวะ" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของกระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่ หมายถึง ในยามเซินถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดื่มน้ำและขับถ่ายปัสสาวะ โดยในเวลา 17.00 น. จะเป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายมีความแข็งแรงมากที่สุด จึงเหมาะแก่การออกกำลังกาย แต่ก็ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ เพราะจะทำให้ในตอนกลางคืนนอนไม่หลับ โดยเราสามารถออกกำลังกายโดยการเดินช้า ๆ หรือ รำไทเก็กก็ได้เช่นเดียวกัน


ยามโหย่ว (酉时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 17:00 น. - 19:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามโหย่วหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของไตทำหน้าที่ หมายถึง ไตจะเก็บสะสมสารจำเป็น (จิงชี่) ซึ่งเป็นสารที่มีมาแต่กำเนิด โดยถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่มาเก็บไว้ที่ไต เรียกว่า “สารจำเป็นแต่กำเนิด” โดยสารจิงชี่นี้จะควบคุมการเจริญเติบโตและความสามารถของการสืบพันธุ์ ในยามโหย่วจึงเป็นช่วงเวลาที่เส้นลมปราณของไตควรจะหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม แต่ควรรับประมานทานอาหารที่มีรสจืดแทน


ยามซวี (戌时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 19:00 น. - 21:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามซวีต้องอารมณ์ดี" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของเยื่อหุ้มหัวใจทำหน้าที่ หมายถึง เยื่อหุ้มหัวใจจะทำหน้าที่เป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ห่อหุ้มหัวใจเอาไว้ โดยจะทำหน้าที่ปกป้องหัวใจ ปกป้องการรุกรานจากภายนอก ยามซวีเส้นลมปราณของเยื่อหุ้มหัวใจและเส้นประสาทสมองจะทำงานได้ดีที่สุด ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานอาหารเย็นจนอิ่มเกินไป และหลังอาหารเย็นเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน และเราควรรักษาอารมณ์ของเราให้ดีอยู่เสมอเพื่อเป็นการผ่อนคลาย โดยสามารถฟังเพลง ในยามซวี หรือจะอ่านหนังสือก็นับว่าดีเพราะเป็นช่วงที่มีสมาธิที่สุด ดังนั้น จึงนับว่า ยามซวีเป็นช่วงเวลาเพื่อการพักผ่อนและเตรียมตัวสำหรับการนอนหลับ


ยามไฮ่ (亥时)

คือ ช่วงเวลาระหว่าง 21:00 น. - 23:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หมอจีนแนะนำว่า "ยามไฮ่ทำร่างกายให้ อบอุ่น นอนพักผ่อน" เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของซานเจียวทำหน้าที่ หมายถึง ซานเจียว ได้แก่ ซ่างเจียวคือส่วนบนมีระบบหายใจ (หัวใจและปอด) จงเจียว คือส่วนกลางมีระบบย่อยอาหาร (กระเพาะ อาหาร ม้าม และตับ) และเซี่ยเจียคือส่วนล่างมีระบบขับถ่าย (ไต กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้เล็ก) โดยซานเจียวจะทำหน้าที่เป็นทางผ่านของชี่และเลือด ลำเลียงผ่านสารอาหารและน้ำ ซานเจียวจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เป็นช่วงที่ร่างกายปรับสมดุลความร้อนและเป็นช่วงที่อุณหภูมิในร่างกายจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งร่างกายจะเริ่มหลั่งเมลาโทนิน ในยามไฮ่นี้ เราควรเตรียมตัวสำหรับการนอนหลับพักผ่อน และเมื่อซานเจียวได้พักผ่อนก็จะทำให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และหากเป็นไปได้ เราก็ควรจะแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นประมาน 20 นาที ในยามไฮ่ เพื่อให้เหงื่อออกนิด ๆ จะช่วยให้ชี่และเลือดของซ่างเจียว จงเจียว และเซี่ยเจียว ไหลเวียนสะดวก ทำให้ร่างกายที่ทำงานหนักมาทั้งวันได้รับการพักผ่อน และยังเป็นการช่วยให้นอนหลับได้อย่างเต็มที่

 

อย่าลืมนะคะ!

หากเราเข้าใจกฎของนาฬิกาชีวิตแบบหย่างเซิง ก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แล้วยังจะเป็นการช่วยเพิ่มระดับให้กับคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้น ได้อีกด้วย!


ข้อมูลประกอบ
十二时辰养生秘诀 (เคล็ดลับการดูแลสุขภาพตามนาฬิกาชีวิต)


ดาวโหลด "หนังสือหย่างเซิงสุขภาพ"  ได้ ที่นี่ 





เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้