Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 18572 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่ออยู่ในวัยทำงาน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ต่างต้องเคยมีอาการปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายกันเป็นประจำมาแล้วแทบทั้งนั้น ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักที่สำคัญของอาการปวดเมื่อยเหล่านี้ สืบเนื่องมาจากท่าทางในการนั่ง ยืน นอน และเดินของเรา ที่อาจจะยังทำไม่ถูกต้องนั่นเอง
ทั้งนี้ หากนั่งในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง จะส่งผลให้เกิดปัญหาที่กระดูกคอ กระดูกหลัง และกระดูกเอวได้ และยิ่งในคนที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ หลายชั่วโมงด้วยแล้ว จะยิ่งเป็นปัญหาสะสมที่เรื้อรังเป็นอย่างมาก อย่างที่คนส่วนใหญ่ทั้งในวัยทำงาน วัยสูงอายุ หรือแม้กระทั่งในวัยรุ่น มักจะมีอาการปวดบริเวณต้นคอ ปวดบริเวณหลัง หรือที่บริเวณเอวกันเป็นประจำนั่นเอง
ท่าทางในการนั่ง ยืน นอน และเดินที่ถูกต้อง
การนั่ง ตามภาระหน้าที่ในการทำงานของแต่ละคนนั้น ย่อมมีความแตกต่างกัน แต่โดยเฉพาะคนที่ต้องนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ และต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นประจำทุกวัน เมื่อสังเกตดูแล้ว มักจะพบว่า คนเหล่านี้มักจะชอบนั่งทำงานจนลืมเวลา นั่งจนหลังแข็ง จนลืมเจ็บลืมปวดกันไปเลยก็มี และยิ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความคิด ทั้งยังมีภาวะของความเครียดเข้ามาร่วมสบทบด้วยแล้วยิ่งหนักไปกันใหญ่เลยทีเดียว ดังนั้น หมอจีนทุยหนาจึงอยากแนะนำให้ทุกคนลองสังเกตท่าทางการนั่งของตัวเองและเพื่อนร่วมงานดูว่า ท่าทางที่เรากำลังนั่งทำงานกันอยู่นั้น เป็นท่านั่งที่ถูกต้องหรือไม่ โดยสามารถสังเกตท่าทางของการนั่งที่ไม่ถูกต้องได้ เช่น หากใครที่นั่งทำงานในลักษณะเอนไปข้างหลังมาก ๆ จนเราคิดว่ากำลังเอนหลังนอนหลับอยู่ หรือใครที่มักจะนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ตาเขม็ง โดยมีระยะห่างระหว่างใบหน้ากับจอคอมพิวเตอร์อยู่เพียงเล็กน้อย ลักษณะท่าทางของการนั่งเหล่านี้ถือเป็นท่านั่งที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น และหากใครที่กำลังนั่งทำงานอยู่ในลักษณะดังกล่าวอยู่เป็นประจำหรือกลายเป็นท่านั่งประจำตัวไปแล้ว ควรพึงระวังไว้เลยว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของกระดูกทำให้เปลี่ยนรูปไปจากเดิม และนำมาซึ่งอาการปวดบริเวณหลังและบริเวณต้นคอได้
สำหรับท่านั่งที่ถูกต้อง ที่หมอจีนทุยหนาอยากแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของการนั่ง คือ ควรจะนั่งในลักษณะที่ทำให้เกิด "ความสมดุล" หมายถึง ต้องไม่นั่งเอียงซ้าย ไม่นั่งเอียงขวา ไม่นั่งก้มหน้า หรือเงยหน้า และไม่นั่งหันหน้าหรือตัวไปทางด้านใดด้านหนึ่งจนติด และนอกจากท่าทางของการนั่งที่ควรนั่งให้เกิดความสมดุลกันแล้ว แสงสว่างที่ส่องมายังโต๊ะทำงานของเราก็จะต้องเพียงพอด้วย และเพื่อให้โครงสร้างของกระดูกสันหลังอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง ควรนำหมอนใบเล็ก ๆ มารองหลังไว้จะดีที่สุด ขณะเดียวกัน ทุก ๆ 1 - 2 ชั่วโมง ก็ควรจะปรับเปลี่ยนอิริยาบทของเราด้วย ไม่ใช่ว่านั่งในท่าที่ถูกต้องแล้วจะไม่ลุกไปไหนเลยก็ไม่ได้ เพราะเราควรจะลุกยืดเส้นยืดสาย ลุกขึ้นเดินไปโน่นไปนี่ แล้วค่อยกลับไปนั่งทำงานต่อในท่านั่งที่มีความสมดุลกันอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ก็จะช่วยไม่ให้เราปวดเมื่อยได้
การยืน ที่ถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์ของการนวยทุยหนา คือ "ต้องยืนด้วยความสมดุล" กล่าวคือ ในผู้ที่ต้องยืนทำงานเป็นเวลานาน ๆ ต้องรู้จักถ่ายน้ำหนักไปที่ขาแต่ละข้างสับเปลี่ยนกันไป เนื่องจากการยืนโดยถ่ายน้ำหนักไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่งจะทำให้เกิดปัญหา และมีอาการปวดเมื่อยและล้าที่ขาของเราได้ โดยทุก ๆ 1 - 2 ชั่วโมง เราควรนั่งพักบ้างเล็กน้อย พร้อมกับสะบัดแข้งสะบัดขา และยกเท้าให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดลมที่ไหลลงไปอยู่ที่ส่วนเท้าให้ไหลย้อนกลับขึ้นมาบ้าง
การเดิน ที่ถูกต้องจะต้องเดินด้วยฝ่าเท้าเต็ม ๆ ไม่ควรเดินด้วยส้นเท้าหรือปลายเท้า ส่วนผู้หญิงที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าส้นตึก ซึ่งเป็นรองเท้าที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ถ้าหากสวมใส่ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เนื่องจากมีผลกระทบกับกระดูกเอวโดยตรง อย่างไรก็ตาม หมอจีนอยากแนะนำว่า หากมีความจำเป็นจะต้องใส่รองเท้าส้นสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรจะนำรองเท้าแตะ หรือรองเท้าที่มีส้นเรียบ ๆ ไม่สูง ไปเปลี่ยนขณะอยู่ที่ทำงานด้วย และสำหรับการเลือกซื้อรองเท้ามาสวมใส่ ควรเลือกให้เหมาะกับขนาดของเท้าตนเอง ไม่ควรเลือกสวมใส่รองเท้าที่หลวมหรือคับจนทำให้เท้าของเราเจ็บหรือบวมได้
การนอน ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่จะต้องระมัดระวังในเรื่องของการนอนเป็นอย่างพิเศษ ทั้งนี้ ก็ไม่ควรนอนบนที่นอนหนา ๆ ที่มีความยุบตัวหรือที่นอนที่นุ่มมากจนเกินไป เพราะจะทำให้กระดูกผิดรูปได้ ผู้สูงอายุควรนอนบนที่นอน หรือฟูกบาง ๆ ที่อยู่บนเตียงใม้จะดีที่สุด เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังไม่ผิดรูป และอยู่ในสภาพปกติ นอกจากนี้ เพื่อให้คอและกระดูกคอมีความสมดุล หมอจีนแนะนำให้ใช้หมอนใบเล็ก ๆ สำหรับหนุนรองคอเวลานอนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยปกป้องและป้องกันไม่ให้กระดูกต้นคอเคลื่อน แต่ไม่ใช่ว่าต้องระวังเพียงเฉพาะในวัยของผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะทุก ๆ ทุกช่วงวัย ก็จำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องของการนอนด้วยเช่นกัน
ข้อมูลประกอบบทความ:
หนังสือมหัศจรรย์นวดทุยหนา โดยแพทย์แผนจีน หลิน ตันเฉียน
ISBN 978-974-7109-19-1
แผนกกระดูกและทุยหนา
- หัวเฉียวแพทย์แผนจีน -
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567