Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 29030 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคอ้วน หมายถึง ภาวะไม่สมดุลย์ มีการสะสมไขมันมากเกิน หรือไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป โรคอ้วนแบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่
1. อ้วนแบบธรรมดา
2. อ้วนแบบทุติยภูมิ
วิธีการวินิจฉัย
1. ดัชนี น้ำหนัก โดยใช้ BMI = น้ำหนัก (kg) / ความสูง (m2) ค่าปกติ 25 ≥ 25 – 28 ถือว่าเกินพิกัด มากกว่า 28 ถือว่าเป็นโรคอ้วน
2. น้ำหนัก มากกว่าน้ำหนักปกติ 20 – 30%
3. รอบเอวผู้หญิงมากกว่า 85 เซนติเมตร รอบเอวผู้ชายมากกว่า 80 เซนติเมตร ชั้นไขมันมากกว่า 2.5 เซนติเมตร
อ้วนแบบธรรมดาพบได้ร้อยละ 90 ของคนไข้โรคอ้วน สาเหตุเกิดจากรูปแบบวิถีการใช้ชีวิต เช่น การบริโภคมากขึ้น ไม่ออกกำลังกาย ชอบนั่ง นอน อยู่เฉยๆ ไม่เคลื่อนไหว มักพบร่วมกับโรคเรื้อรังหรือนำไปสู่โรคเรื้อรังอื่น เช่น เบาหวาน ความดัน โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ไม่ปรากฏว่ามีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือขั้นตอนของขบวนการเคมี เช่น การขับเกลือโซเดียมที่ตกค้างผิดปกติ เกิดน้ำตกค้างในร่างกายทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือการใช้ยาฮอร์โมนได้ผลดี หรือผลจากหลังอุบัติเหตุทางสมอง ผลจากกรรมพันธุ์ เหล่านี้จัดเป็นการอ้วนแบบทุติยภูมิซึ่งการฝังเข็มจะไม่ได้ผลดี
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการโรค
ทางการแพทย์จีนโรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับม้าม ตับ ไต กระเพาะ ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี ส่วนใหญ่แบ่งการวินิจฉัยได้ ดังนี้
1. เสมหะชื้นปิดกั้น มีลักษณะ หน้า คอ อ้วน ตัว หัวหนักๆ แน่นหน้าอก แน่นบริเวณกระเพาะใจสั่นหายใจสั้น ชอบนอน น้ำลายเหนียว อุจจาระเหนียวหรือเละๆ
ลิ้น อ้วน ซีด มีรอยฟัน ฝ้าเหนียว
ชีพจร ลื่นหรือห่วน ไม่มีแรง (Hua or Huan Mai滑或缓脉.)
2. กระเพาะลำไส้ใหญ่ร้อน มีลักษณะอ้วนทั้งช่วงบนช่วงล่างของตัว กินเก่ง ปากแห้งชอบดื่ม น้ำเย็น ไม่ชอบร้อน เหงื่อออกมาก หงุดหงิด ขี้โมโห อุจจาระผูก ปัสสาวะสั้นเหลือง
ลิ้น แดง ฝ้าเหลืองเหนียว
ชีพจร ลื่นเร็ว (Hua Shu Mai 滑数脉)
3. ชี่ตับติดขัด มีอาการแน่นหน้าอกและชายโครง แน่นบริเวณเต้านมหรือบริเวณท้องช่วงบนหรือปอด ไม่มีตำแหน่งแน่นอนเคลื่อนไปมาเปลี่ยนที่ได้ สัมพันธ์กับการเปลี่ยน แปลงของอารมณ์ ชอบถอนหายใจหรือเลอ หรือผายลมจะสบายขึ้น
ลิ้น ฝ้าขาวบาง
ชีพจร ตึง ( Xian Mai 弦脉)
4. ม้ามและไตหยางพร่อง มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะครั้งละมากๆ ไม่ค่อยมีแรง ปวดเอว เมื่อยขา หน้าขาบวม ท้องอืด เบื่ออาหาร อุจจาระเหลว
ลิ้น ซีด ฝ้าขาว
ชีพจร จมเล็กไม่มีแรง (Chen Xi Mai .沉细脉)
"โรคอ้วน" คือ การที่ร่างกายมีการสะสมไขมันภายในมากเกินไป รวมทั้งมีอาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลียไม่มีแรง ไม่มีชีวิตชีวา พูดน้อย เคลื่อนไหวเชื่องช้า หายใจไม่เต็มอิ่ม
กลไกของโรคอ้วน เกิดจากความอ่อนแอของกระเพาะอาหารและม้าม ทำให้มีการสะสมของเสมหะความชื้น ทำให้ชี่ติดขัด เลือดคั่ง และความร้อนเกิดขึ้นในร่างกาย
ตำแหน่งของโรคอ้วนเกี่ยวข้องกับม้ามและกล้ามเนื้อ โดยมีความสัมพันธ์กับไตพร่องร่วมกับมีการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจและปอด และยังสัมพันธ์กับการทำหน้าที่ระบายของตับเสียไป
กลไกของโรคอ้วนสัมพันธ์กับหยางชี่พร่องมาก มีเสมหะความชื้นมาก ชี่ของม้ามพร่อง ทำให้การลำเลียงของม้ามไม่มีกำลัง สารอาหารต่างๆไม่ถูกลำเลียงส่งกระจายไปทั่วร่างกายอย่างเหมาะสม จึงแปรสภาพเป็นไขมัน น้ำและความชื้นตกค้างติดขัดอยู่ภายใน และไตหยางพร่องมากทำให้ไม่มีแรงพอที่จะขับเคลื่อนการไหลเวียนของเลือด สารน้ำไม่ถูกผลักดันให้ขึ้นบน ทำให้การไหลเวียนของเลือดช้า ความชื้นหยุดนิ่ง ทำให้เป็นโรคอ้วน
วิธีการรักษาด้วยหลักการแพทย์แผนจีน นอกจากการแยกวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดโรคอ้วนแล้ว ยังมีสมุนไพรเดี่ยวและยาจีน ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยลดความอ้วน ขจัดไขมัน รวมถึงการฝังเข็มด้วยเทคนิคต่างๆ อันเป็นลักษณะเด่นของการแพทย์แผนจีนอย่างหนึ่ง ซึ่งมีประสิทธิผลในการรักษาดียิ่ง
ปัจจุบันอัตราการเกิดโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น เป็นผลร้ายต่อสุขภาพ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สมุนไพรจีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วน
แพทย์จีนวินิจฉัยโรคอ้วนอย่างไร
1. มีนิสัยการรับประทานอาหารมากเกินไป ชอบรับประทานอาหารหวานมัน รสจัด ขาดการออกกำลังกาย หรือมีประวัติในครอบครัว
2. มีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐานชัดเจน รูปร่างอ้วนทั้งตัว ผิวหนังแตกลาย
3. มักพบว่า ร่างกายมีกำลังลดน้อยลง ถ้ามีกิจกรรมทางกายเพียงเล็กน้อยหรือทำงานหนัก จะรู้สึกไม่สดชื่นและไม่มีแรง หายใจไม่เต็มอิ่ม ใจสั่น แน่นหน้าอก ไอมีเสมหะ ง่วงง่าย ชอบนอน ไม่อยากพูดประสิทธิภาพทางเพศลดลง ในเพศหญิง ประจำเดือนไม่มา มีบุตรยาก ขนดก หรือมีลักษณะคล้ายเพศชาย สำหรับในเพศชาย ทำเกิดความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศและมีบุตรยาก มักมีอาการหิวง่าย กินเก่ง หรือกินน้อยแต่อ้วนง่าย อาจมีอาการแน่นท้อง ท้องผูก หรือมีอาการปวดเมื่อยหลังและเอว หรือปวดข้อ เหงื่อออกมาก
4. คนอ้วนบางราย อาจพบว่า บริเวณหน้าอก ทรวงอก หน้าท้อง ต้นขา มีสีผิวค่อนข้างดำคล้ำ หรือแดงซีด แตกลาย จนถึงผิวมีจุดหรือปื้นสีเข้ม
5. มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 20 หรือค่าดัชนีมวลกาย (BMI)>24 กก./ตร.ม
หลักการรักษา
- ถ้าเกิดจากความชื้นเสมหะปิดกั้น ใช้วิธีบำรุงม้ามกระเพาะ สลายเสมหะความชื้น
- ถ้าเกิดจากกระเพาะลำไส้ร้อน ใช้วิธีระบายไฟกระเพาะและระบายลำไส้ใหญ่
- ถ้าเกิดจากตับแกร่งชี่ติดขัด ใช้วิธี สลายชี่ติดขัด บำรุงม้ามกระเพาะ
- ถ้าเกิดจากหยาง ม้ามไตพร่อง ใช้วิธีบำรุงหยางม้ามไต
เส้นลมปราณที่แพทย์จีนใช้รักษาส่วนใหญ่ ได้แก่ เญิ่นม่าย ไท่อินเท้า หยางหมิงแขน-ขา ไท่หยางขา ซานเจียวมือ เป็นต้น
หลักการรักษาโรคอ้วนด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
โรคอ้วน มีทั้งลักษณะภาวะแกร่งภายนอกและภาวะพร่องภายนอก หลักการรักษา เน้นการบำรุงในภาวะพร่อง และการระบายในภาวะแกร่ง
วิธีการบำรุง
ใช้กับผู้ที่มีภาวะพร่อง คือ บำรุงชี่ม้ามจนถึงการบำรุงไต
วิธีการระบาย
ใช้กับผู้ที่มีภาวะแกร่ง คือ ขจัดความชื้น สลายเหสมหะ ปรับการไหลเวียนของชี่ ขับน้ำ ช่วยการย่อย ระบายให้มีการขับอุจจาระได้ดีไม่มีตกค้าง สลายเลือดคั่ง เพื่อสลายเสมหะ ขจัดความชื้น เลือดคั่ง และไขมันที่ตกค้างในร่างกาย
วิธีการต่างๆดังกล่าง เป็นการสลายเสมหะและขจัดความชื้น เป็นวิธีการที่ใช้บ่อยและต้องใช้ตลอดเวลาการรักษา
การรักษาด้วยยาจีนตามการวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการโรค
1. กลุ่มอาการกระเพาะอาหารร้อน ความร้อนติดขัด
หลักการรักษา : ขจัดและระบายความร้อนของกระเพาะอาหาร เสริมช่วยการย่อยอาหาร
2. กลุ่มอาการเสมหะความชื้นสะสมภายในร่างกาย
หลักการรักษา : สลายเสมหะ ขจัดความชื้น ปรับการไหลเวียนของชี่ สลายไขมัน
3. กลุ่มอาการชี่ติดขัด เลือดคั่ง
หลักการรักษา : ปรับการไหลเวียนของชี่ ขจัดชี่ติดขัด เพิ่มการไหลเวียนของเลือดและสลายเลือดคั่ง
4. กลุ่มอาการม้ามพร่องไม่ลำเลียง
หลักการรักษา : เสริมม้าม บำรุงชี่ ระบายความชื้น
5. กลุ่มอาการหยางของม้ามและไตพร่อง
หลักการรักษา : อุ่นบำรุงหยางของม้ามและไต
อ่านบทความ
ฝังเข็มลดความอ้วนได้ไหม
ข้อมูลประกอบบทความ
หนังสือการฝังเข็มรมยา : การรักษากลุ่มอาการเมตาบอลิกและโรคที่เกี่ยวข้องด้วยการฝังเข็มและยาจีน
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ISBN 978-616-11-1591-3
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567