Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 55999 จำนวนผู้เข้าชม |
การฝังเข็ม เป็นเวชกรรมการรักษาโรคของจีนที่มีประวัติการค้นคว้าและแพร่หลายมาหลายพันปี การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการใช้เข็มปักตามตำแหน่งจุดเฉพาะต่าง ๆ ของร่างกาย มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสมดุลร่างกาย ช่วยปรับให้อวัยวะและระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายกลับทำงานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะที่โดดเด่นในการระงับอาการเจ็บปวด จึงนำไปใช้ในการรักษาโรคปวดต่าง ๆ ได้ดี
การฝังเข็มและรมยา เป็นการป้องกันและรักษาโรควิธีหนึ่งของการแพทย์แผนจีน โดยประยุกต์ใช้ตามการวินิจฉัยแยกโรค ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทฤษฎีการแพทย์จีน การฝังเข็มจึงไม่ใช่แค่แทงเข็มไปตามจุดต่าง ๆ บนร่างกาย แล้วทำให้โรคหรือความเจ็บป่วยต่าง ๆ หายไปได้ อีกทั้งจุดฝังเข็มที่มีมากกว่า 700 จุด ทั่วร่างกาย ย่อมไม่อาจแทงได้ทั้งหมดในคราวเดียว หากมีหลักปฏิบัติที่ดี เข็มเพียงไม่กี่เล่มก็สามารถรักษาโรคให้หายเป็นปลิดทิ้งได้ หาไม่ถึงจะแทงเข็มจนพรุนไปทั้งร่างย่อมไม่บังเกิดผลใด ๆ เว้นเสียแต่ว่าบังเอิญ ความแตกต่างนี้ขึ้นอยู่กับทฤษฎีพื้นฐานที่แม่นยำ การวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้อง การเลือกจุดและเทคนิคในการฝังเข็มที่เหมาะสม ซึ่งสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ไม่ยาก
หลักทั่วไปในการรักษาโรคของแพทย์แผนจีน
หลักทั่วไปในการรักษาโรค เป็นแนวคิดการรักษาโรคแบบองค์รวมร่วมกับการวินิจฉัยแยกโรคตามกลุ่มอาการ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่ครอบคลุมการรักษาโรคทุกวิธี สำหรับการฝังเข็มถือเป็นหลักพื้นฐานสำคัญในการเลือกจุดและเทคนิคในการฝังเข็ม
การปรับสมดุลของอินและหยาง
โดยหลักพื้นฐานของทฤษฎีแพทย์จีน ความเจ็บป่วยทุกอย่างเป็นผลมาจากความไม่สมดุลของสภาวะสองขั้วที่ตรงกันข้าม ขั้วหนึ่งเรียกว่า“อิน”อีกขั้วคือ“หยาง” ปกติอินและหยางภายในร่างกายมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา ทั้งการเปลี่ยนแปร-การหักล้าง-การยับยั้ง-การบริโภค-การเกื้อกูล-การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หากมีปัจจัยใดก็ตามที่ทำให้ขั้วใดขั้วหนึ่งมีปริมาณหรือหน้าที่มากเกินหรืออ่อนด้อยไป ย่อมส่งผลกระทบต่อปกติภาวะของร่างกาย การปรับสมดุลของอินและหยางจึงเป็นหลักพื้นฐานสำคัญในการรักษาโรค คัมภีร์หฺวังตี้เน่ยจิง ภาคหลิงซู บทที่ 5 กล่าวว่า “ทำอย่างไร เพื่อปรับให้อินและหยางเกิดภาวะสมดุล คือสิ่งสำคัญที่สุดในการฝังเข็มรักษาโรค”
หยางเกิน ทำลายอิน อินเกิน ทำให้หยางเสียหาย เช่น
ความร้อน (หยาง) มากเกินไป ทำลายสารจำเป็น (อิน)
ความเย็น (อิน) มากเกินไป ทำลายชี่ (หยาง)
ในการรักษาต้องทำการลดความร้อนหรือขจัดความเย็น ด้วยวิธี “ขจัดส่วนเกิน” และ “ลดความแกร่ง” เมื่อเกิดขั้วหนึ่งแกร่งหรือเกิน ในการปรับให้เกิดความสมดุลต้องพิจารณาสภาพของอีกขั้วหนึ่งด้วย ไม่ควรทำการรักษาเพียงขั้วเดียว เนื่องจากขั้วที่แกร่งมักทำลายอีกขั้วหนึ่งไปด้วย หากผู้ป่วยมีอาการของหยางแกร่ง ควรตรวจดูว่ามีอินพร่องด้วยหรือไม่ การรักษาต้องระบายหยางและบำรุงอินควบคู่กันไป
อินพร่องย่อมเสียหน้าที่ในการควบคุมหยาง หยางจึงแสดงออกมากเกิน ปรากฏ “กลุ่มอาการร้อนพร่อง” (ร้อนเพราะอินพร่อง) ในทางตรงข้าม เมื่อหยางพร่องย่อมควบคุมอินไม่ได้ อินแสดงออกมากเกิน เกิด “กลุ่มอาการเย็นพร่อง”(เย็นเพราะหยางพร่อง)
คัมภีร์หฺวังตี้เน่ยจิง ภาคซูเอวิ้น บทที่ 5 กล่าวว่า
“โรคหยางให้รักษาอิน โรคอินให้รักษาหยาง” หมายถึง หยางแสดงอาการเด่นเนื่องเพราะอินพร่องต้องเสริมบำรุงอินไปควบคุมหยาง ขณะที่อินเด่นเพราะหยางพร่องต้องเสริมบำรุงหยางไปควบคุมอิน หากมีอาการพร่องทั้งอินและหยางต้องบำรุงทั้งคู่ อนึ่งในการรักษาโรคที่มีอินหรือหยางพร่องสามารถใช้การบำรุงหยางเพื่อรักษาอินพร่องและสามารถใช้การบำรุงอินเพื่อรักษาหยางพร่อง เนื่องเพราะอินและหยางเปลี่ยนแปรกันไปมา พึ่งพาและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตัวอย่าง เมื่ออินหรือหยางของอวัยวะภายในพร่อง สามารถเสริมบำรุงจุดอวัยวะหน้า (Front-Mu point) ร่วมกับจุดอวัยวะหลัง (Back-Shu point) เพื่อเสริมบำรุงทั้งชี่อินและชี่หยางของอวัยวะภายในนั้น
อินและหยาง เป็นหลักพื้นฐานในการวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการของโรค โดยมีแนวทางการรักษากว้าง ๆ ในการปรับสมดุลอินและหยาง ได้แก่ บำรุงเมื่อพร่อง ระบายเมื่อเกิน ขจัดความเย็นด้วยวิธีอุ่น เสริมสารอาหารและชี่ที่ปกป้องร่างกาย และเสริมเติมการไหลเวียนของเลือดและชี่ เทคนิคในการกระตุ้นเข็มที่หลากหลายแตกต่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสมดุลของหยินและหยางเป็นหลัก
เสริมสร้างภูมิต้านทานและขจัดปัจจัยก่อโรค
หากพิจารณาตามความเป็นจริง โรคเกิดขึ้นและดำเนินไปภายใต้การต่อสู้กันระหว่าง ชี่ต่อต้านโรค (Antipathogenic Qi) และปัจจัยก่อโรค (Pathogenic Factor) การระดมหรือเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชี่ต่อต้านโรคเพื่อไปจัดการปัจจัยก่อโรคเป็นวิธีการรักษาโรคที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามการเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแกร่งและขจัดปัจจัยก่อโรคควบคู่กันเป็นหลักสำคัญในการรักษาโรค
วิธีเสริมภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ได้แก่ การเสริมบำรุงชี่ต่อต้านโรคและเสริมสร้างสุขภาพ เมื่อภูมิต้านทานโรคแข็งแกร่งย่อมขจัดปัจจัยก่อโรคได้ และเมื่อปัจจัยก่อโรคถูกขจัดออกไปภูมิต้านทานย่อมแข็งแกร่งขึ้น ปัจจัยทั้งสองมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด ภูมิต้านทานที่แข็งแกร่งสามารถขจัดปัจจัยก่อโรคได้ ขณะที่ปัจจัยก่อโรคที่รุนแรงก็สามารถทำลายภูมิต้านทานได้เช่นกัน
ในทางปฏิบัติ ควรประเมินสภาพของทั้งปัจจัยก่อโรคและชี่ต่อต้านโรคอย่างรอบคอบ เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าจะเสริมภูมิต้านทานก่อนหรือจะขจัดปัจจัยก่อโรคก่อน ผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานอ่อนแต่ปัจจัยก่อโรคยังไม่รุนแรงควรทำการเสริมภูมิต้านทานก่อน ผู้ป่วยที่ปัจจัยก่อโรครุนแรงแต่ยังไม่ทำลายภูมิต้านทานควรขจัดปัจจัยก่อโรคก่อนเป็นสิ่งแรก ถ้าภูมิต้านทานอ่อนและปัจจัยก่อโรครุนแรงควรทำทั้งสองวิธีควบคู่กัน
นอกจากนี้ ต้องประเมินว่าอะไรเป็นเหตุในการเกิดโรค กรณีที่ภูมิต้านทานอ่อนจึงเกิดโรคได้ง่าย ต้องเน้นการเสริมสร้างภูมิต้านทานเป็นหลักแล้วจึงหาวิธีเพื่อขจัดปัจจัยก่อโรค ในทางตรงข้าม ปัจจัยก่อโรคที่รุนแรงย่อมเอาชนะภูมิต้านทานจนเกิดโรคขึ้นได้ กรณีนี้ควรขจัดปัจจัยก่อโรคก่อนแล้วจึงเสริมสร้างภูมิต้านทานที่ถูกทำลายไปกลับคืนมา ในกรณีวิกฤติที่ผู้ป่วยมีสภาพทรุดโทรมจนภูมิต้านทานอ่อนพร่องอย่างมากและได้รับปัจจัยก่อโรคที่รุนแรง ควรขจัดปัจจัยก่อโรคก่อนแล้วจึงหาวิธีเสริมสร้างภูมิต้านทาน
ในการแพทย์แผนจีน การป้องกันโรคถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับโรคปฐมภูมิ การป้องกันโรคมีความหมายครอบคลุมถึงการป้องกันก่อนการสัมผัสโรคหรือเหตุแห่งโรคและป้องกันไม่ให้แย่ลงหลังจากเกิดโรคแล้ว คัมภีร์หฺวังตี้เน่ยจิง ภาคซูเอวิ้น กล่าวว่า “แพทย์ที่เก่งย่อมรักษาโรคตั้งแต่ยังไม่ป่วย แพทย์ธรรมดาให้การรักษาเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้ว” ด้วยเหตุนี้ในประเทศจีนจึงมีการคิดค้นและถือปฏิบัติกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพมาอย่างยาวนานนับพันปี เช่น ชี่กง ไท่เก๊ก การปรับสภาพร่างกายให้เหมะสมกับสภาพแวดล้อมและฤดูกาล ฯ สำหรับการฝังเข็มและรมยา การกระตุ้นบำรุง จุด ZuSanLi (ST 36) เป็นจุดที่ดีจุดหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างกว้างขวาง สิ่งสำคัญคือแพทย์ต้องมีความรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการเกิดโรค การดำเนินโรคและวิธีการติดโรค รวมทั้งสามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เริ่มเกิดและรักษาโรคก่อนที่จะดำเนินแย่ลง
รักษาโรคตามสภาพผู้ป่วยและสภาวะสิ่งแวดล้อม
สภาพอากาศ ฤดูกาล ภูมิประเทศ อายุของผู้ป่วย สภาพร่างกายและปัจจัยอื่น ๆ ทั้งภายนอกและภายใน แพทย์จีนต้องนำมาพิจารณาร่วมในการตัดสินใจให้การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม
สภาพอากาศและฤดูกาล จากการเฝ้าสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมาแต่โบราณ พบว่า สภาพภูมิอากาศและฤดูกาลที่แตกต่างกันส่งผลต่อการเกิดโรคที่ต่างกัน และจำเป็นต้องปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสม คัมภีร์หฺวังตี้เน่ยจิง ภาคหลิงซู บทที่ 9 กล่าวว่า “ในฤดูใบไม้ผลิ ปัจจัยก่อโรคมักกระทำต่อร่างกายในระดับตื้น, ในฤดูร้อน ปัจจัยก่อโรคมักกระทำต่อร่างกายระดับผิวหนัง, ในฤดูใบไม้ร่วง ปัจจัยก่อโรคมักกระทำต่อร่างกายในระดับกล้ามเนื้อ และในฤดูหนาว ปัจจัยก่อโรคมักกระทำต่อร่างกายในระดับเส้นเอ็นและกระดูก ในการรักษาโรคจึงต้องเลือกวิธีการให้เหมาะสมตามสภาพอากาศและฤดูกาล”
โดยทั่วไป การฝังเข็มในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนจะใช้เทคนิคฝังเข็มตื้น ส่วนในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวนิยมใช้เทคนิคการฝังเข็มลึก
นอกเหนือไปกว่านั้น ช่วงเวลาในการฝังเข็มก็มีความสำคัญในแต่ละโรค ตัวอย่างเช่น โรคมาลาเรียที่มีอาการไข้หนาวสั่นเป็นเวลา ควรฝังเข็มก่อนเกิดอาการหนาวสั่น 2 – 3 ชั่วโมง, อาการปวดประจำเดือน ควรทำการฝังเข็มในช่วงหลายวันก่อนมีประจำเดือน
ภูมิประเทศหรือตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ วิธีการฝังเข็มที่เหมาะสมควรพิจารณาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ วิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละภูมิประเทศมีความแตกต่างและหลากหลาย ส่งผลต่อสรีรร่างกายและการดำเนินพยาธิสภาพ ดังนั้น วิธีการฝังเข็มรักษาโรคควรปรับให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศด้วย คัมภีร์หฺวังตี้เน่ยจิง ภาคซูเวิ่น บทที่ 12 กล่าวว่า “ภูมิประเทศทางเหนือ ประชาชนอาศัยอยู่บนที่สูงและภูเขา เผชิญกับสภาพอากาศหนาวและลมที่รุนแรง ผู้คนที่ชอบอาศัยอยู่นอกบ้านและดื่มนม เป็นผลให้ท้องอืดปวดท้องจากการสะสมของความเย็น ควรให้การรักษาด้วยวิธีการรมยา”
“ภูมิประเทศทางใต้ มีสภาพความชื้นสูง เต็มไปด้วยหมอกควันและน้ำค้างจัด ผู้คนมักชอบรสเปรี้ยวและรับประทานอาหารหมักดองเป็นผลให้กล้ามเนื้อเกร็งตึงและผิวหนังแดง ประชาชนที่อาศัยในแถบนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการตะคริวของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และปวดข้อรูมาติซึ่ม ควรให้การรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม” ตัวอย่างจากคัมภีร์ดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่า วิธีการรักษาโรคมีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิประเทศ วิถีชีวิตและธรรมชาติของโรค
สภาพของผู้ป่วย การรักษาโรคต้องปรับให้เหมาะสมกับอายุ เพศและปัจจัยประกอบอื่น ๆ ของผู้ป่วยแต่ละราย ตัวอย่าง เพศหญิงและชาย มีสรีระร่างกายและปัจจัยโน้มนำในการเกิดโรคที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน การรักษาจึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับเพศของผู้ป่วยด้วย หรือผู้ป่วยในแต่ละวัยมีสรีรวิทยาและการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพที่แตกต่างกัน การรักษาจึงต้องเลือกให้เหมาะสมกับอายุของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ปัจจัยประกอบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น แข็งแรงหรืออ่อนแอ สมบูรณ์หรือทรุดโทรม ภาวะค่อนข้างร้อนหรือเย็น ย่อมมีผลในการเลือกวิธีการรักษาด้วยเช่นกัน
คัมภีร์หฺวังตี้เน่ยจิง ภาคหลิงซู บทที่ 38 กล่าวว่า “ผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนสภาพแข็งแรง เลือดและชี่สมบูรณ์ หากเกิดการเจ็บป่วย ให้รักษาด้วยการฝังเข็มที่ค่อนข้างลึกและคาเข็มไว้ระยะเวลาหนึ่ง”
“เด็กซึ่งยังมีกล้ามเนื้ออ่อนแอ ชี่และเลือดมีปริมาณน้อย การรักษาด้วยการฝังเข็มควรฝังแบบตื้นและกระตุ้นเบา”
และ บทที่ 5 กล่าวว่า “ฝังเข็มลึกและคาเข็มไว้ระยะหนึ่งกับผู้ที่ใช้แรงงานร่างกายกำยำ ขณะที่ฝังเข็มตื้นในผู้ที่ใช้สมองร่างกายบอบบาง”
วิธีการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม (Therapeutic Method)
วิธีการรักษาโรคเป็นไปตามหลักการรักษาและการวินิจฉัยแยกโรคตามกลุ่มอาการ ซึ่งรวมถึงการเลือกจุดฝังเข็มและเทคนิคในการฝังเข็มและรมยา การฝังเข็มรักษาโรคต้องคำนึงถึง 4 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง ได้แก่
ทฤษฎี (Theory)
วิธีการ (Method)
การสั่งตำรับจุด (Prescription)
จุดฝังเข็ม (Acupoint)
วิธีการรักษาโรคที่มีบันทึกไว้ในคัมภีร์แพทย์โบราณสืบทอดกันมามี 6 วิธี ได้แก่
1. การเสริมบำรุง (Reinforcing)
2. การระบาย (Reducing)
3. การอุ่น (Warming)
4. การชำระ (Clearing)
5. การทำให้เคลื่อนขึ้น (Ascending)
6. การทำให้เคลื่อนลง (Descending)
20 ม.ค. 2568
26 ก.ย. 2567
6 ธ.ค. 2567
15 พ.ย. 2567