ฝังเข็มเจ็บมากไหม ? อันตรายหรือไม่ ?

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  115055 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฝังเข็มเจ็บมากไหม ?  อันตรายหรือไม่ ?

การฝังเข็มให้เกิดผลในการรักษาโรค ไม่ใช่แค่เพียงแพทย์จีนปักเข็มไปตามร่างกายเท่านั้น แต่แพทย์จีนยังต้องมีเทคนิคหลายอย่างในขั้นตอนการฝังเข็ม การเลือกรักษากับแพทย์จีนที่มีความรู้เกี่ยวกับเข็มและอุปกรณ์การฝังเข็มเป็นอย่างดี ทั้งการเลือกใช้ประเภทของเข็ม ข้อระวัง วิธีการใช้ เทคนิคต่างๆในการกระทำต่อเข็มเพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดี ตั้งแต่เริ่มจับเข็มแทง จนกระทั่งถอนเข็ม รวมถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ร่วมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

แพทย์จีนใช้เข็มอะไรฝังเข็มคนไข้
ปัจจุบันการฝังเข็มได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคควบคู่ไปกับแพทย์แผนตะวันตก หลายๆท่านมีคำถามว่า เข็มที่หมอจีนใช้ปักบนร่างกายของคนไข้ หมอใช้เข็มอะไร? เหมือนเข็มฉีดยาไหม?  แล้วเจ็บหรือเปล่า? 
 

* เป็นเข็มที่แพทย์จีนนิยมใช้ เรียกว่า เข็มปลายสน ส่วนปลายของเข็มมีลักษณะเหมือนใบสน มีความคมพอประมาณ

เข็มที่แพทย์จีนนิยมใช้แพร่หลายที่สุดคือ เข็มบาง มีลักษณะกลม-บาง ปลายเข็มแหลมคม ความยาวอยู่ระหว่าง 5-125 มิลลิเมตร ทำจากโลหะสะแตนเลส มีความทนทาน ยืดหยุ่น ไม่หักหรือเปราะแตกง่ายและไม่เป็นสนิม 

ส่วนปลายเข็มมีความแหลมคม และเป็นส่วนที่แทงนำผ่านเข้าสู่ผิวหนัง และเนื่องจากเข็มมีความบางและแหลมคมมาก เมื่อแทงผ่านผิวหนังแทบจะไม่ทำให้เจ็บเลย 

เข็มที่แพทย์จีนนำมาใช้ในการรักษาจะต้องบรรจุอยู่ในภาชนะที่ปลอดเชื้อจนกว่าจะนำมาถูกใช้งาน เข็มทั้งเล่มต้องตรง ไม่คดงอ ตัวเข็มกลม ผิวเรียบ มีความยืดหยุ่น สามารถโค้งคอและคืนสภาพได้ดี 

เข็มที่ผ่านการใช้งานแล้วจะถูกทำลายทิ้งและไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ 

การป้องกันการติดเชื้อ
การป้องกันการติดเชื้อขณะฝังเข็ม แพทย์จีนที่ได้มาตรฐานจะถือปฏิบัติเช่นเดียวกับการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อซึ่งประกอบด้วย
- สถานที่ฝังเข็มและสิ่งแวดล้อมต้องสะอาดถูกหลักอนามัย
- แพทย์ฝังเข็มจะต้องทำความสะอาดมือตามขั้นตอนที่เหมาะสม
- เตรียมและทำความสะอาดตำแหน่งที่จะทำการฝังเข็ม
- ทำปราศจากเชื้อเข็มและอุปกรณ์ และมีการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม

ความลึกในการฝังเข็ม
ในเชิงทฤษฎีความลึกที่เหมาะสมคือความลึกที่เข็มสามารถกระตุ้นความรู้สึกได้ชี่โดยไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะภายใน ในทางคลินิกความลึกของการแทงเข็มขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่
- ตำแหน่งของจุดฝังเข็ม เช่น จุดบริเวณศีรษะและใบหน้า จะแทงเข็มตื้นกว่าจุดตามร่างกาย
- รูปร่างของผู้ป่วย ผู้ป่วยรูปร่างอ้วนใหญ่มักต้องแทงเข็มให้ลึกกว่าผู้ที่มีรูปร่างผอมบาง
- พยาธิสภาพของผู้ป่วย ผู้ที่อ่อนแอ อายุมาก หรือเด็ก ควรแทงเข็มตื้นกว่าผู้ที่แข็งแรง

ความรู้สึกของคนไข้ระหว่างการฝังเข็มเป็นอย่างไร ?
"การได้ชี่" (得气 DéQì: Arrival of Qi) หรือ ปฏิกิริยาต่อเข็ม (needling sensation) หมายถึง ความรู้สึกถึงการออกฤทธิ์ของเข็มเมื่อแทงเข็มลงไปถึงจุด โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกปวด, ชา, พองแน่น หรือรู้สึกหน่วงบริเวณรอบจุดที่ฝังเข็ม หรืออาจรู้สึกแล่นกระจายขึ้นหรือลงไปตามแนวเส้นลมปราณ ในขณะเดียวกันแพทย์ฝังเข็มจะรู้สึกว่าเข็มในมือตึงแน่นเหมือนถูกหน่วงเอาไว้ คัมภีร์โบราณ เปรียบเทียบว่า
‘รู้สึกหน่วงเหมือนปลากระตุกสายเบ็ด’


การได้ชี่มีความสำคัญมากในการฝังเข็มให้ได้ผลในการรักษา คัมภีร์หฺวังตี้เน่ยจิง ภาคหลิงซู บทที่ 1 กล่าวว่า
“การรักษาโรคด้วยการฝังเข็มจะไม่เกิดผลใด ๆ หากไม่เกิดการได้ชี่” ในคัมภีร์แพทย์ยุคต่อ ๆ มา ยังคงเน้นย้ำเรื่องการได้ชี่กับผลของการรักษาด้วยการฝังเข็ม โดยการได้ชี่เร็วบ่งชี้ว่าการรักษาจะได้ผลดี การได้ชี่ที่เนิ่นช้าไปบ่งชี้ว่าผลของการรักษาจะด้อยลง

โดยทั่วไปเมื่อเข็มแทงไปถึงจุดแล้วมักเกิดอาการได้ชี่ในทันที ในกรณีที่ไม่รู้สึกได้ชี่ แพทย์จีนจะกระตุ้นเข็มเพื่อให้เกิดการได้ชี่เสมอ 

การกระตุ้นเข็มเพื่อ “บำรุง (补 Bǔ: reinforcing)”
และ “ระบาย (泻 Xiè: reducing)”

เป็นวิธีกระตุ้นเข็ม 2 แบบ ที่ตรงข้ามกันและให้ผลในการรักษาต่างกัน คัมภีร์หฺวังตี้เน่ยจิง กล่าวว่า “การกระตุ้นเพื่อบำรุงสำหรับกลุ่มอาการพร่องและการระบายสำหรับกลุ่มอาการแกร่ง”

วิธีกระตุ้นเข็มที่สามารถเพิ่มภูมิต้านทานและสมรรถภาพการทำงานของอวัยวะที่พร่องหน้าที่ได้ เรียกว่า “บำรุง” ส่วนวิธีกระตุ้นเข็มที่สามารถขจัดปัจจัยก่อโรคและปรับสมดุลอวัยวะที่ทำหน้าที่มากเกิน เรียกว่า “ระบาย" ในทางปฏิบัติการกระตุ้นทั้งสองวิธีมีความสำคัญและมีข้อบ่งใช้อย่างชัดเจนในการปรับการทำหน้าที่ของอวัยวะภายในและปรับดุลยภาพของอิน-หยาง ขึ้นกับพยาธิสภาพของผู้ป่วย

ในกรณีที่ผู้ป่วยตัวเย็นและสัญญาณชีพอ่อนพร่องต้องกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูบำรุงหยางขึ้นมาก่อน ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการตัวร้อนจัดจากการกระทำของปัจจัยก่อโรคภายนอกต้องกระตุ้นเพื่อระบายร้อนและขจัดปัจจัยก่อโรค

การกระตุ้นเข็มที่เหมาะสมไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการป่วยแต่ยังช่วยปรับสมดุลอวัยวะภายในได้อีกด้วย ตัวอย่าง อาการปวดท้องจากกระเพาะอาหารและลำไส้หดเกร็ง การฝังเข็มไม่เพียงคลายอาการหดเกร็งเพื่อบรรเทาปวดเท่านั้น ยังช่วยให้การเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารเป็นไปอย่างสมดุล

อย่างไรก็ตามผลของการฝังเข็มยังขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของ ชี่ที่ปกป้องร่างกายหรือ เว้ยชี่ (卫气WèiQì: defensive Qi) ในผู้ป่วยแต่ละรายด้วย ถ้าเอว้ยชี่สมบูรณ์การกระตุ้นชี่ในเส้นลมปราณย่อมทำได้ง่ายและได้ผลดี ในทางตรงข้าม ถ้าเอว้ยชี่อ่อนพร่องย่อมยากที่จะกระตุ้นให้เกิดผล

อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังการฝังเข็ม
1. ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียกว่าปกติเล็กน้อย ถือเป็นเรื่องปกติ หลังจากนอนหลับพักผ่อนแล้ว อาการอ่อนเพลียจะหายได้เอง

2. หลังการฝังเข็มอาจมีการเลือดออกใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดรอยม่วงคล้ำ มีจ้ำเลือด กดเจ็บบริเวณที่ฝังเข็มได้ รอยจ้ำเลือดนี้จะค่อยๆหายไปเองในเวลา 3-5 วัน

3.ในผู้ป่วยบางรายหลังฝังเข็มอาจจะทำให้มีอาการปวดระบม 1-2 วัน ถ้ามีอาการเหล่านี้ท่านสามารถรับประทานยาแก้ปวด และควรพักผ่อนให้เพียงพอ

4. ในระหว่างฝังเข็มอาจมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ  คลื่นไส้อาเจียน เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นให้ท่านเรียกแพทย์หรือผู้ช่วยแพทย์ทันที เพื่อทำการแก้ไข

5. เมื่อทำการกระตุ้นเข็ม อาจจะทำให้มีอาการปวด ตึง ชา ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะยังไม่หายไปทันทีหลังจากถอนเข็ม และอาจคงอยู่ 2-3 ชั่วโมงแล้วค่อยๆหายไปได้เอง

6. ในสุภาพสตรีบางท่านเมื่อฝังเข็มแล้วอาจจะกระตุ้นให้รอบเดือนมาเร็วขึ้น หรือมามากกว่าปกติได้

7. ในขณะฝังเข็ม อาจมีการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ในขณะใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าถ้าท่านรู้สึกปวด เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากระตุ้นแรงเกินไป ให้ท่านเรียกแพทย์หรือผู้ช่วยแพทย์ทันที เพื่อทำการปรับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดอาการระบมหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณที่ทำการกระตุ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้