ปวดศีรษะกับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  36288 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดศีรษะกับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม

"อาการปวดหัว" เป็นความปวดที่สาเหตุและกลไกมีความซับซ้อน
ปวดศีรษะ
เป็นอาการที่พบได้บ่อย และเป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์  สาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะมีหลากหลาย ทั้งจาก ความผิดปกติของร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อม อาการปวดศีรษะมักพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยเสมอ ในทางคลินิก แบ่งอาการปวดศีรษะเป็น 2 ประเภท 


1. ปวดศีรษะแบบที่ไม่พบความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของอาการปวด โรคที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะไมเกรน (migraine) และ ปวดศีรษะแบบตึงเครียด (tension-type headache) ส่วนโรคที่พบค่อนข้างน้อย ได้แก่ ปวดศีรษะเป็นระลอก (cluster headache) และ ปวดศีรษะครึ่งซีกแบบปะทุ (paroxymal hemicrania)


2. ปวดศีรษะแบบมีสาเหตุให้เกิดอาการปวดศีรษะ โดยแบ่งสาเหตุตามตำแหน่งของการเกิดโรคเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ สาเหตุภายในกะโหลกศีรษะ (intracranial causes) เช่น เลือดออกในสมอง เนื้องอกสมองหรือเนื้องอกที่กระจายมาสมอง เส้นเลือดโป่งพอง การติดเชื้อ ฯ และสาเหตุภายนอกกะโหลกศีรษะ เช่น เส้นเลือดแดงอักเสบ ไซนัสอักเสบ ต้อหิน การติดเชื้อ ความดันโลหิตสูง โรคของกระดูกคอ ฯลฯ


การแพทย์แผนจีน แบ่งสาเหตุของการปวดศีรษะ เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. การรุกรานจากปัจจัยก่อโรคนอกร่างกาย ปัจจัยสำคัญ คือ ลม เข้ากระทำต่อเส้นลมปราณส่วนบนของร่างกาย ทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนไม่คล่อง
2. ความผิดปกติภายในร่างกาย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแกร่ง เช่น หยางตับเกินจากชี่คั่ง หรืออารมณ์โกรธ และ กลุ่มพร่อง เช่น ชี่และเลือดพร่อง

 มุมมองการวินิจฉัยแยกโรคของอาการปวดศีรษะแบบการแพทย์แผนตะวันตก ร่วมกับการวินิจฉัยแยกโรคตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน โดยเน้นเฉพาะปวดศีรษะที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ ดังนี้


ปวดศีรษะแบบที่ไม่พบความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของอาการปวด 
ได้แก่ ปวดศีรษะแบบตึงเครียด ปวดศีรษะไมเกรน และ ปวดศีรษะเป็นระลอก ซึ่งทั้งสามโรครวมกัน พบได้มากกว่าร้อยละ 90 ของโรคปวดศีรษะแบบปฐมภูมิทั้งหมด

ปวดศีรษะแบบตึงเครียด (Tension-type headache)
ส่วนใหญ่เกิดจากกล้ามเนื้อเครียดหรือตึงตัว (muscle strain) บริเวณหลังคอ โดยมีผลทำให้หลอดเลือดบริเวณต้นคอหดตัว ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยง จึงเกิดอาการปวด โดยสัมพันธ์กับอารมณ์ วิตกกังวล แต่ไม่มีประวัติทางกรรมพันธุ์

อาการปวดเริ่มจากบริเวณต้นคอ แล้วกระจายไปทั่วศีรษะ ปวดเหมือนมีอะไรรัดไว้ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ช่วงที่ปวดมาก อาจรู้สึกปวดตึงขมับ และอาจมีอาการชาร่วมด้วย อาการปวดอาจเป็นเดือนละหลายครั้ง แต่ละครั้งอาจปวดนานไม่กี่นาที หรือปวดทั้งวัน หลายวันติดต่อกันก็ได้ ส่วนมากอาการหายได้เอง ถ้าความเครียดลดลงและนอนหลับพักผ่อนได้เพียงพอ ซึ่งต่างจากสาเหตุอื่น ๆ การฝังเข็มรักษามักได้ผลดี

ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine)

อาการปวดศีรษะไมเกรน พบมีประวัติทางพันธุกรรมประมาณร้อยละ 80 มีลักษณะ ปวดได้ 3 แบบ คือ ปวดศีรษะข้างเดียว ปวดทั้งสองข้าง และปวดสลับข้างไปมา ตำแหน่งปวดเป็นได้ทั้งที่หน้าผาก ขมับ หรือท้ายทอย

อาการเริ่มแรกมักปวดรุนแรงและเฉียบพลัน นานเป็นนาที จนถึงเป็นวัน เวลาเกิดอาการไม่แน่นอน  ช่วงที่มีอาการ หากมีการเคลื่อนไหวศีรษะจะทำให้ปวดมากขึ้น อาการร่วมสำคัญที่ใช้แยกอาการปวดศีรษะจากสาเหตุอื่น คือ คลื่นไส้ อาเจียน กลัวแสง เสียง หรือกลิ่น โดยอาการกลัวแสงจะพบได้บ่อยกว่า หลังจากหายปวด ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนล้า การฝังเข็มรักษาได้ผลดี แต่ไม่หายขาด


ปวดศีรษะเป็นระลอก (Cluster headache)
เป็นอาการปวดศีรษะข้างเดียวอย่างรุนแรงแบบเป็นระลอกหรือเป็นชุด มีลักษณะการปวดตุบ ๆ บริเวณขมับ รอบตา หรือกระบอกตาข้างใดข้างหนึ่ง อาการปวดจะเกิดเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงนาน 15 – 180 นาที โดยอาการอาจเกิดทุกวันหรือเว้นวัน ส่วนใหญ่เกิดวันละ 1 – 2 ครั้ง แต่บางรายอาจเกิดบ่อยถึงวันละ 8 ครั้ง

การปวดแต่ละชุด อาจใช้เวลาหลายวันถึงหลายสัปดาห์ และมีช่วงเวลาที่หายจากอาการปวดเป็นเดือนหรือเป็นปี อาการที่อาจพบร่วมด้วย ได้แก่ น้ำตาไหล คัดจมูก น้ำมูกไหล เหงื่อออกหน้าผาก ใบหน้าข้างที่มีอาการปวด อาจพบอาการบวมที่เปลือกตา หนังตาตก (ptosis) รูม่านตาหด (miosis) การปวดศีรษะเป็นระลอกพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 5 – 6 เท่า และพบน้อยกว่าปวดศีรษะไมเกรน 10 – 50 เท่า ประมาณร้อยละ 10 พบมีประวัติโรคในครอบครัว เป็นโรคที่รักษายาก อาจใช้วิธีฝังเข็มร่วมกับรมยา

ศาสตร์การแพทย์แผนจีน วิเคราะห์อาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติภายในร่างกาย โดยมีสาเหตุและกลไกการเกิดโรคแตกต่างกัน ได้แก่

1. เกิดจากลม ความเย็น และความชื้น อุดกั้นเส้นลมปราณ ทำให้เลือดและชี่ไหล เวียนไม่คล่องจึงเกิดอาการปวด

2. จากอารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ ทำให้เส้นลมปราณตับและถุงน้ำดีติดขัดเกิดชี่คั่ง ชี่ที่ติดขัดนานวันจะแปรสภาพเป็นไฟ ไปรบกวนทวารสมอง

3. จากความชื้นสะสมจนแปรสภาพเป็นเสมหะ ไปอุดกั้นเส้นลมปราณ ทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนไม่คล่อง

4. จากร่างกายที่ไม่สมบูรณ์แต่กำเนิด สมองและไขกระดูกว่างเปล่า ส่วนใหญ่มักพบปวดศีรษะสัมพันธ์กับการมีประวัติโรคในครอบครัว

5. จากมีเลือดคั่ง ทำให้การไหลเวียนของชี่ไม่คล่อง

6. เกิดจากชี่และเลือดพร่อง เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทำงานหนักหรือเครียดเกิน สุขภาพทรุดโทรมจากโรคเรื้อรัง หรือมีภาวะพร่องมาแต่กำเนิด

การรักษาตามกลุ่มอาการ ——  ปวดศีรษะจากลมชื้น

เมื่อโดนลมหรือความเย็นอาการปวดศีรษะกำเริบ มักมีอาการปวดด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านสลับกัน หรือปวดทั่วศีรษะ ลักษณะการปวดแบบขยายแน่น ปวดแบบเข็มแทงหรือปวดตุบๆ บริเวณผิวหนังที่ปวดมีก้อนปูดบวม คัดจมูกน้ำมูกไหล ฝ้าขาว ชีพจรตึงแน่น (เสียนจิ่น) ในรายที่อาการหนักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เหงื่อออก สีหน้าซีดขาวร่วมด้วย เป็นต้น

หลักการรักษา :ขับลมกระจายความเย็น สลายชื้นทะลวงเส้นลมปราณ ใช้จุดบนเส้นลมปราณมือ-เท้าเส้าหยาง,หยางหมิงเป็นหลัก กระตุ้นเข็มแบบระบาย




การรักษาตามกลุ่มอาการ —— ปวดศีรษะจากหยางตับ
ปวดตุบๆบริเวณขมับ มักปวดด้านใดด้านหนึ่ง เวียนศีรษะ ใบหน้าแดงร้อน หงุดหงิดโมโหง่าย ตาแดงปากขม ลิ้นแดง ชีพจรตึง (เสียน) อาการจะกำเริบเมื่อมีภาวะเครียด

หลักการรักษา :สงบตับ ดึงชี่กลับลงล่าง ดับลม คุมหยาง ใช้จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณเท้าเส้าหยาง เส้าอิน เจวี๋ยอินเป็นหลัก กระตุ้นเข็มแบบระบาย

การรักษาตามกลุ่มอาการ —— ปวดศีรษะจากเสมหะ
ปวดศีรษะบริเวณหน้าผากเหมือนโดนรัด แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียนออกมาเป็นเสมหะ อุจจาระเหลว ฝ้าลิ้นขาวเหนียว ชีพจรลื่น (หวา) 

หลักการรักษา : สลายเสมหะลดสิ่งสกปรกลงล่าง ทะลวงลมปราณ ระงับปวด ใช้จุดบนเส้นลมปราณตู, ม่าย เส้นลมปราณเท้าหยางหมิงเป็นหลัก กระตุ้นเข็มแบบระบาย

การฝังเข็มรักษาปวดศีรษะแบบที่ไม่พบความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของอาการปวด 


หลักการรักษา : เปิดทวารสมอง  ทะลวงเส้นลมปราณ
ระยะเวลาฝังเข็ม : ฝังเข็มทุกวันจนอาการดีขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นวันเว้นวัน เมื่ออาการหายดีสามารถหยุดฝังเข็มได้ เมื่อมีอาการปวดจึงเริ่มการฝังเข็มใหม่ การฝังเข็มไม่สามารถป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

การฝังเข็มรักษาปวดศีรษะแบบสาเหตุให้เกิดอาการปวดศีรษะ
" ปวดศีรษะจากเนื้องอกสมอง "
เกิดจากพยาธิสภาพในสมอง เช่น มีการอักเสบ หรือมีเนื้องอก ซึ่งต้องแยกให้ชัดเจนทางห้องปฏิบัติการก่อนว่า เป็นจากสมองอักเสบ เนื้องอก หรือมะเร็งสมอง โดยทั่วไป สมองอักเสบ มักมีอาการปวดศีรษะเหมือนจะระเบิด ส่วนเนื้องอกหรือมะเร็งสมองมักมีอาการกดทับสมองและเส้นประสาท ทำให้มีอาการจากการกดทับร่วมด้วย เช่น ประสาทตา ทำให้ปวดลูกตา ร่วมกับมีการมองเห็นผิดปกติแบบต่าง ๆ ตามตำแหน่งการกดทับ

การฝังเข็มบริเวณศีรษะ ไม่เป็นเหตุให้มะเร็งสมองแพร่กระจาย หากผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลดังกล่าว อาจเลือกใช้จุดไกลก่อน โดยเลือกใช้จุดตามแนวเส้นลมปราณที่ผ่านบริเวณที่มีอาการปวดศีรษะ แล้วจึงเพิ่มจุดใกล้หากอาการไม่ทุเลา 

การฝังเข็มระงับปวดจากเนื้องอกหรือมะเร็งสมอง ในระยะแรกมักได้ผลดี แต่นานไปร่างกายผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้  ทำให้เกิดการดื้อต่อการฝังเข็ม จึงใช้ไม่ได้ผล และที่สำคัญต้องรักษามะเร็ง หรือเนื้องอกสมอง ตามการแพทย์ตะวันตกร่วมด้วย

"ปวดศีรษะจากความดันโลหิตสูง"
อาจมีอาการปวดศีรษะข้างขมับ หรือกลางศีรษะ สาเหตุของโรค ตามศาสตร์การ แพทย์แผนจีน ได้แก่

1. หยางตับแกร่ง เริ่มต้นจากผู้ป่วยมีภาวะอินตับและไตพร่อง อย่างค่อยเป็นค่อยไปมาก่อน จนเกิดภาวะหยางตับมีมากขึ้น
2. ไฟตับกำเริบ พบในผู้ป่วยที่มีอารมณ์ร้อน โมโหง่าย อาการค่อนข้างเฉียบพลัน ใช้แยกจากภาวะหยางตับแกร่ง

 
" ปวดศีรษะในสตรี "
1. เกิดจากความเครียดในการทำงาน มีงานมาก ขาดการพักผ่อน ผู้ป่วยจะมีความกดดัน นอนไม่หลับหรือหลับได้ไม่ดี ร่วมกับอ่อนเพลีย
2. ปวดเหมือนเข็มทิ่มแทง หรือปวดเต้นตามจังหวะชีพจร (vascular headache)  ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดสัมพันธ์กับรอบเดือน ทั้งก่อนหรือหลังมีประจำเดือน
3. ปวดศีรษะจาก Mastoid Process อักเสบ หรือ Tonsillar Nerve อักเสบ


ข้อมูลประกอบบทความ  : " หนังสือการฝังเข็ม รมยา เล่ม 2"
Acupuncture & Moxibusion Volume 2
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-616-11-0277-7


 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้