Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 81093 จำนวนผู้เข้าชม |
หลายคนที่มาหาหมอจีนอาจสงสัยว่าทำไมเวลามาหาหมอจีน
ก่อนเริ่มต้นรักษา หรือก่อนจ่ายยาจีน หมอจะต้องแมะที่ข้อมือด้วย
อาจจะมีคำถามในใจว่า
“คุณหมอฟังชีพจรอะไร ?”
"ชีพจรสองข้างนี่มันเหมือนกันหรือเปล่า ?”
“แมะแล้วบอกได้เลยหรือ ... ว่าเป็นโรคอะไร ?”
บางคนก็บอกว่ามันน่าเชื่อถือจริงหรือ ?
หมอจีนเพียงแค่จับๆดูก็รู้เลยหรือว่าป่วยเป็นอะไร?
“แมะ หรือ พะแมะ”
ในภาษาจีนกลางก็คือ ม่าย(脉)
มาจากคำว่า ป่าม่าย(把脉)หรือ เชียะม่าย(切脉) ซึ่งก็หมายถึงการจับชีพจรในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เป็นหนึ่งในวิธีการเพื่อวินิจฉัยโรคและกลุ่มอาการ โดยที่ชีพจรจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
ชีพจรอธิบายถึงสภาวะร่างกายได้อย่างไร ?
"ชีพจร เกิดจากการเต้นของหัวใจ" ซึ่งอาศัยการทำงานของ หยางหัวใจและชี่หัวใจ โดยมีเลือดและหยินหัวใจเป็นองค์ประกอบ นอกจากนี้ยังต้องมีอวัยวะปอดเป็นตัวผลักดัน เกี่ยวข้องกับอวัยวะม้ามซึ่งควบคุมเลือดให้ไหลเวียนอยู่ภายในเส้นเลือด อวัยวะตับเป็นแหล่งกักเก็บเลือด อวัยวะไตเป็นแหล่งกักเก็บสารจิงซึ่งเป็นสารจำเป็นในร่างกายสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเลือดได้
จากการที่ชีพจรมีส่วนเกี่ยวข้องกับอวัยวะดังที่กล่าวมานี้ การที่แพทย์จีนจับชีพจร (แมะ) จึงหมายถึงความเชื่อมโยงของระบบอวัยวะทั่วร่างกายได้
ดังนั้น เมื่ออวัยวะต่างๆทำงานไม่ปกติ หรือเลือดและลมปราณมีไม่เพียงพอ หรือไหลเวียนไม่สะดวก ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รู้สึกว่าไม่สบายอะไรสักเท่าไหร่ หรือรู้สึกไม่สบายแต่ไปโรงพยาบาลตรวจร่างกายแล้วไม่พบปัญหาอะไร แต่ว่ามันสามารถสะท้อนออกมาได้ในชีพจร หรือที่เรียกว่า “ชีพจรป่วยแต่คนยังไม่ป่วย (脉病人不病)”
ส่วนนี้คือจุดเด่นของศาสตร์การแพทย์แพทย์จีน ทำให้แพทย์จีนสามารถรับรู้ ตรวจวินิจฉัยได้ว่าตอนนี้ผู้ป่วยมีความผิดปกติอย่างไร จะสามารถป้องกันและดูแลตัวเองได้ก่อนที่จะเป็นโรคหนักๆ
การแมะ เป็นการอาศัยความรู้สึกโดยการสัมผัสลักษณะการเต้นของชีพจร โดยที่ชีพจรในแต่ละตำแหน่งจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งจะบ่งบอกถึงพลังของแต่ละอวัยวะ โดยในการแมะนั้น หมอจีนจะใช้นิ้วมือทั้งสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) สัมผัสบริเวณใต้ข้อมือฝั่งนิ้วโป้ง โดยใช้นิ้วกลางสัมผัสบริเวณปุ่มกระดูกนูนด้านในเป็นตำแหน่ง “กวน(关)” ก่อน จากนั้นนิ้วชี้อยู่เหนือกวน เป็นตำแหน่ง “ชุ่น(寸)” และนิ้วนางอยู่ใต้กวนเป็นตำแหน่ง “ฉื่อ(尺)” สามนิ้วเรียงติดกันความห่างให้พอเหมาะกับแต่ละบุคคล เช่นคนอ้วน แขนยาวใหญ่ อาจจะห่างนิดนึง เป็นต้น นอกจากนี้การจับชีพจรที่ข้อมือซ้ายกับขวาก็มีความหมายแตกต่างกันไปอีก
ด้านขวาจะหมายถึง
ตำแหน่งชุ่น = ปอด
ตำแหน่งกวน = ม้าม
ตำแหน่งฉื่อ = ไต (มิ่งเหมิน)
ด้านซ้ายจะหมายถึง
ตำแหน่งชุ่น = หัวใจ
ตำแหน่งกวน = ตับ
ตำแหน่งฉื่อ = ไตอิน
เทคนิคในการจับชีพจรของแพทย์แผนจีน จริงๆแล้วยังมีการวิเคราะห์อีกหลายวิธีด้วยกัน แต่สำหรับในที่นี้จะพูดถึงวิธีนพื้นฐานในการจับชีพจรและวินิจฉัยโรคและกลุ่มอาการ
ตำแหน่ง | ด้านซ้าย | ด้านขวา |
ชุ่น(寸) | หัวใจ (ลำไส้เล็ก) | ปอด (ลำไส้ใหญ่) |
กวน(关) | ตับ (ถุงน้ำดี) | ม้าม (กระเพาะ) |
ฉื่อ(尺) | ไตหยิน (กระเพาะปัสสาวะ) | ไตหยาง(มิ่งเหมิน) |
เมื่อหมอจีนจับชีพจรแล้วสิ่งที่จะพิจารณาผู้ป่วย ได้แก่
- ระดับการแมะ (อยู่ตื้น - ชีพจรลอย) (อยู่ลึก - ชีพจรจม)
- จังหวะการเต้น (เร็ว-ช้า สม่ำเสมอหรือไม่)
- ลักษณะของชีพจร (ชีพจรใหญ่ - เล็ก นุ่ม - แข็งตึง)
- ลักษณะการเต้น (มีแรง หรืออ่อนแรง การลื่นไหลไม่มีสะดุดหรือไม่)
โดยชีพจรของคนปกติจะเรียกว่า “ผิงม่าย(平脉” คือ ชีพจรจะไม่ลอยไม่จม เต้นสม่ำเสมอ ไม่เล็กไม่ใหญ่ ไม่แรงไม่อ่อน แต่ทั้งนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปตามอายุ เพศ ฤดูกาล ลักษณะรูปร่าง เช่น คนผอมชีพจรมักลอยหรืออยู่ตื้น คนอ้วนชีพจรมักจม แต่ถ้าหากพบชีพจรในทางกลับกันแสดงว่าเค้าเหล่านั้นมีความผิดปกติในร่างกายเกิดขึ้นแล้ว
ลักษณะการเต้นของชีพจรในทางแพทย์จีนมีระบุไว้ 28 ชนิดด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ชีพจรแบบฝูม่าย(浮脉)หรือ ชีพจรลอย ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนท่อนไม้ลอยอยู่ผิวน้ำ เวลาหมอจีนจีนกดจะจมเล็กน้อย ลักษณะชีพจรเช่นนี้ มักพบได้ในผู้ป่วยไข้หวัด บ่งบอกอาการเพิ่งเริ่มป่วย หรือ ปัจจัยก่อโรค (เสียชี่) มาจากภายนอก
ชีพจรแบบเสียนม่าย (弦脉) หรือที่มักได้ยินคุณหมอบอกว่าชีพจรตึงนั่นเอง ชีพจรนี้เวลาจับจะรู้สึกเป็นเส้นยาว และตึงคล้ายกับเวลากดสายพิณ คนที่มีลักษณะชีพจรแบบนี้ โดยมากมักจะมีปัญหาในเรื่องตับ
Cr.Photo : acusansthan-ald.in
ในกรณีลมปราณ (ชี่) ตับเกิดการติดขัด โดยมากมักจะพบว่ามีความเครียด ภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย หรืออาจจะพบในผู้ที่มีอาการเจ็บปวด ถ้าหากว่าตึงด้วยเต็วเร็วด้วย แสดงว่านอกจากจะมีลมปราณตับติดขัดแล้ว อาจสะสมเป็นเวลานานจนทำให้เกิดไฟลุกโหมอยู่ภายใน หรือ อาจจะเคยได้ยินคุณหมอบอกว่า "ตับร้อน" นั่นเอง แต่ถ้าชีพจรตึงแต่เป็นลักษณะเส้นเล็กๆ ก็แสดงถึงลมปราณตับติดขัดร่วมกับมีเลือดพร่อง หรือมีตับและไตหยินพร่อง เป็นต้น
นอกจากนี้ การแมะ ยังมีส่วนเฉพาะสำหรับเด็กเล็กๆอีกด้วย เด็กบางคนหรือพ่อแม่อาจจะสงสัยกันว่ากรณีผู้ใหญ่ คุณหมอจะจับชีพจรที่ข้อมือ แต่ในกรณีของเด็กเล็กๆ จะใช้วิธีการตรวจวินิจฉัย ดูร่องรอยที่นิ้ว ซึ่งป็นการดูเส้นเลือดเล็กๆที่อยู่บริเวณนิ้วชี้บริเวณนอก โดยการหงายฝ่ามือ
แพทย์จีนมักจะใช้ในการตรวจวินิจฉัยดูในผู้ป่วยเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 3 ขวบเนื่องจากชีพจรบริเวณข้อมือค่อนข้างเล็ก จับชีพจรได้ยาก
โดยจะมีการแบ่งตำแหน่งออกเป็น ข้อแรกสุดเป็นเฟิงกวน(风关) ข้อถัดขึ้นไปเป็นชี่กวน(气关) และข้อนิ้วสุดท้ายเป็นมิ่งกวน(命关)ซึ่งแต่ละระดับจะบ่งบอกได้ถึงอาการหนัก-เบาของโรค ปัจจัยเสียก่อโรคยังอยู่ภายนอกหรือเข้าลึกสู่อวัยวะภายใน นอกจากนี้สีของเส้นเลือดที่นิ้วยังบ่งบอกได้ถึงว่ามีอาการร้อน-เย็น พร่อง-แกร่ง มีเสมหะอุดกั้น เลือดไหลเวียนไม่ดี เช่น สีแดงสดหมายถึงมีความร้อน สีแดงม่วงหมายถึงมีความร้อนมาก ไข้สูง สีอ่อนหมายถึงอาการพร่อง เป็นต้น
เคยได้ยินหลายคนบอกว่า ...
หมอแมะแล้วรู้ได้เลยว่าเป็นโรคมะเร็ง มีเนื้องอกตรงนั้นตรงนี้
จริงหรือไม่ ?
ประเด็นนี้ค่อนข้างเชื่อถือได้ยาก
ผู้ป่วยมะเร็งนั้นพื้นฐานเดิมมีความซับซ้อนของโรคและกลไลการเกิด การดำเนินโรค แตกต่างกันไปแต่ละบุคคล ระยะของโรคก็มีความแตกต่างกันไป และผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ที่มาหาหมอจีนมักจะผ่านการรักษาสารพัดอย่างมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นชีพจรที่ปรากฏก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
ในความเป็นจริงแล้วในทางศาสตร์การแพทย์แผนจีนในอดีตไม่ได้มีการระบุถึงโรคมะเร็งแต่อย่างใด แต่สามารถจะบอกได้ว่าอวัยวะต่างๆในร่างกายของเราทำงานปกติหรือไม่ เลือดและลมปราณเพียงพอ และไหลเวียนสะดวกติดขัดหรือไม่ อินและหยางในร่างกายสมดุลหรือไม่ มีเสมหะหรือปัจจัยเสียก่อโรคอยู่ภายในร่างกายหรือไม่ เป็นต้น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากตัวเราเองไม่ป้องกันรักษา ปล่อยทิ้งไว้นานวันเข้าก็จะทำให้มีโรคต่างๆตามมาได้ ไม่เพียงแต่โรคมะเร็ง ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์จีนแต่ละคน ศึ่งจะมีความชำนาญในการวิเคราะห์โรคด้วยจึงจะประเมินอาการล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำถูกต้องมากที่สุด
แต่ในตำราแพทย์จีนในอดีตก็มีบันทึกไว้อยู่เหมือนกันที่อาจจะคล้ายคลึงกับโรคมะเร็งอย่างในสมัยราชวงศ์ชิงมีหมอท่านหนึ่งชื่อว่า "หวงหยวนยวู่ 黄元御”" เขียนไว้ในตำรา "จินคุ่ยเสวียนเจี่ย"《金匮悬解》ในบท "จีจูวี้" (积聚) หรือ อาการสะสมหมักหมมจนเกิดเป็นก้อนขึ้นมาในร่างกาย ได้กล่าวถึงชีพจรที่มีลักษณะเป็นเส้นเล็ก และคล้ายกับมีตุ่มกระดูกโผล่ขึ้นมา ลักษณะเช่นนี้แสดงว่ามีอาการ "จีจู้ย" หรือบางท่านอาจเคยได้ยินในแพทย์จีนยุคใหม่ๆ บอกว่าชีพจรคล้ายกับมีเม็ดถั่วเขียวนั่นเอง
วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการตรวจชีพจร
แพทย์จีนที่ทำการตรวจวินิจฉัยโรคโดยวิธีนี้ ต้องอาศัยสมาธิและจิตใจที่สงบนิ่ง การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยแต่ละราย หมอจะต้องมีสมาธิแน่วแน่ ผู้ป่วยก็จะต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกสม่ำเสมออย่างเป็นธรรมชาติ โดยนิ้วมือที่หมอสัมผัสชีพจรของผู้ป่วยต้องมีจังหวะการกดเบาหนักและแรงที่ถูกต้อง การตรวจชีพจรจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยนั่งพักสักครู่ เพื่อให้จิตใจสงบก่อนและไม่มีสิ่งใดมารบกวน จึงจะส่งผลให้ตรวจพบชีพจรที่แท้จริงได้มากขึ้น
ในระหว่างการตรวจชีพจร แพทย์จีนจะให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงในท่าที่สบาย ยื่นแขนออกมาในลักษณะหงายฝ่ามือขึ้น โดยวางแขนบนโต๊ะให้อยู่ในระดับเดียวกับตำแหน่งหัวใจ
ในการวินิจฉัยโรคแต่ละครั้งควรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 นาที เพื่อให้แพทย์จีนมีเวลาวินิจฉัยการเปลี่ยนแปลงของชีพจร ลักษณะชีพจรของคนปกติ คือ การหายใจเข้าออกแต่ละครั้ง ชีพจรจะเต้น 4~5 ครั้ง หรือ 72~80 ครั้ง/นาที ตำแหน่งชีพจรจะอยู่ที่กึ่งกลาง ไม่ลอย ไม่จม ไม่ยาว ไม่สั้น จังหวะการเต้นสม่ำเสมอ ราบรื่น มีแรงสม่ำเสมอทั้งตำแหน่งชุ่น กวน ฉื่อ เมื่อใช้นิ้วกดจมลงหาชีพจรก็ยังมีชีพจรเต้นอยู่
Cr.Photo : etsy.com
การเปลี่ยนแปลงของชีพจรโดยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงในร่างกายและสิ่งแวดล้อม ชีพจรของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับสภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อม อายุ เพศ ลักษณะภายนอก (อ้วนหรือผอม) ลักษณะการกินอยู่ และอารมณ์จิตใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันทั้งสิ้น เช่น เด็ก ๆ หายใจเข้าออกหนึ่งครั้งชีพจรจะเต้นถึง 7 ครั้ง หนุ่มสาวปกติการเต้นของชีพจรจะราบลื่นไม่ติดขัด ผู้สูงอายุชีพจรจะตึงและแข็ง
ผู้หญิงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย ชีพจรจะอ่อนนุ่มเล็กเร็วกว่าปกติเล็กน้อย หญิงตั้งครรภ์ชีพจรจะลื่นและเร็ว คนอ้วนชีพจรจะจมเล็ก คนผอมชีพจรจะลอยใหญ่ คนสูงชีพจรจะยาว คนเตี้ยชีพจรจะสั้น การออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารและหลังดื่มแอลกอฮอล์
ชีพจรจะลื่นเร็วมีแรง ความหิวจะทำให้ชีพจรอ่อนนุ่มไม่มีแรง คนที่นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมชีพจรจะอ่อนนุ่ม
เมื่อจิตใจอารมณ์เปลี่ยนแปลงชีพจรก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น ความโกรธ
ส่งผลกระทบต่อตับ ชีพจรจะตึงเล็ก ความตกใจกลัวทำให้ชีพจรเต้นไม่เป็นจังหวะ
เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ระหว่างกลัว ตกใจ ดีใจ หรือ เสียใจ ตื่นเต้น เครียดมาก กังวล
ทั้งหมดนี้ทำให้ชีพจรเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ เมื่ออารมณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ชีพจรจะเต้นกลับคืนสู่ปกติ ฤดูกาลทั้ง 4 ก็มีผลทำให้การเต้นของชีพจรเปลี่ยนแปลงไป เช่น ฤดูใบไม้ผลิทำให้ชีพจรตึง ฤดูร้อนชีพจรเต้นใหญ่ ฤดูใบไม้ร่วงชีพจรจะเต้นเบาเล็ก
ฤดูหนาวชีพจรจะจมแน่น ระหว่างกลางวันและกลางคืนจะมีการเปลี่ยนแปลง กลางวันชีพจรจะลอยและแรง ส่วนกลางคืนชีพจรจะจมเล็กช้า ส่วนมากคนที่อยู่เมืองหนาวมักชอบรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่าง การเต้นของชีพจรจะจม แกร่ง ถ้าคนอยู่เมืองร้อน อากาศจะร้อนอบอ้าว รูขุมขนจะขยายตัว ภายในและภายนอกกล้ามเนื้อจะผ่อนคลาย การเต้นของชีพจรจะเร็วและอ่อนนุ่มกว่าเล็กน้อย
แพทย์จีน อรกช มหาดิลกรัตน์ (ไช่ เพ่ย หลิง)
คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567