Last updated: 8 เม.ย 2568 | 90 จำนวนผู้เข้าชม |
การฝังเข็มรักษาภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง
โรคต่อมลูกหมากอักเสบ (prostatitis) เป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณต่อมลูกหมาก พบได้ในผู้ชายทุกช่วงวัย และพบได้บ่อยในช่วงอายุ 30 – 50 ปี ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายลูกเกาลัด อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ทำหน้าที่ในการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ หากเกิดการอักเสบทำให้ผู้ป่วยมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ปวดอวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียง
โรคต่อมลูกหมากอักเสบสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ได้แก่
(1) ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน (Acute bacterial prostatitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมลูกหมากแบบเฉียบพลัน ทำให้มีอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ผู้ป่วยมักมีไข้หรือหนาวสั่นร่วมด้วย
(2) ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic bacterial prostatitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมลูกหมากเช่นกัน แต่อาการรุนแรงน้อยกว่าชนิดเฉียบพลัน และมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน
(3) ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง (Chronic prostatitis) เป็นการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบได้มากถึง90%ของโรคต่อมลูกหมากอักเสบทั้งหมด
ผู้ป่วยภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง(Chronic prostatitis) มักมีอาการปวดเรื้อรังในอุ้งเชิงกราน (Chronic pelvic pain syndrome) เป็นหลัก เป็นๆหายๆ เป็นระยะเวลานานกว่า3เดือนขึ้นไป โดยความปวดจะเด่นชัดที่บริเวณท้องน้อย ถุงอัณฑะ ทวารหนัก หรือ อวัยวะเพศ และอาการปวดมักสัมพันธ์กับการหลั่งน้ำอสุจิ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติในการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะติดขัด หรือปัสสาวะเจ็บแสบร่วมด้วย[1] อาการเหล่านี้หากไม่ได้รับการรักษาสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เส้นประสาท ระบบภูมิคุ้มกันหรือระบบต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ
ในมุมมองการแพทย์แผนจีนภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังมีชื่อเรียกว่า“จิงจั๋ว (精浊)” “หลินเจิ้ง(淋证)” ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากความร้อนชื้นสะสมบริเวณเบื้องล่าง และเลือดคั่งอุดกั้นเส้นลมปราณลั่ว โดยมีตำแหน่งหลักของโรคอยู่ที่ไต กระเพาะปัสสาวะ และม้าม การฝังเข็มช่วยในการปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทำให้อาการปวดอุ้งเชิงกราน และอาการปัสสาวะผิดปกติลดลง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นได้อีกด้วย
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
1. ความร้อนชื้นเคลื่อนลงสะสมเบื้องล่าง (湿热下注): การดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารรสเผ็ดหรือมันมากเกินไป ทำให้เกิดความชื้นและความร้อนสะสมภายในร่างกาย เมื่อความร้อนชื้นเคลื่อนลงสะสมที่เบื้องล่าง จะกระทบต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตึงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด มีของเหลวขาวขุ่นไหลออกจากท่อปัสสาวะ รวมถึงมีอาการปากแห้ง มีกลิ่นปาก และมีอาการกดเจ็บที่ต่อมลูกหมากร่วมด้วย ลิ้นแดงมีฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นและเร็ว (舌红苔黄腻,脉滑数)
2. ม้ามพร่องชี่ตก (脾虚气陷): การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การทำงานหนัก หรือใช้ความคิดมากเกินไป ทำให้ม้ามอ่อนแอ การย่อยและดูดซึมสารอาหารบกพร่อง ส่งผลให้ชี่พร่องและจมลงล่าง ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะไม่สุด มีปัสสาวะค้างหลังจากปัสสาวะเสร็จ ปัสสาวะมีสีขาวขุ่น อาการหนักขึ้นเมื่อเหนื่อยล้า รวมถึงมีอาการวิงเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย หายใจสั้น หน้าซีด ใจสั่น และเหงื่อออกง่าย ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กและจมอ่อน (舌淡苔薄白,脉细弱)
3. ชี่ของไตพร่อง (肾气亏虚): การทำงานหนักเกินไป อายุที่มากขึ้น หรืออาการป่วยเรื้อรัง ทำให้ชี่ของไตอ่อนแอลง ส่งผลให้ไตไม่สามารถทำหน้าที่ในการเก็บรักษาสารจำเป็นต่างๆได้ ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะไม่สุด ปวดเมื่อยบริเวณเอวและเข่า วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กและจมอ่อน (舌淡苔薄白,脉细弱)
4. ชี่ตับติดขัด (肝气郁结): ความเครียดสะสมหรืออารมณ์แปรปรวน ส่งผลให้ชี่ของตับติดขัด เมื่อชี่ติดขัดเป็นเวลานานทำให้เกิดความร้อนขึ้นและเคลื่อนตัวลงสู่เบื้องล่าง กระทบต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะขัด ไหลไม่สะดวก และมีอาการปวดหรือจุกแน่นบริเวณท้องน้อยร่วมด้วย ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรจมและตึง (苔薄白,脉沉弦)
แนวทางการรักษาด้วยการฝังเข็ม
การฝังเข็มรักษาภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังเน้นการขับระบายเซี่ยเจียวและเสริมม้ามบำรุงไตเป็นหลัก โดยเลือกใช้เส้นลมปราณของอวัยวะที่เป็นตำแหน่งหลักของโรค (เช่น เส้นลมปราณตับ ม้าม ไต และกระเพาะปัสสาวะ) และเส้นลมปราณที่มีเส้นทางไหลเวียนผ่านบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะโดยตรง (เช่น เส้นลมปราณเริ่น และตู)
จุดฝังเข็มหลัก:GuanYuan (RN4), QiXue (KI13) , DaHe (KI12) , SanYinJiao (SP6) , TaiXi (KI3)
กลุ่มอาการความร้อนชื้นเคลื่อนลงสะสมเบื้องล่าง:เพิ่มจุดฝังเข็ม ShuiDao (ST28) , ZhongJi (RN3) , YinLingQuan (SP9) เพื่อช่วยขับความชื้นและระบายความร้อน
กลุ่มอาการม้ามพร่องชี่ตก:เพิ่มจุดฝังเข็ม PiShu (BL20) , ZuSanLi (ST36) เพื่อช่วยบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ดึงหยางชี่ให้ลอยขึ้นบน
กลุ่มอาการชี่ของไตพร่อง:เพิ่มจุดฝังเข็ม ShenShu (BL23) , FuLiu (KI7) เพื่อช่วยบำรุงชี่ของไต
กลุ่มอาการชี่ตับติดขัด:เพิ่มจุดฝังเข็ม GanShu (BL18) , TaiChong (LR3) เพื่อช่วยกระจายชี่ของตับแก้ติดขัด
การฝังเข็มรักษาภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังได้อย่างไร
1.บำรุงชี่ของม้ามและไต ปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน
2.ขับความชื้นและระบายความร้อน ลดการอักเสบของต่อมลูกหมาก
3.เพิ่มการไหลเวียนเลือดบริเวณต่อมลูกหมาก ลดอาการบวมและการอักเสบของกล้ามเนื้อ
4.ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบที่บริเวณต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้อาการปวดลดลง
5.ปรับการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะได้สะดวกขึ้น
ภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังเกิดจากการรับประทานอาหาร การทำงาน หรือพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ร่างกายเกิดความร้อนชื้น เลือดคั่ง ชี่ติดขัด และชี่พร่อง การฝังเข็มช่วยขับความชื้นระบายความร้อน กระตุ้นการไหลเวียนเลือด และบำรุงชี่ ทำให้อาการปวดบริเวณต่อมลูกหมาก อุ้งเชิงกรานและอาการปัสสาวะผิดปกติบรรเทาลงได้ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพที่ชัดเจน ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2-4 เดือน ทั้งนี้ ผลและระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และสภาพร่างกายของผู้ป่วย รวมถึงการปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเองด้วยเช่นกัน
[1] Krieger JN, Nyberg L Jr, Nickel JC. NIH consensus definition and classification of prostatitis[J]. JAMA, 1999, 282(3): 236-237.
__________________________________________________________________
บทความโดย
แพทย์จีน ณภัทร คงศิริธุวงศ์ (หมอจีนสวี่ กุ้ย หัว)
许桂华 中医师
TCM. Dr. Napat Kongsirituwong (Xu Gui Hua)