Last updated: 20 ก.พ. 2568 | 34 จำนวนผู้เข้าชม |
กลไกการนวดทุยหนา ( mechanism of tuina manipulations ) ต่อการรักษาภาวะไหล่ติด
ภาวะไหล่ติด มักเกิดในช่วงอายุห้าสิบปี มีสาเหตุจากเจิ้งชี่ไม่พอ จิงเว่ยพร่อง หัวไหล่ถูกกระทบลมเย็น หรือได้รับบาดเจ็บ การไหลเวียนของเส้นลมปราณติดขัดเป็นระยะเวลานาน ทำให้ชี่และเลือดติดขัด ก่อให้เกิดอาการปวดหรือชา เมื่อมีอาการปวดไหล่นานขึ้น ชี่และเลือดไหลติดขัดหรือไม่คล่อง เกิดการคั่งทำให้เกิดการบวม จนพิสัยข้อไหล่เคลื่อนไหวลดลง และเกิดภาวะไหล่ติดในที่สุด
ในทางแพทย์แผนปัจจุบัน เกิดจากภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อ ทำให้เกิดการเจ็บปวดและการจำกัดของการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ การดำเนินโรคแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะอักเสบ ระยะข้อติด และระยะฟื้นฟู
การรักษาด้วยการนวดทุยหนา ในระยะข้อติด และระยะฟื้นฟู จะช่วยทำให้อาการปวดลดลง เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหว สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ ซึ่งมีกลไกของการนวดทุยหนา ( mechanism of tuina manipulations ) ต่อการรักษาภาวะไหล่ติดดังนี้
1. บรรเทาอาการปวด: หัตถการทุยหนา ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในบริเวณนั้น ลดการสะสมของสารก่อการอักเสบ และบรรเทาอาการปวด ซึ่งการนวดสามารถกระตุ้นปลายประสาท ทำให้ร่างกายปล่อยสารบรรเทาปวด เช่น เอ็นดอร์ฟิน และยังช่วยยับยั้งการส่งสัญญาณความปวดไปยังสมองอีกด้วย
2. เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ: การนวดช่วยผ่อนคลาย บรรเทาความตึงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นและ เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อไหล่ ยังช่วยซ่อมแซมและสร้างใหม่ของเส้นใยกล้ามเนื้อ
3. ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น: การนวดสามารถขยายหลอดเลือด ส่งเสริมการไหลเวียนเลือดในข้อไหล่ และส่งเสริมการไหลเวียนของน้ำเหลือง ทำให้ภาวะอักเสบ และอาการบวมลดลง
4.คลายการยึดติด: แรงกดของการนวด สามารถคลายพังผืดที่ยึดติด และช่วยให้ข้อต่อทำงานเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อต่อ
ถึงแม้ภาวะไหล่ติดจะหายเองได้ใน 1-2 ปี แต่การรักษาด้วยการนวดทุยหนา ช่วยให้ไม่ทุกข์ทรมานจากอาการปวด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้อาการกลับมาเป็นปกติและสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการ ส่วนมากจะรักษาประมาณ 1-2 คอร์สการรักษา ( คอร์สการักษาเท่ากับ 10 ครั้ง) อาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง หรือ 3-6 เดือน
อ้างอิง
Bialosky, J. E., Bishop, M. D., Price, D. D., Robinson, M. E., & George, S. Z. (2009). The mechanisms of manual therapy in the treatment of musculoskeletal pain: a comprehensive model. Manual Therapy, 14(5), 531-538.
Chen, L., & Liu, X. (2015). Clinical observation on the treatment of frozen shoulder by Tuina combined with acupuncture. Journal of Acupuncture and Tuina Science, 13(4), 245-249.
Zhang, J., & Wang, Y. (2010). The effects of massage therapy on pain relief and functional improvement in patients with shoulder periarthritis. Journal of Traditional Chinese Medicine, 30(3), 185-188.
-------------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน กรกฎ คุณโฑ (โจว เฉิง)
周承 中医师
TCM. Dr. Koraghod Khuntho (Zhou Cheng)
คลินิกกระดูกและทุยหนา
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์จีนหัวเฉียว
** ตรวจสอบและแก้ไขโดยหัวหน้าแผนกกระดูกและทุยหนาเรียบร้อย 18/02/68 **
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568
20 ก.พ. 2568
20 ก.พ. 2568