Success case โรคลมพิษ ผื่นคันที่ไม่มีใครอยากเป็น

Last updated: 24 ม.ค. 2568  |  41 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Success case โรคลมพิษ ผื่นคันที่ไม่มีใครอยากเป็น

                  อาการคันจากโรคลมพิษนั้น เป็นอาการที่สร้างความรำคาญแก่ผู้ป่วยจำนวนมาก และหากอาการคันนั้นเกิดขึ้นระหว่างวัน ก็จะทำให้ดูเสียบุคลิก แถมหากเกิดผื่นนูนขึ้นบนผิวหนัง นอกร่มผ้า ก็อาจทำให้ขาดความมั่นใจ

                  ดังนั้นโรคลมพิษนี้ ถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็เป็นโรคที่ค่อนข้างทำร้ายใจ และสร้างความรำคาญอย่างมาก บทความนี้จะนำตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการรักษาโรคลมพิษด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนมาเล่าให้ทุกท่านได้อ่านกัน ดังนี้

                  ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 52 ปี เป็นผื่นลมพิษ คันทั่วตัว 3 สัปดาห์ เป็นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ได้ไปโรงพยาบาลและแพทย์ทำการฉีดยาสเตียรอยด์ และจ่ายยาสเตียรอยด์ให้กลับมาทาน หลังจากรักษาอาการทุเลาลง แต่ยังคงมีอาการกำเริบอีกเรื่อยๆ และเริ่มมีผื่นขึ้นที่หน้าและลำตัวมากขึ้น ซึ่งก็ได้ทำการรักษาแบบเดิมต่อเนื่องมา 3 สัปดาห์ อาการยังคงเป็นๆหายๆ จึงตัดสินใจมาปรึกษาหมอจีน จากการซักประวัติทราบว่าอาการคันมักเกิดขึ้นช่วงกลางคืน คันมาก ผื่นจะนูนอยู่ราวๆ 2-3 ชั่วโมง จึงยุบลง ผื่นสีแดงสด คนไข้มีภาวะนอนไม่หลับ ตื่นบ่อย ตื่นแล้วหลับยากเป็นประจำ ร่วมกับเป็นคนเครียดง่ายและขี้หงุดหงิด ปลายลิ้นแดง ขับถ่ายเป็นปกติ



รูปที่ 1 ภาพจากกล้องมือถือผู้ป่วย


ผื่นลมพิษนี้จะขึ้นกะทันหัน และยุบลงไปเองภายใน 24 ชั่วโมง และขึ้นใหม่อีกรอบโดยที่ตำแหน่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทฤษฎีแพทย์แผนจีนได้กล่าวไว้ว่า ลักษณะโรคใดๆที่เกิดจากลม จะมีการเกิดโรคฉับพลัน รวดเร็ว ตำแหน่งของโรคเปลี่ยนแปลงไปมาไม่แน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของการเกิดโรคลมพิษ จากประวัติของผู้ป่วยรายนี้ จะเห็นว่าผู้ป่วยนอกจากมีผื่นคัน ยังมีอาการ นอนไม่หลับ ตื่นบ่อย ตื่นแล้วหลับยาก เครียดง่าย และขี้หงุดหงิดโมโห ซึ่งเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงความร้อน หรือ อาจจะเรียกว่า “หยาง” ในร่างกายมีมากกว่า “อิน” หรือความเย็นนั่นเอง

                  แพทย์แผนจีนนั้น ให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลร่างกาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สมดุลอวัยวะภายในกับสภาวะอารมณ์ โดยที่อารมณ์โมโห หงุดหงิดนั้น สัมพันธ์กับอวัยวะตับ หากขี้หงุดหงิดโมโหมากไป จะทำให้การไหลเวียนเลือดลมของตับนั้นติดขัด และเกิดความร้อนขึ้นภายใน นอกจากนี้ในคัมภีร์จีนโบราณยังมีบันทึกกล่าวไว้อีกว่า “ทุกอาการที่เกี่ยวข้องกับลม จะไหวติง และเวียนหัว ลักษณะเหล่านี้ล้วนมีสมุฏฐานจากตับ” นั่นหมายความว่า ตับสัมพันธ์กับ “ลม”



รูปที่ 2   ผื่นที่ขา ณ วันที่มารักษาครั้งแรก มีผื่นลมพิษกระจายทั่วตัว

                  ดังนั้นผู้ป่วยท่านนี้จึงมีทั้งสาเหตุร่วมทั้งภายนอกและภายใน จึงทำให้เกิดลมพิษขึ้น หากรักษาแต่เพียงภายนอก แต่ภายในยังไม่รักษา ก็เปรียบเสมือนการที่เราเทน้ำลงในหม้อน้ำเดือดปุดๆที่จุดเตาแก๊สไว้ตลอดเวลา เพื่อหวังว่าจะให้น้ำเย็นลง แต่ไม่นาน มันก็จะเดือดใหม่ แต่ถ้ารักษาที่ต้นเหตุ ก็เหมือนกับการปิดเตาแก๊สลงนั่นเอง

                  เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วหมอจึงจ่ายยาที่มีความสามารถในการขับลมพิษ ลดการระคายเคืองในผิวหนัง และรักษาอาการจากการขาดสมดุลของตับและอินพร่อง ประกอบด้วยสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ชุ่มชื้น และขับลม อยู่ด้วยกัน 

เมื่อผู้ป่วยได้ทานยาไปเป็นเวลา 4 วัน ก็พบว่า ตลอด 3 วันหลังไม่มีผื่นขึ้นมาเลย และนอนหลับสนิท ไม่มีตื่นกลางดึกอีก หลังจากนั้นก็ทำการรักษาต่อเนื่องและปรับยาให้ตรงกับสภาพร่างกายในแต่ละครั้งที่มารักษา เมื่อรักษาครบ 1 เดือน อาการผื่นและอาการนอนไม่หลับก็ไม่กลับมารบกวนอีกต่อไป ผู้ป่วยพึงพอใจ หายกังวล และใช้ชีวิตได้ตามปกติ

--------------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน คณิฏฐ์ษา จิรัฐิติกาล (หมอจีน เซี่ย กุ้ย อิง)
谢桂英 中医师
TCM. Dr. Kharnitsa Jirathitikal (Xie Gui Ying)
แผนกอายุรกรรมภายนอก

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้