มีเสมหะ กระแอม ขากไม่ออก สั่งก็ไม่ออก แผนจีนรักษาอย่างไร

Last updated: 24 ม.ค. 2568  |  93 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มีเสมหะ กระแอม ขากไม่ออก สั่งก็ไม่ออก แผนจีนรักษาอย่างไร


หลายๆ คนมีอาการเช่นนี้แม้จะไม่เป็นหวัด ก็ยังรู้สึกว่ามีเสมหะติดอยู่ในคอ มีน้ำมูกหรือเสมหะติดอยู่ระหว่างคอและจมูก จะไม่ยอมออกไปทางไหนสักทาง จะสั่งออกมาทางจมูกก็ไม่ออก จะขากก็ไม่ออก ความรู้สึกคือคัดจมูกบ้างไม่คัดบ้าง รู้สึกคอแห้งตลอดเวลา ทานน้ำอุ่นก็ไม่หาย แพทย์แผนจีนมีคำตอบ

เสมหะคืออะไร



เสมหะเป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างออกมา เมื่อเจอสิ่งระคายเคือง เช่น ฝุ่น สารเคมี หรือ เชื้อโรคต่างๆ ทำให้ต่อมสร้างสารคัดหลั่งผลิตเสมหะหรือน้ำมูกออกมา เพื่อช่วยดักจับฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอม  

กระแอม เป็นอาการที่ร่างกายพยายามกำจัดเสมหะ หรือสารคัดหลั่ง หรือสิ่งแปลกปลอมออกไปจากบริเวณคอ สาเหตุที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการกระแอมได้แก่ ความเจ็บปวด อาการคัน ระคายเคือง หรือความรู้สึกที่มีอะไรอยู่ในลำคอ เช่นมีเสมหะในคอ เป็นต้น


เสมหะในคอมาจากส่วนไหน



Ø  ทางเดินหายใจส่วนบน คือ จมูก โพรงจมูก 

Ø  ทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ หลอดลมส่วนต้น  หลอดลมส่วนกลาง หลอดลมส่วนปลาย และปอด 

Ø  ทางเดินอาหาร คือ หลอดอาหาร กระเพาะ

Ø  อื่นๆ เช่น โรคบริเวณคอ กล่องเสียง

สุดท้ายเสมหะจะมารวมกันที่คอ  อีกกรณีหนึ่ง ไม่เจอโรค แต่รู้สึกว่ามีเสมหะตลอดเวลา แต่ส่องกล้องแล้วไม่มีเสมหะคือเกียวกับปลายประสาทไม่ค่อยทำงานหรืออักเสบ กล่องเสียงชา จะรู้สึกเหมือนมีเสมหะตลอดเวลา ซึ่งแพทย์จะซักประวัติและหาสาเหตุประกอบการรักษาเสมหะแบบตามสาเหตุ

สาเหตุเสมหะในคอ



 

Ø  การระคายเคืองในลำคอ

เช่น นอนในห้องที่อากาศเย็น เปิดพัดลมจ่อตัว ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด อ้าปากหายใจขณะหลับ อาจทำให้ลำคอระคายเคืองและกระตุ้นการสร้างเสมหะในลำคอได้

 

Ø  โรคจมูกอักเสบทั้งจากภูมิแพ้และไม่ใช่ภูมิแพ้

มักจะมีอาการไอ จาม มี น้ำมูกบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเจอสิ่งระคายเคือง หรืออากาศเปลี่ยนก็มีอาการได้ ซึ่งน้ำมูกอาจไหลลงคอแล้วกลายเป็นเสมหะในภายหลัง

 

Ø  ไซนัสอักเสบ

ผู้ป่วยมักจะมีน้ำมูกเยอะ อาจไหลลงคอและกลายเป็นเสมหะ จนต้องกระแอมไอบ่อยๆ

 

Ø  โรคหอบหืด

คนที่เป็นหอบหืดอาจมีเสมหะในลำคอตลอดเวลา เพราะเป็นโรคที่เยื่อบุหลอดลมมีอาการอักเสบเรื้อรัง ทำให้ไวต่อสิ่งเร้า ร่างกายผลิตน้ำมูกและเสมหะได้มากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีอาการแน่นหน้าอก หายใจ ลำบาก หายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย

 

Ø  โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมมีอาการเช่นเดียวกับโรคหอบหืด จึงมีเสมหะในลำคอตลอดเวลา ยิ่งตอนนอนหลับร่างกายไม่ได้ขับเสมหะ ตื่นเช้าอาจรู้สึกว่ามีเสมหะเหนียวข้นติดอยู่ในคอ

 

Ø  การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณลำคอ

ไม่ว่าจะเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อซิฟิลิส เชื้อวัณโรค หากร่างกายมีการติดเชื้อดังกล่าวแบบเรื้อรัง อาจทำให้มีน้ำมูกและเสมหะในลำคอมาก

 

Ø  โรคกรดไหลย้อน

กรดจากหลอดอาหารที่ไหลย้อนไปยังคอหอยจะกระตุ้นให้ต่อมสร้างน้ำมูกและเสมหะได้

 

 

 

 

เสมหะในทางการแพทย์แผนจีน

การสูญเสียสมดุลของของเหลวในร่างกายทำให้เกิดเสมหะและของเหลวคั่ง เสมหะและของเหลวคั่งก็เป็นสาเหตุก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยา ทำให้อวัยวะภายในทำงานผิดปกติ

เสมหะและของเหลวมี 2 ชนิด คือ

Ø  ชนิดที่มองเห็น คือ เสมหะและของเหลวที่มีรูปร่างมองเห็นได้ สัมผัสได้ มีเสียง เช่น เสมหะ จากลำคอ เสียงเสมหะเวลาหอบ

Ø  ชนิดที่มองไม่เห็น คือ มีอาการแสดงที่เกิดจากเสมหะและของเหลวคั่ง แต่มองไม่เห็นตัวตนของสาเหตุ มีแต่อาการ เช่น เวียนศีรษะ ตาลาย ใจสั่น หายใจขัด คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม เป็นต้น

 ในแพทย์แผนจีนกล่าวว่า เสมหะ (痰) ของเหลว (饮) น้ำ (水) และความชื้น (湿) เกิดจากความผิดปกติในการดูดซึมไหลเวียน และขับถ่ายของของเหลวในร่างกาย และเป็นสาเหตุก่อโรคร้าย ความชื้นรวมตัวกันเป็นน้ำ น้ำสะสมกลายเป็นของเหลว ของเหลวสะสมกลายเป็นเสมหะ ทั้งหมดเป็นอิน  ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกัน เสมหะจะมีลักษณะขุ่นข้นเหนียว ของเหลวและน้ำจะบางใส เสมหะและของเหลวคั่งอาจพบร่วมกับกลุ่มอาการที่เกิดจากสาเหตุของโรคจากภายนอกทั้งหก คือ ความเย็น ความร้อนอบอ้าว ความชื้น ความแห้ง และไฟ ก่อให้เกิดโรค

            เสมหะและของเหลวคั่ง ส่วนมากเกิดจากสาเหตุของโรคจากภายนอก ความผิดปกติในการรับประทานอาหารและน้ำ ความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้การทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำในปอด ม้าม ไต และซานเจียวเสียไป

           ปอด ม้าม ไต และซานเจียวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย คือ

Ø  ชี่ปอดแผ่กระจายช่วยพาน้ำไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงร่างกาย

Ø  ชี่ม้ามควบคุมการดูดซึมน้ำจากทางเดินอาหารส่งไปหล่อเลี้ยงร่างกาย

Ø  ชี่ไตควบคุมการทำงานของปอดและม้ามในการไหลเวียนน้ำ ควบคุมการขับปัสสาวะ

Ø  ชี่ซานเจียวเป็นทางลำเลียงผ่านของน้ำและการขับน้ำ

 

         จากข้างต้น ความผิดปกติในการทำงานของปอด  ม้าม ไต และซานเจียว ทำให้เกิดการคั่งของเสมหะและของเหลว ส่วนมากสะสมอยู่ในลำคอ ทรวงอก กระเพาะอาหาร และผิวหนัง ชี่ที่ไหลเวียนขึ้นลง เข้าออก จะพัดพาเสมหะและของเหลวไปทั่วร่างกาย จึงเกิดอาการได้ทุกแห่งในร่างกาย เสมหะและของเหลวมักไปอุดตันการไหลเวียนของชี่ของอวัยวะภายใน เช่น ทำให้ชี่ปอดไม่แผ่กระจาย ส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก ไอ หอบ เสมหะเยอะ ถ้าชี่ของกระเพาะอาหารไม่ไหลเวียนลงข้างล่าง ทำให้คลื่นไส้อาเจียน เรอ มีลมดันขึ้น เป็นต้น

       กลุ่มอาการเสมหะคั่ง มีอาการแตกต่างกันตามอวัยวะที่มีเสมหะไปอุดตัน เช่น

Ø  ปอด : ไอ หอบ เสมหะมาก

Ø  หัวใจ : แน่นหน้าอก ใจสั่น นอนไม่หลับ

Ø  ตับ : หน้าเขียว วิงเวียน เกร็งชัก

Ø  ม้าม : ท้องอืด ตัวหนัก แขนขาไม่มีแรง

Ø  ไต : ปวดเอวและเข่า เท้าเย็น

Ø  กระเพาะอาหาร : แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

Ø  ลำคอ : จุกแน่นในลำคอ

Ø  ศีรษะ : วิงเวียน เป็นลม

Ø  หน้าอกสีข้าง : อืด แน่น ปวด

Ø  แขนขา : ชา ปวด

Ø  เส้นลมปราณ เอ็น กระดูก : เป็นก้อนใต้ผิวหนัง ฝี อัมพาต เป็นต้น

สีของเสมหะบอกอะไร



Ø  เสมหะสีเหลืองเขียว : เกิดจากความร้อน เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ทอมซิลอักเสบ เป็นต้น

Ø  เสมหะสีขาว : เกิดจากความเย็น เช่น ร่างกายมีสิ่งแปลกปลอม ไข้หวัด ภูมิแพ้ จมูกอักเสบ กรดไหลย้อน เป็นต้น

Ø  เสมหะสีน้ำตาล : มีเลือดคั่งอยู่ในร่างกาย เช่น เลือดออกในปอด สูบบุหรี่จัด พยาธิในปอด เป็นต้น

Ø  เสมหะสีชมพูแดง : มีเลือดออกในร่างกาย เช่น มะเร็งปอด เลือดออกในปอด ฝีในปอด วัณโรค เป็นต้น

Ø  เสมหะสีเทาดำ :  ติดเชื้อรา ฝุ่นตกค้างในร่างกาย ปอดติดเชื้อรา สูบบุหรี่จัด เป็นต้น

Ø  เสมหะน้ำมากมีฟองปน :  เกิดจากลม เป็นต้น

Ø  เสมหะมีสีขาว ปริมาณมากขากออกง่าย : เกิดจากความชื้น เป็นต้น

Ø  เสมหะแห้งเหนียวขากออกยาก :  เกิดจากความแห้ง เป็นต้น

วิธีกําจัดเสมหะและลดเสมหะในทางการแพทย์แผนจีน

1.     ตำรับยาสลายความชื้น ละลายเสมหะ (燥湿化痰 )

ประกอบด้วยตัวยาละลายเสมหะ สลายความชื้น และตัวยาที่มีรสขม อุ่น ช่วยให้ความชื้นหายไป หรือตัวยาที่มีรส หวานจืด ช่วยระบายความชื้น ใช้รักษาโรคที่มีอาการเสมหะชื้น เช่น เอ้อร์เฉินทัง (二陈汤) และ เวินตานทัง (温胆汤) เป็นต้น

 

2.     ตำรับยาขจัดความร้อน ขับเสมหะ (清热化痰)

มีสรรพคุณขจัดความร้อนและสลายเสมหะ ใช้รักษาโรคที่มีอาการเสมหะร้อน เช่น ชิงชื่ฮัวถันหวาน (清气化痰丸) เป็นต้น

 

3.     ตำรับยาเพิ่มความชุ่มชื้นให้ปอด ละลายเสมหะ (润燥化痰)

มีสรรพคุณสลายเสมหะและช่วยให้ปอดชุ่มชื้น ใช้รักษาโรคที่มีอาการเสมหะแห้ง เช่น เอ้อร์หมู่ส่าน(二母散) เป็นต้น

 

4.     ตำรับยาอุ่นปอด ขับเสมหะเย็น (温化寒痰)

มีสรรพคุณเพิ่มความอบอุ่นให้ปอด สลายเสมหะ ใช้รักษาโรคที่มีอาการเสมหะเย็น เช่น ซานจื่อหยั่งชินทัง(三子养亲汤) เป็นต้น

 

5.     ตำรับยาขับลมภายนอกที่ทำให้เกิดเสมหะ (疏风化痰)

เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเสมหะเนื่องจากลมภายนอก ทำให้ปอดกระจายชี้ไม่คล่อง จึงเกิดเสมหะ ต้องรักษาด้วยการกระจายลมและสลายเสมหะ เช่น จื่อโซ่วส่าน (止嗽散) เป็นต้น

 
--------------------------------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ศศินิภา กายเจริญ (หมอจีน เฝิง เจี๋ย อวี่)
冯解语 中医师
TCM. Dr. Sasinipa Kaicharoen (Feng Jie Yu)
 

อ้างอิง ภาพประกอบ: hantu https://mp.weixin.qq.com/s/NXPFkJNThlyZJ9QGGcnqtA

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้