Last updated: 24 ม.ค. 2568 | 78 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการไอเรื้อรัง หมายถึง อาการไอที่มีระยะเวลาติดต่อกันนานมากกว่า 8 สัปดาห์ การไอเป็นกลไกอย่างหนึ่งของการป้องกันระบบหายใจไม่ให้ได้รับอันตราย ในอากาศมีของเสียที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจปะปนอยู่ ยิ่งอยู่ในเมืองยิ่งมีมากจากการสูบบุหรี่ มลภาวะเป็นพิษอาจเป็นในรูปฝุ่นละออง ก๊าซเคมี และเชื้อโรค เชื้อราเชื้อไวรัสต่างๆ ร่างกายจึงมีวิธีกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป หรือมีบางสิ่งไปกดทับที่เนื้อปอดหรือหลอดลม เช่น ก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งปอด ร่างกายจะรับรู้ว่ามีบางอย่างมาระคายเคืองอยู่ กลไกของร่างกายก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการไอ เพื่อพยายามจะขับออก แต่ขับไม่ออกเป็นผลให้เกิดการไอเรื้อรังขึ้น
สาเหตุของอาการไอเรื้อรัง แยกตามอวัยวะ
1. โรคจมูก
Ø โรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยมักมีอาการคัดจมูก คันจมูก จามบ่อยๆ ร่วมกับอาการไอแห้งๆ ระคายคอ เป็นต้น
Ø ไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำๆ หรือมีน้ำมูกขุนขาวหรือเหลือง มีกลิ่นเหม็นในโพรงจมูก หรือมีกลิ่นปากเนื่องจากมีเสมหะลงคอ อาการไอจะเป็นการไอแบบมีเสมหะร่วมกับน้ำมูกไหลหรือคัดจมูก เป็นต้น
2. โรคในช่องคอที่ทำให้เกิดอาการไอ
Ø คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ซึ่งมักพบร่วมกับอาการไข้ เจ็บคอ กลืนเจ็บ เป็นต้น
3. โรคของกล่องเสียงและหลอดลมที่ทำให้เกิดอาการไอ
Ø กล่องเสียงอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อหรือใช้เสียงมาก พบร่วมกับอาการเสียงแหบ
Ø มะเร็งกล่องเสียง พบในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มาก ผู้ป่วยมักมีอาการไอร่วมกับเสียงแหบ ถ้าเป็นมากอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโด มีอาการกลืนลำบาก หายใจลำบากร่วมด้วย
Ø ไอหลังติดเชื้อโควิด Long covid
Ø หลอดลมอักเสบ เป็นต้น
4. โรคของทางเดินหายใจส่วนล่าง
Ø วัณโรคปอด
Ø โรคหอบหืด อาจพบรวมกับโรคภูมิแพ้
Ø ถุงลมโป่งพอง มักพบในผู้ป่วยสูบบุหรี่มาก หรือเคยเป็นโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ มาก่อน
Ø มะเร็งปอด เป็นโรคมะเร็งที่สามารถตรวจพบแต่เนิ่นๆ ได้ด้วยการถ่ายภาพรังสีปอดเป็นประจำทุกปีร่วมกับการตรวจสุขภาพ เป็นต้น
อาการไอเรื้อรัง ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน
อาการไอในมุมมอง ของการแพทย์แผนจีนมีสาเหตุเกิดจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน
ปัจจัยภายนอก
Ø ปอดควบคุมการไหลเวียนของชี่ เป็นเสมือนหลังคาป้องกันอวัยวะตันทั้งห้า ส่วนบนของปอดเชื่อมติดกับหลอดลม ลำคอและจมูก ทำหน้าที่ในการหายใจ อวัยวะภายนอกปอด สัมพันธ์กับผิวหนังและเส้นขน เมื่อปอดถูกกระทบจากปัจจัยก่อโรคภายนอก ซี่ของปอดถูกปิดกั้น การไหลเวียนก็ติดขัด ไหลเวียนลงล่างไม่ได้จึงทำให้เกิดอาการไอ
Ø มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลของสภาวะอากาศ ลมเย็นกระทบปอด ลมร้อนเข้าสู่ปอด ลมแห้งมากระทบทำให้ชี่ปอด ขับเคลื่อนผิดปกติจึงเกิดอาการไอขึ้น
ปัจจัยภายใน
Ø พฤติกรรมการทานอาหาร เช่น การทานของทอดของมัน หรือของเย็น ส่งผลทำร้ายม้าม ก่อเกิดเป็นเสมหะอุดกั้นและเก็บสะสมไว้ที่ปอด เสมหะความชื้นสะสมที่ปอด เสมหะร้อนอุดกั้นปอด ทางเดินหายใจอุดกั้น ชี่ปอดย้อนขึ้นและทำให้เกิดอาการไอ
Ø อาจเกิดจากอารมณ์ อารมณ์โกรธโมโห หงุดหงิดง่าย มักทำให้ชี่ตับติดขัด ก่อเกิดไฟ ไฟตับทำร้ายปอด เส้นลมปราณร้อน ย้อนขึ้นกระทบปอด
Ø อาจเกิดจากโรคของปอดเองหรือการเจ็บป่วยเรื้อรัง มักทำให้ทำลายชี่และสารอิน อินของปอดพร่องปอดไม่สามารถควบคุมชี่ได้ ชี่ปอดขับเคลื่อนผิดปกติทำให้เกิดอาการไอ
Ø อาจเกิดจากปอดแห้งไฟพร่องเผาผลาญสารน้ำกลายเป็นเสมหะอุดกั้นปอด ทำให้ชี่ปอดย้อนกลับจนทำให้เกิดอาการไอ
กลไกการทำหน้าที่
Ø ปอดไม่สามารถควบคุมชี่ขึ้นลงเข้าออก ทำให้ชี่ปอดย้อนกลับส่งผลให้เกิดอาการไอ
Ø ตำแหน่งของโรคอยู่ที่ปอด
วินิจฉัยอาการไอเรื้อรัง
ต้องรู้ละเอียดเกี่ยวกับลักษณะพิเศษของอาการไอ เช่น เวลาในการไอ เสียงไอ จังหวะการไอ สาเหตุที่ทำให้ไอ
1. เวลาในการไอ
Ø ตื่นนอนตอนเช้าไอมาก เสมหะเยอะ พอไอเสมหะออกแล้ว อาการไอทุเลาลง ส่วนมากเกิดจากชี่ปอดพร่อง เสมหะชื้นอุดกั้น
Ø ไอมากในช่วงบ่ายหรือก่อนนอน ส่วนมากมาจากอินพร่องร้อนอยู่ภายใน
Ø ไอกลางคืนมาจากชี่พร่อง ภายในร่างกายมีความหนาวเย็นหรือแพ้อากาศ
Ø ไอตอนเช้ามากมาจากชี่อินพร่องทั้งคู่
2. เสียงไอ
Ø ไอเสียงดัง เสียงหนัก ไอจนหายใจไม่ทัน มาจากเสมหะขึ้นอุดกั้นปอด เป็นแบบแกร่ง
Ø ถ้าไอแล้วเสียงแหบแห้ง หอบ มาจากเสมหะร้อนปกคลุมปอด เป็นแบบแกร่ง
Ø ไอกลางคืน ไอทีละครั้ง สองครั้ง เสียงเบา หอบนิดหน่อย มาจาก อินพร่อง ปอดแห้ง
Ø ไอเสียงเบา ไม่มีแรง มาจากชี่พร่องหรืออินพร่อง
Ø ไอมาเป็นเวลานานค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ มาจากอาการพร่อง
3. จังหวะการไอ
Ø ไอเป็นชุด ไอกระแทกกระทั้น มาจากความแห้งรุกปอด
Ø ไอแค่กๆ ครั้งสองครั้ง แต่ไอนานไม่หาย มาจากอินพร่องปอดแห้ง
4. ไอเกี่ยวข้องกับท่า
Ø เวลานั่งไอน้อย นอนไอมาก มาจากชี่ปอดไม่เคลื่อนลงล่าง
Ø พอนั่งหรือเคลื่อนไหวจะไอมากขึ้น เวลานอนกลับไอน้อยลง เกิดจากชี่พร่อง
5. ไอจากสาเหตุรอบตัว
Ø หลังกินอาหารหรือหลังกินอาหารหวานมันจะอาการไอมากขึ้น มีเสมหะเยอะ อาหารไม่ย่อย อึดอัดแน่น มาจากเสมหะชื้นอุดกั้นปอด
Ø ไอหลังกินดื่มของเย็น เกิดจากความร้อนอยู่ภายใน
Ø กระทบลม และความเย็นแล้วไอ บวกกับอาการกลัวหนาว เหงื่อออก เป็นหวัดง่าย เกิดจากชี่ปอดพร่อง
Ø คันคอแล้วไอ มาจากลม ความร้อน และความแห้ง
Ø เหน็ดเหนื่อยมากเกินไปแล้วไอ มาจากชี่ปอดและไตพร่อง
Ø ได้กลิ่นแปลกปลอมแล้วไอ เช่น กลิ่นควันบุหรี่ กลิ่นปิ้งย่าง กลิ่นทอด มาจากภูมิแพ้
ไอไม่ได้มาจากปอดอย่างเดียว
อาจมีสาเหตุมาจากอวัยวะอื่นได้เช่นกัน ในคัมภีร์ซู่เวิ่น ยังมีกล่าวว่า “อวัยวะตันทั้งห้าและอวัยวะกลวงทั้งหกล้วนแล้วแต่ทำให้ไอได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเกิดจากปอดเพียงอย่างเดียว” ซึ่งหมายความถึงหากอวัยวะอื่นๆ ทำงานผิดปกติไปอาจส่งผลกระทบต่อปอดแล้วทำให้เกิดอาการไอได้ ดังสาเหตุจากอวัยวะอื่นๆ ดังนี้
Ø เกิดจากตับ ซึ่งมักเกิดจากอารมณ์โกรธโมโห ก่อเกิดไฟตับทำร้ายปอด ไฟทำร้ายสารน้ำ กลายเป็นเสมหะ ทำให้เกิดอาการไอ
Ø เกิดจากม้าม เมื่อรับประทานอาหารไม่เหมาะสม ทำให้ม้ามสูญเสียการย่อยและดูดซึมอาหาร ทำให้ก่อตัวเป็นเสมหะอุดกั้นสะสมที่ปอด ทำให้เกิดอาการไอ
Ø เกิดจากหัวใจ มักพบว่ามีภาวะชี่ของหัวใจพร่อง ทำให้เลือดที่หัวใจติดขัดอุดกั้น ซึ่งหัวใจอาศัยปอดในการลำเลียงเลือดส่งไปทั่วร่างกาย เมื่อเลือดคั่งทำให้สารน้ำหยุดนิ่งก่อตัวเป็นของเหลวที่หนืด เป็นผลให้ชี่ปอดติดขัดย้อนขึ้นและเกิดอาการไอ
Ø เกิดจากไต มักเกิดจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง ทำให้ไตพร่อง ชี่ไตไม่สามารถเหนี่ยวรั้งกักเก็บชี่ได้ ส่งผลให้ปอดไม่สามารถควบคุมชี่ได้ปกติ ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง
จะเห็นได้ว่าอาการไอเรื้อรัง มีหลากหลายสาเหตุ แพทย์แผนจีนสามารถวินิจฉัยและรักษาอาการไอโดยแบ่งตามสาเหตุการเกิดโรค และลักษณะอาการ ตามพื้นฐานร่างกายของแต่ละบุคคล ถ้ามีอาการไอเรื้อรังควรรีบปรึกษาแพทย์ ยิ่งรักษาเร็วก็หายเร็ว
--------------------------------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ศศินิภา กายเจริญ (หมอจีน เฝิง เจี๋ย อวี่)
冯解语 中医师
TCM. Dr. Sasinipa Kaicharoen (Feng Jie Yu)
24 ม.ค. 2568
24 ม.ค. 2568
24 ม.ค. 2568