แพทย์แผนจีนมองโรคแพนิคว่าเกิดจากความไม่สมดุลของอินหยาง

Last updated: 22 ม.ค. 2568  |  6 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แพทย์แผนจีนมองโรคแพนิคว่าเกิดจากความไม่สมดุลของอินหยาง

แพทย์แผนจีนมองโรคแพนิคว่าเกิดจากความไม่สมดุลของอินหยาง

  โรคแพนิค (Panic Disorder) เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่พบบ่อย ผู้ป่วยมักมีอาการหวาดกลัวและวิตกกังวลอย่างรุนแรงในขณะที่เผชิญกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ร่วมกับอาการต่างๆ  เช่น ใจสั่น หายใจเร็ว เหงื่อออก อาการชา วิงเวียนศีรษะ ตัวสั่น มือสั่น เป็นต้น 

โรคแพนิคเป็นผลจากความไม่สมดุลของอินหยางของอวัยวะจั้งทั้งห้า

  ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นการรักษาทางเลือกหนึ่งที่ในปัจจุบันได้รับความนิยม  มองโรคแพนิคว่า เกิดจากความไม่สมดุลของอินหยางของอวัยวะจั้งทั้งห้า (五脏 ได้แก่ อวัยวะตับ หัวใจ ปอด ม้าม ไต) ในทางการแพทย์แผนจีนกล่าวว่า “ตับกักเก็บจิตวิญญาณ ควบคุมอารมณ์ (肝藏魂主情志)”  “หัวใจกักเก็บเสิน ควบคุมเสินและสติสัมปัญญะ (心藏神主神明)”  “ม้ามกักเก็บความคิด ควบคุมการนึกคิด (脾藏意主思)”  “ปอดกักเก็บวิญญาณความกล้าหาญ ควบคุมความเศร้าโศกกังวล (肺藏魄主悲忧)”  “ไตกักเก็บสารจิงและความทรงจำ ควบคุมความหวาดกลัว (肾藏精与志)”  ซึ่งพื้นฐานสาเหตุกลไกการเกิดโรคมักมาจากอารมณ์แปรปรวนผิดปกติเป็นเวลานาน ทำให้อวัยวะต่างๆ ควบคุมการทำงานไม่ปกติ ชี่และเลือด อินและหยางเกิดความไม่สมดุล ทำให้ชี่เกิดการหมุนเวียนแปรปรวนไม่เป็นระเบียบ และเกิดโรคแพนิค

กลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในโรคแพนิค ได้แก่ 

  1.กลุ่มอาการชี่ตับติดขัดไฟกำเริบ: มักพบอาการหงุดหงิดขี้โมโหได้ง่าย ใจร้อน กระวนกระวายไม่เป็นสุข วิงเวียนปวดศีรษะ ปากขมปากแห้ง แน่นหน้าอก เสียดสีข้าง ท้องอืด ชอบถอนหายใจ ลิ้นแดงคล้ำฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเร็ว (เสียนซั่วม่าย)

  2.กลุ่มอาการเสมหะร้อนรบกวนหัวใจ: มักพบอาการจิตใจหงุดหงิดง่าย กระวนกระวายไม่เป็นสุข มักตกใจตื่นกลางดึก ใจร้อน วิงเวียนศีรษะ ปากขมปากแห้ง ลิ้นแดงฝ้าลิ้นเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว (หัวซั่วม่าย)

  3.หัวใจและถุงน้ำดีอ่อนแอ: มักพบอาการใจสั่น หวาดระแวง ตื่นเต้นตกใจง่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ ฝันเยอะ มักได้ยินเสียงหลอน ลิ้นซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กพร่อง (ซี่ซวีม่าย)

  4.หัวใจและม้ามพร่อง: มักมีอาการใจสั่น ครุ่นคิดกังวล ขี้กลัวตกใจง่าย นอนไม่หลับ ฝันมาก เหนื่อยอ่อนเพลีย ไม่มีแรง วิงเวียนศีรษะ เบื่ออาหาร ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กอ่อนแรง (ซี่รั่วม่าย)

  5.ตับและไตอินพร่อง: มักมีอาการกังวลสงสัย หงุดหงิดขี้โมโหได้ง่าย ร่วมกับเวียนหัว มีเสียงในหู ปวดเมื่อยเอวขาอ่อนแรง นอนไม่หลับ ฝันเยอะ ปากขม ลิ้นแดงฝ้าน้อย ชีพจรจมเล็ก หรือเล็กเร็ว (เฉินซี่ หรือซี่ซั่วม่าย)


การรักษาโรคแพนิคด้วยการฝังเข็ม

   การฝังเข็มมีพื้นฐานจากทฤษฎีเส้นลมปราณในแพทย์แผนจีน ซึ่งชี่ในร่างกายไหลเวียนไปตามเส้นลมปราณ และอารมณ์สัมพันธ์กับสุขภาพของร่างกายอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ป่วยโรคแพนิค การฝังเข็มจะไปกระตุ้นตามจุดฝังเข็มเพื่อปรับการไหลเวียนของชี่ ช่วยปรับสมดุลอวัยวะภายในร่างกายและช่วยปรับสมดุลของอารมณ์ สามารถช่วยบรรเทาความวิตกกังวล ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย บรรเทาอาการต่างๆ  ช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการเกิดอาการแพนิค

การรักษาโรคแพนิคในการแพทย์แผนจีนไม่เพียงแต่ใช้การฝังเข็ม หรือการรับประทานยาสมุไพรจีนในการรักษาปรับสมดุลร่างกาย แต่ยังต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลายหรือเบี่ยงเบนความเครียดหรือความกังวล และการออกกำลังกายยังช่วยปรับชี่และเลือดให้ไหลเวียนสะดวก เสริมสร้างร่างกาย ทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้

ประสิทธิผลของการฝังเข็ม

  1.บรรเทาความวิตกกังวล: การฝังเข็มสามารถกระตุ้นการปล่อยเอนดอร์ฟินและเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สามารถช่วยปรับปรุงอารมณ์และบรรเทาความวิตกกังวลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.ปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ: ผู้ป่วยโรคแพนิคมักมีปัญหานอนไม่หลับ การฝังเข็มช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย  ปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ และช่วยปรับอารมณ์

  3.ทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย: การรักษาด้วยการฝังเข็มมักจะกระตุ้นการตอบสนองต่อการผ่อนคลายอย่างลึกซึ้ง ผู้ป่วยจะรู้สึกสงบและปลอบประโลม ซึ่งสำคัญต่อการลดอาการแพนิค


จุดฝังเข็มที่ใช้บ่อย

  ในกระบวนการรักษาด้วยการฝังเข็ม จะมีการเลือกใช้จุดต่างๆ เช่น:

จุดซินซู (心俞, BL15): อยู่บริเวณด้านหลัง ด้านข้างกระดูกสันหลังช่วงอกที่ 5 มีความสัมพันธ์กับหัวใจและอารมณ์ จุดนี้ช่วยในการปรับสมดุลของอารมณ์จิตใจได้
จุดเสินเหมิน (神门, HT7): อยู่บริเวณด้านในข้อมือฝั่งด้านนิ้วก้อย จุดนี้ช่วยลดความวิตกกังวลและความตึงเครียด ทำให้จิตใจสงบ ช่วยนอนหลับ
จุดเน่ยกวน (内关, PC6): อยู่บริเวณท่อนแขนด้านในเหนือฝ่ามือขึ้นมา 2 ชุ่น (3 นิ้วมือเรียงชิดติดกัน)  จุดนี้ช่วยบรรเทาอาการใจสั่นและความวิตกกังวล ช่วยให้จิตใจสงบ
จุดไท่ซี (太溪, KI3): อยู่บริเวณด้านในข้อเท้า รอยบุ๋มหลังตาตุ๋ม จุดนี้ช่วยในการปรับสมดุลของร่างกายได้ดี



  การฝังเข็มให้ผลลัพธ์ที่ดีในการรักษาโรคแพนิค ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีสภาพร่างกายความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและประเมินสภาพร่างกายก่อนเริ่มการรักษา เพื่อกำหนดแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคน การฝังเข็มไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการ ยังสามารถเสริมสร้างสุขภาพร่างกายและจิตใจโดยรวม ช่วยให้ผู้ป่วยเผชิญกับความท้าทายในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น

-----------------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน หลิน ยู่ว เซิง 
林育昇  中医师
TCM. Dr. Peter Lin
แผนกฝังเข็ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้