Last updated: 22 ม.ค. 2568 | 15 จำนวนผู้เข้าชม |
ฝังเข็มรักษาออฟฟิศซินโดรม...อีกหนึ่งทางเลือกของชาวออฟฟิศ
ในปัจจุบันโรคยอดฮิตของวัยหนุ่มสาวหรือกลุ่มชาวออฟฟิศช่วงวัยทำงาน คือ กลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด เกิดจากการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ มีอาการปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ เช่น บริเวณ คอ บ่า หลัง ไหล่ แขนรวมถึงข้อมือ ซึ่งอาการปวดดังกล่าวหากไม่ได้รับการรักษาหรือแก้ไขอริยาบท อาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง
อาการออฟฟิศซินโดรมที่พบบ่อย คือ ปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ สะบัก หลังเรื้อรัง เนื่องจากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นั่งไม่ถูกท่า อาจทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ เมื่อยและหดเกร็งอยู่ตลอด บางครั้งมีอาการปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ปวดตา ตาพร่า ร่วมด้วย สาเหตุมาจากความเครียดหรือการที่ใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน รวมถึงอาการมือชา นิ้วล็อค ปวดข้อมือ เนื่องจากการใช้คอมพิวเตอร์จับเมาส์ในท่าเดิมๆนาน หรือการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณข้อมือมากเกิน ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนเกิดการอักเสบ
ในทางแผนจีน กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม จัดอยู่ใน กลุ่มอาการปี้เจิ้ง(痹证) เป็นกลุ่มอาการปวด ทั้งปวดคอ บ่าไหล่ ปวดเอว ปวดตามข้อรวมถึงปวดกล้ามเนื้อ โดยสาเหตุของอาการปวด เกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในร่างกาย สาเหตุจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ลม ความเย็น ความชื้น มากระทำต่อเส้นลมปราณ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ช้าลง เกิดภาวะชี่ติดขัดเลือดคั่งในเส้นลมปราณ จนเกิดอาการปวด(不通则痛) ส่วนสาเหตุจากปัจจัยภายใน ได้แก่ ชี่และเลือดพร่อง ทำให้ไม่สามารถนำชี่และเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงบริเวณต่างๆของร่างกายได้ (不荣则痛) จนเกิดอาการปวด
ตามทฤษฎีแพทย์แผนจีนอธิบายว่า อาการปวดเกิดจากการอุดกั้นของเส้นลมปราณ การฝังเข็มทําให้ชี่และเลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น ช่วยแก้ไขการไหลเวียนเลือดและชี่ที่ติดขัด ,ปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย ,กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ,ช่วยบรรเทาความปวด ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า การฝังเข็มสามารถลดปวดได้ โดยผ่านกลไก 2 ประการ[1] คือActivation of gate control system และStimulation of the release of neurochemicals in the central nervous system เนื่องจากมีการหลั่งสารสื่อกระแสประสาท (neurotransmitters) ที่เกี่ยวข้องกับการลดปวด และยังมีการหลั่ง Endorphin นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในปัจจุบันพบว่า การฝังเข็มช่วยลดอาการอักเสบได้ เนื่องจากมีการเพิ่ม blood cortisol จึงมีฤทธิ์ในการยับยั้งการอักเสบอีกทั้งยังเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณตำแหน่งที่ฝังเข็มด้วย
โดยช่วงอายุที่มีกลุ่มอาการปวดมากสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผู้ป่วยอายุ 31-40 ปี รองลงมาคือ กลุ่มผู้ป่วยอายุ 41-50ปี และกลุ่มผู้ป่วยอายุ 21-30ปีตามลำดับ จะเห็นได้ว่าจากเดิมกลุ่มอาการปวดออฟฟิศซินโดรม มักเกิดขึ้นในวัยคนทำงานที่อยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปี แต่ปัจจุบันไม่ใด้จำกัดแค่พนักงานออฟฟิตหรือกลุ่มวัยทำงานทั่วไปที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนหรือการทำงานจาก onsite เป็น online แทน ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้กลุ่มช่วงวัยเรียนหรือวัยรุ่น ช่วง อายุ 10-20 ปี ประสบปัญหาเรื่องอาการปวดได้ด้วยเช่นเดียวกัน รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ช่วง 61ปีขึ้นไป ที่ปัจจุบันหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตต่างๆทำให้ขอบเขตกลุ่มอายุของโรคออฟฟิศซินโดรมจึงไม่ได้จำกัดแค่วัยทำงานอีกต่อไป
ข้อแนะนำสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาออฟฟิศซินโดรม นอกจากการรักษาด้วยการฝังเข็มและควรปรับพฤติกรรมท่านั่งในการในงาน เช่น การกำหนดเวลาพักเป็นระยะ การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวหรือบริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทุก 1 ชั่วโมง ไม่ค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป รวมถึงการเลือกใช้โต๊ะเก้าอี้ที่ความเหมาะสมกับสรีระ ปรับท่านั่งและระดับให้ถูกต้อง ควรนั่งหลังตรง ไม่ก้มหรือเงยจนเกินไป หัวไหล่ไม่ยกหรือหลังงอขณะทำงาน หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา ควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเสริมสร้างเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การออกกำลังกายแบบพิลาทิส รวมถึงการออกกำลังกายแบบยืดเหยียด เพื่อบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ และบรรเทาอาการตึงและเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตาม อาการออฟฟิศซินโดรม แม้ตัวโรคไม่ได้อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มักสร้างความรำคาญ ส่งผลกระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยได้มาก แนวทางการรักษาแบบยั่งยืน ควรเริ่มที่ตัวผู้ป่วย ด้วยการปรับพฤติกรรมท่านั่งทำงาน พักผ่อนให้เพียงพอ บริหารกล้ามเนื้อ และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงาน นอกจากการป้องกันด้วยตัวเองแล้ว หากมีอาการหลงเหลืออยู่ ควรเข้ารับการรักษาหรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลงการฝังเข็ม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีประสิทธิภาพการรักษาดี ลดอาการปวดลงได้ ผลข้างเคียงน้อย
-----------------------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนรติกร อุดมไพบูลย์วงศ์ (หมอจีน เวิน เจิน ฮุ่ย)
温珍慧 中医师
TCM. Dr. Ratikon Udompriboonwong (Wen Zhen Hui)
แผนกฝังเข็ม
เอกสารอ้างอิง
1. การฝังเข็ม – รมยา เล่ม 3 (การฝังเข็มรักษาอาการปวด).กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.2554.111-112
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568