Last updated: 22 ม.ค. 2568 | 16 จำนวนผู้เข้าชม |
“ฝ้า” เกิดได้อย่างไร? แพทย์จีนมีคำตอบ
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่า สาเหตุการเกิดฝ้า เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะ 3 ส่วน คือ ตับ ม้าม และไต ตามตำราหลิงซู 《灵枢•邪气脏腑病形篇》กล่าวว่า เส้นลมปราณหลักทั้ง 12 เส้น และเส้นลมปราณย่อย ทั้งหมดจะมีเลือดและพลังชี่พาดผ่านขึ้นไปสู่ใบหน้า
ถ้ามองด้วยสายตา เราจะเห็นว่า ฝ้าเกิดขึ้นที่ภายนอกบนผิวหนัง แต่สาเหตุของการเกิดฝ้าที่แท้จริงนั้น เกิดจากการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายที่เสียสมดุล ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะลดลง ดังนั้นแพทย์จีนจึงมุ่งเน้นการรักษาฝ้า โดยการปรับสมดุลร่างกายเพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานอย่างประสานกัน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะที่เสียสมดุลให้กลับมาทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการดูแลสมดุลร่างกายจากภายในสู่ภายนอก โดยปรับจากรากฐานของอวัยวะที่เสียสมดุล เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ยั่งยืน และลดอัตราการกลับมาเกิดซ้ำในอนาคต
สาเหตุของการเกิดฝ้า
1. ความเครียด และอารมณ์ที่แปรปรวน เช่น โกรธง่าย โมโหง่าย ย่อมส่งผลต่อการทำงานของตับ โดยในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ตับมีหน้าที่เก็บเลือด (肝藏血) และมีหน้าที่ควบคุมการกระจายและระบายชี่ (肝主疏泄) ซึ่งเป็นหน้าที่ตรงข้ามและขัดแย้งกัน แต่ก็เป็นการควบคุมซึ่งกันและกัน ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะความเครียด ตับจึงเสียสภาวะสมดุล ระบายของเสียได้ไม่ดี ส่งผลให้เลือดและชี่ติดขัด และเกิดความร้อนแผดเผาทำลายเลือดและสารน้ำในร่างกายให้เหือดแห้ง เลือดและสารน้ำจึงไม่สามารถขึ้นไปหล่อเลี้ยงบริเวณใบหน้าได้ ทำให้เกิดฝ้าบริเวณใบหน้า ใบหน้าหมองคล้ำ ใบหน้าไม่สดใส สีผิวไม่สม่ำเสมอ
2. การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานของมัน ของทอด อาหารแปรรูป อาหารรสจัด หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูงมาก จะส่งผลให้ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานหนัก ซึ่งม้ามและกระเพาะอาหารในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการย่อยและแปรเปลี่ยนสารอาหาร เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น ม้ามจึงเปรียบเสมือนมารดาของอวัยวะภายในทั้ง 5 (脾为五脏之母) หลังกำเนิด (后天之本)นอกจากนี้ ม้ามยังมีหน้าที่ควบคุมการขับเคลื่อนลำเลียง (脾主运化) และควบคุมการสร้างเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือดได้ (脾生血统血) หากม้ามทำงานผิดปกติย่อมส่งผลทำให้การหมุนเวียนแปรเปลี่ยนสารอาหารไม่สมบูรณ์ จึงมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนลำเลียงสารอาหาร ทำให้ไม่สามารถส่งเลือดและออกซิเจนขึ้นไปหล่อเลี้ยงบริเวณผิวหน้าได้ ทำให้เกิดฝ้า ผิวหน้าไม่เรียบเนียน ผิวหน้าไม่กระจ่างใส
3. การทํางานหนักเกินไปหรือการเจ็บป่วยในระยะยาว เมื่อร่างกายอ่อนแอย่อมส่งผลต่อการทำงานของตับและไต ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ไตมีหน้าที่สะสมสารจำเป็นจิง (精) ควบคุมชี่ และปรับสมดุลน้ำ โดยการนำน้ำจากสารอาหารต่าง ๆ ไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ดังนั้น หากตับและไตทำงานผิดปกติ ย่อมทำให้อินและสารน้ำของตับและไตพร่อง ส่งผลให้น้ำไม่สามารถขึ้นไปหล่อเลี้ยงบริเวณใบหน้าได้ จึงเกิดภาวะร้อนรบกวนในร่างกาย ทำให้ชี่พร่อง เลือดคั่ง เส้นลมปราณไหลเวียนติดขัด ไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดฝ้า โดยมีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลเข้มออกดำ ผิวหนังแห้งกร้าน ขาดความชุ่มชื้น เกิดริ้วรอยบนใบหน้าได้ง่าย
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนจุฑามาศ ทัศนาวิวัฒน์ (โหยว เหม่ย อิ๋ง)
尤美莹 中医师
TCM. Dr. Juthamard Tatsanavivat
คลินิกดูแลสุขภาพผิวพรรณ สาขาโคราช
เอกสารอ้างอิง
陈德宇. 中西医结合皮肤性病学. 北京:中国中 医药出版社,2014:310-313.
吴景东, 顾 炜, 尹 莹, 金晓哲. 中医辨证治疗黄褐斑临床体会. 辽宁中医药大学, 2008:741.
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568