Last updated: 25 ต.ค. 2567 | 391 จำนวนผู้เข้าชม |
เป็นภาวะที่พบเจอในคุณแม่หลังคลอด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังจากคลอดบุตร อาการที่มักพบได้แก่ อารมณ์แปรปรวนรุนแรง ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับลูก อารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง หรือกังวลว่าจะไม่สามารถเลี้ยงดูตนเองและลูกได้ เป็นต้น จากรายงานพบว่าอัตราการเกิดโรคภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเฉลี่ยอยู่ที่ 8%-26% [1] และมีแนวโน้มในการเกิดโรคที่เพิ่งสูงขึ้น[2] ซึ่งหากไม่รีบเข้ารับการรักษาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกได้ไม่เพียงแต่ส่งผลเฉพาะสุขภาพของคุณแม่เท่านั้น
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
สำหรับปัจจัยการเกิดโรคภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในทางการแพทย์แผนปัจจุบันมีหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยทางด้านกายภาพ ปัจจัยทางด้านสังคม ปัจจัยด้านสุขภาพจิต ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด[3] โดยหากมองในมุมกายภาพ ในช่วงการตั้งครรภ์ การคลอดและช่วงระยะหลังคลอด เป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือ “ฮอร์โมนแห่งความเครียด”จากการศึกษาวิจัยพบว่าในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ซึ่งเกิดจากการหลั่งของต่อมหมวกไตที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากความเครียด ด้วยเหตุนี้ความเครียดจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด[4] อีกทั้งระดับของความเครียดมีความสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอย่างมีนัยยะสำคัญ[5]
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางการแพทย์แผนจีน
ในทางการแพทย์แผนจีนมองว่าสาเหตุการเกิดโรคภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นจาก
1. หัวใจและม้ามพร่อง ชี่และเลือดไม่เพียงพอ เนื่องจากร่างกายสูญเสียชี่และเลือดหลังจากคลอดบุตรรวมถึงการให้นมบุตร ทำให้หัวใจ ซึ่งควบคุมเสิน/สติ(神) และม้าม ซึ่งควบคุมเลือดพร่อง/ขาดการบำรุง ส่งผลให้การควบคุมด้านสติอารมณ์ลดน้อยลง ก่อเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
2. ชี่ตับติดขัด อวัยวะตับมีหน้าที่ระบายชี่และมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ ก่อนหรือหลังคลอดมักมีความวิตกกังวล ซึ่งหากมีเรื่องกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจหรือสะเทือนอารมณ์จะส่งผลให้การระบายชี่ของตับติดขัด เกิดเป็นอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว วิตกกังวล เครียด จนกระทั่งเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
3. เลือดคั่ง เนื่องด้วยสภาวะชี่พร่องหลังคลอด การไหลเวียนเลือดติดขัดเกิดเป็นภาวะเลือดคั่ง หรือหลังคลอดมีเลือดคั่งภายในมดลูก โดยหากเลือดคั่งเข้าไปอุดกลั้นทวารหัวใจ(心窍)จะทำให้เสิน/สติไม่ปลอดโปร่งหรือขาดการควบคุม ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
แนวทางการรักษาในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
1. การทำจิตบำบัด โดยแพทย์หรือนักจิตบำบัดจะพูดคุยกับคุณแม่ เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติในเชิงลบ เพื่อช่วยให้คุณแม่เข้าใจในสถานการณ์และมีการปรับตัวได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยระบายความเครียด และลดความรู้สึกวิตกกังวลให้กับคุณแม่ได้
2. การใช้ยา เช่น กลุ่มยาควบคุมอารมณ์ (Mood stabilizers) กลุ่มยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic) โดยในคุณแม่ที่ในนมบุตรควรใช้ยารักษาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยารักษาจิตเวชบางชนิด จะสามารถผ่านทางน้ำนมแม่และส่งผลข้างเคียงกับลูกได้
แนวทางการรักษาในทางการแพทย์แผนจีน
ในทางการแพทย์แผนจีนจะรักษาโรคภาวะซึมเศร้าหลังคลอดตามกลุ่มอาการ ดังนี้
- กลุ่มอาการหัวใจและม้ามพร่อง เนื่องจากชี่และเลือดไม่เพียงพอ รักษาโดยการบำรุงม้ามเสริมชี่ บำรุงหัวใจสงบอารมณ์
- กลุ่มอาการชี่ตับติดขัด เนื่องจากมีเรื่องกระทบอารมณ์/จิตใจ รักษาโดยการระบายชี่ตับ สงบอารมณ์และจิตใจ
- กลุ่มอาการเลือดคั่ง เนื่องจากชี่พร่องหลังคลอด/มีเลือดคั่งภายในมดลูก รักษาโดยการเพิ่มการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง สงบอารมณ์และจิตใจ
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาพบว่าสมุนไพรจีน ได้แก่ หวงฉี(黄芪)ไฉ๋หู(柴胡)สือชางผู่(石菖蒲)อินซิ่ง(银杏)ชื่ออู่เจีย(刺五加) เป็นต้น มีฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้าได้ ตัวอย่างเช่น
- ไฉ๋หู(柴胡)มีสารประกอบหลักของ ไซโคซาโปนิน(Saikosaponin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้า จากงานวิจัยพบว่า การใช้ไซโคซาโปนิน(Saikosaponin)ร่วมกับพาร็อกซีทีน(Paroxetin)จะช่วยเพิ่มฤทธิ์ยาต้านการรักษาอาการซึมเศร้า[6]
- สือชางผู่(石菖蒲)จากผลการทดลองวิจัยในสัตว์พบว่าสือชางผู่สามารถลดระดับภาวะซึมเศร้าในสัตว์ได้อย่างชัดเจนอย่างมีนัยยะสำคัญ[7]
- อินซิ่ง(银杏)หรือแปะก๊วย จากรายงานวิจัยพบว่ามีส่วนประกอบของสารกรดฟีโนลิกแปะก๊วย(Ginkgo phenolic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและสารสื่อประสาทในสัตว์ ช่วยให้คลายความวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด[8]
ดังนั้น แนวทางรักษาโรคภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนและสมุนไพรจีน สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ ทั้งนี้ระยะเวลาในการรักษาและผลการรักษาขึ้นอยู่กับอาการและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน บุญยาพร พฤกษเศรษฐ (หมอจีน หยาง ลี่ จิง)
杨丽晶 中医师
TCM. Dr. Boonyapohn Prueksaset (Yang Li Jing)
แผนกอายุรกรรมนรีเวช 妇科 (Internal TCM of Gynecology)
อ้างอิง
[1] Shorey S,Chee CY I,Ng ED,Ng ED,et al. Prevalence and incidence of postpartum depression among healthy mothers:a systematic review and meta-analysis[J].J Psychiatr Res,2018,104:235-248.
[2] MARKOVA V,NORGAARD A,J? RGENSEN K J,et al. Treatment for women with postpartum iron deficiency anaemia[J].Cochrane Database Syst Rev,2015,2015(8) : CD010861.
[3] 侯惠娟, 邹红霞. 陕西地区女性产后抑郁症流行病学调查及相关因素分析[J]. 解放军预防医学杂志, 2018, 36(10): 1344-1346.
[4] DIOP S, TURMES L, JUCKEL G, et al. Postpartum depression and migration [J]. Nervenarzt, 2020, 91(9): 822-831.
[5] WILKINSON A, ANDERSON S, WHEELER SB. Screening for and treating postpartum depression and psychosis: a cost-effectiveness analysis [J]. Matern Child Health J, 2017, 21(4): 903-914.
[6] 符小航, 符海鸽, 梁亮, 等. 柴胡加龙骨牡蛎汤加减联合帕罗西汀治疗产后抑郁患者的疗效及对5-羟色胺的影响[J]. 现代中西医结合杂志, 2021, 30(2): 188-191.
[7] 何伟伟, 王豆, 李涛, 等. 基于网络药理学预测柴胡、石菖蒲配伍治疗抑郁症的有效成分及作用机制[J]. 山东医药, 2021, 61(17):33-37.
[8] 曾晖, 李文茜, 王轶, 等. 银杏二萜内酯改善慢性不可预知性温和刺激(CUMS)大鼠抑郁样行为并影响细胞因子和神经递质水平[J]. 中华微生物学和免疫学杂志, 2021, 41(8): 616-622.
24 พ.ค. 2565
27 มิ.ย. 2566