กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือในผู้สูงอายุ (Carpal tunnel syndrome in the Elderly) ส่วนที่ 2

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  41 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือในผู้สูงอายุ (Carpal tunnel syndrome in the Elderly) ส่วนที่ 2

ภาคผนวก

จุดชวีเจ๋อ (PC3曲泽)
ตำแหน่ง : จุดบนเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium, PC) อยู่บริเวณข้อพับศอก ฝั่ง Medeal ของเส้นเอ็น Biceps brachii 
ข้อบ่งใช้ : ปวดหัวใจ ใจสั่น ปวดกระเพาะอาหาร อาเจียน รักษาบริเวณที่เส้นลมปราณพาดผ่าน

จุดต้าหลิง (PC7大陵)
ตำแหน่ง : จุดบนเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium, PC) อยู่บริเวณข้อพับข้อมือด้านใน ระหว่างเส้นเอ็น Palmaris longus และ Flexor carpi radialis
ข้อบ่งใช้ : ปวดหัวใจ ใจสั่น ปวดหน้าอก ปวดกระเพาะอาหาร อาเจียน ปวดบริเวณส้นเท้า รักษาบริเวณที่เส้นลมปราณพาดผ่าน

จุดเน่ยกวน (PC6内关)
ตำแหน่ง : จุดบนเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium, PC) อยู่บริเวณท้องแขนด้านล่าง เหนือบริเวณข้อพับข้อมือด้านใน 2 ชุ่น ระหว่างเส้นเอ็น Palmaris longus และ Flexor carpi radialis
ข้อบ่งใช้ : แน่นหน้าอก ปวดหัวใจ ใจสั่น ลมบ้าหมู อาเจียน สะอึก ซึมเศร้า เวียนศีรษะ บ้านหมุน ปวดและเกร็งบริเวณแขน รักษาบริเวณที่เส้นลมปราณพาดผ่าน

จุดเหล่ากง (PC8劳宫)
ตำแหน่ง : จุดบนเส้นลมปราณเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium, PC) อยู่บริเวณกึ่งกลางของฝ่ามือ ระหว่างกระดูก 2nd และ 3rd metacarpal bone โดยใกล้ 3rd metacarpal bone กว่า
ข้อบ่งใช้ : แผลในปาก โคม่า ปวดหัวใจ อาเจียน รักษาบริเวณที่เส้นลมปราณพาดผ่าน

จุดอวี๋จี้ (LU10鱼际) 
ตำแหน่ง : จุดบนเส้นลมปราณปอด (Lung, LU) อยู่บริเวณกึ่งกลาง Thenar eminence ของฝั่งนิ้วโป้งมือ ระหว่างรอยต่อผิวแดงขาว 
ข้อบ่งใช้ : หอบหืด เจ็บคอ ไข้ เสียงแหบ ไอ ไอเป็นเลือด รักษาบริเวณที่เส้นลมปราณพาดผ่าน

เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve)
Nerve roots : C6 – T1 (C5 ในบางคน)
Motor functions : หล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อกลุ่ม Flexor และ Pronator ของแขนท่อนล่างด้านหน้า (ยกเว้น Flexor carpi ulnaris และ Medial part of the flexor digitorum profundus ที่ทำการหล่อเลี้ยงด้วย Ulnar nerve) นอกจากนี้ยังหล่อเลี้ยงกลุ่มกล้ามเนื้อ Thenar muscles และ Lateral two lumbricals ในมือ
Sensory functions : แยกขึ้นมาเป็น Palmar cutaneous branch ซึ่งทำหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงและรับความรู้สึกของฝ่ามือด้าน lateral และ Digital cutaneous branch ที่ทำหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงและรับความรู้สึกของนิ้วฝั่ง lateral 3 นิ้วครึ่ง

เส้นทางการเดินของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve)
- เกิดจากการรวมตัวของ Medial cord และ Lateral cord ของ Brachial plexus
- ลงแขนวิ่งด้าน Lateral ของ Axillary artery เมื่อถึงกลางทางจะวิ่งตัดผ่านไปฝั่ง Medial ของ Brachial artery และวิ่งคู่กันไปเข้าสู่ Cubital fossa 
- ลอดผ่านระหว่างหัวของ Pronator teres เข้าสู่ระหว่างกล้ามเนื้อ Flexor digitorum superficialis และ Flexor digitorum profundus และเข้าสู่มือ
- ในขณะที่อยู่บริเวณแขนท่อนล่างจะแตกแขนงออกเป็น Anterior interosseous nerve และ Palmar cutaneous nerve 
- Median nerve จะวิ่งต่อไปถึงมือโดยลอดผ่าน Carpal tunnel และแตกแขนงออกเป็น Recurrent branch และ Palmar digital branch

การทำงานของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve)
Motor functions : 
Median nerve : หล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อชั้น superficial และ intermediate layer ทำหน้าที่ในการคว่ำแขน งอข้อมือและงอนิ้วมือ
- Superficial layer : Pronator teres, Flexor carpi radialis และ Palmaris longus
- Intermediate layer : Flexor digitorum superficialis

แขนงที่แตกจาก Median nerve

Anterior interosseous nerve : หล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อชั้น Deep layer ทำหน้าที่ในการคว่ำแขน งอข้อมือและงอนิ้วมือ 

- Deep layer : Flexor pollicis longus, Pronator quadratus และ Lateral half of the flexor digitorum profundus (medial half หล่อเลี้ยงโดย Ulnar nerve)

recurrent branch of median nerve : หล่อเลี้ยง Thenar muscles ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวนิ้วโป้ง

Opponens pollicis, Abductor pollicis brevis และ Superficial head of flexor pollicis brevis (Deep head หล่อเลี้ยงโดย Ulnar nerve)

Palmar digital branch of median nerve : หล่อเลี้ยง Lateral two lumbrical muscles ทำหน้าที่ในการงอข้อ MCP และเหยียดข้อ IP ของนิ้วชี้และนิ้วกลาง

Sensory functions : 

Palmar cutaneous nerve : ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงและรับความรู้สึกบริเวณ Lateral ของฝ่ามือ

เส้นประสาทเส้นนี้ไม่ได้ลอดผ่าน Carpal tunnel เมื่อเป็น CTS จึงไม่มีอาการชาบริเวณ Lateral ของฝ่ามือ

Palmar digital branch of median nerve : ทำหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงและรับความรู้สึกของนิ้วมือด้าน lateral 3 นิ้วครึ่ง นอกจากนี้ยังหล่อเลี้ยง Lateral two lumbrical muscles เส้นประสาทนี้แยกจาก Median nerve หลังจากลอดผ่าน Carpal tunnel

ความผิดปกติของเส้นประสาทบริเวณมือ

- เส้นประสาทเรเดียล (Radial nerve) ผิดปกติ 
Wrist drop (腕下垂) และ Finger drop ในท่าคว่ำมือ ข้อมือและข้อ MCP จะอยู่ในท่างอโดยที่ข้อ PIP และ DIP จะ อยู่ในท่าเหยียด เนื่องจากมีการสูญเสียกล้ามเนื้อที่ใช้เหยียดข้อมือทั้งหมดและกล้ามเนื้อเหยียดนิ้วมือซึ่งเหยียดข้อ MCP (Extrinsic finger extensor) ได้แก่ Extensor carpi radialis longus, Extensor carpi radialis brevis, Extensor indicis, Extensor digitorum, Extensor digiti minimi, Extensor carpi ulnaris ส่วนข้อ PIP และ DIP เหยียดโดยกล้ามเนื้อ Intrinsic เลี้ยงด้วยเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) คือ Lateral lumbrical muscles และเส้นประสาทอัลน่า (Ulnar nerve) คือ Medial lumbrical muscles, Dorsal interosseous, Palmar interosseous 

- เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ผิดปกติ
นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จะอยู่ในท่าเหยียดมากกว่าปกติจากการสูญเสียหน้าที่ของกล้ามเนื้องอนิ้ว (FPL FDS ทั้งหมด FDP ของนิ้วชี้และนิ้วกลาง) แต่นิ้วกลางนิ้วจะไม่เหยียดเนื่องจากมีแรงช่วยจาก FDP ของนิ้วนาง และนิ้วก้อยซึ่งมีการเชื่อมต่อกันอยู่ เรียกว่า Hand of Benediction (祝福状手) แสดงว่ามีการบาดเจ็บของ Median nerve ที่ระดับข้อศอก

ในรายที่กล้ามเนื้ออุ้งมือฝั่งนิ้วโป้ง Thenar eminence (大鱼际肌) ลีบฝ่อ จะทำให้สูญเสียความสามารถในการกางนิ้วโป้งออก เรียกว่า Ape hand  (猿手) แสดงว่ามีการบาดเจ็บของ Median nerve ที่ระดับข้อมือ

- เส้นประสาทอัลน่า (Ulnar nerve) ผิดปกติ
Claw hand (瓜形手) คือข้อ MCP ของนิ้วนางและนิ้วก้อยอยู่ในท่าเหยียดมากกว่าปกติ (Hyperextension) และข้อ PIP และ DIP อยู่ในท่างอ เนื่องจากมีการสูญเสียหน้าที่ของกล้ามเนื้อ Intrinsic คือ Medial lumbrical muscles ซึ่งทำหน้าที่งอข้อ MCP และ เหยียดข้อ PIP และ DIP เมื่อมีการเสียหน้าที่ข้อ MCP จะถูกดึงให้เหยียดมากกว่าปกติจากกล้ามเนื้อเหยียดนิ้ว Extrinsic เป็นผลทำให้เกิดความตึงตัวมากขึ้นของกล้ามเนื้องอนิ้วทั้ง FDS และ FDP ทำให้ข้อ PIP และ DIP งอ เนื่องจากนิ้วชี้และนิ้วกลางยังมีกล้ามเนื้อ Intrinsic เหลืออยู่คือ Lateral lumbrical muscles ซึ่งเลี้ยงด้วยเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) จึงไม่พบ Claw deformity 

ถ้าหากสังเกตความผิดปกติดังกล่าวร่วมกับ Claw deformity ของนิ้วชี้และนิ้วกลางด้วยแสดงว่ากล้ามเนื้อ Intrinsic เสียทั้งหมด พยาธิสภาพต้องเป็นการสูญเสียหน้าที่ของทั้งเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) และเส้นประสาทอัลน่า (Ulnar nerve) 

การรักษากลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
เลือกการรักษาการรักษาแบบประคับประคองก่อนเป็นอันดับแรก

- ถ้าอาการเป็นไม่มากอาจให้พักข้อมือโดยการใส่เฝือกอ่อนให้ข้อมืออยู่ในท่าตรง (Neutral) ร่วมกับ การให้ยาต้านการปวดและการอักเสบ (NSAIDs) ได้แก่ กลุ่มยาไอบูโพรเฟน เช่น Advil และ Motrin IB อาจจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในระยะสั้นเพื่อลดอาการปวดและลดการบวมของเนื้อเยื่อในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) รับประทานวิตามินบี บริหารยืดเส้นประสาท (Nerve stretching exercise)

- ในรายที่มีอาการตอนกลางคืนอาจใส่ Splint ไว้เฉพาะช่วงเวลานอนเพื่อช่วยประคองข้อมือให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมระหว่างการนอนหลับ

- การฉีด Corticosteroid เข้าในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) ในบางครั้งแพทย์จะแนะนำการฉีด Corticosteroid ที่โพรงประสาทฝ่ามือ และจะมีการใช้อุลตราซาวด์ด้วยในวิธีนี้

การผ่าตัดจะเลือกใช้ในรายที่การรักษาแบบประคับประคองไม่ได้ผล

การผ่าตัดรักษา ทำในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด หรืออาการเป็นมากจนมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อลีบ ไม่จำเป็นต้องรอผลการรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด เนื่องจากถ้าทำการรักษาช้าเกินไป จะเกิดการสูญเสียอย่างถาวรต่อกล้ามเนื้อ โดยการผ่าตัดจะเป็นการตัด Transverse carpal ligament เพื่อคลายการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ซึ่งอาจเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหรือเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องก็ได้

การฟื้นฟูพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อมือและความเร็วในการนำประสาทของเส้นประสาทมีเดียน Median nerve (正中神经) ในกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ Carpal tunnel syndrome : CTS (腕管综合症) ด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้าร่วมกับทุยหนา

เป้าหมาย : ติดตามการฟื้นฟูพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อมือและความเร็วในการนำเส้นประสาทของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ในกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) ด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้าร่วมกับทุยหนา

วิธีการ : นำผู้ป่วยกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) จำนวน 84 ราย แบ่งออกเป็นกลุ่มรักษาและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 42 ราย โดยกลุ่มควบคุมจะทำการรักษาตามเกณฑ์การรักษาทางแพทย์ปัจจุบัน กลุ่มรักษาทำการรักษาตามเกณฑ์การรักษาทางแพทย์ปัจจุบันร่วมกับการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้าและทุยหนา หลังการรักษา 1 เดือน เปรียบเทียบผลการรักษาของทั้ง 2 กลุ่ม และเปรียบเทียบอัตราการเป็นซ้ำของทั้งสองกลุ่มภายในครึ่งปีและ 1 ปี

วิธีการสำหรับกลุ่มรักษา :
การรักษาด้วยการฝังเข็ม :
เลือกใช้จุด DaLing (大陵PC7) 、QuZe (曲泽PC3) 、PianLi (偏历LI6) 、HeGu (合谷LI4) 、YangXi (阳溪LI5) 、YuJi (鱼际LU10) 、ShouSanLi (手三里LI10) 、ZuSanLi (足三里ST36) 、WaiLaoGong (外劳宫EX-UE8) 、LaoGong (劳宫PC8) 、WaiGuan (外关TE5) 、NeiGuan (内关PC6)  ใช้เข็ม 0.30×40 mm ฝังจุด WaiGuan (外关TE5) ทะลุ NeiGuan (内关PC6)   และจุด WaiLaoGong (外劳宫EX-UE8) ทะลุ LaoGong (劳宫PC8) หลังจากมีความรู้สึกของเข็ม (得气) ให้กระตุ้นไฟฟ้าด้วยคลื่น Disperse-dense wave (疏密波) ที่ระดับที่ผู้ป่วยรับไหว ใช้เวลาในการรักษา 30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน
การรักษาด้วยการทุยหนา :
ใช้ท่าคลึง (揉法) บนเส้นลมปราณมือเส้าอินหัวใจ (手少阴心经) เส้นลมปราณมือไท่อินปอด (手太阴肺经)  และเส้นลมปราณมือเจว๋อินเยื่อหุ้มหัวใจ (手厥阴心包经) แต่ละเส้นนาน 2 นาที หลังจากนั้นใช้ท่านิ้วดัน (一指禅推法) บนจุด NeiGuan (内关PC6) 、DaLing (大陵PC7) 、YangXi (阳溪LI5) 、HeGu (合谷LI4) 、YuJi (鱼际LU10)  、LaoGong (劳宫PC8) แต่ละจุดนาน 1 นาที หลังจากนั้นใช้ท่าดีด (拨法) บริเวณ Transverse carpal ligament นาน 1 นาที สุดท้ายใช้ท่าดึงเหยียด (拔伸法) และท่าหมุนข้อต่อ (摇法)  บริเวณข้อมือนาน 2 นาที รวมเวลาทั้งสิ้น 15 นาที ทุยหนา 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน

ผลลัพธ์ : กลุ่มรักษามีอัตราการรักษาที่เห็นผล 95.24% ซึ่งมากกว่ากลุ่มควบคุมที่มีอัตราการรักษาที่เห็นผล 78.57% ( P<0. 05) ทั้ง 2 กลุ่มหลังการรักษามีคะแนนของอาการและการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ในขณะที่กลุ่มรักษามีคะแนนที่ดีกว่ากลุ่มควบคุม ( P<0. 05) ทั้งสองกลุ่มหลังการรักษามีพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อมือและความเร็วในการนำกระแสประสาทของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ที่มากขึ้น ในขณะที่กลุ่มรักษามีคะแนนที่ดีกว่ากลุ่มควบคุม ( P<0. 05) ทั้งสองกลุ่มหลังการรักษา 2 สัปดาห์และ 1 เดือน มีคะแนนความเจ็บปวดที่ลดลง ในขณะที่เวลาเดียวกันนั้น กลุ่มรักษาจะมีคะแนนความเจ็บปวดที่ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุม ( P<0. 05) กลุ่มรักษาหลังการรักษา 6 เดือนและ 1 ปีพบอัตราการเป็นซ้ำน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ( P<0. 05)

สรุป : การรักษากลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) ด้วยวิธีการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้าร่วมกับทุยหนา สามารถเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อมือและความเร็วในการนำประสาทของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ลดอาการปวดและอัตราการเป็นซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

การฝังเข็มแบบอุ่น (温针灸) ร่วมกับการนวดทุยหนาเพื่อรักษากลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ Carpal tunnel syndrome : CTS (腕管综合症)


เป้าหมาย : เพื่อตรวจสอบวิธีการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับการรักษากลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) 

วิธีการ : โดยการสุ่มผู้ป่วยที่มีอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) ทั้งหมด 98 ราย และแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มรักษาและกลุ่มควบคุม กลุ่มรักษาจะได้รับการฝังเข็มแบบอุ่นร่วมกับการนวดทุยหนา ในขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับการรักษาด้วยยาระงับฮอร์โมนและการใช้ยาในการรักษา

วิธีการสำหรับกลุ่มรักษา :
การรักษาด้วยการฝังเข็ม :
เลือกใช้จุด QuChi (曲池LI11) 、 WaiGuan (外关TE5) 、DaLing (大陵PC7) 、 YangChi (阳池TE4) 、 BaXie (八邪EX-UE9) หลังจากทำการฆ่าเชื้อตามปกติ ให้ผู้ป่วยพลิกมือข้างที่เจ็บ โดยให้หงายฝ่ามือขึ้นและกำมือ  จากนั้นฝังเข็มลงไปทำมุม 40° ที่บริเวณจุด DaLing (大陵PC7) และให้หันเข็มไปทางปลายฝ่ามือ 1 ชุ่น จนผู้ป้วยมีความรู้สึกของเข็ม (得气) จากนั้นให้ผู้ป่วยหันฝ่ามือลง งอข้อศอก 90° และวางฝ่ามือไว้ด้านหน้าหน้าอก จากนั้นฝังเข็มบริเวณจุด WaiGuan (外关TE5) 、DaLing (大陵PC7) 、YangChi (阳池TE4) 、BaXie (八邪EX-UE9) และใช้ Moxa stick (艾条) ขนาด 2 ชุ่น วางบนด้ามเข็มที่จุด QuChi (曲池LI11) เพื่อให้เข็มอุ่น ทิ้งเข็มไว้ 30 นาที
การรักษาด้วยการทุยหนา :
ขั้นแรก ผ่อนคลายเส้นเอ็น Flexor carpi group เส้นเอ็น Flexor digitorum superficialis และ เส้นเอ็น Flexor digitorum profundus เริ่มตั้งแต่ข้อศอกถึงข้อมือและฝ่ามือด้วยการใช้ท่าคลึง (揉法) และท่าดีด (拨法) เป็นเวลา 5 นาที ให้แรงส่งไปถึงชั้นลึกของปลายแขนและข้อมือจนผู้ป่วยมีความรู้สึกหน่วง คลายตัวและชาไปที่ฝ่ามือและนิ้ว จากนั้นแพทย์จะใช้นิ้วหัวแม่มือของมือข้างหนึ่งใช้ท่ากด (按法) กดที่ส่วนตรงกลางของรอยพับตามขวางของฝ่ามือของผู้ป่วย และนิ้วที่เหลืออีกสี่นิ้วจับที่ข้อมือของผู้ป่วยและใช้มืออีกข้างจับนิ้วทั้งสี่ของผู้ป่วยใช้ท่าหมุนข้อต่อ (摇法) หมุนวนซ้ำในทิศทางตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกา 5-10 ครั้งเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของข้อมือและนิ้วมือ หลังจากนั้นท่าดึงเหยียด (拔伸法) ข้อนิ้วมือเป็นอันเสร็จหัตถการ

ผลลัพธ์ : อัตราการรักษาคือ 81.7% ในกลุ่มรักษาและ 47.4% ในกลุ่มควบคุม โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองกลุ่ม (P<0.01)

สรุป : ถึงแม้ว่าการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบอุ่นร่วมกับการนวดทุยหนา จะเป็นเป็นวิธีการรักษาที่พื้นฐาน แต่ให้ผลการรักษาที่ดีมาก สำหรับกลุ่มโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) 

ตำแหน่ง : จุดบนเส้นลมปราณปอด (Lung, LU) อยู่บริเวณกึ่งกลาง Thenar eminence ของฝั่งนิ้วโป้งมือ ระหว่างรอยต่อผิวแดงขาว 

ข้อบ่งใช้ : หอบหืด เจ็บคอ ไข้ เสียงแหบ ไอ ไอเป็นเลือด รักษาบริเวณที่เส้นลมปราณพาดผ่าน

การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic review) เรื่องประสิทธิภาพของการฝังเข็มเพื่อรักษากลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ Carpal tunnel syndrome : CTS (腕管综合症) ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง

วัตถุประสงค์ : แม้ว่าการรักษาด้วยการฝังเข็มสำหรับกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS)จะมีต้นทุนไม่สูงและเข้าถึงได้ง่าย แต่ยังไม่มีการสรุปที่เป็นทางการที่ชัดเจนมากพอ ดังนั้น การทบทวนอย่างเป็นระบบ (SR) นี้จะสรุปสิ่งที่ค้นพบและดำเนินการประเมินคุณภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจะมีการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ของวิธีการรักษาด้วยการฝังเข็มเพื่อรักษากลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางเพื่อเป็นหลักฐานที่ใช้ในทางคลินิก

วิธีการ : รวบรวมงานวิจัยแบบสุ่มทั้งหมด (RCTs) มีผลการรายงานทั้งหลังการรักษาและค่าที่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยจะใช้ค่า P-values สำหรับประเมินผลลัพธ์ทั้งหมด ค้นพบว่าในการฝังเข็มเพื่อรักษา กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) หลังการรักษาไม่มีรายงานฉบับใดกล่าวถึงผลข้างเคียงที่รุนแรงของการฝังเข็มใน RCT ทั้งหมด โดยอัตราของ 2c 2a และ 6a ตาม STRICTA 2010 อยู่ที่ 14%, 29% และ 29% ตามลำดับ นอกจากนี้จุด DaLing (大陵PC7) มักถูกใช้เพื่อรักษามากที่สุด

สรุป : สามารถใช้การฝังเข็มเพื่อสำหรับรักษากลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) ได้ดี โดยไม่มีผลเสียร้ายแรงและจุด DaLing (大陵PC7) เป็นจุดฝังเข็มที่ใช้บ่อยที่สุด 

ประสิทธิภาพของการฝังเข็มต่อกายวิภาคเส้นประสาทมีเดียน Median nerve (正中神经) บริเวณข้อมือ ในผู้ป่วยกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ Carpal tunnel syndrome : CTS (腕管综合症) : การศึกษาโดยผ่านการอัลตราซาวนด์

บทนำ : การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์
1.เพื่อสำรวจผลของการฝังเข็มต่อพื้นที่หน้าตัด (CSA) ของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ที่ข้อมือในผู้ป่วย กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS)
2.เพื่อระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงการรักษาทางคลินิก ทางสรีรวิทยาไฟฟ้าและทางผลของอัลตราซาวด์ที่เกี่ยวข้องกับอาการ
วิธีการ : แขน 45 ข้างของผู้ป่วยหญิงจำนวน 27 คน ถูกสุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่กลุ่มรักษาและกลุ่มควบคุม ผู้ป่วยทุกรายจะต้องใช้ Splint เพื่อดามข้อมือในตอนกลางคืน ผู้ป่วยกลุ่มรักษาจะได้รับการฝังเข็มเพิ่มเติม
โดยจะมีการวัดค่า Visual Analog Scale (VAS), Duruo lenta Hand Index (DHI), Quick Disabilities of the Arm, Shoulder and Hand (DASH), คะแนนแบบสอบถาม, การวัดด้วยไฟฟ้าและ CSAs ของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve)  ก่อนและหลังการรักษาในทั้งสองกลุ่ม
ผลลัพธ์ : คะแนน VAS, DHI, Quick DASH และการวัดทางสรีรวิทยาไฟฟ้ามีค่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทั้งสองกลุ่มแต่ค่า CSA ของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มรักษา ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
สรุป : หลังการรักษาด้วยการฝังเข็ม ผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS)  มีอาการดีขึ้นทั้งทางคลินิกและทางกายวิภาคของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ที่บริเวณข้อมือ

เอกสารอ้างอิง

กิ่งแก้ว ปาจรีย์.  ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ การบำบัดรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู .  กรุงเทพมหานคร : ภาคเวช
ศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2563.

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 
1.  กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551.

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.  การฝังเข็ม รมยา เล่ม 
3.  นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554.

อารี ตนาวลี.  ตำราแก่นความรู้ทางออร์โธปิดิกส์ สำหรับแพทยศาสตร์บัณฑิต.  กรุงเทพมหานคร : 
โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557.

CAI De-feng .(2010).Warm-needling plus Tuina Relaxing for the Treatment of Carpal Tunnel Syndrome. Journal of Traditional Chinese Medicine, Vol. 30(1), pages 23-24.
CHEN HUAN MEI. (2021). The efficacy of electro-acupuncture combined with Tuina manipulation for median nerve conduction velocity and wrist joint motor function rehabilitation in patients with carpal tunnel syndrome[J]. Global Traditional Chinese Medicine , 2021,14(08): 1525-1528.
China Association of Chinese Medicine.   Guidelines for Diagnosis and Treatment of Common Disease of Orthopedics and Traumatology in Traditional Chinese Medicine.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2012.
FanFanHua.   Tuinaxue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2008.
Fatma Gülçin Ural et al.(2017). The Acupuncture Effect on Median Nerve Morphology in Patients with Carpal Tunnel Syndrome: An Ultrasonographic Study. Evid Based Complement Alternat Med , Vol. 2017, 5 pages.
Jeong , H., Hye, I. & Kyeong, H. (2021). Effect of Manual Acupuncture for Mild-to-Moderate Carpal Tunnel Syndrome: A Systematic Review. Journal of Pharmacopuncture, Vol. 24(4), pages 153- 164. 
WangHeWu.   Zhongyigushangkexue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2007.
WangXiaoMing.   Jingluoxueweifenbufencengxiangjietupu.  Fujian : Fujian Science&Technology Publishing House, 2018.

แพทย์จีน ฉันทัช เฉิน (พจ.1312)

แผนกกระดูกและทุยหนา

คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้