กรณีศึกษาการรักษาอาการปวดประจำเดือนด้วยแพทย์แผนจีน

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  154 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรณีศึกษาการรักษาอาการปวดประจำเดือนด้วยแพทย์แผนจีน

อาการปวดท้องประจำเดือนเป็นปัญหาของผู้หญิงที่พบบ่อย โดยบางรายอาจปวดประจำเดือนเบาๆ แต่บางรายอาจมีอาการปวดประจำเดือนค่อนข้างรุนแรงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อ าการที่แสดงออกทางคลินิกคือ  ก่อนมีประจําเดือน  หลังมีประจําเดือน  หรือระหว่างมีประจําเดือน  มีอาการปวดช่วงบริเวณท้องน้อยและอุ้งเชิงกราน  สาเหตุในทางการแพทย์แผนปัจจุบันอาจเกิดจากการผลิตสาโพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ในปริมาณที่มากเกิน[1] หรืออาจพบพยาธิสภาพผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ โดยอาการปวดประจำเดือนสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea)
เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยในช่วงอายุ 15-25 ปี ส่วนมากอาการปวดประจำเดือนชนิดนี้ก็จะไม่พบความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่  โดยอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียและหงุดหงิดร่วมด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสาร Prostaglandins ออกมามากเกิน ทำให้มดลูกถูกกระตุ้นเกิดการบิดเกร็ง จะรู้สึกปวดในระยะก่อนมีประจำเดือน 2-3 ชั่วโมง ตลอดจนช่วง 2-3 วันแรกของการมีประจำเดือน 

2. ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) 
ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิจะมีอาการปวดท้องค่อนข้างรุนแรง อาการปวดประจำเดือนชนิดนี้มักเกิดกับผู้หญิงวัย 25 ปีขึ้นไป มักตรวจพบความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ด้วย เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก หรือปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น บางรายอาจมีอาการร่วม เหงื่อออก ตัวเย็น มือ-เท้าเย็น หรือหน้ามืดเป็นลมได้ 

อาการของโรค (อาการแสดง/ข้อบ่งชี้) (辩证要点)
อาการ คือ ก่อนมีประจําเดือน หลังมีประจําเดือน  หรือระหว่างมีประจําเดือน  มีอาการปวดช่วงบริเวณท้องน้อยและอุ้งเชิงกราน

สาเหตุของโรคทางแพทย์แผนจีน (病因病机)

1. กลุ่มอาการชี่ติดขัดเลือดคั่ง ปวดตึงบริเวณท้องน้อย ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนสีม่วงคล้ำ มีลิ่มเลือด เมื่อลิ่มเลือดออกมาแล้วอาการปวดจะทุเลาลง  มีอาการคัดตึงหน้าอกก่อนเป็นประจำเดือน ลิ้นสีแดงคล้ำหรือมีจุดคล้ำบริเวณลิ้น ฝ้าขาวบาง ชีพจรตึง (弦)

2. กลุ่มอาการความเย็นอุดกั้น ปวดและเย็นบริเวณท้องน้อย ได้รับความร้อนอาการปวดจะทุเลาลง ประจำเดือนสีคล้ำ มีลิ่มเลือด ปกติจะมีตกขาวจำนวนมาก  ลักษณะใส ขี้หนาวมือเท้าเย็น ลิ้นสีคล้ำหรือมีจุดคล้ำบริเวณลิ้น ฝ้าขาวหรือฝ้าเหนียว ชีพจรจมตึง (沉弦)

3. กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย อาการเป็นๆหายๆสลับไปมา นวดกดคลึงแล้วรู้สึกดี หรือมีอาการหน่วงบริเวณท้องน้อยถึงอวัยวะเพศ ประจำเดือนมาน้อย สีซีด ลักษณะใส สีหน้าซีด เหนื่อยเพลีย ลิ้นสีซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กไม่มีแรง (细无力)

4. กลุ่มอาการตับและไตพร่อง  ปวดเบาๆบริเวณท้องน้อยตลอดเวลา จะมีอาการเมื่อยบริเวณเอวและก้นกบร่วมด้วย ประจำเดือนมาน้อย สีซีดคล้ำ ลักษณะใส เวียนศีรษะหูอื้อ นอนไม่หลับขี้หลงขี้ลืม หรือมีอาหารร้อนวูบวาบ ลิ้นสีแดงซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กเบา(细弱)

การวินิจฉัย (诊断)



ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)

แนวทางการรักษา

การฝังเข็มรมยา จุดฝังเข็มใช้บ่อยในการรักษาอาการปวดประจำเดือน[2]

1. จุด ซานอินเจียว (三阴交)   อยู่บริเวณขาด้านใน เหนือยอดตาตุ่มด้านในขึ้นมา 3 ชุ่น(ประมาน4 นิ้วมือ)

ซาน(三) แปลว่า สาม , อิน(阴) แปลว่า เส้นลมปราณอิน ,เจียว(交) แปลว่า ตัดกัน
ความหมายคือ เป็นจุดตัดของเส้นลมปราณเท้าไท่อินม้าม ,เส้นลมปราณเท้าเจวี๋ยอินตับและเส้นลมปราณเท้าเส้าอินไต ซึ่งทั้ง3อวัยวะนี้ มีความสำคัญกับระบบการสืบพันธุ์ในสตรี ทางคลิกนิกมักใช้จุดนี้ในการรักษาอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีบุตรยาก เป็นต้น

2. จุด กวนหยวน (关元)  อยู่บริเวณท้องน้อย ต่ำกว่า สะดือ 3 ชุ่น (ประมาน4 นิ้วมือ) 

กวน(关) แปลว่า ปิดหรือสะสม , หยวน(元) แปลว่า หยวนชี่หรือเส้นลมปราณหยวน  ความหมายคือ เป็นแหล่งสะสมหยวนชี่ เป็นจุดบำรุงหยางชี่ด้วย จุดกวนหยวน นั้นอยู่บนเส้นลมปราณพิเศษเริ่น  วิถีการไหลเวียนของเส้นลมปราณอยู่บริเวณกึ่งกลางหน้าท้อง อีกทั้งเส้นลมปราณเริ่นนิยมนำมารักษาโรคเกี่ยวกับทางนรีเวช เช่นอาการปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นต้น

3. จุด จู๋ซานหลี่ (足三里)   อยู่บริเวณหน้าแข้ง ด้านนอก ต่ำกว่ารอยบุ๋มข้อหัวเข่าด้านลงมา 3 ชุ่น ห่างจากกระดูกหน้าแข้ง 1 นิ้วมือ 

จู๋(足) แปลว่า ขา ,ซาน(三) แปลว่า สาม , หลี่(里) แปลว่า เป็นหน่วยวัดระยะในสมัยโบราณ  จุดนี้อยู่บริเวณใต้เข่าด้านนนอกลงมา 3 ชุ่น  อยู่บนเส้นลมปราณม้าม ซึ่งม้ามในทางการแพทย์แผนจีนมีหน้าที่ในการลำเลียงเลือดให้ไหลเวียนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย   ในทางคลินิกจุดจู๋ซานหลี่ นิยมใช้ในการบำรุงสุขภาพ รักษาโรคกระเพาะอาหาร
โรคทางเดินปัสสาวะ โรคระบบทางสืบพันธุ์ รวมถึงโรคทางนรีเวชด้วย

ตัวอย่างกรณีศึกษาการรักษาอาการปวดประจำเดือน

ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN 363XXX
ชื่อ : คุณ ศิริXXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 
เพศ : หญิง อายุ : 31 ปี
อุณหภูมิ 36.2 องศาเซลเซียส ชีพจร : 82 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 113/80 mmHg น้ำหนัก :  62.4 กิโลกรัม
อาการสำคัญ (Chief complaint) ปวดหน่วงท้องน้อยช่วงมีประจำเดือน 3-4 ปี
อาการปัจจุบัน (Present illness)
- ก่อนมีประจำเดือน1วัน หรือประจำเดือนมาวันที่1-2 มีอาการปวดหน่วงท้องน้อยมาก ประวัติประจำเดือน ประจำเดือนครั้งล่าสุด(LMP)มาวันที่ 22 มิถุนายน 2565

- ประจำเดือนมา 2-3 วัน/ครั้ง รอบประจำเดือน 28-50 วัน   สีประจำเดือนเข้ม มีลิ่มเลือด ปริมาณน้อย ตกขาว เมื่อกินของเย็นอาการปวดประจำเดือนมากขึ้น ต้องกินยาแก้ปวดทุกครั้งที่ประจำเดือนมา ตรวจภายในทุกปีปกติ 
- ประวัติการตั้งครรภ์ 0-0-0-0
- อาการร่วม มือเท้าเย็น นอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อย เข้านอนต่อยาก ลิ้นแดงคล้ำฝ้าขาว ชีพจรลื่น
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต( Past history)  ปฏิเสธประวัติการแพ้ยาและอาหาร
การวินิจฉัยโรค(Diagnosis)
- วินิจฉัยตามหลักแพทย์จีน : 痛经ปวดประจำเดือน (กลุ่มอาการความเย็นอุดกั้น)
- วินิจฉัยตามหลักแพทย์ปัจจุบัน : ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea)
วิธีการรักษา(Treatment)
- หลักการรักษา อุ่นลมปราณกระจายความเย็น สลายเลือดคั่ง ระงับปวด รักษาด้วยหัตถการการฝังเข็มรมยาเป็นวิธีหลัก
ผลการรักษา (progression note)

ผู้ป่วยเข้าการรักษา ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 - วันที่ 14 สิงหาคม 2565
รักษาครั้งที่ 2 วันที่ 20 /7/2565
หลังจากฝังเข็มไปครั้งแรก ใช้เวลาในการเข้านอนสั้นลง แต่ยังรู้สึกตัวระหว่างคืน เข้านอนต่อได้ 
รักษาครั้งที่ 3 วันที่ 30/7/2565
การเข้านอนดีขึ้น นอนหลับสนิท ไม่ตื่นระหว่างคืน ไม่มีอาการอ่อนเพลีย ประจำเดือนยังไม่มา เลยกำหนดรอบเดือนมา 10วัน (ฝังเข็มเลือกใช้จุดที่กระตุ้นการไหลเวียนเลือดมากขึ้น)
รักษาครั้งที่ 4 วันที่ 6/8/2565
รอบประจำเดือนล่าสุด(LMP) วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ประจำเดือนมา 3-5 วัน  รอบประจำเดือน 38 วัน อาการปวดท้องน้อยลดลงชัดเจน ปวดในระดับที่ทนได้ไม่ต้องทานยาลดอาการปวด สีประจำเดือนแดงสด ไม่มีลิ่มเลือด อาการมือเท้าเย็นลดลง  
รักษาครั้งที่ 5 วันที่ 14/8/2565
อาการนอนหลับไม่สนิทหายเป็นปกติ มือเท้าเย็นดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น  

สรุปผลการรักษา 
การฝังเข็มรักษาอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ ให้ผลการรักษาที่ดี ปลอดภัย และทำให้คุณภาพชีวิต สุขภาพจิตดีขึ้น ในกรณีศึกษารายนี้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการปรับการใช้ชีวิตลดการทานอาหารฤทธิ์เย็น เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง จึงได้ผลการรักษาที่น่าพอใจ ทั้งนี้แนะนำให้ผู้ป่วยก่อนประจำเดือนมา 1 สัปดาห์เข้ามาทำการรักษาด้วยการฝังเข็ม ครบ 3 รอบเดือนถือเป็น 1 คอร์สการรักษา ผลการรักษาขึ้นอยู่กับบุคคล สาเหตุ ปัจจัยกระตุ้น และระยะเวลาการเกิดโรคด้วย

การดูแลตัวเองช่วงมีประจำเดือน
1. เลือกทานอาหารที่ให้โพแทสเซียม แคลเซียม และธาตุเหล็กสูง เช่น กล้วย ตับหมู เครื่องในสัตว์ ธัญพืช ถั่ว และเนื้อสัตว์ เพื่อทดแทนสารอาหารที่สูญเสียไปในช่วงมีประจำเดือน

2. หลีกเลี่ยงกลุ่มอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ไอศกรีม น้ำแข็ง ของหมักดอง กลุ่มอาหารทะเลที่ไม่สุก เช่น ปู กุ้ง แซลมอน  

3. เลือกดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิห้องตลอดช่วงที่มีประจำเดือนด้วย เพื่อให้เลือดเสียไหลออกมาจากร่างกายได้ง่ายขึ้น 

4. สามารถหาเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น น้ำขิง ชาร้อนก็สามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนลงได้ด้วย เช่น ชาเหมยกุ้ยฮวาจ่าว(玫瑰花枣茶)มีส่วนประกอบ ดังนี้ 
ดอกกุหลาบ 3-5 ดอก พุทราจีน 3-5 เม็ด  เก๋ากี๊ 10 เม็ด 
- นำวัตถุดิบทั้งหมดมาล้างน้ำ1น้ำ ฉีกใช้พุทราจีนแยกออก นำวัตุดิบทั้งหมดใส่ในกาน้ำชา หรือแก้วน้ำ 
- เทน้ำร้อนลงไป แช่ไว้ 3นาที จึงค่อยดื่ม หากน้ำหมดสามารถใส่น้ำร้อนเพิ่ม ใช้ดื่มระหว่างวันแทนน้ำเปล่าได้

5 ควรออกกำลังกายในปริมาณที่เหมาะสม ไม่หักโหมเกินไป

เอกสารอ้างอิง

1. Angsuwathana S. Dysmenorrhea. In: Somboon K,  Mongkon  B,  Manee  R,  Suwanit  T  (editors).  Gynecology. Bangkok: PA Living; 2008.P.47-55. (in Thai)
2. RATIKON U. Points selection for acupuncture-moxibustion treatment of primary dysmenorrhea.Thailand journal of Traditional Chinese Medicine;2022.1(2),P.197-210. (in Thai)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้