Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 960 จำนวนผู้เข้าชม |
Vascular Cognitive Impairment (VCI) หรือ ภาวะความรู้คิดบกพร่องจากหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะเจอได้บ่อย สัดส่วนที่ใกล้เคียงกับโรคอัลไซเมอร์ โดยผู้ป่วยมีความบกพร่องด้านสมรรถภาพทางสมอง ทั้งในด้านความจำและการรู้คิด (cognition) เช่นการใช้ภาษา ทักษะในการดำรงชีวิตประจำวันการรับรู้สิ่งแวดล้อม การตัดสินใจวางแผนโดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นมีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันสังคมและอาชีพ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าจะเป็นชนิดขาดเลือด (cerebral infarction) หรือหลอดเลือดสมองแตกทำให้มีเลือดออกในสมอง (intracerebral hemorrhage) อาการส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือทรุดลงเป็นลำดับขั้น
ในทางการแพทย์แผนจีนสามารถแบ่ง ภาวะความรู้คิดบกพร่องจากหลอดเลือดสมอง เป็นอาการแกร่งและอาการพร่อง
กลุ่มอาการแกร่ง ได้แก่
• กลุ่มอาการเสมหะและสิ่งสกปรกอุดกลั้น (痰浊蒙窍证)
• กลุ่มอาการเลือดคั่งอุดกลั้นเส้นลมปราณ (瘀血阻络证)
กลุ่มอาการพร่อง ได้แก่
• กลุ่มอาการม้ามและไตพร่อง (脾肾两虚证)
• กลุ่มอาการสารจำเป็นไขกระดูกไม่เพียงพอ (髓海不足证)
คนใกล้ตัวของคุณมีปัญหาเรื่องความจำหรือการรู้คิดหรือเปล่า
ทำแบบทดสอบประเมินภาวะสมองเสื่อมได้ที่นี่ : http://www.rbpho.moph.go.th/upload-file/doc/files/12012023-110644-8561.pdf
ตัวอย่างกรณีการรักษา ภาวะความรู้คิดบกพร่องจากหลอดเลือดสมอง ที่เข้ารับการรักษาและได้ผลดี
ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN339xxx
ชื่อ : นางสาว พรภิxxx
เพศ : หญิง
อายุ : 70 ปี
อุณหภูมิ : 36.℃
ชีพจร : 78 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 163/95 mmHg
น้ำหนัก : 70 กก
เข้ารับการรักษาเมื่อ 28 เมษายน 2567
อาการสำคัญ
ความรู้คิดบกพร่องและความจำระยะสั้นแย่ลง 2 ปี
ประวัติการเจ็บป่วย
เมื่อ 2 ปีก่อนมีอาการพูดไม่รู้เรื่องพูดวนซ้ำๆโดยไม่ทราบสาเหตุ ความจำระยะสั้นลดลง ไม่สามารถจำอาหารมื้อล่าสุดที่พึ่งรับประทานได้ ภาวะการรับรู้ลดลง เวลาญาติเรียกบางครั้งก็ไม่ตอบสนอง มีอาการท้องผูก ขับถ่ายยาก และ ปวดข้อเข่าทั้งสองข้างร่วม
อาการเจ็บป่วยปัจจุบัน
หลังการรักษาด้วยการฝังเข็มไป 4 ครั้งอาการพูดไม่รู้เรื่อง อาการท้องผูกและปวดข้อเข่าดีขึ้นอย่างชัดเจน การทานอาหารและการขับถ่ายปกติ แต่ยังมีอาการความจำระยะสั้นและภาวะการรับรู้ลดลง เดินเซทรงตัวไม่ดี และมีอาการนอนหลับยาก ตื่นกลางดึกหลายรอบ คอแห้ง ปัสสาวะบ่อย มือเท้าเย็น ชอบรับประทานของเย็นของทอด
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต
มีโรคเบาหวาน ไขมันในหลอดเลือด และความดันโลหิตสูง
การตรวจร่างกาย
- ลิ้นแดงแห้งฝ้าน้อยมีรอยฟัน ชีพจรลื่น
- ถามตอบวันเวลาสามารถระบุได้ปกติ
การวิเคราะห์กลุ่มอาการตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
เนื่องด้วยผู้ป่วยมีอายุที่มากขึ้น ทำให้สภาพร่างกายอ่อนแอลง ส่งผลกระทบทำให้ไตพร่องและชอบรับประทานของเย็นของทอดทำให้ม้ามพร่อง เมื่อม้ามพร่องจะเกิดเสมหะอุดกลั้นเส้นลมปราณ และไปปิดกั้นทวารสมอง ทำให้เกิดอาการพูดวกไปวนมา การรับรู้แย่ลง ง่วงซึมในตอนกลางวัน และไตพร่องทำให้เกิดอาการหลับยากและตื่นกลางดึกบ่อย เนื่องจากน้ำในไตน้อย ทำให้ไฟในหัวใจลุกโชน ไตพร่องยังทำให้ปวดเอวปวดเข่า มือเท้าเย็น ลิ้นแดงบวมมีรอยฟันไม่มีฝ้าชี้ถึงความร้อนชื้นในร่างกาย กลุ่มอาการม้ามและไตพร่อง (脾肾两虚证)
วิธีการรักษา
รักษาด้วยนวดทุยหนา,กดจุด ควบคู่กับการทำเต๋าอิ่น เพื่อขับความชื้นและบำรุงไต นำพาชี่และเลือดไปเลี้ยงสมอง โดยหัตถการทุยหนาที่ใช้จะเป็นการลูบ (摩法)、การใช้นิ้วคลึง (指揉法)、 การดัน(推法)
การลูบ(摩法) การใช้นิ้วคลึง(指揉法) การดัน(推法)
ผลการรักษา
หลังการรักษาด้วยการนวดและเต๋าอิ่นสัปดาห์ละ1ครั้ง ควบคู่กับการฝังเข็ม
(เต๋าอิ่น คือ การชักนำชี่ไปยังอวัยวะที่มีปัญหาเพื่อฟื้นฟูการทำงานของสมอง)
หลังการรักษาครั้งที่ 1 การตอบสนองและพูดคุยดีขึ้น ยังคง ไม่สามารถจำอาหารมื้อล่าสุดที่พึ่งรับประทานได้
หลังการรักษาครั้งที่ 2 ความจำระยะสั้นดีขึ้นสามารถจำมื้ออาหารที่พึ่งกินได้
หลังการรักษาครั้งที่ 3 การรับรู้ การตอบสนอง ความจำระยะสั้นดีขึ้นอย่างชัดเจน ไม่มีอาการเวียนศีรษะ ปวดหัว มึนงงร่วม ญาติแจ้งว่าผู้ป่วยเริ่มทำความสะอาดบ้านเอง ใช้ชีวิตทำงานบ้าน ทำกิจวัตรเป็นปกติได้
------------------------
บทความโดย
พจ.กฤษฎากรณ์ ศรีสาคร (หมอจีนหลี่ หยุน เฟิง)
李雲峰 中医师
TCM. Dr. Kritsadakorn Srisakorn
คลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท
เอกสารอ้างอิง
1. 《中医内科学》十一五
2. ธรรมศาสตร์เวชสาร ปีที่ 18 ฉบับที่ 3
3. 《中医针灸学》十一五
4. แบบทดสอบสภาพสมองเบื้องต้นฉบับภาษาไทย สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
12 ก.ย. 2567